ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #103 : การคล้องช้าง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 455
      0
      10 เม.ย. 53

      เล่าเรื่องเวียงวังเกี่ยวกับช้างๆ ต่ออีกสักนิด

                ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ช้างยังคงมีความสำคัญในการศึกสงครามดังที่ทราบๆ กันอยู่

                มาถึงยุคกลางๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ แม้จะมิได้ใช้ช้างในการรบทัพจับศึกแล้ว แต่ช้างก็ยังเป็นพาหนะสำคัญ เดินทางไกล เข้าป่าเข้าดงก็ต้องใช้ช้างกันอยู่

                ในรัชกาลที่ ๔ และต้นรัชกาลที่ ๕ จึงยังมีกรมพระคชบาล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นอธิบดีกรมพระคชบาล พระองค์สุดท้าย

                เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖ ดูเหมือนจะมีการคล้องช้างป่า สำหรับฝึกหัดเป็นช้างหลวงใช้เป็นราชพาหนะ และในการพระราชพิธีต่างๆ เป็นครั้งสุดท้าย (ไม่นับการคล้องช้างแสดงให้ราชอาคันตุกะทอดพระเนตร ซึ่งในรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้จัดขึ้น ๒ ครั้ง)

                การคล้องช้าง พ.ศ.๒๔๒๖ ณ เพนียดที่อยุธยานี้ ปรากฏอยู่ในบันทึกรายวัน พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ (พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ) เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ (ทรงกรมเป็นกรมหมื่น พ.ศ.๒๔๒๙)

                เล่าพระประวัติบ้างเล็กน้อยเสียก่อน

                พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติฯ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหุ่น

                เจ้าจอมมารดาหุ่น เป็นหลานของเจ้าจอมเถ้าแก่ในรัชกาลก่อนๆ ทว่าไม่ปรากฏว่าคนใด เจ้าจอมเถ้าแก่ คือ พระสนมในรัชกาลก่อนๆ ซึ่งมิได้มีพระองค์เจ้า ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ เรียกว่า เจ้าจอมเถ้าแก่ ที่มิได้เป็นเจ้าจอมก็มี เถ้าแก่ในวังนี้ มีตำแหน่งและอำนาจดูแลบรรดาหญิงรับใช้ในวัง รองลงมาจากท้าวนาง มักเรียกคู่กันไปว่าท้าวนาง เถ้าแก่

                เจ้าจอมมารดาหุ่นเป็นพระสนมเอก เป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่น้อย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองมักโปรดฯให้ตามเสด็จ โดยโปรดฯให้แต่งกายแบบทหารม้าสก๊อต เจ้าจอมพระสนมที่ได้ตามเสด็จ ดังนี้ มีอีกสองท่านคือ เจ้าจอมมารดาเขียน (เจ้าจอมมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระองค์เจ้าวรวรรณากร ต้นราชสกุล วรวรรณ) และเจ้าจอมมารดาวาด (เจ้าจอมมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ต้นราชสกุล โสณกุล) ในรัชกาลที่ ๕ เจ้าจอมมารดาหุ่นรับราชการฝ่ายในเป็นที่ท้าวทรงกันดาล ส่วนเจ้าจอมมารดาวาด ได้เป็นที่ท้าววรจันทร์

                พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ เป็นต้นราชสกุล สวัสดิกุลรับราชการเป็นเสนาบดี ตำแหน่งราชเลขานุการในรัชกาลที่ ๕ และเป็นอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ด้วย เพราะทรงเป็นราชเลขานุการจึงได้ตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปทั้งสองคราว คือเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ และ พ.ศ.๒๔๕๐ พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นส่วนมากโปรดฯ

    ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติฯ ทรงจดตามคำตรัสบอก

                นอกจากทรงจดพระราชกิจรายวัน และพระราชหัตถเลขาตามคำตรัสบอกแล้ว ฯกรมพระสมมติฯ ยังทรงจด ไดอรีส่วนพระองค์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๖ เมื่อพระชันษา ๒๓ ปี จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๕๘ ก่อน สิ้นพระชนม์เพียง ๖ วัน ในรัชกาลที่ ๖

                ทรงบันทึกเรื่องคล้องช้าง เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๖ ไว้ดังนี้ (สะกดการันต์ตามต้นฉบับเดิม)

                 วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ค.ศ.๑๘๘๓

                เวลาเช้าโมง ๑ กับ ๕๐ มินิต เสด็จลงเรือพระที่นั่งโสภณภควดี ข้างในตามเสด็จด้วย แล่นขึ้นไปตามน้ำถึงน่าวัดกุฎีสูง เสด็จลงเรือพระที่นั่งเก๋งไปประทับท่า ทรงพระราชยานขึ้นไปประทับพลับพลาเพนียด

