ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #168 : มหาดเล็กรับราชการ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 513
      1
      12 เม.ย. 53

      -มีผู้อ่านถามมาว่า ในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ นั้น ว่ามีคนชื่อนายเถื่อน เป็นมหาดเล็กรายงาน กลั่นแกล้งพระยาเกษตรรักษา (สิงห์) (คงเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชาใช่ไหม) ไม่ให้พระยาเกษตรรักษาไปในงานศพมารดา อยากทราบว่ามหาดเล็กรายงานเป็นเพียงมหาดเล็ก ทำไมจึงมีอำนาจมากมายถึงสั่งเฆี่ยนหมื่นหาญผู้คุมได้ ในเรื่องเขียนว่ามีบุญวาสนายิ่งกว่าเจ้ากรมพระตำรวจด้วยซ้ำไป-

                มหาดเล็กรายงาน ชื่อตำแหน่งหน้าที่บอกแล้วว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน

                มหาดเล็กรายงานนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระบรมราชาธิบายว่าด้วยยศขุนนาง ดังนี้

                “เมื่อขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ดี มีบุตรต้องถวายตัวพระเจ้าแผ่นดิน เป็นมหาดเล็กรับราชการ เป็นแต่การใช้สอยเล็กน้อยใกล้เคียงพระเจ้าแผ่นดิน มีเบี้ยหวัดบ้างนิดหน่อย

                เมื่อได้รับราชการอยู่ใกล้พระเจ้าแผ่นดินดังนั้น ก็ได้ยินได้ฟังเรื่องราชการที่ขุนนางเจ้าพนักงานนำมากราบทูล แลที่พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งไป เป็นการเรียนรู้ราชการอยู่เสมอ

    ภาพวาด ริมแม่น้ำด้านหน้าวัดโพธิ์ ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๓ ภายนอกและในกำแพงเมืองมีบ้านเรือนขุนนางราษฎร คับคั่ง

                เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเห็นว่าผู้นั้นคุ้นเคยในราชการเข้าบ้างแล้ว ก็ใช้ให้ไปตรวจการต่างๆ นำความมากราบทูล แลใช้ให้ไปสั่งเสียด้วยราชการต่างๆบ้าง มหาดเล็กผู้นั้นต้องคิดเรียบเรียงถ้อยคำที่จะกราบทูลด้วยปากบ้าง ด้วยหนังสือบ้าง เป็นเหมือนหนึ่งเอเซ (คือ essay -จุลลดาฯ) จนพระเจ้าแผ่นดินเห็นว่าผู้นั้นสมควรจะมีตำแหน่งราชการก็ค่อยเลื่อนยศขึ้นไปทีละน้อยๆตามลำดับ ไม่ว่าบุตรขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย แล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดองค์เดียว

                เพราะธรรมเนียมเป็นดังนี้ ถ้าขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยผู้ใดมีบุตรดีที่ได้ทดลองแล้ว พระเจ้าแผ่นดินเห็นสมควรที่จะได้รับราชการสืบตระกูลบิดาได้ ก็ให้เลื่อนยศให้สืบตระกูลบิดาไปบ้าง แต่ที่ไม่ได้สืบตระกูลบิดาเสียนั้นโดยมาก เพราะบุตรไม่ดีเหมือนบิดา

                กำหนดบรรดาศักดิ์ขุนนางพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งนั้นต้องตั้งแต่ศักดินา ๔๐๐ ขึ้นไป

                ยกเสียแต่นายรองหุ้มแพรมหาดเล็ก (คือพวกมหาดเล็กรายงาน-จุลลดาฯ) ซึ่งเป็นบุตรขุนนางเช่นว่าไว้แล้วในข้างต้น มีศักดินา แต่ ๓๐๐ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเอง (คือไม่มีในทำเนียบศักดินา-จุลลดาฯ) เพราะเป็นคนใช้อยู่ใกล้เคียง

                เพราะเหตุฉะนั้นกรมมหาดเล็กจึงเป็นกรมสำคัญยิ่งกว่ากรมอื่นๆ ถึงตัวนายที่ได้รับสัญญาบัตรจะมีศักดินาน้อย ก็เป็นที่ยำเกรงนับถือของคนทั้งปวงมากกว่าขุนนางซึ่งมีศักดินาสูงๆกรมอื่นๆ ด้วยเหตุที่เป็นบุตรขุนนางมีตระกูลประการหนึ่ง เป็นผู้ใกล้เคียงได้ฟังกระแสพระเจ้าแผ่นดินแน่แท้ประการหนึ่ง เป็นผู้เพ็ดทูลได้ง่ายประการหนึ่ง จึงได้มีเกียรติยศเป็นที่นับถือมาก”

