คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #22 : เจ้าหญิงซีตาแห่งบูร์บอง-ปาร์มา
เจ้าฟ้าหญิงซีตาแห่งบูร์บอง-ปาร์มา (อังกฤษ: Princess Zita of Bourbon-Parma) (ซีตา มาเรีย เดลเล กราซี อาเดลกอนด้า มิคาเอล่า ราฟาเอลล่า กาเบรียลล่า จูเซปปิน่า อันโตเนีย หลุยซ่า แอ็กเนเซ; 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2532) เป็นสมาชิกพระองค์หนึ่งในราชวงศ์บูร์บอง-ปาร์มา และพระมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 1 แห่งออสเตรีย ดังนั้นจึงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งออสเตรีย (Empress of Austria) สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการี (Queen of Hungary) และสมเด็จพระราชินีแห่งโบฮีเมีย (Queen of Bohemia) โดยทรงมีความเกี่ยวข้องทางสายพระโลหิตกับราชวงศ์ฝรั่งเศส โปรตุเกส และสเปน
เจ้าฟ้าหญิงซีตา ซึ่งเป็นพระธิดาพระองค์ที่สิบเจ็ดในดยุกโรเบิร์ตที่ 1 แห่งปาร์มา ได้อภิเษกสมรสกับอาร์ชดยุกคาร์ลแห่งออสเตรียในปี พ.ศ. 2454 และต่อมาอาร์ชดยุกคาร์ลได้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทในสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โจเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย หลังจากการลอบปลงประชนม์อาร์ชดยุกฟรันซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย พระปิตุลา และเสวยราชสมบัติแห่งออสเตรีย-ฮังการี เมื่อปี พ.ศ. 2459 ภายหลังการเสด็จสวรรคของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โจเซฟที่ 1
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2461 ราชวงศ์ฮับส์บูร์กได้ถูกขับไล่ออกไปเมื่อจักรวรรดิออสเตรียล่มสลายกลายเป็นประเทศใหม่ อันได้แก่ ออสเตรีย เชคโกสโลวาเกีย ฮังการี รัฐสโลวีเนีย โครเอเชีย และเซอร์เบีย สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลและสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาได้เสด็จลี้ภัยไปประทับในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และต่อมาไปประทับที่เกาะมาเดร่า ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นที่สวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลในปี พ.ศ. 2465 หลังจากการสวรรคตของพระสวามี สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาและเจ้าชายออตโต พระโอรสทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความปรองดองของราชวงศ์ออสเตรียที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดน ในฐานะที่เป็นชาวคาทอลิกที่เคร่งครัด พระองค์ทรงแบกรับภาระ ดูแลครอบครัวใหญ่หลังจากเป็นม่ายขณะมีพระชนมายุ 29 พรรษา และยังคงซื่อสัตย์ต่อความทรงจำเกี่ยวกับพระสวามีตลอดพระชนม์ชีพ
เนื้อหา
[ซ่อน]ขณะทรงพระเยาว์[แก้]
