ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #26 : ต้นสกุลไกรฤกษ์

    • อัปเดตล่าสุด 5 มิ.ย. 52


     

    ที่จะเล่าถึงนั้นไม่ใช่เรื่องของนายนับ หรือหลวงไกรฤกษ์ราชเสวี ผู้ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชกระแสว่า จะเลี้ยงมันไว้เมื่อแก่จะได้ใช้มั่นให้ตำหมากให้กิน

    แต่จะเล่าถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพไกรฤกษ์) บิดาของนายนับ และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ป้าของนายนับ ซึ่งทั้งสองท่านต่างมีเรื่องราวอันน่าสนใจเป็นอันมาก

    ต้นสกุลไกรฤกษ์ คือ พระยาไกรโกษา (ฤกษ์) ได้มีผู้เล่าประวัติของท่านไว้ในที่หลายแห่งแล้ว จึงจะเว้นเสีย เริ่มแต่เพียงว่า ตั้งแต่ชั้นลูกพระยาไกรโกษา (ฤกษ์) อันเป็นชั้นที่ ๒ มีเจ้าจอมเข้ารับราชการคือ เจ้าจอมยี่สุ่น ท่านหนึ่ง และมีพี่ชายของเจ้าจอมยี่สุ่นรับราชการได้เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน)

    ในพจนานุกรมไม่มีคำว่า โชฎึกมีแต่ โชดึกน่าจะเป็นคำเดียวกัน ขยายความว่า มาจาก โชติก=โช-ติ-กะ แปลว่า ผู้มีความรุ่งเรือง ในสมัยพุทธกาล ก็มีเศรษฐีใจบุญนามว่า โชติกเศรษฐี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระยาโชฎึกฯ หลายท่าน เช่น พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) ต้นสกุลโชติกะพุกกณะ เป็นต้น

    ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๖ ยังไม่มีพระราชบัญญัตินามสกุล ท่านผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุน หลวง พระ พระยา ตลอดจนเจ้าพระยา มักจะมีราชทินนามซ้ำต่อๆ กันลงมาจึงต้องมีชื่อจริงต่อท้ายไว้ในวงเล็บให้ทราบว่าเป็นคนในสมัยไหน

    พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) ได้เป็นพระยาโชฎึกฯ ในรัชกาลที่ ๑

    พระยาโชฎึกฯ (ทองจีน) มีธิดาคนใหญ่รับราชการในรัชกาลที่ ๒ ชื่อ เจ้าจอมอิ่ม เจ้าจอมอิ่มมีน้องหญิงชายหลายคน แต่มีอยู่ผู้หนึ่งซึ่งรับราชการได้เป็น พระมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง)

    เจ้าจอมอิ่มเข้ารับราชการเป็นละครหลวงในรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๒ นั้น เป็นสมัยที่การละครฟ้อนรำตลอดจนดนตรีมโหรีปี่พาทย์ การทวีเฟื่องฟูมาก เป็นยุคแห่งศิลปินและวรรณกรรมโดยแท้ตลอดรัชกาล ตัวละครในที่มีรูปโฉมงดงามและรำงามเด่นสะดุดตา มักจะได้เข้ารับราชการเป็นเจ้าจอมพระสนม หากโปรดปรานก็อาจได้เป็นถึงพระสนมเอก

    เจ้าจอมอิ่ม เมื่อเป็นละครหลวง ได้แสดงบทย่าหรัน (สียะตราเมื่อปลอมตัวตามหาอิเหนา และบุษบา) อันเป็นตัวรองของพระเอก ซึ่งผู้แสดงจะต้องมีร่างเล็กบาง หน้าตาสวยงามคล้ายกับนางเอกคือบุษบา เจ้าจอมอิ่มแสดงบทย่าหรัน จนกระทั่งมีชื่อตัวละครติดตัว เรียกกันว่า คุณอิ่มย่าหรันตลอดมา

