ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #11 : "วัด" ของ "วังหน้า" ในสมัยรัตนโกสินทร์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 895
      3
      5 มิ.ย. 52

     

    -วัดมหาธาตุ วัดบวรสถานสุทธาวาส วัดบวรนิเวศ วัดไหนเป็นวัดของวังหน้า-

    เป็นวัดของวังหน้าทั้ง ๓ วัด

    พระตำหนัก"ปั้นหยา"ในวัดบวรนิเวศวิหาร

    วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ เป็นวัดซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงปฏิสังขรณ์ตั้งแต่เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คือที่ดินที่จะสร้างพระบรมมหาราชวังนั้นขนาบด้วยวัดสองวัดเป็นวัดเก่าแก่แต่สมัยอยุธยาด้วยกัน คือวัดสลักทางเหนือ วัดโพธารามทางใต้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และสมเด็จพระอนุชาธิราช จึงทรงแบ่งกันบูรณะปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธารามแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า"วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาสุรสิงหนาท ทรงปฏิสังขรณ์วัดสลัก แล้วพระราชทานนามใหม่ ว่า"วัดนิพพานาราม" ต่อมาอีก ๖ ปี ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น"วัดพระศรีสรรเพชดาราม" ต่อมาอีก ๑๕ ปี สมเด็จพระบรมราชเจ้าฯ สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้เปลี่ยนพระนามเป็น"วัดมหาธาตุ" มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระบรมโอราธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงบริจาค พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ อุทิศพระราชทานให้ปฏิสังขรณ์พระอาราม เสร็จแล้วโปรดฯให้ ต่อสร้อยชื่อวัดเป็น"วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤกฎ์"

    เพราะเหตุที่ทรงแบ่งกันปฏิสังขรณ์มาแต่แรกสร้างกรุง ทั้งวัดมหาธาตุอยู่ใกล้ชิดพระบวรราชวังมากกว่าพระบรมมหาราชวัง จึงถือว่าวัดพระเชตุพนฯ เป็นของฝ่ายวังหลวง วัดมหาธาตุฯ เป็นของฝ่ายวังหน้า

    มีเกร็ดเกี่ยวกับวัดมหาธาตุฯ หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งนั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๓ วัดมหาธาตุ (ยังมิได้ต่อสร้อยชื่อ) ทรุดโทรมลงมาก สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะจึงถวายพระพร ขอให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุให้งดงามใหญ่โต เป็นคู่กันกับวัดพระเชตุพนฯ เพราะวัดมหาธาตุเป็นที่ประทับสมเด็จพระสังฆราช และเป็นที่ไปมาของพระสงฆ์ทั่วประเทศทุกทิศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่า

    "จะไปทำก็ยาก ได้ยินว่าเจ้าของท่านแช่งชักสาบาลไว้"

    เจ้าของ คือสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาสุรสิงหนาท เมื่อทรงพระประชวรหนัก พระสติหวั่นไหวทั้งทรงขัดเคืองน้อยพระทัยในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จึงทรงออกพระโอษฐ์แช่งชักเอาไว้ว่า ของๆ กูสวยๆ งามๆ กูสร้างของกูมา ไปภายหน้าหากผู้ใดมิใช่ลูกหลานเข้าครอบครองขอให้มีอันเป็นพินาศ"

    ที่จริงเห็นจะทรงหมายถึงพระบวรราชวังมากกว่า แต่เมื่อวัดมหาธาตุเป็นวัดที่ถือกันว่าเป็นของวังหน้า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงเกรง ทั้งๆ ที่ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากมาย จนกระทั่งเป็นที่กล่าวกันว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นใครสร้างวัดก็เป็นคนโปรด แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็ไม่ทรงแตะต้องวัดมหาธาตุ

    ทว่าเมื่อพระสงฆ์ถวายพระพรอ้อนวอนต่อมาเนืองๆ จึงได้รับสั่งว่า

    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ทรงฉายร่วมกับนอกภิกษุศกนั้น

    "ซึ่งเจ้าคุณทั้งปวงเห็นว่าวัดมหาธาตุเป็นวัดใกล้พระราชวัง ควรจะให้ปฏิสังขรณ์ให้งามดีนั้นก็ชอบอยู่แล้ว ไม่ควรจะละทิ้งให้ยับเยิน แต่รำคาญนัก ด้วยจะย้ายจะยักตามใจก็ไม่ได้ กรมพระราชวังที่เป็นเจ้าของนั้น ท่านทรงมานะทิษฐิมาก ท่านจะทรงทำอะไรก็ทำให้ผิดๆ จากของท่านผู้อื่น แล้วท่านก็แช่งชักสาบานไว้ต่างๆ จะเยื้องยักแบบอย่างของท่านก็ไม่ได้ จึงรังเกียจนักกับของในข้างวังหน้าแผ่นดินก่อน ถ้าเจ้าคุณทั้งปวงจะให้ทำให้ได้ ก็ขอทุเลาไว้ช้า ต่อแก่ชราจวนตายแล้วจึงจะตกกระไดพลอยโจนไปทำถวาย"

