ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #167 : ราชวงศ์ญวน

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 518
      0
      12 เม.ย. 53

      ‘บุญบรรพ์’ เขียนถึงองเชียงสือ  จึงเห็นว่า ‘เวียงวัง’ น่าจะไล่ตามเวียงวังของญวนตั้งแต่สมัยองเชียงสือ หรือพระเจ้ากรุงเวียดนาม ยาล็อง ปฐมวงศ์ของราชวงศ์หงวนของญวนบ้าง

                จีนกับญวนต่างมีราชวงศ์ที่ภาษาไทยเรียกว่า ‘หงวน’ เหมือนกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลย

    บัลลังก์เอมปะเรอร์ ในท้องพระโรงพระราชวังเมืองเว้

                ราชวงศ์หงวนของจีน เป็นราชวงศ์ของพวกข่าน ต้นวงศ์เป็นที่รู้จักกันดี คือ เจงกิสข่าน แต่ผู้สถาปนาราชวงศ์หงวนนั้นเป็นหลานปู่ของเจงกิสข่าน คือ กุบไลข่าน (Kublai Khan) สององค์นี้ชื่อเสียงลือลั่นไปทั่วโลกดังที่รู้ๆกัน

                เลี้ยวไปเล่าถึงเวียงวังราชวงศ์หงวนของจีนเสียเล็กน้อย เจงกิสข่าน นั้น แม้จะตีได้จีน เป็นทั้งข่านของมองโกเลียและครอบครองจีนบางส่วนไว้ได้ แต่ยังมิได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์จีน จึงเป็นต้นวงศ์ หากเรียกอย่างไทยๆ อาจเรียกได้ว่า สมเด็จพระปฐมบรมหาอัยกา เพราะเป็นปู่ของกุบไลข่าน ผู้สถาปนาราชวงศ์หงวน และเป็นฮ่องเต้รัชกาลที่ ๑ เมื่อสถาปนาราชวงศ์หงวนแล้ว กุบไลข่าน จึงได้สถาปนา เจงกิสข่าน เป็น พระเจ้าหงวนไท้โจ๊ว

                ส่วนกุบไลข่าน มีพระนามว่า พระเจ้าหงวนซิโจ๊ว

                กุบไลข่านนั้น แรกทีเดียว ขึ้นครองมองโกเลีย และจีนบางส่วนอยู่ ๑๓ ปี จึงปราบจีนได้หมด และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นฮ่องเต้ สถาปนาราชวงศ์หงวนครองราชย์อยู่ ๑๘ ปี จากนั้นราชวงศ์หงวนก็มีฮ่องเต้อีก ๗ องค์ จึงสิ้นราชวงศ์ รวมอายุราชวงศ์ตั้งแต่กุบไล่ข่านถึงฮ่องเต้องค์สุดท้ายเพียง ๘๙ ปี แล้วจึงถึง ราชวงศ์เหม็ง ของจูหงวนเจียง ชาวนาที่ลุกขึ้นต่อต้าน (พงศาวดารจีนตอนนี้ คอหนังและละครโทรทัศน์ (จีน) เห็นจะคล่องกันอยู่ เพราะโทรทัศน์ฮ่องกงชอบสร้าง)

                ราชวงศ์หงวนของจีนนั้น อยู่ในระยะเวลาเดียวกันกับราชวงศ์พระร่วงสุโขทัยของเรา

                ราชวงศ์หงวน (พ.ศ.๑๘๒๐-๑๙๑๐)

                ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ.๑๗๙๖-๑๙๑๙)

                พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ของไทย เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ก่อนกุบไลข่าน เวลานั้นกิตติศัพท์ความเก่งกล้าสามารถของพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ตลอดเรื่อยมา ถึงพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ของไทยคงจะเป็นที่เล่าลืออยู่เหมือนกัน ตามประวัติศาสตร์จีนว่า พระเจ้าหงวนซิโจ๊ว หรือกุบไลข่านนั้น เก่งกล้าเหลือหลาย รบชนะทั่วทวีปเอเชีย แล้วยังชนะเลยไปยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี แต่กับเมืองสุโขทัยของไทย กลับเป็นมิตรไมตรีกัน

    พระที่นั่งทรงพระอักษร ของ เอมปะเรอร์ ในพระราชวังเมืองเว้

                พ.ศ.๑๘๒๕ หลังกุบไลข่าน ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นฮ่องเต้เพียง ๕ ปี ก็ส่งราชทูตเข้ามาเฝ้าพระเจ้ารามคำแหงมหาราช เพื่อเจริญพระราชไมตรี และมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน จนถึงปลายรัชกาลกุบไลข่าน

                พ.ศ.๑๘๓๗ กุบไลข่าน สิ้นพระชนม์ หลานปู่ขึ้นครองราชย์ เป็น พระเจ้าหงวนเซ้งจง พระเจ้ารามคำแหงมหาราช ของเราเสด็จไปกรุงปักกิ่งราชธานี เพื่อคำนับพระศพ และร่วมงานราชาภิเษกฮ่องเต้องค์ใหม่