    ในเรื่องราชินิกุล รัชกาลที่ ๕ พระนิพนธ์สมเด็จฯ พระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ทรงเล่าถึง คุณอิ่มย่าหรันไว้ว่า

     ท่านอิ่มย่าหรันผู้นี้คล้ายเศรษฐินี เพราะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติและชื่อเสียง เป็นผู้ ๑ ที่ฝักใฝ่ตัวอยู่ใน สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรมาเก่าแก่ช้านาน ภายหลังถึงกับรับเป็นผู้อุปการะใน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ด้วย สมเด็จกรมพระยาสุดารัตน์ โปรดปรานอย่างสนิทสนมทรงนับถือว่าเป็นผู้ดีเก่าอันมีมารยาทดี (ท่วงทีก็จริง ผู้เขียนได้คุ้นเคยกันดี และได้เคยเห็นแต่นุ่งจีบห่มแพรอยู่เสมอ จนถึงชั้นหลังๆ ก็ไม่ยอมเลิกจนตลอดชีวิต) ท่านอิ่มย่าหรันผู้นี้เป็นผู้ที่ชักจูงพระมงคลรัตน (ช่วง) ผู้เป็นญาติให้ถวายธิดา คือเจ้าจอมมารดาชุ่มไว้ในพระสำนักสมเด็จกรมพระยาสุดารัตน อันได้ทรงอภิบาลทะนุบำรุงสืบมาจนถึงได้เป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๕ นั้น

    สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนฯ ในพระนิพนธ์นี้ เมื่อรัชกาลที่ ๕ ทรงพระอิสริยศักดิ์สูงสุดเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมอัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ในรัชกาลที่ ๖ เปลี่ยนเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

    ซึ่งก็คงทราบกราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า พระนามเดิมของท่านคือพระองค์เจ้าลม่อมร่วมพระชนกชนนีเดียวกันกับ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) จึงทรงเป็น อาแท้ๆ ของ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (มิได้ใช้คำว่า ในเพราะทรงพระอิสริยยศ สูง และทรงอาวุโสกว่า สมเด็จพระเทพศิรินทราฯ เมื่อสมัยโบราณนั้น คำว่า ในใช้แต่เฉพาะเมื่อจะเอ่ยถึงบุคคลซึ่งเป็นของพระเจ้าอยู่หัวและบุคคลซึ่งศักดิ์หรืออาวุโสน้อยกว่า เจ้านายที่เป็นเจ้าของ เช่น พระชายาใน สมเด็จเจ้าฟ้า ฯลฯ)

    สมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนฯ ทรงเลี้ยงดู สมเด็จพระเทพศิรินทราฯ มาแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วย สมเด็จพระบรมราชมาตาฯ สิ้นพระชนม์ เมื่อพระชันษาเพียง ๒๘

    เมื่อสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ ทรงได้รับพระราชทานสมมติยาภิเษก เป็น พระราชเทวี พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์แล้ว พระชันษาเพียงเท่าพระชนก ก็สิ้นพระชนม์ สมเด็จฯกรมพระยาสุดารัตนฯ จึงทรงเลี้ยงดูอภิบาลพระโอรสทั้ง ๓ ใน สมเด็จพระเทพศิรินทราฯ ต่อมา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ตั้งแต่พระชนมายุ และพระชันษา ๘ ๕ ๒ ตามลำดับ

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงเคารพรัก และเกรงพระทัย สมเด็จฯกรมพระยาสุดารัตนฯ มาก ตรัสเรียกว่า เสด็จยายดังที่ทราบกันอยู่แล้ว และโปรดให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เรียกว่า ทูลกระหม่อมยาย

    ดังนั้นบุคคลใดเป็นที่โปรดปรานใน สมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนฯ จึงพลอยเป็นที่โปรดปรานใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ด้วยดังเช่น พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ซึ่งโปรดปรานมาก ถึงขนาดตั้งพระทัยไว้ว่จะทรงสนับสนุนให้ได้รับพระราชทานสมมติยาภิเษก เป็นพระราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕ เช่นเดียวกับที่ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เคยทรงได้รับมาแล้วในรัชกาลที่ ๔

