ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #183 : ขุนพลแก้วแห่งแผ่นดินที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 686
      1
      15 เม.ย. 53

    ผู้ที่อุ้มชูพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มาแต่ยังทรงพระเยาว์ อีกผู้หนึ่งคือ นายสิงห์ ผู้ซึ่งต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา ขุนพลแก้วแห่งแผ่นดินที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์

                ประวัติของเจ้าพระยาบดินทรเดชา นั้น ป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วๆไปแล้ว เพราะนับถือกันว่าท่านเป็นวีรบุรุษนักรบของแผ่นดินท่านหนึ่ง

                จึงขอเล่าเพียงบางส่วน

    ท้องพระโรง วังท่าพระ

                บิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) คือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ตำแหน่งสุดท้ายของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ในรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯให้ไปเป็นเจ้าพระยาวังหน้า เทียบที่สมเด็จเจ้าพระยา ขึ้นไปรับราชการวังหน้า

                เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) นั้น เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มาแต่รัชสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ นายสิงห์ได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ จ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อครั้งเสด็จประทับ ณ พระราชวังเดิม

                นายสิงห์สูงวัยกว่า หม่อมเจ้าทับ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ) พระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ๘ ปี จึงเป็นเสมือนทั้งพี่เลี้ยงและเพื่อนเล่นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มาแต่ยังทรงพระเยาว์ พูดอย่างภาษาชาวบ้านก็ว่า ขี่คอเล่นหัวกันมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงนับถือว่าเป็นพระญาติ ตรัสเรียกว่า ‘พี่สิงห์’ (ต่อมาเมื่อโปรดฯ ให้เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ตรัสเรียกว่า ‘พี่บดินทร์’)

                ทั้งนี้ ก็ด้วยเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) นั้น ท่านเป็นพี่ชายแท้ๆของกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ (หม่อมมุก) พระภัสดาของพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากุ ให้รัชกาลที่ ๑ (พระองค์เจ้ากุ-ถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงสถาปนาพระอัฐิเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี)

                พ.ศ.๒๓๔๙ หลังจาก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท-วังหน้า เสด็จสวรรคต และ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) เสด็จทิวงคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯ พระราชทานอุปราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

                นายสิงห์ก็ได้เป็นจมื่นเสมอใจราช ฝ่ายพระราชวังบวรฯ

    ประตูใหญ่วังท่าพระ (ปัจจุบันเป็นทางเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร) ประตู และกำแพง มีใบเสมา แสดงว่าเป็นวังของเจ้าฟ้า

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ นั้น ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่มิได้เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังบวรฯเลย ด้วยเมื่อทรงรับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นปลายรัชกาลที่ ๑ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงพระชรามากแล้ว จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า “เอาไว้ย้ายเข้าพระบรมมหาราชวังทีเดียวเถิด อย่าให้ต้องย้ายสองครั้งสามครั้งเลย”

                อีกเพียง ๓ ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯก็เสด็จสวรรคต

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดเกล้าฯพระราชทานอุปราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ เป็น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรฯ

                แล้วโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ไปเป็นที่สมเด็จเจ้าพระยาวังหน้า

                โปรดเกล้าฯให้ จมื่นเสมอใจราช (สิงห์) ตามบิดาขึ้นไปรับราชการวังหน้า เป็นที่ปลัดกรมพระตำรวจ ก่อนแล้วจึงเป็น พระพรหมสุรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจขวา แล้วเป็นพระยาราชโยธา แล้วจึงเป็นพระยาเกษตรรักษา ว่าการกรมนาฝ่ายพระราชวังบวรฯ

                ดวงชะตาของนายสิงห์ เมื่อต้นๆนั้น ต้องได้รับพระราชอาญาถึงสองครั้ง

                ครั้งแรกพายเรือฝ่าหมอกจะรีบไปเข้าขบวนเสด็จ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ แต่กลับพายผ่านตัดหน้าขบวนเสด็จ ทำให้กรมพระราชวังบวรฯกริ้ว โปรดให้ถอดยศบรรดาศักดิ์ ลงพระราชอาญาจองจำ ทว่าโดนจองจำได้ ๔ เดือน ก็พอดีกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระกรุณา ช่วยกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้พ้นโทษ เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว จึงเข้าเฝ้าแหนเสด็จในกรม ณ วังท่าพระอยู่เสมอ เป็นที่สนิทสนมคุ้นเคยกับผู้คนในวัง โดยเฉพาะกับจางวางแสงและท้าวมังสี (คุ้ม)

                วังท่าพระนั้น มีผู้ที่เรียกกันว่า ‘จางวาง’ สองท่าน คือ ‘จางวางภู่’ จางวางในเสด็จในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และ ‘จางวางแสง’ อดีตจางวางในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตในรัชกาลที่ ๑

                สำหรับจางวางแสง เมื่อกรมขุนกษัตรานุชิต สิ้นพระชนม์แล้ว กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โปรดให้ยังคงอยู่เรือนที่เคยอยู่ในวังท่าพระกับท้าวมังสี (คุ้ม) ผู้ภริยา และบุตรี โปรดให้ท้าวมังสี (คุ้ม) ดูแลโรงครัวและห้องเครื่อง

    ประตูทางเข้าออกทั่วไปของวังท่าพระ ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีการนำช้างไปอาบน้ำที่ท่าช้างวังหลวง หรือท่าพระ

                จางวางแสงและท้าวมังสี ถวายบุตรีชื่อเอมเป็นหม่อมในเสด็จในกรมฯ

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงสร้างสวนขวา โปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเป็นผู้กำกับการสร้าง นายสิงห์ก็ได้ช่วยกำกับการช่าง ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทใกล้ชิดอยู่เนืองๆ จนกระทั่งโปรดเกล้าฯจะให้ว่าตำแหน่งพระยาท้ายน้ำ

                ก็พอดีนายสิงห์ต้องพระราชอาญาเป็นครั้งที่ ๒

                ครั้งนี้ มีผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษว่านายสิงห์ ไปตั้งทำนาซ่องสุมผู้คนที่เกาะเรียนอยุธยา ซึ่งความจริงนั้น นายสิงห์หลังออกจากราชการแล้ว ได้ไปทำนาด้วยทุนส่วนตัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ลงพระราชอาญาจำไว้ที่พิมดาบหรือพิมตำรวจ ในพระบรมมหาราชวัง รอการพิพากษาชำระความเท็จจริง

                ที่เกิดเรื่องนายเถื่อนมหาดเล็กรายงานกลั่นแกล้งเข้มงวดเอง ดังปรากฏอยู่ในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ นั้น

                นายสิงห์ต้องจำอยู่ปีเศษ ก็พอดีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จสวรรคต

                ในหนังสือมหาขันธ์ พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ กล่าวถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ไว้ตอนหนึ่งว่า

                “เจ้าพระยาบดินทรเดชา จึงได้ติดต่อไปมาเฝ้าแหนอยู่ที่วังท่าพระเสมอ บางคราวค้างคืนด้วยงานราชการสร้างสวนขวาที่วังนั้น เมื่อเวลาหิวอาหารก็ได้ไปที่ห้องเครื่องของอาหารท่านคุ้ม มารดาหม่อมเอมน้อย (เจ้าจอมมารดาเอมน้อย ซึ่งเป็นผู้ดูแลการทำเครื่องอยู่ ท่านนับถือท่านคุ้มเป็นเหมือนญาติ เรียกว่าพี่คุ้มตลอดมา จนได้เป็นอัครมหาเสนาบดีและแม่ทัพ ท่านก็ยังรักใคร่นับถือท่านคุ้มตลอดมา”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×