ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #195 : ละครชาตรี

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 646
      0
      15 เม.ย. 53

        -ละครชาตรีทีเล่นแก้บน สมัยก่อนโน้นเมื่อยังเด็กอยู่เคยดูเขาเหมาโรงเล่นแก้บนในบ้านบ้าง ตามศาลเจ้าบ้างเป็นเรื่องๆ เช่นเรื่องแก้วหน้าม้า สังข์ทอง ฯลฯ พวกนี้คือละครนอกใช่ไหม ทำไมถึงเรียกว่า ‘ชาตรี’-

                ทำไมจึงเรียก ‘ชาตรี’ ‘ชาตรี’ แปลว่าอะไร หรือหมายความว่าอย่างไร ข้อนี้ค้นไม่พบ ผู้ถามเห็นจะเป็นคนรุ่นเดียวกับผู้เล่า จึงเคยดูละครชาตรีแก้บนเมื่อยังเด็ก

                สมัยก่อนโน้น (ประมาณ ๖๐ ปี มาแล้ว) บ้านใหญ่ๆเวลามีละครแก้บน มักเหมาโรงเล่น กางผ้าใบเป็นหลังคาโรงกลางสนาม ปูเสื่ออ่อนบนสนามใต้หลังคาผ้าใบ หากเป็นบ้านนอก (เช่นที่เคยดูสมัยอพยพไปอยู่ในคลองมหาสวัสดิ์) หลังคาโรงใช้จากมุงลวกๆพอกันแดด

                ตัวละครมีสัก ๕-๖ ตัว รวมพวกปี่พาทย์ด้วยไม่เกิน ๑๐ คน หากเล่นเรื่องที่ต้องมีตัวละครมากคนหนึ่งเล่น ๒ บท ๓ บท ก็มี เช่นเล่นเป็นพระอินทร์เสร็จ หมดบทพระอินทร์ก็โดดมาเล่นเป็นหกเขย เล่นบทเจ้าชายตอนยังเป็นกุมาร ก็สวมหัวกระดาษมีจุก พอโตเป็นหนุ่ม ก็เปลี่ยนเป็นสวมชฎา แต่งเนื้อแต่งตัวกันกลางโรงนั่นแหละ ถึงบทใครก็ออกมาเล่น หมดบทกลับไปนั่งตีกรับไปร้องลูกคู่ไป ถึงบทก็สวมชฎา ส่องกระจกนิดหน่อย โดดออกมาเล่นอีก

                บางทีเล่นแก้บนทั้งเรื่องถึง ๓ วันก็มี เล่นเฉพาะกลางวัน กลางคืนไม่เห็นเคยเล่น สงสัยเจ้าท่านคงง่วงนอน  ไม่ชอบดูละครตอนกลางคืน

                เข้าเรื่องที่ถามมาว่า ละครชาตรีคือละครนอกใช่ไหม

                สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เอาไว้ว่า

                ละครนอก นั้น แต่เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ ละครชาตรีที่ราษฎรชาวบ้านเล่นกันนั่นเอง

    ละครนอกราษฎรชาวบ้านเล่นเรื่องคาวี แต่งตัว ‘อย่างน้อย’ ไม่แต่งเครื่อง ตัวพระคาดเข็มขัด ตัวนางใช้ ผ้าคาดอก พอให้รู้ว่าเป็นตัวพระตัวนาง

                ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อแรกเริ่มจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นั้น ในราชสำนักยังไม่มีการเล่นละครที่เรียกว่าละครใน มีแต่โขนเล่นในพระราชพิธีอินทราภิเษก และพระราชพิธีสำคัญ ใช้ผู้ชายเล่น ต่อมาจึงโปรดให้นางในจับระรำฟ้อนประกอบเป็นประดุจพวกนางอัปสร

