ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #25 : กลอนดอกสร้อยสุภาษิต

    • อัปเดตล่าสุด 5 มิ.ย. 52


     

    มหาดเล็กนายหนึ่ง เมื่อยังเยาว์วัยเพิ่งจะชันคอได้ เจ้าจอมมารดาผู้เป็นป้าได้รับเข้าไปเลี้ยงดูในพระบรมมหาราชวัง และนำขึ้นเฝ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในห้องพระบรรทมเสมอๆ เป็นที่ทรงพระเมตตาเอ็นดูมากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า นับตามอักษรชื่อของบิดาที่ว่า นพพร้อมทั้งพระราชทานเสมาทองคำและจี้เพชรผูกคอเป็นของขวัญ แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่าพระราชกระแสว่า

     จะเลี้ยงมันไว้ เมื่อแก่จะได้ใช้ให้มันตำหมากให้กิน

    แสดงว่าทรงพระเมตตาจนทรงมีพระราชประสงค์จะเลี้ยงไว้ใกล้ชิดติดพระองค์ให้ตำหมากถวายเวลาทรงพระชรา จนกระทั่งพระทนต์เคี้ยวหมากเป็นคำไม่ไหว

    สมัยโบราณตั้งแต่ ร.๑-๕ พอเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมาก็กินหมากกันทั้งผู้หญิงผู้ชาย จนกระทั่งการกินหมากจะว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตคนไทยก็ว่าได้ ทุกบ้านทุกเรือนจึงต้องมีเชี่ยนหมากทั้งเอาไว้กินเองเป็นประจำตัว และเอาไว้รับแขก หากใครมีบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ ทางสัญจรไปมา เผื่อมีคนรู้จักเดินผ่าน วิธีทักทายกันก็มักจะหนีไม่พ้นการร้องเรียกให้กินหมาก ดังกลอนของเก่าที่เด็กๆ ร้องเล่นกันมาแต่โบราณว่า

     ตุ๊ดตู่อยู่ในรูกระบอกไม้ เห็นคนเดินไปเรียกให้กินหมาก ตุ๊ดตู่เพื่อนยาก กินหมากปากแดง

    ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจับเอามาแต่งเป็นกลอนดอกสร้อยสุภาษิต ให้เด็กในโรงเลี้ยงเด็กของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ ร้องเล่น โดยทรงแต่งขึ้นใหม่ให้มีข้อสอนใจว่า

                ตุ๊ดเอ๋ยตุ๊ดตู่ ในเรี่ยวในรูช่างอยู่ได้

                ขี้เกียจนักหนาระอาใจ มาเรียกให้กินหมากไม่อยากคบ

                ชาติขี้เกียจเบียดเบียฬแต่เพื่อนบ้าน การงานสักนิดก็คิดหลบ

                ตื่นเช้าเราจะหมั่นประชันพลบ ไม่ขอพบขี้เกียจเกลียดนักเอย

    บรรดาคำกลอนหรือคำพูดเล่นเปรียบเปรยให้คล้องจองกันของคนโบราณนั้น มีอยู่มากมาย บางบทก็มีสาระ บางบทก็ออกจะเหลวไหลเมื่อ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงนำมาทรงนิพนธ์เองบ้าง โปรดให้ผู้อื่นช่วยแต่งบ้างนั้น ทรงเลือกมาได้ ๓๓ บท

    บางบทก็ดูเหมือนจะมีผู้จำกันได้ขึ้นใจ เช่น มดแดงเพราะเคยเป็นบทร้องลำพัดชาให้เด็กๆ ประถมสมัยต้นๆ ประชาธิปไตย ขับร้องในวิชาขับร้อง

    บทดอกสร้อยสุภาษิต มดแดงนั้นว่า

               มดเอ๋ยมดแดง เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน

                ใครกล้ำกรายทำร้ายถึงรังมัน ก็วิ่งพรูกรูกันมาทันที

                สู้ได้หรือมิได้ใจสาหัส ปากกัดก้นต่อยไม่ถอยหนี

                ถ้ารังเราใครกล้ามาราวี ต้องต่อตีทรหดเหมือนมดเอย

    บทนี้ผู้แต่งคือ นายทัด เปรียญ

    ยังมีอีกบทหนึ่งซึ่งนายทัด เปรียญ เป็นผู้แต่งเช่นกัน มาจากของเก่าที่ร้องกันเล่นๆ ว่า

               ตุ๊กแกตัวพร้อย งูเขียวตัวน้อย ห้อยหัวลงมาคอยจ้องมองท่า คว้าคอตุ๊กแก

               นายทัด เปรียญ แต่งเป็นดอกสร้อยสุภาษิตว่า

               ตุ๊กเอ๋ยตุ๊กแก ตับแก่แซ่ร้องกึกก้องบ้าน

               เหมือนเตือนหูให้งูรู้อาการ น่ารำคาญเสียแท้แท้แส่จริงจริง

               อันความลับเหมือนกับตับที่ลับแน่ อย่าตีแผ่ให้กระจายทั้งชายหญิง

               ที่ควรปิดปิดไว้อย่าไหวติง ควรจะนิ่งนิ่งไว้ในใจเอย

    เรื่องตุ๊กแกตับแก่นี้ มิใช่เป็นเรื่องเพียงร้องเล่นกัน อย่างที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ รับสั่งว่าบางบทก็ร้องเล่นเหลวๆ กันไปอย่างนั้นเอง แต่เป็นการสังเกตธรรมชาติของตุ๊กแก คือตุ๊กแกนั้นมีเวลาที่ตับมันแก่จนคับโครงจริงๆ มันจึงร้อง จะร้องโดยอึดอัดหรือโดยเจ็บ หรือเพราะอะไร ยังไม่เคยพบว่ามีผู้ใดบอกสาเหตุแท้จริงได้

    ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อพยพไปอยู่ที่เรือนพักสร้างด้วยฝาลำแพน หลังคามุงจาก เคยเห็นสิ่งที่ทำให้ประหลาดใจยิ่งนัก คือตุ๊กแกกับงูเขียวเกาะอยู่บนคานขื่อห้องครัว ตุ๊กแกนั้นอ้าปากกว้างมีเลือดไหลออกมาบ้าง ขณะที่หัวงูมุดเข้ไาปอยู่ในปากมัน ด้วยความที่ไม่รู้ จึงร้องเรียกใครต่อใครให้มาดู ตุ๊กแกกินงูเขียว คุณลุงขุนผู้จัดการโรงงานน้ำตาลขณะนั้นอายุท่านเกือบหกสิบแล้ว ท่านว่า ไม่ใช่ตุ๊กตาแกกินงู งูมันกำลังล้วงตับตุ๊กแกต่างหาก คือตับตุ๊กแกมันโตคับอก มันก็เลยต้องให้งูเขียวมากินตับมันโดยตุ๊กแกมันอ้าปากให้มุดเข้าไปกินแต่โดยดี

    เวลานั้นตื่นเต้นกันมากเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ทว่าประเดี๋ยวเดียวงูก็ถอยออกมา ทั้งปากตุ๊กแก ทั้งหัวงูเลอะเลือด แต่ไม่เห็นคาบตับออกมา งูคงจะกลืนเข้าไปแล้ว

    ตั้งแต่นั้นจึงรู้ว่าที่โบราณเขาว่า

     งูเขียวตัวน้อย ห้อยหัวลงมา คอยจ้องมองท่าคว้าคอตุ๊กแกนั้น ไม่ใช่เพราะมันจะกินตุ๊กแก หากแต่จะล้วงคอเข้าไปกินตับต่างหาก

    ไม่ว่าผู้ดี หรือชาวบ้านในสมัยโบราณ ไปไหนมาไหน แม้แต่เวลาเข้าเฝ้าฯพระเจ้าแผ่นดิน ก็ต้องหิ้วหรือมีคนเชิญคนถือล่วมหมาก หรือกล่องหมาก หีบหมากตามหลังไปด้วย และโดยเหตุที่เจ้านายข้าราชการเสวยหมาก กินหมากกันเป็นประจำ ทำนองเดียวกับคนในปัจจุบันสมัยที่ยังไม่มีการต่อต้านบุหรี่สูบบุหรี่กันเป็นประจำ บางคนบางเวลาแทบจะสูบมวนต่อมวนเลยทีเดียว

    ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ ตรงชานพักพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งก่อนเวลาเข้าเฝ้าฯในท้องพระโรง บรรดาข้าราชการส่วนมากมักจะนั่งคอยกันอยู่ ปรากฏว่าตามพื้นชานพัก ตลอดจนฝาผนังมักจะสกปรกเปรอะเปื้อนเป็นรอยน้ำหมาก บางครั้งก็มีชานหมาก ฝอยยาจืด ยาฉุนที่ใช้กับหมากทิ้งเรี่ยราดอยู่

    ยาจืด หรือยาฉุน นั้น คนกินหมากมักจะใช้ถูฟันแล้วจุกซับน้ำหมากไว้ตรงมุมปาก นานเข้าก็ถ่มทิ้ง

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ คงจะทรงรำคาญพระทัยเรื่องความสกปรก ทั้งคนทำสกปรกก็ล้วนแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จะทรงว่ากล่าวตักเตือนก็ใช่ที่ จึงโปรดเกล้าฯให้เขียนรูปยักษ์ปู่เจ้าไว้ที่ฝาผนังชานพักพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางด้านตะวันออก และโปรดฯให้เขียนโคลงพระราชนิพนธ์กำกับไว้ว่า

                     อ น้ำหมากน้ำมูกเฟื้อ ฝอยผง ไซร้นา

                    อย่าถ่มอย่าเทลง ที่ห้าม

                    มิฟังยักษ์จักปลง ชนมชีพเสียนอ

                    ใช่ขู่แต่พอคร้าม ปู่เจ้าเอาจริงฯ

    และที่ชานพักพระที่นั่งไพศาลทักษิณฝ่ายตะวันตกก็โปรดฯ ให้เขียนรูปภาพเทวดาจดบุญบาปของมนุษย์ขึ้นทูลศาลเสนอพระอินทร์ และพระยายมราชในแผ่นทองและหนังสุนัข ให้เขียนพระราชนิพนธ์ขู่เป็นทำนองรายงานเทวดาไว้ ทว่าตัวหนังสือลบเลือนหมอเสียตั้งแต่รัชกาลที่ ๕

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×