ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #157 : ถ้อยคำสำนวนไทย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 883
      0
      12 เม.ย. 53

     -สำนวนโบราณเคยได้ยินมาแต่เด็กๆ ว่า ‘ติดหลังแห’ แต่ตอนนี้ดูและฟังจากโทรทัศน์เขาว่า ‘ติดร่างแห’ จริงๆ แล้ว ‘หลังแห’ หรือ ‘ร่างแห’ กันแน่-

                เวียงวัง นี้ เป็นบทความเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ‘เวียง’ และ ‘วัง’ ในอดีต ผู้เล่าหรือผู้เขียนมิได้เป็นผู้รู้ทางภาษาไม่เคยเรียนด้านอักษรศาสตร์ เมื่อถามมาจึงไม่กล้าตอบเอง ต้องไปค้นและคว้ามาตอบ แล้วก็ได้คำตอบจากเรื่อง ‘ถ้อยคำสำนวนไทย’ ของ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางด้านภาษาไทย ผู้หนึ่ง

                ท่านว่าไว้ว่า สำนวน ‘ติดหลังแห’ มักพูดผิดกันเป็น ‘ ติดร่างแห’

                ทั้งนี้เพราะ (คัดมาจากต้นฉบับของท่าน)

                 “ติดหลังแห กลายเป็น ติดร่างแห ก็เพราะผู้พูดไม่เคยเห็นเคยรู้ถึงการทอดแหของชาวประมง ชาวประมงทอดแหเพื่อเอาปลาที่ติดอยู่ภายในจอมแหครอบเท่านั้น แต่ยังมีปลาเจ้ากรรม อยู่นอกอาณาเขตที่แหครอบว่ายเข้าไปชน หลังแห ที่ชาวประมงกำลังดึงขึ้นมา เลยพลอยติดหลังแห ขึ้นไปกับปลาในแหครอบด้วย เป็นสำนวนที่กล่าวถึงผู้ที่มิได้ทำความผิด แต่พลอยถูกจับไปกับเขาผู้ทำความผิด จึงพูดว่า พลอยติดหลังแห ไปกับเขา ไม่ใช่ ติดร่างแห ดังเช่นที่พูดและเข้าใจกัน (ผิดๆ)”

                ไหนๆ ก็มีผู้ถามมาถึงถ้อยคำสำนวนไทยจึงใคร่ขอพูดถึงอีกสัก ๒ สำนวน

                สำนวนแรก ‘ขมิ้นกับปูน’ มีผู้เคยถามไปยังท่านผู้อาวุโสท่านหนึ่งออกทางโทรทัศน์ นานแล้วซึ่งท่านตอบว่า คนไม่ถูกกัน เหมือนขมิ้นกับปูนซึ่งไม่ถูกกัน แต่ไม่ได้อธิบายละเอียด เด็กที่ถามก็ทำหน้างงๆ อยู่

                สำนวนนี้มิได้มีอยู่ในบทความของอาจารย์ฉันทิชญ์ จึงต้องขอตอบเองตามที่เคยรู้ๆ มาในสมัยยังเด็ก เพราะเคยเขียนนวนิยายเรื่อง ‘ขมิ้นกับปูน’ มาแต่เมื่อ ๔๐ ปีก่อนโน้น

                จริงๆ แล้วท่านผู้นั้นก็ตอบของท่านถูกที่ว่าขมิ้นกับปูน นั้นมันไม่ถูกกัน

                ทำไมจึงไม่ถูกกัน เพราะขมิ้นมันกัดพิษปูน ถ้าต่างพวกต่างอยู่ ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่พอเอามาผสมกันเข้า ขมิ้นมันกัดพิษปูน แปรสีจากสีปูนขาวและขมิ้น เป็นสีแดงๆ ชมพู ที่นิยมเรียกกันว่า ‘สีปูน’ คือสีปูนกินกับหมากพลู (สีปูนผสมขมิ้นนี้เห็นมีแต่ในเมืองไทย แขกในอินเดียกินหมากก็เห็นใช้ปูนขาว ผสมเครื่องเทศจุกๆ จิกๆ และหมากแห้งๆ พับเป็นคำ ที่ชวา และพม่าบางถิ่นก็เห็นรับประทานหมากพลูบ้ายปูนขาวๆ แบบเดียวกับอินเดีย)