    พระราชดำรัสและพระราชปฏิญาณดังนี้ ปรากฏในชุมนุมพระบรมธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายเพิ่มเติมในพระนิพนธ์ว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงสดับมาเนืองๆ

    จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ แล้ว จึงได้โปรดให้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จนเสร็จค้างอยู่อีกเพียงเล็กน้อย แค่ภาพเขียนในพระอุโบสถ และยังมิได้ยกช่อฟ้าใบระกา

    วัดบวรสถานสุทธาวาส วัดนี้อยู่ในพระบวรราชวัง เช่นเดียวกันกันวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จึงเรียกกันว่า"วัดพระแก้ววังหน้า"

    วัดนี้ในสมัยกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ยังไม่ได้สร้าง

    สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพงเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขึ้น ว่ากันว่าเพื่อทรงแก้บนครั้งเสด็จยกกองทัพไปปราบเวียงจันท์ โดยทรงอุทิศที่ซึ่งเดิมเป็นสวนกระต่าย สร้างถวายเป็นพุทธบูชา

    ถ้าใครเป็น"แฟน" ละครจักรๆ วงศ์ๆ มาแต่ดั้งเดิม จะเห็นวัดนี้ปรากฏในจอบ่อยครั้งที่สุด เพราะสถานที่เหมาะสำหรับเป็นปราสาทราชวังของตัวละครที่สวมบทกษัตริย์ในเรื่อง

    วัดบวรนิเวศวิหาร วัดนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงสร้างขึ้นเช่นกัน เดิมทางทิศตะวันออกของวัดที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (พระโอรสพระองค์สุดท้ายในสมเด็จพระพี่นาง พระองค์น้อยในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) คือวัดรังษีสุทธาวาส ต่อมาจึงได้รวมวัดรังษีสุทธาวาสเข้ากับวัดบวรวิหาร

    ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงรัชกาลที่ ๔ วัดนี้อยู่ในอาณาเขตฝ่ายพระราชวังบวร เป็นวัดฝ่ายวังหน้า เมื่อรัชกาลที่ ๓-๔-๕ ตรงหน้าวัด หลังกำแพงเมืองมีท่าน้ำสำหรับเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน

    สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาศักดิพลเสพ สวรรคต หลังจากทรงดำรงพระยศเป็นวังหน้า เพียง ๘ ปี พระบวรราชวัง หรือพระราชวังบวร (เดิมเรียกว่า"พระราชวังบวร" เพิ่งจะเปลี่ยนเป็น"พระบวรราชวัง" คู่กันกับ"พระบรมมหาราชวัง" ในรัชกาลที่ ๔) ทิ้งร้างอยู่ถึง ๑๘ ปี เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มิได้ทรงสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็น"วังหน้า" แทน

    ส่วนวัดบวรนิเวศวิหารนั้น เมื่อว่างเจ้าอาวาสลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯอาราธนา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งทรงผนวชจำพรรษาอยู่ที่วัดสมองราย (วัดราชาธิวาศ) ให้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศ เมื่อเสด็จมานั้นโปรดฯให้มีขะบวนแห่แหนพระเกียรติยศดุจดังแห่งกรมพระราชวังบวรฯ คนสมัยนั้นจึงพากันเห็นเป็นนัยว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อาจทรงมีพระราชประสงค์จะให้สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเป็น"วังหน้า" ทว่าอาจติดอยู่ที่ทรงผนวชอยู่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง หากทรงแต่งตั้งก็อาจทำให้เกิดความร้าวฉานในหมู่เจ้านายที่ทรงประสงค์จะเป็น"วังหน้า" อันอาจเป็นอันตรายต่อสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ และราชบัลลังก์

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้สร้างตำหนักพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ในวัดบวรนิเวศ ที่เรียกกันว่า"พระตำหนักปั้นหยา" ซึ่งต่อมาเป็นพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชโอรสทุกพระองค์ ระหว่างทรงผนวช

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×