เจ้าหญิงซีตาแห่งบูร์บอง-ปาร์มาประสูติเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 ณ วิลลาปีอานอเร่ เมืองลุกก้า ประเทศอิตาลี พระนามว่า ซีตา (Zita) ตั้งตามชื่อของนักบุญซีตาผู้โด่งดัง ซึ่งอาศัยอยู่ในแคว้นทัสคานีสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 พระองค์เป็นพระธิดาพระองค์ที่สามและพระองค์ที่ห้าในดยุกโรเบิร์ตที่ 1 แห่งปาร์มา กับ เจ้าฟ้าหญิงมาเรีย อันโตเนียแห่งโปรตุเกส พระชายาพระองค์ที่สอง ซึ่งเป็นพระธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีมิเกลที่ 1 แห่งโปรตุเกส และเจ้าหญิงอเดลไฮด์แห่งเลอเว็นชไตน์-แวร์ไธม์-โรเซนแบร์ก พระบิดาของเจ้าหญิงซีตาทรงถูกขับออกจากราชบัลลังก์เมื่อทรงพระเยาว์ เนื่องจากความเคลื่อนไหวในการรวมประเทศอิตาลีเป็นหนึ่งเดียวเมื่อปี พ.ศ. 2402 พระองค์ทรงเป็นบิดาของพระโอรสและธิดา 12 พระองค์จากการอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเจ้าฟ้าหญิงมาเรีย ปีอาแห่งราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง (หกพระองค์ทรงมีปัญหาพัฒนาการทางด้านจิตใจและสามพระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์) ดยุกโรเบิร์ตทรงเป็นม่ายในปี พ.ศ. 2425 และอีกสองปีต่อมาทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย อันโตเนียแห่งโปรตุเกส พระมารดาในเจ้าหญิงซีตา การอภิเษกสมรสครั้งที่สองนี้ได้ให้กำเนิดพระโอรสและธิดาเพิ่มอีก 12 พระองค์ โดยเจ้าหญิงซีตาเป็นพระธิดาพระองค์ที่ 17 ในจำนวนพระโอรสธิดาจำนวนทั้งหมด 24 พระองค์ของดยุกโรเบิร์ต พระองค์และครอบครัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับทั้งที่วิลลาปีอานอเร่ (อยู่ระหว่างเมืองปิเอตราซานตาและเมืองวีอาเรจจีโอ) และปราสาทชวาร์เซา ทางตอนใต้ของออสเตรีย เจ้าหญิงซีตาทรงเจริญพระชนม์ในพระราชฐานทั้งสองแห่งนี้ ครอบครัวของเจ้าหญิงประทับในออสเตรียเป็นส่วนใหญ่และจะย้ายไปประทับที่เมืองปีอานอเร่ในช่วงฤดูหนาวและกลับมาในฤดูร้อน ในการเดินทางจะต้องใช้รถไฟขบวนพิเศษที่มีจำนวนสิบหกตู้เพื่อรองรับสมาชิกในครอบครัวและสิ่งของเครื่องใช้ของทุกพระองค์ได้ทั้งหมด
เจ้าหญิงซีตาและพระเชษฐา พระเชษฐภคินี พระอนุชาและพระขนิษฐาได้รับการอภิบาลให้ตรัสภาษาอิตาลี ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกสและภาษาอังกฤษ พระองค์ทรงเล่าว่า "พวกเราเติบโตมาแบบนานาชาติ เสด็จพ่อคิดว่าท่านเป็นฝรั่งเศสอย่างแรกเลย พระองค์ทรงประทับอยู่กับพวกพี่ๆ ที่เมืองชอมบอร์ด พระราชฐานริมแม่น้ำลัวร์ ข้าพเจ้าเคยถามเสด็จพ่อครั้งหนึ่งว่าพวกเราจะแนะนำตัวเองอย่างไรดี ท่านตอบว่า 'พวกเราเป็นเจ้านายชาวฝรั่งเศสซึ่งปกครองดินแดนในอิตาลี' อันที่จริงแล้ว มีเพียงข้าพเจ้าและพี่น้องอีกสองคนที่เกิดในอิตาลี"
เมื่อมีพระชนมายุสิบพรรษา เจ้าหญิงซีตาทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในเมืองซานแบร์ก แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ซึ่งเน้นการศึกษาและการสอนศาสนาที่เคร่งครัด พระองค์ต้องเสด็จกลับพระราชฐานอย่างกะทันหันในฤดูใบไม้ร่วงของปี พ.ศ. 2450 อันเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระบิดา พระอัยกาจึงส่งพระองค์และเจ้าหญิงฟรันซิสก้า พระเชษฐภคินีไปประทับในสำนักชีบนเกาะไว้ท์ ประเทศอังกฤษ จนจบการศึกษา เหล่าพระโอรสธิดาในราชวงศ์ซึ่งเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการแก่คนยากจน ส่วนในเมืองชวาร์เซา ครอบครัวของเจ้าหญิงซีตาได้นำผ้าที่เหลือมาทำฉลองพระองค์ พระองค์และเจ้าหญิงฟรันซิสก้าทรงแจกจ่ายอาหาร เสื้อผ้าและยารักษาโรคแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากในเมืองปือานอเร่ พระเชษฐภคินีสามพระองค์ทรงเป็นแม่ชี และครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเคยคิดที่จะดำเนินรอยตาม แต่ด้วยพระพลานามัยที่ไม่ค่อยแข็งแรง พระองค์จึงทรงเข้ารับการรักษาแบบดั้งเดิมในสปาของทวีปยุโรปเป็นเวลาสองปี