                ส่วนละครชาตรีนั้นมีตำนานว่า ผู้ริเริ่มหัดขึ้น คือพระเทพสิงหร เป็นบุตรชายของนางศรีคงคา หรือนางศรีมาลา (ไม่ทราบว่าที่เรียก ‘พระเทพสิงหร’ นั้น จะเป็นเชื้อสายเจ้านาย หรือยกย่องกันเองด้วยความนับถือ)

                ต่อมาตัวละครเอกของพระเทพสิงหร ชื่อขุนศรัทธาเป็นผู้นำแบบแผนละครชาตรีไปหัดขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช

                ที่จริงบทละครนอกสมัยอยุธยา มีอยู่หลายเรื่อง ตกมาถึงกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ มีฉบับอยู่ในหอพระสมุด ๑๔ เรื่อง ทว่าไม่บริบูรณ์สักเรื่องเดียว คือ

                ๑. การเกษ

                ๒. คาวี

                ๓. ไชยพัต

                ๔. พิกุลทอง

                ๕.พิมพ์สวรรค์

                ๖. พิณสุริวงศ์

                ๗. นางมโนห์รา

                ๘. โม่งป่า

                ๙. มณีพิไชย

                ๑๐ สังข์ทอง

                ๑๑. สังข์ศิลป์ไชย

                ๑๒. สุวรรณศิลป์

                ๑๓. สุวรรณหงส์

                ๑๔. โสวัต

    ละครนอกต่อมาแต่งเครื่องอย่างละครหลวงแต่บทละครที่ใช้เล่น ยังคงเป็นบทละครนอก ตัวนางที่เล่นเป็นนางกษัตริย์แต่งรัดเกล้ายอด มีกรรเจียกจรดอกไม้ทัดเต็มที่

                สำหรับเรื่อง ‘โม่งป่า’ ผู้เล่าเคยได้ดูลิเกครั้งหนึ่งเมื่อยังเด็กๆอยู่ ยังจำได้ว่า ก่อนจบตอนในคืนนั้น เขาประกาศว่า คืนพรุ่งนี้จะเปิดหน้าไอ้โม่งป่าคร้าบ...แต่ก็ไม่ได้ไปดู เพราะย่าจับได้เสียก่อนว่าแอบหนีไปดูลิเกกับคนในบ้าน

                ดูเหมือนเรื่องนี้ พวกลิเกสมัยก่อนโน้นชอบนำไปเล่นกัน จึงได้ยินชื่อเรื่องอยู่เสมอ คงเพราะเป็นเรื่องลึกลับ มีไอ้โม่งเป็นตัวปริศนา แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ ได้ดูลิเกแค่คืนเดียว เขาเล่นต่อกันถึง ๕-๖ คืน อ่านก็ไม่เคยอ่าน ไม่รู้เรื่องเลย

                ว่าถึงละครชาตรีต่อไป สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ท่านทรงอธิบายว่า ละครชาตรี หรือละครนอกนี้ แต่เดิมคงเล่นกันหลายเรื่องดังที่ตกลงมาถึงกรุงธนบุรีบางเรื่อง แต่เมื่อขุนศรัทธานำไปเล่นที่นครศรีธรรมราชนั้น ผู้คนคงจะพอใจชอบดูเรื่องนางมโนห์รามากกว่าเรื่องอื่นๆ นานเข้าจึงเล่นแต่เรื่องมโนห์รา เลยพากันเรียกว่า มโนห์ราชาตรี ทว่าวิสัยคนใต้มักชอบพูดตัดคำให้เหลือสั้นๆ ไปๆมาๆเลยเรียกกันแต่ว่า ‘โนห์รา’

    รัดเกล้าไม่มียอด ของนางและปันจุเหร็จ  ซึ่งในรัชกาลที่ ๒ โปรดฯให้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นเครื่อง สวมศีรษะ อิเหนา และอุณากรรณ เมื่อปลอมตัวเป็นโจร แทนชฎายอด