                ก็จะเห็นได้ว่า ตามพระบรมราชาธิบายนี้ นายเถื่อนผู้เป็นเพียงนายเถื่อน จึงมีคนยำเกรงมาก ถึงยกย่องเรียกกันทั่วไปในหมู่คนสามัญว่า ‘ใต้เท้ากรุณาเจ้า’ เท่ากับเรียกเจ้าพระยาพานทอง เวลาตามเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน นายเถื่อนนั่งเรือกัญญา ฝีพาย ๕๐ คน

                ประวัตินายเถื่อนมีสั้นๆว่าเป็นบุตรชายพระหฤทัย โปรดฯให้เป็นมหาดเล็กรายงานกำกับศาลกรมพระตำรวจทั้งแปดศาล

                ทว่านายเถื่อนก็หาได้มีบุญวาสนาไปจนตลอดชีวิตไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จสวรรคตขึ้นรัชกาลที่ ๓ นายเถื่อนได้เป็นหลวงชาติสุริยง (เถื่อน) ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ อาจจะหนีพวกขุนนางวังหลวงไปเป็นข้าวังหน้าก็เป็นได้ ทว่าการพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชการที่ ๓ ทรงเป็นวังหน้าอยู่เพียง ๘ ปี ก็สวรรคต หลวงชาติสุริยง (เถื่อน) จึงต้องลงมาสมทบกับข้าราชการวังหลวงตามธรรมเนียม

                หลวงชาติสุริยง (เถื่อน) จึงได้พบกับกรรมสนองกรรมที่เคยก่อไว้แก่พระยาเกษตรรักษา (สิงห์) อย่างรุนแรง

                เรื่องนี้เห็นจะต้องคอยอ่านจาก ‘บุญบรรพ์’

                มหาดเล็กรายงาน ผู้มีชื่อปรากฏเล่ากันต่อๆมา นอกจากนายเถื่อนในรัชกาลที่ ๒ แล้ว

                ยังมีอีกผู้หนึ่ง เป็นมหาดเล็กพิเศษในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ และโปรดฯให้เป็นมหาดเล็กรายงานกำกับกรมช่างสิบหมู่ และกรมช่างต่อเรือ

                มหาดเล็กผู้นี้ ชื่อนายโหมด

                ผู้อ่านเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ มาแต่ต้น คงจำได้ว่า ในวังของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั้น มีผู้คนมากมาย ทั้งผู้อยู่ในวังก็เป็นร้อยๆ ขุนนางสำคัญเจ๊สัว ออกจากที่เฝ้าฯ ข้ามจากวังหลวงก็แวะมาเฝ้าและชุมนุมกันทำนองสโมสร ทางด้านขุนนางชั้นผู้น้อยก็มาชุมนุมรับประทานข้าวปลาอาหารกันที่เรือนจางวางแสง และท้าวมังสี จางวางแสงนี้มิใช่จางวางในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๑ โปรดฯให้เป็นจางวางในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต เมื่อ ฯกรมขุนกษัตรานุชิต ถูกสำเร็จโทษแล้ว พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้รับพระราชทานวังท่าพระ การได้รับพระราชทานวัง หรือบ้านเรือนในสมัยก่อน คือโปรดฯให้อยู่ ทว่ามิได้ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ ยังคงเป็นของหลวง จะโปรดฯให้ย้าย หรือพระราชทานผู้ใดต่อก็ย่อมได้

                ในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จึงโปรดให้จางวางแสงและท้าวมังสีอยู่ต่อไป ท้าวมังสีมีตำแหน่งเป็นวิเสทนอก (วังหลวง) อยู่แล้ว จึงได้ดูแลโรงครัวและเครื่องเสวยในวังท่าพระ

                บรรดาขุนนางผู้น้อยที่มารับประทานข้าวปลาอาหารนั้น  มีผู้ที่ในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงพระเมตตาขอพระราชทานอภัยโทษให้สองท่าน คือ พระยาเกษตรรักษา (สิงห์) และหลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) ดังมีเรื่องราวปรากฏอยู่ใน ‘บุญบรรพ์’ นั้น

                อันหลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) ดังกล่าว ผู้นี้ บิดาชื่อเอมหรือคลายเป็นที่พระอภัยพิพิธ ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๒ พระอภัยพิพิธิ เป็นข้าหลวงเดิม ทั้งในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ และในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ รัชกาลที่ ๒ หลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) เมื่อแรกจึงเป็นที่หลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

                หลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) ต่อมาในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กราบบังคมทูลพระกรุณา สมเด็จพระบรมชนกนาถ ขอรับพระราชทานให้เป็นที่พระอภัยสุรินทร์ และเมื่อพระองค์เองเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดฯให้เป็นที่พระสุริยอภัย (ป้อม) เจ้ากรมพระตำรวจซ้าย

