ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #120 : ราชาศัพท์และพระอิสริยยศ

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 551
      0
      11 เม.ย. 53

     -เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโสกัณต์คิดว่าน่าจะใช้ว่า เกศากันต์เพราะพระองค์ท่านยังดำรงพระยศเพียงหม่อมเจ้าขณะนั้น แต่ในเรื่อง บุญบรรพ์ใช้ว่า โสกันต์ซึ่งไม่น่าจะใช้ผิด-

                คาดอยู่แล้วว่าเรื่องนี้คงจะมีผู้ตั้งข้อสังเกตและทักมา

                ในครั้งรัชกาลที่ ๑-๒-๓ นั้น คำเรียกขานเจ้านาย ตลอดจนราชาศัพท์ยังไม่ลงตัว ต่อถึงรัชกาลที่ ๔ พระองค์ท่านทรงเป็นนักภาษาศาสตร์ และอักษรศาสตร์ในรัชกาลนี้ จึงมีพระบรมราชโองการต่างๆ ประกาศออกมามากมาย รวมทั้งการใช้คำพูดจาศัพท์แสงและราชาศัพท์ ตลอดจนเรื่องพระอิสริยยศเจ้านาย ก็ทรงบัญญัติคำนำพระนามให้แสดงถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินชัดเจนขึ้น

                ในรัชกาลที่ ๑ บรรดาเจ้านายซึ่งพระยศรองลงมาจากชั้นพระองค์เจ้า ซึ่งในเวลานี้เรียกว่า หม่อมเจ้าเวลานั้นเรียกกันแต่ว่า เจ้ารองลงมาอีก ในเวลานี้เรียกกันว่า หม่อมราชวงศ์บางทีก็เรียกกันว่า เจ้าเช่น เจ้ากระต่าย(ม.ร.ว.กระต่าย หรือ หม่อมราโชทัย) บางทีก็เรียกว่า หม่อมส่วนชั้นสุดท้ายคือ หม่อมหลวงเรียกกันว่า หม่อมบ้าง คุณบ้าง สุดแท้แต่จะเรียก

                ยศ หม่อมราชวงศ์และ หม่อมหลวงนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านเคยทรงพระนิพนธ์สันนิษฐานว่า คงจะเพิ่งมีขึ้นแต่ต้นๆ รัชกาลที่ ๔

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเป็นพระราชนัดดา (หลวงปู่) พระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเป็นที่โปรดปราน เช่นเดียวกันกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตผู้ทรงเป็นพระราชนัดดา (หลานตา ประสูติแต่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิม พระชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ประสูติ พ.ศ.๒๓๓๐ หลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ๕ ปี ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต ประสูติ พ.ศ.๒๓๒๐ ประสูติได้เพียง ๑๒ วัน พระชนนีก็สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงทรงพระมหากรุณาเมตตายิ่งนัก

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระชนมายุครบ ๑๓ ต้น พ.ศ.๒๓๔๔ สมเด็จพระอัยกาธิราชโปรดฯให้โสกันต์บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

                ในพระราชนิพนธ์เทศนาพระบรมราชประวัติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพรรณนาถึงตอนนี้ว่า

                 พระองค์ทรงพระเจริญขึ้นโดยลำดับ ได้รับพระมหากรุณาแลพระเมตตาแห่งสมเด็จพระบรมไอยกาธิราชแต่ทรงพระเยาว์มา จนตลอดถึงเวลาพระชนมายุครบกำหนดโสกันต์ในขณะนั้นยังหาได้มีธรรมเนียมพระหน่อเจ้าต่างกรมโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังดังในประจุบันนี้ไม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพระมหากรุณาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชนัดดา จึงโปรดเกล้าฯให้โสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษ

                หลังจากพระราชพิธีโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯแล้ว ต่อมาจึงได้โปรดฯให้เจ้าหลานเธอองค์อื่นๆ โสกันต์ ในพระบรมมหาราชวัง

                ดังปรากฏในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๑ เรื่องโสกันต์ เจ้าหลานเธอ พ.ศ.๒๓๔๕ หลังจากโสกันต์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้หนึ่งปี

                ในหมายรับสั่งนั้นมีว่า (สะกดการันต์อย่างเก่า)

                 ด้วยเจ้าพระยาศรีธรมาธิราช รับสั่งใส่เกล้าฯว่า พระฤกษ์จะได้ตั้งมงคลการโสกันต์เจ้าหลานเธอ เจ้านิรมล เจ้าป้อม ๑ เจ้าจันทร์ ๑ เจ้าเรณู ๑ รวม ๔ องค์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แลเจ้าหลานเธอซึ่งจะโสกันต์นั้น จะเสด็จออกฟังสวดพระพุทธมนต์ ณ วันเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ทั้ง ๓ วัน

                จะเห็นว่าในหมายรับสั่งนั้นเรียกว่า เจ้าหลานเธอมิใช่ พระเจ้าหลานเธอแสดงว่าเจ้าหลานเธอ ทั้ง ๔ องค์ พระยศเป็น หม่อมเจ้าซึ่งเวลานั้นเรียกกันแต่ เจ้า

                ส่วนเจ้าหลานเธอทั้ง ๔ จะเป็นองค์ใด เป็นพระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าหรือในต่างกรมพระองค์ใด ค้นหาไม่พบ

