ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #146 : พระบรมราชโองการ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 361
      0
      11 เม.ย. 53

    เดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีวันบรรจบรอบเถลิงศก หรือวันสงกรานต์

                ในสมัยก่อนโน้น เมื่อถึงวันสงกรานต์ จะมีพระบรมราชโองการประกาศวันมหาสงกรานต์ประจำปี ดังเช่นประกาศในรัชกาลที่ ๔ เมื่อจุลศักราช ๑๒๒๐ (พ.ศ.๒๔๐๑) เริ่มต้นว่า

                 “มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่คนทั้งปวง บรรดาคนที่ถือพระพุทธศาสนา แลธรรมเนียมปีเดือนคืนวันอย่างเช่นใช้ในเมืองไทย รู้ทั่วกันว่า ในปีมะเมียนี้ วันอาทิตย์เดือน ๕ แรมสิบสามค่ำ เปนวันมหาสงกรานต์ วันจันทร์เดือน ๕ แรมสิบสี่ค่ำ แลวันอังคารเดือน ๖ ขึ้นค่ำหนึ่งเปนวันเนา วันพุธเดือนหกขึ้นสองค่ำเปนวันเถลิงศก ขึ้นศักราชใหม่ เปน ๑๒๒๐ ในปีนี้ การทำบุญแลเล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์เปน ๔ วันด้วยกัน...”

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงอุ้มสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เข้าใจกันว่าคือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่

                จะเห็นได้ในประกาศนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงละเอียดถี่ถ้วน แม้เมืองไทยจะเป็นเมืองพระพุทธศาสนา และพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธมามกะ แต่ก็ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา ในพระบรมราชโองการจึงประกาศเฉพาะเอาไว้ว่า บรรดาคนที่ถือพุทธศาสนา และธรรมเนียมการใช้วันเดือนปีอย่างเช่นใช้ในเมืองไทย

                และด้วยปรากฏว่าในวันสงกรานต์อันเป็นวันนักขัตฤกษ์นั้น ทุกปีจะต้องมีผู้เสพสุราเมามายในปี พ.ศ.๒๔๐๑ นี้ จึงมีพระบรมราชโองการ ประกาศเรื่องคนเสพสุราเมามายในวันสงกรานต์ว่า

                 “ด้วยเจ้าพระยายมราชฯ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า เป็นเยี่ยงอย่างสืบมาแต่โบราณ ยามตรุษยามสงกรานต์ผู้ชายโดยมาก เปนนักเลงบ้างมิใช่นักเลงบ้าง พากันเสพย์สุราเมามายไปทุกหนทุกแห่ง แล้วก็ออกเที่ยวเดินไปในถนนแลซุกซนเข้าไปในวัดวาอาราม ก่อถ้อยความวิวาทชกตี แทง ฟันกัน ตรุษสามวันเปน ๔ ทั้งวันจ่ายเปน ๕ หรือ ๖ ทั้งวันส่งนั้น มักเกิดถ้อยความวิวาทตีรัน ฟัน แทงกันหลายแห่งหลายตำบลนัก ทั้งในกำแพงพระนคร และภายนอกพระนคร เหลือกำลังที่นายอำเภอแลกองตระเวนจะระวังดูแล”

                ประกาศต่อไปถึงการปฏิบัติต่อพวกขี้เมาเหล่านี้ว่า

                 “แต่นี้ไปเวลาตรุษและสงกรานต์ ให้เจ้าของบ้านเอาใจใส่ระวังรักษาหน้าบ้านของตัว ถ้ามีคนเมาสุรามาเอะอะอื้ออึงที่หน้าบ้าน ก็ให้จับเอาตัวมาส่งกรมพระนครบาลที่หน้าหับเผย ให้ทันเวลาที่ผู้นั้นยังเมาอยู่ อย่าให้ทันส่างเมา แต่ห้ามไม่ให้พวกบ้านอื่นๆ มาพลอยกลุ้มรุมจับด้วย ถ้าคนเมามีพวกมากต่อสู้เจ้าของบ้าน ถึงเจ้าของบ้านจะชกตีให้มีบาดเจ็บก็ดี ถ้าเมื่อจับตัวไปส่งกรมพระนครบาลชันศูจน์รู้แน่ว่าคนนั้นเมาจริงก็ให้เจ้าของบ้านเปนชนะ ถ้าผู้จับมาส่งเหนว่าถ้าจับตัวคนผู้บุกรุกไปส่ง จะมีพวกของผู้นั้นคอยสกัดกั้นทาง แก้ไขตามทางที่ไปส่งจะเกิดวิวาทกันขึ้น ถ้าอย่างนั้นก็ให้ยึด (ตัว) เอาไว้ มาบอกเล่ากับกรมพระนครบาลหรือนายอำเภอคนใดคนหนึ่งให้ไปชันศูจน์ว่าเมาหรือไม่เมา อย่าให้ทันคนเมานั้นส่าง จะเปนคำโต้เถียงกันไป

                อนึ่งในยามตรุษแลสงกรานต์นั้น ผู้ใดจะเสพย์สุราเมามายก็ให้อยู่แต่ในบ้านเรือนของตัว ถึงจะมีที่ไปก็ให้งดรอ ต่อส่างเมาแล้วจึงไป”