                สำหรับละครใน ท่านว่า ในกรุงศรีอยุธยาเพิ่งเกิดมีขึ้นเมื่อแผ่นดิน สมเด็จพระเพทราชานี้เอง แต่มารุ่งเรืองที่สุดสมัย พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ก่อนหน้านี้ละครในเล่นอยู่เฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอุณรุทถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ จึงมีเรื่องอิเหนาเล่นอีกเรื่องหนึ่ง

                สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ นั้น ตามประวัติศาสตร์ว่าเป็นสมัย (ดูเหมือน) เจริญที่สุด ราษฎร (ดูเหมือน) มั่งคั่งร่ำรวย สนุกสนานด้วยการบันเทิงรื่นเริงต่างๆ

                แต่พอถึงรัชกาลพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศน์ราษฎรกลับยากจน ผู้คนเห็นแก่ตัว พอพม่ายกมาจึงตีกรุงศรีอยุธยาได้ แล้วกรุงก็ล่ม หลังจากผ่านสมัยที่ (ดูเหมือน) ไพร่ฟ้าหน้าใสมาเพียงไม่กี่ปี

                ละครใน สมัยอยุธยา เครื่องแต่งตัว ลอกเลียนแบบแผนมาจากเครื่องต้น เครื่องทรงของท้าวพญามหากษัตริย์แต่โบราณ  ส่วนละครนอก เป็นของราษฎร ที่มิได้มีทุนก็คงใช้แต่งอย่างคนทั่วไป ชั่วแต่มีผ้าคาด ผ้าห่ม พอให้รู้ว่าเป็นตัวพระตัวนาง (ดังในภาพประกอบ) ที่พอมีทุนก็อาจประดับประดาบ้าง ดังเช่นที่โนห์ราชาตรีแต่งอยู่ในปัจจุบัน

                ทว่า ถึงสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ เจ้านายและข้าราชการที่รวบรวมผู้คนฝึกหัดโขนละคร (ผู้ชาย) ขึ้นใหม่ ต่างพากันคิดแบบอย่างสมัยเครื่องแต่งตัวให้คล้ายคลึงกับเครื่องต้นเครื่องทรงยิ่งขึ้น ถึงต้องมีพระบรมราชโองการประกาศ ห้าม ดังตอนหนึ่งว่า

                “...ทุกวันนี้แต่งยืนเครื่อง (คือตัวพระจุลลดาฯ) แต่งนาง ย่อมทำมงกุฎ ชฎา ชายไหวชายแครง กรรเจียกจร ดอกไม้ทัด นุ่งโจงไว้หางสิ ต้องอย่างเครื่องต้นอยู่ ไม่ควรหนักหนา ต่อไปห้ามมิให้ทำเช่นนั้นเป็นอันขาด กำหนดให้แต่งตัวยืนเครื่องนุ่งผ้าตีปีก (คงจะคล้ายที่ลิเก หรือลำตัดนุ่ง-จุลลดาฯ) ผ้าจีบโจงอย่างโขน (ไม่ไว้หางหงส์-จุลลดาฯ) แต่งตัวนาง (ใช้) แต่งรัดเกล้า อย่าให้มีกรรเจียกจร ดอกไม้ทัด

                ถ้าผู้ใดมิฟังทำให้ผิดกฎรับสั่ง จะเอาตัวเป็นโทษให้จงหนัก”

                ‘รัดเกล้า’ ของตัวนางนั้น แต่เดิมมาไม่มียอดแหลมอย่างมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ประดิษฐ์มียอด สำหรับตัวละครหลวงทำด้วยทอง ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้านาย ขุนนาง ตลอดจนราษฎร มีละครผู้หญิงได้ แต่ห้ามทำรัดเกล้ายอดทองคำอย่างของหลวง ทว่าก็ปรากฏว่ามีผู้แอบทำ จึงทรงเปลี่ยนเป็นประกาศห้าม เพียงแต่มิให้ผู้อื่นทำเครื่องละครลงยาราชาวดี เพราะลงยาราชาวดีนั้น เป็นเครื่องราชูปโภค เฉพาะพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×