                ช้างโขลงเข้าอยู่ในเพนียดแต่วานนี้ ๒๔๐ เสศ เช้า ๓ โมงเสศ เสด็จถึงพลับพลาแล้ว ช้างต่อเข้าคล้องได้ช้างพลายใหญ่สูงประมาณ ๔ ศอก ๒ ช้าง (สูง) ๓ ศอก ๓ ช้าง คล้องทิ้งไว้ทั้ง ๕ ช้าง แล้วระบายโขลงออกโยนทาม แลจูงไปโรงทีละตัว ตัวหนึ่งผูกเสาแล้วหลุดไปได้ ต้องตามจับกันวุ่นวาย แลช้างในพเนียดออกมาไม่หมด เหลืออยู่ ๑๓-๑๔ ช้าง ช้างหนึ่งออกมาวิ่งไล่คน เตะเอาตำรวจเจ็บไปคนหนึ่ง แล้วกลับเข้าพเนียดอีก เข้าไปหลงอยู่ตัวเดียว อีก ๑๓ หรือ ๑๔ ช้างนั้นแตกโขลงไป กันไม่อยู่ พอเวลาบ่ายรับสั่งจะเสด็จกลับ การจับกลางแปลงให้งดไว้พรุ่งนี้ เวลาบ่าย ๔ โมง เสด็จมาลงเรือโสภณภควดีที่จัดกุฎีสูง ล่องกลับลงมาถึงบางปอิน ๕ โมงเสศเสด็จขึ้นฯ อนึ่งคนดูวันนี้ฝรั่งมาดูมาก วันนี้ไปขี่ควาย ขี่เลื่อน แล้วขี่ช้าง เราเพิ่งเคยขี่คอ (ช้าง) วันนี้น่ากลัวเต็มที

                 ข้างในคือฝ่ายใน เวลานั้น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ สวรรคตแล้ว (พ.ศ.๒๔๒๓) สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ทรงดำรงพระยศ พระบรมราชเทวี พระอัครมเหสี

                โยนทาม คือเอาเชือกหนังเข้าไปผูกคอช้างไว้ แล้วจูงไปผูกกับเสาจนกว่าจะเชื่อง

                ในบันทึก มีคำว่า จับกลางแปลงทรงอธิบายไว้ในบันทึกวันต่อมาว่า

                การจับช้างคราวนี้ มีสามอย่าง คือ จับในเพนียด จับกลางแปลง และจับซอง

                จับในเพนียด ก็ดังที่ทรงบันทึกไว้นั้น คือไล่ช้างเข้ามาขังอยู่ในเพนียดทั้งโขลงแล้ว หมอช้างขี่ช้างต่อถือคันจาม (ไม้รวกสำหรับติดเชือกหนังเป็นบ่วงสำหรับตักคล้องเท้าช้าง) เข้าไปไล่คล้องช้างที่ต้องการ มักจับเฉพาะช้างใหญ่ ส่วนช้างเล็กมักจับกลางแปลง

                จับกลางแปลงนั้น ระบายโขลงลงน้ำ แล้วไล่จับโยนทามพาไปผูกในโรงเช่นเดียวกับจับในเพนียด

                ส่วน จับซอง จับแต่เฉพาะช้างใหญ่มาก ขนาดสูง ๔-๕ ศอก จับเวลาไล่ช้างออกจากเพนียด ที่ไม่ต้องการก็ปล่อยให้ออกไป ที่ต้องการหากออกมาก็ดักซอง ปิดไว้ให้ติดอยู่ในซองแล้วพาไปผูก

                เล่าเรื่องช้างแล้ว เลยเล่าต่ออีกนิดถึงอาหารของช้าง ซึ่งอาหารหลักของช้างคือหญ้า ดังนั้น เมื่อมีช้างหลวงนับเป็นร้อยเป็นพันตัว ก็ต้องหาหญ้าให้พอกิน จึงต้องมี กรมตะพุ่นคือคนหลวงที่ถูกเกณฑ์ให้เกี่ยวหญ้าเลี้ยงช้าง

                คงมีผู้เคยอ่าน เห็นประโยคนี้กันบ่อยๆ คือ รับราชบาตร ส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้างหรือ สักหน้าแล้วส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง

                (รับราชบาตร- ใช้ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ สมัยก่อนใช้ว่า ราชบาตก็มี ราชบาทว์ก็มี)

                แสดงว่าการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองนั้น มีโทษอย่างหนึ่ง คือ เมื่อถอดออกจากราชการหรือลงโทษอย่างอื่น เช่น สักหน้า รับราชบาตร หรือเฆี่ยนตีแล้ว ก็เอาตัวไปเป็นไพร่หาหญ้าให้ช้าง หรือเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง แสดงว่าคนทำงานหลวงในหน้าที่นี้ เป็นที่ต้องการ ต้องใช้คนจำนวนมากอยู่เสมอ

                แต่โบราณในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระสงฆ์องค์หนึ่ง มีสมณศักดิ์เป็นถึงพระเทพโมฬ เปรียญ ๘ ประโยค ทั้งฉลาดปราดเปรื่อง เป็นกวีเอก เทศน์ธรรมดีเยี่ยม เป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯยิ่งนัก

                ต่อมาถวายพระพรลาสึก แล้วมีผู้ฟ้องว่า เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพโมฬี ได้เป็นปาราชิกกับจอมมารดาม่วงแจ้ พระสนมเอกในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ โปรดฯให้ชำระก็ได้ความว่าเป็นจริง จึงต้องพระราชอาญาสักหน้า แล้วส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้างจนกว่าจะตาย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×