                เห็นจะเป็นตอนนี้เองที่ทรงนำเอาช่างจีนมาตั้งเตาเผาทำถ้วยชาม เพราะเวลานั้นเครื่องปั้นดินเผาของจีน เป็นที่เลื่องลือว่าดีวิเศษที่สุดในโลก แม้พวกเซรามิคคุณภาพดีราคาแพงๆของฝรั่งทุกวันนี้ ก็ว่าเอาต้นตำรับมาจากจีน

                ทีนี้หันกลับมาหาราชวงศ์หงวนของญวน

                ญวนนั้นเป็นที่รู้ๆกันแล้วว่า ก่อนองเชียงสือสถาปนาราชวงศ์หงวน ญวนยังเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย ซึ่งต่างก็มีเจ้าครองเมือง

                องเชียงสือเป็นลูกชายใหญ่ทายาทเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง เกิดกบฏขึ้น จึงหนีเข้ามาพึ่งไทย ตั้งแต่ปลายกรุงธนบุรี ถึงต้นรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑

                ขณะที่องเชียงสือมาอยู่เมืองไทย พรรคพวกขององเชียงสือทางญวนรอคอยองเชียงสืออยู่หลายปี เห็นว่าคงจะพึ่งไทยไม่ได้ จึงติดต่อกับสังฆราชฝรั่งเศส ขอให้ฝรั่งเศสช่วย

                สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่า การที่องเชียงสือรีบหนีกลับไปญวน คงเป็นเพราะได้ข่าวเรื่องพรรคพวกติดต่อกับฝรั่งเศสนี้เอง

                เมื่อองเชียงสือหนีไปถึงญวน และไทยซึ่งเวลานั้นกำลังมีศึกสงครามติดพันกับพม่า (ในรัชกาลที่ ๑ ทำสงครามกับพม่าถึง ๗ ครั้ง) คงไม่อาจช่วยได้เต็มที่ จึงต้องพลอยขอให้ฝรั่งเศสช่วย ทว่าแม้กระนั้นเมื่อองเชียงสือทูลขอกระสุนดินดำ และยุทโธปกรณ์บางอย่าง ทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และกรมพระราชวังบวรฯก็โปรดพระราชทานไป

    ที่ฝังพระศพเอมปะเรอร์มินหม่างบนเนินเขา

                (ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเที่ยวเวียดนาม มัคคุเทศก์อายุประมาณสักห้าสิบ อดีตเคยเป็นเวียดมินห์ ซึ่งแกบอกว่าคำว่า ‘มินห์’ หมายถึงรวมกันสามัคคีกันอะไรทำนองนี้ แกโทษพระเจ้ายาล็องว่าเป็นผู้ทำให้ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลในญวนนับแต่นั้นมา จนญวนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

                นี้เป็นอุทาหรณ์ ว่า จะดีหรือเลวอย่างไร คนเป็นผู้นำต้องรับผิดชอบ เพราะผู้นำเป็นผู้มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ เมื่อจำต้องเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงทุกข์โทมนัสทรงพระประชวรเจียนสวรรคตด้วยทรงพระราชวิตกว่า ในเวลาต่อไป จะเป็นที่ตำหนิติฉินว่า เสียพระราชอาณาเขตในแผ่นดินของพระองค์)

                ในที่สุดองเชียงสือปราบกบฏสำเร็จ ตีได้ญวนทางใต้ไว้ในในอำนาจหมด จึงตั้งตัวเป็นเจ้าอนับก๊ก พ.ศ.๒๓๓๑ ส่งดอกไม้ทองเงิน ขอเป็นประเทศราช ของกรุงเทพฯ รัตนโกสินทร์อยู่ ๑๕ ปี

                พ.ศ.๒๓๔๕ ตีได้มณฑลตังเกี๋ยและเมืองเว้ราชธานีเก่า จึงตั้งตัวเป็นพระเจ้ากรุงเวียดนามยาล็อง พงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ว่า ใช้คำว่า ‘ฮ่องเต้’ และแผ่นดินยาล็อง เช่นเดียวกับเมืองจีนตั้งแต่รัชกาลยาล็องนี้

                และฝรั่งเศสเรียก พระเจ้ากรุงเวียดนามยาล็องว่า เอมปะเรอร์ที่ภาษาไทยแปลว่าจักรพรรดิ

                พระเจ้ายาล็องจะตกอยู่ในอิทธิพลของฝรั่งเศส หรืออาจจะมีสายตาไกลว่าต่อไปจะต้องให้บ้านเมืองทันสมัย (ศิวิลัยซ์) เท่าเทียมฝรั่ง จะได้พูดจากันให้รู้เรื่อง ก็อาจเป็นได้ จึงได้ส่งโอรสองค์โต เกิดแต่อัครมเหสีไปเรียนในฝรั่งเศส แต่พอเรียนจบกลับมาก็มาประชวรไข้พิษสิ้นชนมชีพ

