ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #194 : เจ้าสัวหรือเจ๊สัว

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 606
      2
      15 เม.ย. 53

      -เจ๊สัว แจ๊สัว หรือเจ้าสัว อย่างไรกันแน่ ‘เจ้าขรัว’ อีกคำหนึ่ง ดูในพจนานุกรมเขาบอกว่าเป็นคำเดียวกัน คือ

                เจ้าสัว - น.คนที่มั่งมี (มักหมายถึงเศรษฐีจีน) เจ๊สัวหรือเจ้าขรัวก็เรียก

                เจ้าขรัว -น. คนที่มั่งมี (มักหมายถึงเศรษฐีจีน) เจ๊สัวหรือเจ้าสัวก็เรียก-

                บทความนี้มิใช่ เอตทัคคะทางภาษา แต่เมื่อถามมา จึงค้นตามหนังสือเก่าๆ มาเล่าให้พิจารณาดูเอง

                เจ้าสัวหรือเจ๊สัว (ซึ่งคนเก่าแก่บางคนมักเรียกตามถนัดปากว่า ‘เจ๊สัว’ คำเดียวกันกับ ‘เจ๊สัว’ นั่นเอง)

                สมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑-๒-๓ เท่าที่เห็นตามหนังสือเก่าๆ และในจดหมายเหตุเห็นเรียกกันว่า ‘เจ๊สัว’ ทั้งนั้น แม้แต่ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๔ ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ท่านก็เรียกว่า ‘เจ๊สัว’

                “การถนนแล้วยังไม่มีสพาน ได้บอกบุญขุนนางแลเจ๊สัว ตามแต่ผู้ใดจะศรัทธา รับทำสพานข้ามคลองที่ตรงถนนใหม่ข้าม”

               เรือตะเภาหรือเรือสำเภาที่เป็นพาหนะของจีนเข้ามาค้าขายกับเมืองไทย จนเป็นเจ๊สัวหรือเจ้าสัวไก่ที่เรียกกันว่าไก่ตะเภา ก็ได้ชื่อจากเรือตะเภานี้
                ห้องที่เห็นห้อยอยู่ท้ายเรือ คือห้องบาหลี สำหรับนายเรือ หรือคนสำคัญที่มากับเรือ

                คือโปรดฯให้ทำถนนเจริญกรุงและถนนสีลม ซึ่งต้องมีสะพานข้ามคลองถึง ๑๗ สะพาน เป็นสะพานไม้บ้าง สะพานเหล็กบ้าง สะพานเหล่านี้เป็นของ ‘เจ๊สัว’ สร้างถวาย ๖ เจ๊สัว คือ หลวงจิตต์จำนงวานิช ๑ พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ๑ หลวงพิศาลศุภผล ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง) ๑ หลวงไมตรีวานิช ๑ หลวงภาษีวิเศษ ๑

                เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ) ผู้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ๒ ๓ และ ๔ ซึ่งเป็นฉบับที่ยึดถือกันโดยทั่วไปนั้น เกิด ต้นรัชกาลที่ ๒ ถึงแก่อสัญกรรมต้นรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๓๕๖-๒๔๑๓) ตลอดรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๔ ท่านจึงเรียบเรียงจากเหตุการณ์ที่ท่านร่วมอยู่ด้วย ได้รู้ได้เห็นเอง แม้ในรัชกาลที่ ๑ ท่านจะยังไม่ทันเกิด ท่านก็ฟังจากปากของบิดามารดาและผู้ใหญ่ที่มีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ ๑ พระราชพงศาวดารที่ท่านเรียบเรียง จึงเป็นที่ยึดถือและนับถือกันว่าถูกต้องตรงกับความเป็นจริงในยุคสมัยนั้นที่สุด

                คำว่า ‘เจ๊สัว’ ในสมัยกรุงธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมามาเรียกกันว่า ‘เจ๊สัว’

                ไม่ทราบเหมือนกันว่า ‘เจ๊สัว’ ศัพท์เดิมมาจากภาษาอะไร ท่านผู้รู้หากทราบได้โปรดส่งมาเล่าบอกกันเป็นความรู้ทั่วๆไปด้วย ก็จะขอบพระคุณยิ่ง

                ทราบอยู่อย่างหนึ่งว่า บรรดาเจ๊สัวหลายต่อหลายคนนั้น ก่อนจะร่ำรวยมั่งคั่งจนเรียกกันว่า ‘เจ๊สัว’ นั้น ก่อนหน้านี้เรียกกันว่า ‘จีน’ เช่น จีนกุน จีนเรือง จีนสอน เมื่อมั่งคั่งเป็นเศรษฐีแล้วจึงเรียกกันว่า ‘เจ๊สัว’ หรือ ‘แจ๊สัว’ ตามถนัดปาก

