ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #160 : พระพุทธรูปลอยน้ำ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 425
      0
      12 เม.ย. 53

     พระพุทธรูปที่ว่าลอยน้ำมาจากทางเหนือ แล้วชาวบ้านช่วยกันอาราธนาอัญเชิญขึ้นสถิตตามวัดต่างๆ นั้น มีอยู่ ๕ องค์

                บางตำนานว่าเป็นพี่น้องลอยมาด้วยกัน ๒ องค์บ้าง ๓ องค์บ้าง แล้วแต่จะเล่ากัน

                แต่มีอยู่ตำนานหนึ่งเล่าว่า ทั้ง ๕ องค์นี้ เมื่อเป็นมนุษย์เป็นพี่น้องกัน บวชเป็นพระภิกษุด้วยกันทั้ง ๕ รูป จนกระทั่งสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน จึงได้พร้อมใจกันตั้งสัจอธิษฐานว่า ถึงแม้ตายไปแล้ว ก็จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไป ดังนั้น เมื่อทั้ง ๕ รูป ดับขันธ์ไปแล้ว จึงเข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูป ๕ องค์ ปรารถนาจะช่อยทุกข์คนทางใต้ จึงต่างแสดงอิทธิฤทธิ์ลอยน้ำมาตามแม่น้ำ ๕ สาย ให้ชาวบ้านชาวเมืองอาราธนาขึ้นสถิตตามวัดต่างๆ

                องค์พี่ใหญ่ ลอยไปตามแม่น้ำบางปะกง ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดโสธร จึงเรียกกันว่า ‘หลวงพ่อโสธร’
                องค์ที่สอง ลอยไปตามแม่น้ำนครชัยศรี ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดไร่ขิง เรียกว่า ‘หลวงพ่อวัดไร่ขิง’
                องค์ที่สาม ลอยไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบางพลี ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า ‘หลวงพ่อวัดบางพลี’
                องค์ที่สี่ ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบ้านแหลม เรียกกันว่า ‘หลวงพ่อวัดบ้านแหลม’
                องค์น้องสุดท้อง ลอยไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดเขาตะเครา เมืองเพชรบุรี เรียกว่า ‘หลวงพ่อวัดเขาตะเครา’

                สรุปแล้วก็ว่า หลวงพ่อทั้ง ๕ องค์ จะเป็นพี่น้องกันตามตำนานเชิงนิทานหรือหาไม่ แต่ประวัติของท่านก็คือลอย (หรือไหล) ตามน้ำมาเหมือนๆ กันทุกองค์

                จริงๆ แล้วมีผู้สันนิษฐานว่า อาจเป็นพวกคนไทยขนหนีพม่าลงเรือแล้วเรือล่ม หรือพม่าเองขนจะเอาไปพม่า แล้วเกิดเรือล่ม พระพุทธรูปจึงจมลงไปในน้ำ แล้วถูกกระแสน้ำพัดไปตามที่ต่างๆ ก็เป็นได้

                ที่ยกเอาเรื่องพระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์ ขึ้นมาเล่านี้ ก็จะพูดถึงเขาตะเครา ซึ่งคนปัจจุบันนี้นอกจากคนเมืองเพชรและในจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ดูเหมือนจะมีผู้รู้จักน้อยมาก หลวงพ่อวัดเขาตะเคราในปัจจุบันไม่ ‘ดัง’ เท่าองค์พี่ๆ ของท่านทั้ง ๔ องค์ โดยเฉพาะหลวงพ่อโสธรองค์พี่ใหญ่ ใครไม่รู้จักท่านเห็นจะแทบไม่มีเลย

                ที่จริงแล้วหลวงพ่อวัดเขาตะเครา เป็นที่นับถือเลื่อมใสกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๒-๓ อาจจะตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ด้วยซ้ำไป แม้ในประวัติหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ของ เทพ สุนทรศารทูล ก็อ้างถึง นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ เมื่อเดินทางไปจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.๒๓๗๐ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จครองราชย์ได้ ๓ ปี) ว่าสุนทรภู่ผ่านบ้านแหลม แต่มิได้เอ่ยถึงหลวงพ่อวัดบ้านแหลมเลย แสดงว่าไม่รู้จัก คือท่านยังไม่ ‘ดัง’ เลยไปกล่าวถึงหลวงพ่อวัดเขาตะเคราว่า

                 “ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะเคราสวาท
                มีอาวาสวัดวามหาเถร
                มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ
                พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ
                กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้
                จะขึ้นไหว้พระสัมฤทธิ์พิษฐาน
                เขานับถือลืออยู่แต่บูราณ
                ใครบนบานพระรับช่วยดับร้อน”

