ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #119 : ยามอุบากอง

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 802
      0
      11 เม.ย. 53

      บังเอิญฟังวิทยุ ได้ยินพูดกันถึงยามอุบากองว่าเป็นวิธีดูฤกษ์ยามเดินทางของพม่าที่ชื่ออุบากอง ซึ่งไทยจับมาเป็นเชลย แล้วต่อมาแหกคุกหนีไปได้ เลยบางทีเรียกกันว่า ยามพม่าแหกคุก เห็นว่าเกี่ยวกับเวียงวังเหมือนกัน เล่าได้หรือไม่

                ยามอุบากองเป็นตำราบอกฤกษ์ยามที่คนรุ่นปู่ย่า ตายายถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ (ของคนอายุ ๗๐-๘๐) รู้จักกันดี ได้ยินท่องกันคล่องปากลงมาถึงรุ่นลูก (อายุ ๗๐-๘๐) พลอยคล่องปากไปด้วย เมื่อเด็กๆ เคยได้ยินย่าท่องให้ฟังบ่อยๆ แต่มักจะท่องเพียงว่า

                 ศูนย์หนึ่ง อย่าพึ่งจร แม้นราญรอนจะอัปราและ สองศูนย์ เร่งยาตรา จะมีลาภสวัสดี
                ทว่าคำทายทักเต็มๆ นั้นว่า
                 ศูนย์หนึ่ง อย่าพึงจร แม้นราญรอนจะอัปรา
                สองศูนย์ เร่งยาตรา จะมีลาภสวัสดี
                สี่ศูนย์ พูนผล จรดลลาภมากมี
                ปลอดศูนย์ พูนสวัสดิ์ ภัยพิบัติลาภไม่มี
                กากบาท ตัวอัปรีย์ แม้จรลีจะอัปรา
                หน้าตายามอุบากอง ดูตามภาพประกอบ จะเห็นมีเลข ๐ มี + และมีช่องที่ว่างอยู่คือ ปลอดศูนย์
                บางท่านจึงนับถือยามอุบากองเป็นยามบอกเวลาออกจากบ้านทุกครั้ง บางทีดูเหมือนจะยึดถือมากไป จนบางครั้งกลับเสียประโยชน์ เพราะมัวแต่ชักช้าดูฤกษ์ดูยามไม่ทันการ
                เล่าเฉไปสักนิด ก่อนเข้าจุด

                เมื่อครั้งสงครามอินโดจีนฝรั่งเศส ชิงดินแดนคืน เมื่อปลาย พ.ศ.๒๔๘๓-ต้นปี พ.ศ.๒๔๘๘ ลุงท่านหนึ่งเป็นนายทหารนักบิน ต้องออกรบกับเขาด้วยย่าแนะให้ดูยามอุบากอง ก่อนบิน ทำให้ลุงหัวร่อ บอกว่าผู้บังคับบัญชาเขาสั่งให้บินเมื่อไหร่ก็ต้องบินเมื่อนั้น ถ้าผมมัวดูยามอุบากองของคุณแม่ก็เข้าคุกเท่านั้นเอง ลุง พ่อ อา เลยต่างหัวร่อขันย่ากันทุกคน

                สงครามครั้งนั้นคนไทยเป็นหนึ่งใจเดียวกัน ทหารออกรบแนวหน้า แนวหลังก็ให้กำลังใจ ทำถุงของขวัญส่ง ร้องเพลงปลุกใจออกวิทยุกันทุกวัน

                วันหนึ่งมีข่าวมาจากกองบินว่าลุงนำเครื่องบินออกไปทิ้งระเบิด แล้วก็หายไป ไม่กลับมาตามเวลา

                ย่าอกสั่นขวัญแขวน เฝ้าแต่บ่นว่าเพราะไม่ดูฤกษ์ยามถึงได้อัปรา แล้วก็บนบานศาลกล่าวขอให้ลุงปลอดภัยกลับมา

                วันรุ่งขึ้นมีข่าวเข้ามาว่า ลุงนำเครื่องบินกลับมาแล้ว เวลานั้นยังเด็กมากไม่ได้สนใจว่าลุงหายไปไหน มัวแต่พากันดีอกดีใจจะได้ดูละครชาตรีแก้บน เล่นในสนามหน้าบ้านของตัวเองตั้งสองวัน โก้พิลึก ลุกขึ้นไปนั่งดูตั้งแต่ตัวละครรับประทานข้าวเช้า ผัดหน้าทาแป้งแต่งเครื่องละครชาตรีสมัยนั้นลงโรงเก้าโมง เที่ยวหยุดพัก แล้วเริ่มใหม่ประมาณบ่าย ๒ โมงถึง ๔ โมง บางทีอาจเลยไปถึง ๕ โมง ถ้าเจ้าบ้านตบรางวัลงามๆ บ่อยๆ

                ทีนี้เข้าเรื่องยามอุบากองถึงที่มาและตัวอุบากองเจ้าของตำรา

                ตามพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๑ จดไว้ว่า ไทยจับอุบากองเป็นเชลยได้ ใน พ.ศ.๒๓๓๘ เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมเชียงใหม่