                สำนวน ‘ขมิ้นกับปูน’ จึงหมายถึงเข้ากันไม่ได้ ต่างคนหรือต่างพวกก็ต่างอยู่ เอามาผสมกันเข้าเมื่อใด เป็น ‘เกิดเรื่อง’ เหมือนเอาขมิ้นกับปูนมาผสมกัน

                เล่าไว้ยืดยาว เพราะนับวันก็จะไม่มีคนรู้จักปูนผสมขมิ้นที่เขากินกับหมากพลูว่าเป็นอย่างไร คงเหลือแต่สำนวนทิ้งไว้เท่านั้น

                ถ้อยคำสำนวนไทยอีกสำนวนหนึ่งคือ ‘ถอยหลังเข้าคลอง’

                นี่ก็อีกเช่นกัน ล้วนเป็นถ้อยคำสำนวนเกิดขึ้นจากการสังเกตสิ่งรอบตัวสมัยโบราณโน้น

                ทั้ง ‘แห’ จากการทอดแห ‘ขมิ้น’ และ ‘ปูน’ จากการกินหมาก

                ทีนี้ก็ ‘คลอง’ จากการพายเรือในคลอง (ซึ่งคงเป็นคลองแคบๆ) เนื่องจากสมัยก่อนคลองก็คือถนนทั้งในกรุงธนบุรี แบะกรุงเทพฯ

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง ท้าวแสนปม ทรงแสดงละครร่วมกับข้าราชบริพาร (พระองค์กลาง) คนนั่งเก้าอี้ คือ พระยาอนิรุทธเทวา

                สำนวนนี้ ได้ยินกันมากยิ่งกว่าสองสำนวนแรก มีความหมายง่ายๆ ถึงการหวนกลับไปทำในสิ่งที่พ้นสมัยสิ่งที่เขาเลิกทำกันมานานแล้ว เช่นในปัจจุบันนี้ก็ดูจะกำลังเอ่ยถึงสำนวนนี้กันอยู่ ความหมายออกจะไปในทางท้วงติงว่าการถอยหลังเข้าคลองนั้นมันไม่สู้จะดี

                การพายเรือถอยหลังเข้าคลองแทนที่จะพายไปข้างหน้า เรือย่อมเปะๆ ปะๆ และบางทีก็ชนตลิ่ง ต้องยกพายกลับไปกลับมาเกะๆ กะๆ ดูไม่เข้าท่าเข้าทาง

                คนโบราณท่านสังเกตเห็นดังนี้ จึงยกเอามาเป็นสำนวนดังกล่าว ศิลปินทางดนตรีคงเกิดความบันดาลใจในอาการพายเรือ ก็เลยนำไปแต่งเพลงชื่อว่าเพลงถอยหลังเข้าคลอง

                ในเรื่องท้าวแสนปม มีบทร้องเพลงถอยหลังเข้าคลอง ตอนพระชินเสนยกทัพไปเมืองท้าวไตรตรึงษ์ ซึ่งพระชินเสนเคยไปแอบได้กับนางอุษาธิดาท้าวไตรตรึงษ์ ต่อมาทางอุษาเกิดโอรส ท้าวไตรตรึงษ์ จึงให้เรียกชุมนุมท้าวพระยามหากษัตริย์ ให้กุมารเสี่ยงทายหาบิดา พระชินเสนจึงยกทัพไป แต่ยั้งทัพไว้ แล้ว แปลงโฉมเป็นนายแสนปม ถือก้อนข้าวเพียงก้อนเดียว กุมารก็รับก้อนข้าวของนายแสนปม