    ตัวอย่างหนังสือสมุดไทยที่ใช้บันทึกจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ (จากหนังสือ จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ของหอสมุดแห่งชาติ)

                ที่เล่าเรื่องหลวงพ่อวัดเขาตะเครา นำขึ้นมาก็เพราะจะเล่าเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับเขาตะเครา มิใช่วัดเขาตะเครา หากเป็น ‘เขาตะเครา’ ซึ่งเป็นเขาเล็กๆ ไม่สูงใหญ่อะไรนักหนา ทว่าในสมัยก่อนก็คงจะรกเป็นป่าๆ อยู่ ตัววัดเขาตะเคราตั้งอยู่เชิงเขา ห่างออกไปเล็กน้อย

                ปรากฏในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ มีเรื่องราวกล่าวถึง ‘แม่พรามเขาตะเครา’ หรือ ‘แม่พราหมณ์’ นั่นเอง

                จะเป็นวิญญาณ เป็นผีหรือเป็นทำนองเจ้าป้าเจ้าเขาสถิตอยู่ที่เขาตะเคราไม่ทราบได้ แต่ในจดหมายเหตุนั้น แสดงว่าคงเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านไม่น้อยทีเดียวในเวลานั้น

                เป็นสำเนาคำพิพากษา เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๓ บันทึกจดหมายเหตุไว้เป็นอักษรโบราณในสมุดไทย ซึ่งขนาดที่หอสมุดแห่งชาติถ่ายทอดจากอักษรโบราณมาเป็นรูปแบบอักษรปัจจุบัน ยังอ่านยาก ทั้งตัวอักษรและสำนวนภาษาที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้น

                จึงขอเล่าเป็นสำนวนภาษาสมัยใหม่

                เรื่องนี้ยืดยาว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในวังหน้า ขณะนั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ ๓ ยังเสด็จครองวังหน้าเป็นพระมหาอุปราชอยู่ แต่เพราะเป็นเรื่องที่ออกจะใหญ่โต พระราชอาญาถึงขั้นประหารชีวิต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้คณะลูกขุนช่วยกันชำระเอาความจริง

                คดีนี้สรุปสำนวนฟ้องกราบบังคมทูลก่อนว่า (คัดตามต้นฉบับที่ถ่ายทอดจากสมุดไทย)

                 “จอมมารดาปิ่นออกไปเมืองเพชบุรียรับเอาอิจั่น บุตรชาวเมืองเพชบุรีเข้ามา ณ กรุงเทพฯ จอมมารดาบอกว่าอิจั่นลงรากตายแล้วกลับเกิดมาไหม่ อิจั่นบอกว่าชื่อเจ้าเกษรบุตรจอมมารดาปิ่น ประชวรพระยอดสิ้นพระชณ ออกไปเกิดเข้ารูปอิจั่น จอมมารดาว่าอิจั่นเป็นเจ้า บุตรจอมมารดา เชื่อถือเอาถ้อยคำพวกอิจั่นเปนจริง เมื่อจอมมารดาปิ่นจะออกไปรับอิจั่น นั้นหาได้กราบทูลพระกรัรุนาให้ทราบไม่ ทรงพระกรัรุนาโปรฎเกล้าฯให้เอาตัวจอมมารดาปิ่นกับอิจั่นอินวน อิเลีย ขุนจ่าเมืองมาชำระเอาความจริงนั้น”

                ต่อไปเป็นเรื่องราวที่คณะลูกขุนชำระ

                ตัวการสำคัญ คือ อีนวน ซึ่งในจดหมายเหตุบันทึกว่า ‘อินวน’ บ้าง ‘อินวล’ บ้าง ก็จะเขียนเล่าตามถนัดในที่นี้ว่า อีนวน อีจั่น และอีเลีย

                อีเลีย นั้น เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดคนสำคัญ

                ส่วนอีจั่น เป็นผู้แสดงเป็นพระองค์เจ้าเกษร พระราชธิดาประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปิ่น เจ้าจอมมารดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาเสนานิรักษ์ วังหน้ารัชกาลที่ ๒ ซึ่งเสด็จสวรรคตแล้ว