                เวลานั้นเชียงใหม่ซึ่งพระยา (หรือพระญา) มังราวชิรปราการกำแพงแก้ว (หรือเจ้าหลวงกาวิละ) เป็นเจ้าหลวงอยู่ เวลานั้นเห็นจะตั้งอยู่ที่เวียงป่าซาง ยังมิได้เข้าไปอยู่ในนครเชียงใหม่ ด้วยเป็นนครเก่าร้างมานาน ตามประวัติเมืองเชียงใหม่ว่า พ.ศ.๒๓๓๙ จึงได้ยกจากป่าซางเข้านครเชียงใหม่

                ดังนั้น ที่ว่าพม่ายกทัพเข้าล้อมเชียงใหม่ ก็คงจะล้อมเวียงป่าซางนั่นเอง

                อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ มิได้เล่าถึงศึกครั้งนี้ละเอียดนัก จดไว้แต่เพียงว่า (ตัวสะกดอย่างเดิม)

                 ลุศักราช ๑๑๕๗ ปีเกาะสัปตศก ในรัชกาลที่ ๑ เดือน ๕ พม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวรยกขึ้นไปช่วย ตีพม่าแตกไป จับอุบากองนายทับพม่าได้คนหนึ่ง แล้วเจ้าเมืองเชียงใหม่ถวายพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปศักดิสิทธิ์สำรับเมืองเชียงใหม่ลงมา...”

                อุบากอง ตกมาเป็นเชลยในเมืองไทย ถูกจำขังอยู่ในคุกหลวง เป็นเวลาถึง ๗ ปี ที่เรียกว่า คุกหลวงเพราะในสมัยโน้นตามวังและบ้านขุนนางสำคัญๆ ต่างมีคุกไว้ขังเชลยขังทาส เช่นกัน

                ตลอดเวลาเจ็ดปีที่อยู่ในคุก อุบากองได้ทำความสนิทคุ้นเคยกับผู้คุม และนักโทษ ตลอดจนคนไทยชาวบ้าน อุบากองได้ทำลูกประคำจากปูนแดงและหินอ่อนทำนองเครื่องรางของขลังขาย ได้เงินมาก็แบ่งให้ผู้คุม อุบากองจึงเป็นนักโทษพิเศษ ผู้คุมยอมให้ไปไหนมาไหนและเที่ยวเตร่นอกคุกได้

                อุบากองมียันต์สักติดแขน คงจะเป็นท้องแขน เพราะง่ายต่อการดูเพื่อคำนวณ ยันต์นี้ก็คือยันต์ดูฤกษ์ยามที่ต่อมาเรียกกันว่า ยามอุบากองนี้

                สันนิษฐานกันว่า ที่สักไว้นั้นคงเป็นรูปยันต์สี่เหลี่ยมขมวดเป็นห่วง ๔ มุม อย่างยันต์ทั่วๆ ไป และคงมิได้มีตัวเลขคำนวณไว้ชัดเจน ดังที่ปรากฏอยู่ในตำรามาจนทุกวันนี้ เมื่ออุบากองบอกยันต์ดูฤกษ์ยามนี้แก่คนไทยที่สนิทสนมกัน แล้วจำกันมาต่อๆ ท่านคงจดไว้เป็นตำราอย่างเรียบร้อย และด้วยความที่คนไทยมีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอน จึงแต่งคำทายทักออกมาให้คล้องจองกัน

                อุบากองหนีคุก (ไม่น่าจะใช้คำว่า แหกคุกเพราะแหกคุกนั้นหมายถึงต้องมีการต่อสู้ฝ่าออกมา) เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๕ เลขเรียงกันจำง่ายดี

                พ.ศ.๒๓๔๕ เกิดศึกพม่ายกมาล้อมเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ล้อมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเพิ่งจะตั้งเมือง เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองเพิ่งจะมั่นคงสมบูรณ์ได้เพียง ๖ ปี

                อุบากองนี้ เห็นทีจะเกรงกลัวสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทอยู่เพียงพระองค์เดียว ถูกขังคุกอยู่หลายปีไม่กล้าหนี แต่พอสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ เสด็จยกทัพไปเชียงใหม่ จึงได้ฉวยโอกาสหนี

                พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ จดเรื่องอุบากองหนีเอาไว้ว่า (สะกดอย่างเดิม)

                 ในปีนั้นอุบากองนายทับพม่าซึ่งจับมาได้แต่ปีเถาะสัปตศก โปรดให้จำไว้ไม่ประหารชีวิตร เพราะจะเอาไว้ไถ่ถามข้อความที่เมืองพม่า ครั้นอยู่มาอุบากองมีวิชาทำลูกแดง ที่คั่นลูกปะหล่ำขายได้เงินมาก ก็แบ่งให้พัศดีทำบรงผู้คุมเหนว่าเป็นบุตรไทยไม่ใช่พม่าแท้ ได้เงินแล้วก็จำแต่ตรวนลด อุบากองเที่ยวไปค่างไหนก็ไปได้ จนมีเพื่อนฝูงที่สนิท ก็คิดหนีไปเมืองพม่า ครั้นแจ้งว่ากรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปทางเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ลงเรือน้อยออกทางปากน้ำเมืองสมุทสงคราม แล่นเลียบไปตามริมฝั่งขึ้นท่าที่สิงขร ทางสิงขรนั้นเดินวันหนึ่ง ก็ตกแดนมฤท (เมืองมริด) โปรดให้ติดตามก็ไม่ได้ตัว ลูกแดงนั้นเขาว่ามันทำด้วยปูนแดงบ้าง ศิลาอ่อนบ้าง ไม่มีผู้ใดได้วิชาของมันไว้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×