                บทร้องถอยเข้าคลอง มีเพียงนิดเดียว ทำนองเป็นอย่างไร ไม่ทราบไม่เคยฟัง แต่บทนั้นว่า

                 “เมื่อนั้น องค์พระชินเสน เรืองศรี ครั้นได้ฤกษ์งาม ยามดี จรลี ไปยังที่ตั้งทัพฯ”

                 “ถอยหลังเข้าคลอง” เป็นทั้งสำนวน เป็นทั้งทำนองเพลงไทยเดิม แล้วกวีท่านยังเอาลักษณะการพายเรือถอยหลังเข้าคลอง ไปแต่งกลอนเพลงยาวกลบทอีกด้วย คือ ‘กลอักษรถอยหลังเข้าคลอง’

                เล่าถึงตอนนี้ยังไม่มีเรื่อง ‘เวียง’ หรือ ‘วัง’ ซึ่งดูจะผิดจุดประสงค์ของบทความไป

                จึงต้องเรียนหน่อยว่า เรื่องท้าวแสนปม ที่ยกมาเล่านี้ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ

                สำหรับกลอักษรถอยหลังเข้าคลองนั้น เป็นพระราชนิพนธ์เช่นกัน แต่ไม่ใช่พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เป็นเพลงยาวที่รู้จักกันค่อนข้างแพร่หลาย โดยเฉพาะในสมัยก่อนโน้น ท่องกันเกร่อทั่วๆ ไป ถือว่าเป็น ‘ตำรา’ ของกลอักษรถอยหลังเข้าคลองทีเดียว ลองอ่านพิจารณาวิธีแต่ง และลองทายว่าเป็นฝีพระโอษฐ์ในพระองค์ใด

                 “เจ้างามสรรพสารพางค์ดังนางสวรรค์”

                ขึ้นต้นคงมีผู้อ่านบางท่านร้องว่า ‘อ๋อ...’ เพราะเคยได้ยิน หรือรู้จักกันบ้างแล้ว

                 “เจ้างามสรรพสารพางค์ดังนางสวรรค์
    โพยมแจ่มจันทร์เปรียบพอเทียบกัน
    ทันเทียบพอเปรียบจันทร์แจ่มโพยม
    โฉมชะอ้อนอับสรทรงเสมอสมร
    สมรเสมอทรงอับสรชะอ้อนโฉม
    ฤทัยโทรมโทรมเศร้าประเล้าประโลม
    ประโลมประเล้าเศร้าโทรมโทรมฤทัย
    ไฉนคิดจะชิดชมสนมสนิท
    สนิทสนมชมชิดจะคิดไฉน
    เจียมใจด้วยไหวหวั่นเพราะพรั่นใจ
    ใจพรั่นเพราะหวั่นไหวด้วยใจเจียม
    เสงี่ยมงามเจ้าแจ้งประจักษ์รักแถลง
    แถลงรักประจักษ์แจ้งเจ้างามเสงี่ยม
    ร้อนอกเรียมเทียมระทมกรมเกรียม
    เกรียมกรมระทมเทียมเรียมอกร้อน
    ..................ฯลฯ...................”

                ยังอีกยาวหลายบท จนกระทั่งตอนจบ จึงลงท้ายว่า

     “......ฯลฯ......
    สองภิรมย์ชมชิดประสิทธิสม
    สมประสิทธิชิดชมภิรมย์สอง
    กลบทบรรยายย้ายทำนอง
    ชื่อถอยหลังเข้าคลองตรองอ่านเอยฯ”

                เห็นได้ว่าลักษณะกลบทกลอักษรของกลอนเพลงยาวนี้ เปรียบเสมือนพายเรือเข้าคลอง แล้วก็กลับพายถอยเอาท้ายเรือเข้า พายเข้าพายถอยอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×