                พระองค์เจ้าเกษร เป็นพระราชธิดา องค์ที่ ๒ ของเจ้าจอมมารดา มีพระเชษฐภคินี พระชันษาสูงกว่า ๖ ปี คือ พระองค์เจ้าหญิงอำพัน พระองค์เจ้าเกษรนั้น สิ้นพระชนม์ไปหลายปีแล้ว หากมีพระชนม์อยู่ใน พ.ศ.๒๓๗๓ ที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น พระชันษาก็คงได้ ๒๐ ปี จริงๆ แล้วจะสิ้นพระชนม์เมื่อใดไม่ปรากฏ ในหนังสือราชสันตติวงศ์ บอกไว้แต่ว่า สิ้นฯในรัชกาลที่ ๒ หากสิ้นฯ ปลายรัชกาลที่ ๒ พระชันษาเห็นจะประมาณ ๑๐-๑๑ ปี เจ้าจอมมารดาเห็นจะรักมาก จึงเศร้าโศกอาลัยไม่รู้หาย เป็นเหตุให้ อีจั่น แสดงละครว่า พระองค์เจ้าเกษร นั้น ไปอยู่ในร่าง แม่ทองคำก่อน พอแม่ทองคำตายก็มาอยู่ในร่างของอีจั่น ซึ่งตายไปเพราะโรคลงราก เนื้อหนังยังไม่ทันเน่า

                ถึงสองซับสองซ้อนทีเดียว

                ชำระความกันแล้วได้เรื่องโดยพิสดารยิ่งกว่าเรื่องที่สรรแต่งขึ้น ดังนี้

                อีนวนบ้านอยู่เพชรบุรี เมื่อข้าหลวงเดินสวนไปเดินสวน (คือสำรวจผลหมากผลไม้ที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี) เมื่อเดินสวนเสร็จแล้ว ต้องให้ตราแดงแสดงว่าได้รับการสำรวจเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้ อีนวนจึงตามข้าหลวงเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อรอรับตราแดง ระหว่างรอ วันหนึ่งเดินไปซื้อของที่ตลาดท้ายสนม คือท้ายคุก ไปได้ยินผู้หญิงท่าทางเป็นชาวรั้วชาววัง พูดจากันถึงเจ้าจอมมารดาปิ่นว่ามีพระองค์เจ้าสองพระองค์ ชื่ออำพันองค์หนึ่ง เกษรองค์หนึ่ง แต่พระองค์เจ้าเกษรนั้น ประชวรพระยอดสิ้นพระชนม์ เจ้าจอมมารดาปิ่นร้องไห้อาลัยถึงตลอดเวลา

                อีนวนได้ยินดังนั้นก็เกิดหัวใสขึ้นมาทันที อีกสองอาทิตย์เมื่อได้หนังสือตราแดงแล้วก็กลับบ้าน

                เวลานั้นอีจั่นคนรักของหลานชายอีนวน มานอนเจ็บด้วยเป็นไข้ลงรากอยู่ที่บ้านของอีนวน เคยเพ้อคลั่งจนหมอไม่ยอมรักษามาครั้งหนึ่ง แต่แล้วอาการไข้ก็ทุเลาลง

                อีนวนจึงสวนอีจั่นให้ทำเป็นว่ามีผู้อื่นอยู่ในตัว หากมีผู้ใดมาเรียกอีจั่น แม้แต่นายนากผู้พ่อและอำแดงอินผู้แม่เลี้ยง ก็อย่าให้ขาน ให้ทำเป็นไม่รู้จักว่าใครชื่อจั่น

                แล้วให้บอกว่า อิฉันชื่อแม่ทองคำ มารดาชื่อฉิม พี่ชื่ออ่ำ น้องชื่ออิ่ม บ้านอยู่บางกอก ออกฝีตาย เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ (วันเดียวกับที่พระองค์เจ้าเกษรสิ้นพระชนม์)

                พอตายแม่พรามเขาตะเครา ชิงเอาตัวไปแล้วพากลับมาส่งจะให้เข้ารูปเดิม แต่รูปฝังเสียเข้าหาได้ไม่ แม่พรามจึงกลับพาไปไว้ที่เขาตะเครา เห็นอีจั่นป่วยลงรากตาย จึ่งพามาให้เข้ารูปอีจั่นให้เป็นบุตรอีนวน

                แล้วอีนวนสอนให้อีจั่นบอกใครต่อใครว่า บ้านเดิมของตน (คือแม่ทองคำ) นั้น อยู่บางกอกเป็นเรือนฝาถือปูนประดับกระจก ได้เคยลงลอยกระทงตำหนักแพสองครั้ง บ้านที่อยู่มีช้างเผือก ลิงเผือก

                จากนั้นก็ไปเรียกนายนาก และอำแดงอินมาดู อีจั่น อีจั่นก็พูดจาดังที่อีนวนสอน

                นายนากผู้พ่อไม่เชื่อว่าอีจั่นคลั่งเป็นบ้า แต่เมื่อรับเอาอีจั่นไปรักษา อีจั่นไม่ยอมเป็นลูก จะขอมาอยู่แต่กับอีนวน นายนากจึงต้องพามาส่ง

                เรื่องราวต่อไป ตลอดจน พระราชอาญา ขอยกไปเล่าต่อฉบับหน้า

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×