                อาจจะเป็นพระโอรส ธิดาในกรมพระราชวังหลัง หรือในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงจักรเจษฎา ก็อาจเป็นได้ เพราะด้วยพระชันษาทั้งสองพระองค์สูงพอที่จะมีพระโอรสธิดาในวัย ๑๑-๑๓ ปีได้

                และจะเห็นได้ว่า ในหมายรับสั่งนั้นใช้ว่า โสกันต์มิใช่ เกศากันต์(หรือสะกดอย่างโบราณว่า เกษากันต์) แม้ว่าจะเป็นเพียง เจ้าหลานเธอ

                อนึ่งในรัชกาลที่ ๑ คำว่า พระเจ้าหลานเธอนั้น ใช้นำพระนาม หลานเธอทั่วไปหมดไม่ว่าพระราชนัดดา (หลานปู่-หลานตา) พระภาคิไนย (หลานลุง ลูกน้องสาว-หลานน้า) พระภาติยะ (หลานลุงลูกน้องชาย-หลานอา)

                รวมทั้งเจ้าหลานเธอ ก็เรียกว่า เจ้าหลานเธอทั้งนั้น ทั้ง พระราชนัดดาโดยตรง และพระราชนัดดา (ซึ่งเป็นหลานปู่ย่า ตายาย ของ พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว)

                ดังนั้น เจ้าหลานเธอทั้ง ๔ องค์ซึ่งโปรดฯให้โสกันต์ตามหมายรับสั่ง จึงยากที่จะทราบว่าเป็น หลานเธอทางไหน

                แต่มิใช่พระโอรสธิดา ใน สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงอิศรสุนทร หรือในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ อย่างแน่นอน เพราะค้นรายพระนามแล้วไม่ปรากฏ

                พระราชพิธีโสกันต์นี้ ตามโบราณราชประเพณีโสกันต์เจ้าฟ้า และพระองค์เจ้ามีที่ต่างกันอยู่ คือโสกันต์เจ้าฟ้ามีการก่อเขาไกรลาสสำหรับสรง ส่วนโสกันต์พระองค์เจ้าไม่มีเขาไกรลาส

                ในกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีโสกันต์ใหญ่เจ้าฟ้า มีเขาไกรลาส และมีพระราชพิธีครบถ้วนเป็นครั้งแรก ดังเช่นในกรุงศรีอยุธยา คือ พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าทองสุก ธิดาเจ้ากรุงศรีสตนาคนหุต เจ้าประเทศราช

                การพระราชพิธีนั้น จดไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ อย่างละเอียด เริ่มแต่โปรดฯให้เจ้าพนักงานก่อตั้งเขาไกรลาส ณ ชาลาในพระบรมมหาราชวัง

                เขาไกรลาสนั้น (สะกดการันต์ปัจจุบัน)

                 มีพระมณฑปใหญ่อยู่ท่ามกลางยอดเขาไกรลาส แลมณฑปน้อยในทิศเหนือแลทิศใต้ ภายในพระมณฑปใหญ่ ตั้งบุษบกน้อย เชิญพระพุทธรูปและพระบรมธาตุประดิษฐานเป็นที่สักการบูชา...

                ในพระมณฑปทิศเหนือตั้งรูปพระอิศวร พระอุมาพระมหาพิฆเนศวร ในพระมณฑปทิศใต้ตั้งรูปพระนารายณ์ พระลักษมี พระมเหศวรี ตามไสยศาสตร์ แลชานพระมณฑปเป็นกำแพงแก้ว เนื่องกับซุ้มประตู มีฉัตรทอง ฉัตรเงิน ฉัตรนาค เจ็ดชั้น พื้นไหมปักทองแล่ง แลมีที่สรงธารหลังออกจากปากสัตว์ทั้ง ๔ คือ ราชสีห์ แลช้าง แลม้า แลโค ซึ่งสมมติว่าสระอโนดาษ แลมีรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ รูปเทวดาทั้ง ๘ ทิศ ฤษีสิทธิวิทยาธรกินร แลสุบรรณนาคราช ช้างตระกูลอัฐทิศคชาพงศ์ ซึ่งบังเกิดในป่าหิมพานต์ แลรูปสัตว์จตุบาททวิบาท มีพรรณต่างๆ ประดับตามช่องชั้นเขาไกรลาส จนถึงชั้นชาลาพื้นล่าง

                เหล่านี้เป็นการพรรณนาบรรยายถึงเขาไกรลาส ส่วนกระบวนแห่เมื่อเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงแห่ฟังสวด แห่โสกันต์ และ แห่สรงน้ำเขาไกรลาสนั้น ก็มโหฬารยิ่งนัก

                เขาไกรลาสมีบทบาทสำคัญ ก็เมื่อสรงเสร็จแล้ว

                 แล้วเสด็จขึ้นบนเขาไกรลาส จึ่งกรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงชฎาเดินหน สมมติว่าเป็นพระอิศวร เสด็จลงมาแต่พระมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาสทรงรับพระกรที่ชั้นทักษิณทิศตะวันตกกลางบันไดนาค จูงขึ้นไปบนเขาไกรลาส ประทานพรแล้วนำเสด็จลงมาด้านตะวันออก

                เขาไกรลาสและกระบวนแห่ครั้งนั้นเป็นอย่างไร พินิจพิเคราะห์ดูได้จากภาพประกอบ ซึ่งเป็นภาพวาดโดยช่างเขียนในสมัยนั้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×