                โอรสที่ ๒ เกิดแต่มเหสีรองก็ตายก่อน

                โอรสที่ ๓ จึงได้ครองราชย์ ต่อจากยาล็อง คือมินหม่าง

                รัชกาลที่ ๒ มินหม่างครองราชย์ ๒๑ ปี

                รัชกาลที่ ๓ โอรสมินหม่างครองอยู่ ๖ ปี

                รัชกาลที่ ๔ โอรสรัชกาลที่ ๓ ครองอยู่ ๓๖ ปี ถึง พ.ศ.๒๓๙๐ ตรงกับรัชกาลที่ ๓ ของไทย)

                ญวนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในรัชกาลนี้

    ทางขึ้นที่ฝังพระศพเอมปะเรอร์มินหม่าง

                ต่อจากนี้การสืบราชสันตติวงศ์เอมปะเรอร์ญวนก็อยู่ในอำนาจของขุนนางผู้ใหญ่ (ซึ่งก็คงจะต้องอยู่ในความเห็นชอบของฝรั่งเศสด้วย)

                เอมปะเรอร์องค์ต่อๆไปจึงไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับอายุ แล้วแต่ขุนนางที่มีอำนาจจะเลือกตั้ง หากเป็นเอมปะเรอร์แล้ว ประพฤติมิชอบ หรือไม่เป็นที่พอใจก็ถูกปลดออกได้

                ราชวงศ์หงวนของญวน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๓-๒๔๗๓ ซึ่งจักรพรรดิองค์สุดท้าย เบาด๋ายเป็นจักรพรรดิอยู่ขณะนั้น ระยะเวลา ๑๕๐ ปี จึงมีจักรพรรดิถึง ๑๓ องค์ เป็นเพียงไม่กี่ปีสิ้นพระชนม์เพราะถูกฆ่าบ้าง ถูกวางยาบ้าง ถูกปลดบ้าง เช่น รัชกาลที่ ๕ ครองราชย์ได้ ๓ วัน ก็สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ ๖ ครองอยู่ ๒๔ วัน ถูกถอดแล้วอาจถูกฆ่า รัชกาลที่ ๘ ครองปีเดียวถูกถอด เป็นต้น

                คล้ายๆกับราชวงศ์อลองพญา ของพม่า พระเจ้าอลองพญา รัชกาลที่ ๑ ครองราชย์ พ.ศ.๒๒๙๔ (ไทยเสียกรุงในรัชกาลนี้) ถึง พ.ศ.๒๔๒๘ ระยะเวลา ๑๓๔ ปี มีกษัตริย์ ๑๑ องค์ ซึ่งถูกปลดบ้าง แย่งชิงราชสมบัติ ฆ่ากันตายเองบ้าง

                ที่น่าประหลาด คือ ทั้งราชวงศ์หงวนและราชวงศ์อลองพญา มีกษัตริย์ซึ่งถูกปลด เพราะวิกลจริตเหมือนๆกันอยู่ ๒ องค์

                ราชวงศ์หงวน คือรัชกาลที่ ๑๐ ชื่อ เอมปะเรอร์ทั่นท้าย ครองราชย์อยู่นานตั้ง ๑๘ ปี (พ.ศ.๒๔๓๒-๒๔๕๐) ว่าถูกปลดเพราะวิกลจริต ประพฤติการโหดร้ายทารุณประหลาดๆ เช่น บังคับให้ผู้หญิงปีนขึ้นต้นไม้ แล้วยิงอย่างล่าสัตว์ อาจจะเพราะเป็นแอมปะเรอร์นานๆเข้า โดนยกยอปอปั้นต่างๆเลยบ้าอำนาจ ทั้งใจคอโหดเหี้ยมอยู่แล้วจึงเลยกลายเป็นวิกลจริต

                ส่วนราชวงศ์อลองพญา  คือ พระเจ้าจักกายแมง รัชกาลที่ ๗ พระเจ้าจักกายแมงนี้ เป็นหลานปู่ของพระเจ้าปะดุง พม่าเรียกว่า พระเจ้าพะคยิดอ (คำว่า ‘ดอ’ นี้ พม่าว่าแปลว่า ใหญ่โต) พอขึ้นครองราชย์ก็คิดจะยกทัพมาตีไทย (ในรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๖๓) แต่เกิดรบกับอังกฤษเสียก่อน ต่อมาสติฟั่นเฟือย จึงถูกน้องชายกำจัด ครองราชย์อยู่ ๑๘ ปี (ประหลาดอีกที่ครองราชย์เท่ากันกับทั่นท้าย จักรพรรดิวิกลจริตของญวน) พระเจ้าจักกายแมงถูกออกจากราชสมบัติ พ.ศ.๒๓๘๐ (ตรงกับรัชกาลที่ ๓ ของไทย)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×