                เล่าเรื่องหลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) หรือพระสุริยอภัย หรือต่อมาเป็นพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) ยืดยาว เพราะท่านผู้นี้เป็นบิดาของ นายโหมด มหาดเล็กรายงาน

                และเป็นต้นสกุล ‘อมาตยกุล’

                นายเถื่อนมหาดเล็กรายงานในรัชกาลที่ ๒ มีเรื่องราวเล่ากันมาถึงคนชั้นหลังๆ นายโหมดมหาดเล็กรายงานในรัชกาลที่ ๓ ก็เช่นกัน

                ทว่าเรื่องราวตรงข้ามกับนายเถื่อน

                เรื่องราวของนายโหมดนั้น แสดงความฉลาดเฉลียวในด้านการช่าง เช่นเดียวกับบรรพบุรุษสาวขึ้นไป ๔ ชั้น คือเจ้าพระยาราชสงคราม (ปาน) ว่าที่จักรี สมุหนายก ในแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร) ผู้พระบรมเชษฐาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าพร)

                เรื่องที่เล่ากันมาปรากฏในประวัติของนายโหมด ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็น พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด) ในรัชกาลที่ ๔ นั้นดังนี้

                เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จเจ้าพระนั่งเกล้าฯ ทรงปฏิสังขรณ์และก่อสร้างโบสถ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) โปรดฯให้นายโหมดเป็นมหาดเล็กรายงาน กำกับการก่อสร้างวัดด้วย

                ครั้งนั้นสมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ แต่ครั้งยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ฯ เป็นแม่กองก่อสร้าง ปรากฏว่า ไม้ขื่อที่จะยกขึ้นพาดใต้หลังคาโบสถ์ ได้ก่อพุ่งลงมากระทุ้งฝาผนังพังลง ทับผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปหลายคน

                พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ ทรงอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลว่า

                เมื่อขณะกำลังขันกว้านรอกชักไม้ขื่อโบสถ์นั้น นายโหมดมหาดเล็กรายงานได้เตือนกราบเรียนพระยาศรีพิพัฒน์ฯ

                รอกกว้านยาวเยิ่นเย้อเกินไปนะขอรับ น่ากลัวขื่อจะถ่อลงมากระทุ้งฝาผนังพัง”

                ทว่าพระยาศรีพิพัฒน์ฯ มิได้ฟัง กลับกล่าวว่า

                เจ้าเป็นเด็ก ไม่รู้อะไรมาสอนผู้ใหญ่”

                ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงมีรับสั่งว่า

                อ้ายโหมด ตามันดีกว่าเสนาบดี" แล้วโปรดฯให้นายโหมดเป็นที่นายพิจิตรสรรพการ มหาดเล็กหุ้มแพร

                เหตุการณ์เรื่องขื่อโบสถ์วัดพระเชตุพนฯ พุ่งลงมากระทุ้งผนังนี้ พระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จดไว้เพียงสั้นๆว่า

                การพระอุโบสถวัดพระเชตุพนนั้นทำใหม่ มาถึง ณ วันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ยกเครื่องบนขึ้น ผนังทะลายพังทับคนตาย ๕๐ คน ลำบากเป็นหลายคน เป็นเหตุด้วยพระอุโบสถใหญ่ เสารายในเล็ก ไม่มีเสาแก่น หนักตัวเข้าจึงได้ท้อลงมา”

                ทว่า ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ท่านทรงบรรยายไว้ละเอียดลออว่า

                ยกเครื่องบนวัดพระเชตุพน บันดาลด้วยอำนาจผลอธิษฐาน ให้ยืนนานถ้วน ๕,๐๐๐ เผอิญตัวไม้พลัดผันฟัดฟาด กัมปนาทหวาดหวั่น เสียงสนั่นดังฟ้าฟาดสายอิฐปูนแตกกระจายเป็นควันละอองต้องตามัวไม่รู้จักหน้ากัน ครื้นครั่นธรณี คนถึงวิสัญญีพินาศ ที่เจ็บปวดขาเข่าคลาดศีรษะแตกบาดเจ็บอยู่มาก บริจาคพระราชทรัพย์แจกจ่าย ที่ถึงอนิจกรรมประทานเงินเผาศพคนละชั่ง ๑ ที่ถูกตัวไม้แตกกระเด็นทับขาหักเข่าคลาด แผลหนัก ประทานคนละ ๑๕ ตำลึง ที่บาดแผลแตกน้อย ๗ ตำลึง ๕ ตำลึง ประทานตามน้อยมาก เฉลิมภาคพระโพธิญาณ...”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×