ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #27 : เจ้าจอมพระสนมเอก ในรัชกาลที่ 5

    • อัปเดตล่าสุด 5 มิ.ย. 52


    เจ้าจอมพระสนมเอกที่โปรดปรานในรัชกาลที่ ๕ มีอยู่หลายท่าน แต่ที่ทราบกันโดยทั่วไปนั้นเพียงไม่กี่ท่าน เนื่องจากมีเรื่องราวพิเศษให้เล่าขานกันบ้าง บางท่านก็มีอายุยืนนานเป็นที่รู้จักของผู้คนในปัจจุบัน ดังเช่น เจ้าจอมพระสนม ก๊กออเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ
    เจ้าจอมพระสนมเอกท่านอื่นๆ ไม่สู้จะมีผู้รู้จักเท่าใดนัก
    อย่างเจ้าจอมมารดาแส (โรจนดิศ)
    เจ้าจอมมารดาชุ่ม (ไกรฤกษ์)
    เจ้าจอมมารดาแส ท่านเป็นธิดารุ่นเล็กของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ต่างมารดากับเจ้าจอมมารดาชุ่ม (ในรัชกาลที่ ๔ ชื่อซ้ำกันกับเจ้าจอมมารดาชุ่ม สกุลไกรฤกษ์ในรัชกาลที่ ๕ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน)
    เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ ๔ ดังกล่าว ท่านเป็นเจ้าจอมมารดาของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หากนับตามศักดิ์ญาติ เจ้าจอมมารดาแสในรัชกาลที่ ๕ ก็เท่ากับเป็นน้าสาวของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ

    เจ้าจอมมารดาแส ท่านเป็นเจ้าจอมพระสนมเอกคนสำคัญไม่น้อยในรัชกาลที่ ๕ เรือนของท่านในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นตำหนักพระราชธิดาสองพระองค์ด้วย ว่ากันว่ากว้างขวางใหญ่เกือบเท่าตำหนัก สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี

    เจ้าจอมมารดาแส ท่านมีพระองค์เจ้า ๓ พระองค์ คือ

            ๑.       พระราชโอรส พระนาม พระองค์เจ้าเขจรจิรประดิษฐ์ สิ้นพระชนม์ในปีที่ประสูตินั้นเอง
    ๒.     
    พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา (เข้าใจว่าจะทรงเปลี่ยนเป็น อภันตรีปชา
    ๓.      พระองค์เจ้าทิพยาลังการ

    เจ้าจอมมารดาชุ่ม (ไกรฤกษ์) รับราชการรุ่นเดียวกันกับเจ้าจอมมารดาแส (โรจนดิศ) ท่านมีพระองค์เจ้าสองพระองค์ พระองค์ใหญ่ประสูติปีเดียวกันกับพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา (พ.ศ.๒๔๓๒) พระองค์เล็กประสูติปีเดียวกันกับ พระองค์เจ้าทิพยลังการ (พ.ศ.๒๔๓๓) คือ

                    ๑. พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา
                    ๒. พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี

    เล่าถึงเจ้าจอมมารดาชุ่ม แล้วว่า เมื่อเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังนั้น ท่าน ขึ้นอยู่กับสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ท่านจึงสนิทสนมกับพระอัครชายาเธอพระองค์เล็ก คือพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ ซึ่งมีพระชันษาสูงกว่าท่านไม่เท่าใดนัก

    ต่อมา เมื่อ สมเด็จฯกรมพระยาสุดารัตนฯ สวรรคต (ใช้ สวรรคตเพราะในรัชกาลที่ ๕ ท่านทรงพระอิสริยยศ เสมอ สมเด็จพระบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดให้ใช้ว่า สวรรคต) เจ้าจอมมารดาชุ่มจึงเปรียบเสมือน ขึ้นกับสำนักพระวิมาเธอฯโดยปริยาย

    พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) น้องชายของเจ้าจอมมารดาชุ่มนั้น เป็นมหาดเล็กที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระอรรคราชเทวี ทรงพระกรุณาโปรดปราน ส่วนตัวเจ้าจอมมารดาชุ่มเอง ท่านก็มีรูปโฉมงดงาม หน้าตาท่านเมื่อแต่งอย่างสตรียุโรปแล้วเป็นอย่างที่เรียกกันว่า แต่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แต่ครั้งยังทรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระอรรคราชเทวี ในหน้าที่นางสนองพระโอษฐ์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสชวา (รวมทั้งสิงคโปร์ และแหลมมลายู) ครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๓๙)

    (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงดำรงพระอิสริยยศ พระอรรคราชเทวี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๗ เมื่อเสด็จกลับจากตามเสด็จฯ ประพาสชวา (สิงคโปร์ แหลมมลายู) แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงสถาปนา เป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พ.ศ.๒๔๔๐ พร้อมกับโปรดเกล้าตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

    ในครั้งเสด็จฯ ประพาสชวา พ.ศ.๒๔๓๙ พระยาบุรุษฯ ยังเป็นเพียงนายสุจินดา มหาดเล็กหุ้มแพร

    เมื่อตามเสด็จกลับมาแล้ว ได้เป็นที่นายจ่ายวด

    ต่อมา พ.ศ.๒๔๔๐ ตามเสด็จประพาสยุโรปกลับมาแล้ว โปรดฯให้เป็น เจ้าหมื่นสรรเพชภักดี หัวหมื่นมหาดเล็ก โดยข้ามที่หลวงนาย (นายเวร) ขึ้นไป

    ที่จริงเรื่องตำแหน่งและบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก ในกรมมหาดเล็ก ได้เคยเล่ามาแล้ว แต่เพื่อให้ทราบในตอนนี้ จึงขอกล่าวซ้ำโดยย่อว่า ตำแหน่งต่างๆ ในกรมมหาดเล็กสมัยก่อนนั้น มี ๗ ชั้น คือ

                    ๑. ผู้บัญชาการกรมมหาดเล็ก8
                    ๒. จางวาง หัวหมื่น ที่มีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าหมื่น เรียกกันโดยทั่วไปว่า คุณพระนาย
                    ๓. นายเวร เรียกโดยทั่วไปว่า หลวงนาย
                    ๔. นายจ่า ตำแหน่งรองนายเวร เรียกกันว่า จ่า มี ๔ ตำแหน่ง คือ จ่ายง จ่ายวด จ่าเรศ จ่ารง
                    ๕. หุ้มแพรมีหัวหน้า ๔ เรียกว่า หุ้มแพรต้นเชือก และหุ้มแพรสามัญ หุ้มแพรต้นเชือกก็อย่าง นายกวด หุ้มแพร ฯลฯ
                    ๖. นายรอง คือ รองหุ้มแพร ก็เรียกกันว่า นายรองกวด นายรองขัน ฯลฯ
                    ๗. ชั้นสุดท้าย คือ ตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษ คือ พวกพี่ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ต้องเป็นมหาดเล็กวิเศษก่อน

    ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมมหาดเล็กนั้น เป็นตำแหน่งสูงสุดในกรมมหาดเล็ก ยังมิได้เคยโปรดเกล้าฯตั้งผู้ใด นอกจากพระราชโอรสซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ให้เป็นผู้บัญชาการ ตำแหน่งนี้มีหน้าที่สำหรับบังคับบัญชาการในกรมมหาดเล็กทั่วไป ผู้ทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ ๕ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์

    ซึ่งสิ้นพระชนม์พระชันษาเพียง ๑๗ พรรษา หลังจากทรงดำรงตำแหน่งนี้เพียงไม่ถึง ๒ ปี

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงไม่โปรดฯตั้งพระราชโอรสพระองค์ใด เป็นผู้บัญชาการกรมมหาดเล็กอีก ว่ากันว่า ทรงมีพระราชปรารภถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ว่าเมื่อโปรดเกล้าฯให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก ได้ไม่นานก็สวรรคต พระชันษาเพียง ๑๗ ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ได้ไม่ทันไรก็สิ้นพระชนม์อีก ทำให้ทรงพระราชดำริว่า ตำแหน่งนี้อาจมีอาถรรพ์ จึงไม่โปรดฯ ตั้งพระราชโอรสพระองค์ใดอีก คงว่างอยู่ตลอดรัชกาล

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×