                บิดาของย่าผู้เล่า ย่าว่า เมื่อยังหนุ่มเขาก็เรียกกันว่า จีนเขียว ต่อมาก็เจ๊สัวเขียวแล้วก็เจ้าสัวเขียว แล้วจึงได้เป็นพระประเสริฐวานิช ย่าเล่าให้หลานฟังว่า พ่อของท่านเป็น ‘เจ๊สัว’ แต่ลุง อา พ่อ มักบอกว่า คุณก๋งของท่านเป็น ‘เจ้าสัว’

                ‘เจ้าสัว’ จึงน่าจะเริ่มเรียกกันมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ หรือ ๕ อาจเป็นเพราะเวลานั้นภาษากำลังเริ่มวิวัฒนาการ ครั้นมีเจ้าจอมพระสนมเป็นธิดาของ เจ๊สัว หลายต่อหลายท่าน เมื่อมีพระราชโอรสธิดา เจ๊สัวท่านก็ได้เป็นขรัวตา (คำว่า ‘ขรัว’ มาแล้ว) บางทีการเปลี่ยนเรียก ‘เจ๊จัว’ เป็น ‘เจ้าสัว’ อาจมาจากต้องการยกย่องก็เป็นได้ ด้วย ‘เจ๊’ นั้น ฟังไม่สนิทหูดูเป็นที่น่านับถือเท่ากับ ‘เจ้า’ เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องหัวหมื่นมหาดเล็กวังหลวงให้เรียกกันว่า ‘เจ้าหมื่น’ แทน ‘จมื่น’

                ทีนี้ เจ้าขรัว

                เจ้าขรัวจะเป็นคำเดียวกันกับ ‘เจ้าสัว’ หรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ตามสันนิษฐานส่วนตัวของผู้เล่า เห็นว่าไม่น่าจะเป็นคำเดียวกัน

                เมื่อค้นดูตามหนังสือ ได้ความมาดังนี้

                ในเรื่อง ‘บรรพชนของราชสกุลอิศรางกูร” มีข้อความว่า

                “พระภัศดากรมพระศรีสุดารักษ์ มีนามว่า เจ้าขว้วเงิน ขั้วเงิน?”

                และมีวิจารณ์ว่า

                “ในสมัยที่ยังมีผู้รู้หนังสือน้อย เรื่องราวต่างๆที่ควรเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ใช้วิธีจดจำและเล่าสู่กันต่อๆไป ต่อมาจึงเกิดการเขียนลอกคัดขึ้น การผิดเพี้ยนจึงย่อมมีเป็นธรรมดา การที่เจ้าขว้วเงิน ขั้วเงิน? กลายเป็นเจ้าขรัวเงิน หรือหลักฐานบางแห่งก็เรียกว่าเจ้าสัวเงินนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการผันแปร...”

                แต่ในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ เรื่อง ‘ปฐมวงศ์” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเรียกพระอัยกา (ตา) ของพระองค์ท่านว่า “เจ้าข้าวเงิน” ซึ่งก็คงมาจากจดหมายเหตุโบราณว่า ‘ขว้ว’ คำเดียวกันนั่นเอง

                ในหนังสือประวัติขุนนางแต่โบราณ มีประวัติขุนนางตระกูลรามัญ ก็กล่าวถึงคำว่า ‘ขรัว’ เอาไว้ตอนหนึ่งว่า

                “พระยาสุรเสนา (คุ้ม) บุตรคนที่ ๔ ของพระยาเพทธราชา (มะปุ๊) (พระยาสุรเสนา (คุ้ม) เป็นน้องคนละแม่กับท้าวทรงกันดาลมอญ-จุลลดาฯ) ทำการวิวาห์กับท่านปิ่นธิดาของท่านขรัวบ้านใหญ่

                พระยาสุรเสนา (คุ้ม) กับท่านปิ่นผู้นี้เป็นบรรพบุรุษ (ทวด) ของพระชนนีน้อย พระชนนีแห่งสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีรัชกาลที่ ๔ (พระบรมราชชนนีพันปีหลวงรัชกาลที่ ๕)

                คำว่า ‘ขรัว’ น่าจะหมายถึงเป็นที่นับหน้าถือตา อาจเป็นคนจีนหรือมิใช่ก็ได้ ส่วน ‘เจ้าสัว’ น่าจะหมายถึงเฉพาะจีนมั่งมี โดยเฉพาะสมัยก่อนโน้นมั่งคั่งมั่งมีจากการค้าสำเภา

                เพราะพระภิกษุสูงพรรษาก็มักเรียกกันว่าขรัวตา ขรัวปู่ ขรัวลุง ผู้เป็นตายายของเจ้าฟ้า หรือพระองค์เจ้า พระราชโอรสธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน ก็เรียกกันว่าขรัวตา ขรัวยาย เพื่อยกย่องว่าสูงศักดิ์กว่าตายายของสามัญชนทั่วไป

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×