    แม้กระนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนฯก็มิได้ทรงสนับสนุนจนลืมขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี เพียงแต่คงจะมีพระประสงค์ ให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระภรรยาเจ้า เพื่อจะได้ทรงมี สมเด็จเจ้าฟ้าสืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อไปในภายหน้า

    ทว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ นั้น เจ้านายผู้หญิงในสมัยรัชกาลที่ ๒ และ ๓ ชั้นพระเจ้าลูกเธอส่วนมากทรง มีพระชันษาสูงๆ มีแต่เจ้านายชั้นพระเจ้าหลานเธอ (หม่อมเจ้า) โดยเฉพาะพระเจ้าหลายเธอในรัชกาลที่ ๓ ที่ยังทรงอยู่ในวัยสาว พระเจ้าหลานเธอ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดปรานมีอยู่สองพระองค์ พระองค์แรกทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระองค์ที่สองคือ หม่อมเจ้าหญิงรำเพย ดังในพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถึงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ ๓ ตอนหนึ่งว่า

    เสด็จขึ้น (คือหลังจากเสด็จออกว่าราชการ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น. แล้ว-จุลลดาฯ) เวลาบ่าย ๒ โมง (๑๔ นาฬิกา) หรือบ่าย ๒ โมงครึ่ง แล้วออกพระเฉลียงด้านใต้ (ของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทำนองระเบียงนั่งเล่นของบ้านคนธรรมดาทั่วไป-จุลลดาฯ) ไม่มีใครเฝ้า เฝ้าแต่กรมหลวงวรเศรษฐ สมเด็จพระเทพสิรินทร สมเด็จพระนางโสมนัส ทรงพระอักษรหรือเล่นกับเจ้านาย ๓ องค์นี้ จนเวลาบ่าย ๔ โมง (๑๖ นาฬิกา) ครึ่ง หรือ ๕ โมง (๑๗ นาฬิกา) จึงเสด็จเข้าที่….”

     เข้าที่คือ เข้าที่บรรทมเวลากลางวัน และบรรทมตื่น ๒ ทุ่ม (๒๐ นาฬิกา) เพื่อเสด็จออกท้องพระโรงว่าราชการ จนกระทั่งถึงตี ๒ ตี ๓ หากมีราชการสำคัญ กว่าจะเสด็จขึ้นก็อาจถึงตี ๔ หรือ ๕ และบรรทมตื่นเวลา ๘.๐๐ น. เพื่อทรงบาตรตามเวลาไม่คลาดเคลื่อน

    เจ้านายสามพระองค์ในพระราชนิพนธ์ ก็คือ พระราชธิดาพระองค์สุดท้าย พระองค์เจ้าบุตรี (ในรัชกาลที่ ๕ โปรดฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา) เมื่อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเสด็จสวรรคต พระองค์เจ้าบุตรีพระชันษา ๒๒ สมเด็จพระเทพศิรินทราฯ เมื่อยังดำรงพระยศหม่อมเจ้ารำเพย และ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เมื่อยังดำรงพระยศ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ทั้งสองพระองค์เมื่อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จสวรรคต มีพระชันษา ๑๗ เท่ากัน (ประสูติ พ.ศ.๒๓๗๗ ทั้งสองพระองค์)

    ขึ้นรัชกาลที่ ๔ บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายต่างมีความเห็นพ้องกันว่า บรรดาผู้ที่จงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อย่างมั่นคงนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากเพราะเสด็จครองราชย์อยู่ถึง ๒๗ ปี เพื่อยึดน้ำใจของคนเหล่านั้นจึงเห็นว่าน่าจะโปรดเกล้าฯสถาปนา เชื้อสายใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯขึ้นเป็นพระอัครราชเทวี