                เห็นได้ว่าพระบรมราชโองการซึ่งเท่ากับกฎหมายของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระเจ้าแผ่นดินท่านทรงรอบคอบ เมื่อจับตัวคนเมาไว้จะฟ้องร้องก็อย่าให้ทันส่างเมา และด้วยทรงรู้เท่าทันว่า อาจมีผู้ผสมโรง ‘ซ้อม’ คนเมานั้น จึงได้ประกาศเอาไว้ก่อนว่า ‘ห้ามไม่ให้พวกบ้านอื่นๆ มากลุ้มรุมจับด้วย’

                ในรัชกาลที่ ๔ มีประกาศพระบรมราชโองการอันเป็นประดุจกฎหมายมากมายหลายเรื่อง และยังมีพระบรมราชโองการบางเรื่องประกาศเป็นพระบรมราชาธิบายก็อีกมากมาย ด้วยเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักนิรุกติศาสตร์ จึงในการใช้ภาษาทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน หากทรงเห็นว่าใช้กันผิดๆ ถูกๆ ก็ทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงมีประกาศพระบรมราชาธิบาย เฉพาะเรื่องการใช้ภาษาอยู่ไม่น้อย

                ประกาศเหล่านี้บางเรื่องก็ทรงมีพระอารมณ์ขันอยู่ด้วย เช่นเรื่องซากศพว่า

                 “ประกาศเตือนสติคำที่เรียกทรากศพ ใครๆ คือพระภิกษุในสงฆฤานักปราชญ์ แลคนใช้หนังสือแลข้าราชการผู้จะกราบทูลจงทราบแน่เถิด

                ว่าคำเรียกทรากผีว่าศพนั้นถูกต้องแล้ว ให้ใช้เขียนหนังสือแลกราบทูลว่าศพ อยู่นั้นแล

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ คู่กันกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

                ใครอย่าอุตริคิดตามชาววัด คิดล้นไป เขียนบ้าง กราบทูลบ้างว่า “อสุภ อสภ. อาสภ” อย่างใดๆ อย่างหนึ่งเลย ถ้าใครขืนว่า อสภ อาสภ ดังนั้น ในหลวงทรงแช่งไว้ว่า ให้ศีรษะคนนั้นล้านเหมือนหลวงตาในวันโกนเป็นนิจนิรันดรไป

                ถ้าใครเขียนแลกราบทูลว่าศพตรงๆ แล้ว ทรงพระอธิษฐานอวยพรผู้นั้นว่า ถ้าศีรษะล้าน ให้ผมงอกดก ถ้าไม่ล้านก็อย่าให้ล้านเลย

                คำว่าศพนี้ออกจากคำมคธว่า ฉโว เป็นแท้ใช้อื่นฯ”

                ในสมัยนั้น เรื่องศีรษะล้านดูจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ชาย เห็นกันว่าน่าเกลียดน่าชัง และออกจะเป็นปมด้อย ถ้าผู้ใดหัวล้านจึงโกรธนักหนา เมื่อมีผู้ล้อเลียน โดยเฉพาะคนหัวล้านถูกจับมาเป็นผู้ร้ายและตัวตลก ดังเช่นขุนช้างในเรื่องขุนช้างขุนแผน การมีศีรษะล้านจึงเป็นที่รังเกียจเป็นที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่งของพวกผู้ชาย

                แม้ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังราชทูต พระยามนตรีสุริยวงศ์ และเจ้าหมื่นสรรเพชภักดีที่กรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ ก็ทรงเอ่ยถึง ‘หัวล้าน’ ในทำนองเป็นที่ไม่พึงปรารถนาว่า

                 “ตัวข้าถึงจะมีบาปมากก็จะมีบุญบ้าง ชตาไม่ดีแล้วก็จะมีที่ดีบ้าง จึงได้เปนเจ้าแผ่นดิน อยู่ให้คนนั่งแช่งนอนแช่งมาหลายปี จนคนที่แช่งตายไปก่อนก็มี หัวล้านไปก่อนก็จะมี

                ประกาศพระบรมราชาว่าด้วยนามวัด ทรงกล่าวถึงวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ที่ทรงสร้างขึ้นว่า คนมักเรียกผิดเพี้ยนไป

                ตอนหนึ่งในประกาศ ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า

                 “ก็เมืองใหญ่ๆ (ต้อง) มีวัดมหาธาตุ วัดราชประดิษฐาน และวัดราชบูรณะ ทุกเมือง แต่ในกรุงบางกอกนี้ยังไม่มี จึงทรงสร้างขึ้นที่ทิศตะวันออกพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงพระราชทานนามว่า วัดราชประดิษฐ์ ก็คือ วัดราชประดิษฐานนั่นเอง แต่ลดฐานออกเสีย เพราะกลัวคนจะเรียกว่าวัดรากติดฐานเหมือนที่กรุงเก่าไป วัดนี้ภูมิวัดเล็กใหญ่ก็เท่าๆ กันกับวัดราชประดิษฐานที่กรุงเก่า แต่เดี๋ยวนี้คนมาเรียกว่าวัดราชบัณฑิต เรียกอย่างนี้ผิด พวกราชบัณฑิตไม่ได้เข้าทุนด้วย ถ้าใครขึ้นเรียกขึ้นเขียนอย่างนั้นจะปรับ ๒ ตำลึง”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×