    พระองค์เจ้าโสมนัสฯ นั้นว่ากันว่าทรงพระโฉมงดงามเป็นที่โปรดปรานอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าพระอัครราชเทวี

    ต่อมาเมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ สวรรคตแล้วจึงทรงสถาปนา หม่อมเจ้ารำเพย

    เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เป็นมาเช่นนี้ สมเด็จฯกรมพระยาสุดารัตนฯ จึงทรงมีพระประสงค์จะให้หม่อมเจ้าหญิงปิ๋ว ซึ่งทรงเลี้ยงดูมาเช่นเลี้ยงดูมา สมเด็จพระเทพศิรินทราฯ และเป็นหลาน อาที่โปรดปรานมาก (ทว่ามิใช่หลานแท้ๆ เป็นเพียงหลานพระธิดาในพระเชษฐาต่างพระชนนี) ได้เป็นพระภรรยาเจ้าและพระราชเทวี

    ทว่าในรัชกาลที่ ๕ นั้นมีพระราชธิดา ในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงศักดิ์เป็น ลูกหลวงและเป็นที่โปรดปรานใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีพระชันษาสูงกว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเพียง ๑๐ เดือน คือ พระองค์เจ้าทักษิณชานราธิราชบุตรี

    พระเกียรติยศสูงกว่า หม่อมเจ้าหญิงปิ๋ว หากทรงเป็นพระภรรยาเจ้าด้วยกัน หาก สมเด็จเจ้าฟ้าประสูติก็จะสมพระเกียรติยศ หน่อพระพุทธเจ้ายิ่งกว่า สมเด็จฯกรมพระยาสุดารัตนฯ จึงทรงเห็นด้วย แสดงให้เห็นว่าน้ำพระทัยนั้นรักขนบธรรมเนียมราชประเพณี ยิ่งกว่าจะทรงเห็นแก่ความรักความชอบส่วนพระองค์

    พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ ประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าเป็นที่ปีติโสมนัสของทุกพระองค์และทุกคนที่ทรงหวังและหวังเอาไว้ ทว่าพระราชกุมารสิ้นพระชนม์ให้วัยประสูติ ทำให้พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ ทรงเศร้าโศกเสียพระทัยจนทรงประชวรไม่อาจทรงรับราชการได้อีกต่อไป

    หม่อมเจ้าหญิงปิ๋วจึงได้รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง ทรงสถาปนาเป็นพระอัครชายาเธอ

    หม่อมเจ้าหญิงปิ๋วประสูติพระราชธิดา แล้วก็ทรงประชวรกระเสาะกระแสะเรื่อยมา มิได้มีพระหน่ออีก

    ต่อมาจึงทรงรับพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นพระภรรยาเจ้า

    จริงๆ แล้วจะเล่าถึงเจ้าจอมมารดาชุ่มซึ่งเข้ามาอยู่ในพระสำนัก ของ สมเด็จฯกรมพระยาสุดารัตนฯ แต่ที่เท้าความยาวยืด ก็เพื่อจะให้ทราบถึงพระสำนักนั่นว่ามีท่านผู้ใดบ้าง

    เจ้าจอมมารดาชุ่ม นั้น อายุเห็นจะน้อยกว่าพระอัครชายาเธอ พระองค์เล็ก พระขนิษฐาพระองค์เล็ก ใน พระอัครชายาเธอ พระองค์กลาง (หม่อมเจ้าหญิงปิ๋ว) เพียงไม่กี่ปี

    เมื่อเข้ามาอยู่ในพระสำนักของสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนฯ คงจะสนิทชิดชอบกับพระอัครชายาเธอ พระองค์เล็กต่อมา พระราชธิดา ๒ พระองค์ในพระอัครชายาเธอพระองค์เล็กและ พระราชธิดา ๒ พระองค์ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่มจึงทรงสนิทสนมกันมาก
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×