อภิเษกสมรส[แก้]
บริเวณใกล้เคียงของปราสาทชวาร์เซาเป็นคือ วิลลาวอร์ทโฮลซ์ ที่ประทับของอาร์ชดัชเชสมาเรีย เธเรซ่าแห่งออสเตรีย พระมาตุจฉาของเจ้าหญิงซีตา พระองค์เป็นพระมารดาเลี้ยงของอาร์ชดยุกออตโตแห่งออสเตรีย ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2449 และพระอัยยิกาเลี้ยงของอาร์ชดยุกคาร์ลแห่งออสเตรีย-เอสเต ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัชทายาทลำดับที่สองแห่งราชบัลลังก์ออสเตรีย-ฮังการี พระธิดาสองพระองค์ของอาร์ชดีชเชสมาเรีย เทเรซ่าแห่งออสเตรียเป็นพระญาติของเจ้าหญิงซีตา และอาร์ชดยุกคาร์ล ทั้งสองพระองค์ทรงพบกันเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์และไม่ได้เจอกันอีกเป็นเวลาเกือบสิบปี เนื่องจากต่างก็ไปศึกษาเล่าเรียน ในปี พ.ศ. 2452 กองร้อยดรากูนของอาร์ชดยุกคาร์ลได้ประจำการที่เมืองบรันไดส์ บนแม่น้ำเอลเบ ซึ่งพระองค์เสด็จไปเยี่ยมพระมาตุจฉาที่เมืองฟรันเซนบาด ในช่วงนี้เองที่อาร์ชดยุกคาร์ลและเจ้าหญิงซีตาทรงสร้างความคุ้นเคยกันอีกครั้ง พระองค์ทรงอยู่ภายใต้ความกดดันเรื่องการอภิเษกสมรส (เพราะว่าอาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ พระปิตุลา ทรงอภิเษกสมรสต่างฐานันดรศักดิ์กับสามัญชนและพระโอรสธิดาหมดสิทธิสืบราชสมบัติ) และเจ้าหญิงซีตาทรงมาจากสายราชตระกูลที่เหมาะสม เจ้าหญิงทรงเล่าต่อมาในภายหลังว่า "เราสองคนดีใจมากที่พบกันอีกครั้งและกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ความรู้สึกส่วนของข้าพเจ้าพัฒนาขึ้นเป็นลำดับตลอดเวลาสองปี พระองค์ดูเหมือนจะตัดสินใจได้เร็วมากกว่า และชัดเจนมากขึ้นเมื่อในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ. 2453 ได้มีข่าวลือแพร่สะพัดออกไปว่าข้าพเจ้าได้หมั้นกับเจ้าชายไฆเม ดยุกแห่งมาดริด ซึงเป็นญาติสายห่างจากสเปน เมื่อทราบเรื่องนี้ อาร์ชดยุกคาร์ลได้รีบเสด็จมาจากกองร้อยที่ประจำการอยู่ที่เมืองบรันไดส์และพบแกรนด์ดัชเชสมาเรีย เธเรซา พระอัยยิกา ซึงเป็นเสด็จป้าของข้าพเจ้าและทีปรึกษาเรื่องการอภิเษกสมรส พระองค์ตรัสถามว่าข่าวลือเป็นจริงหรือไม่และเมื่อทรงทราบว่าไม่เป็นจริง จึงตรัสตอบว่า 'งั้นหม่อมฉันควรจะช้าไม่ได้เสียแล้ว มิเช่นนั้นซีตาจะหมั้นกับคนอื่นแทน'"
อาร์ชดยุกคาร์ลเสด็จไปยังวิลล่าพีอานอเร่เพื่อสู่ขอเจ้าหญิงซีตา และราชสำนักออสเตรียได้ประกาศพิธีหมั้นเมื่อในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2454 และอีกหลายปีต่อมาเจ้าหญิงซีตาทรงเล่าว่าหลังจากพิธีหมั้นแล้ว พระองค์ทรงแสดงความกังวลกับอาร์ชดยุกคาร์ลเกี่ยวกับโชคชะตาของจักรวรรดิออสเตรีย รวมทั้งความท้าท้ายของพระราชวงศ์ด้วย ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2454ณ ปราสาทชวาร์เซา ประเทศออสเตรีย โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ ขณะนั้นพระชนมพรรษา 81 พรรษา เสด็จมาเข้าร่วมพิธีด้วยความโล่งพระทัยเมื่อเห็นรัชทายาทอภิเษกสมรสกับเจ้าสาวที่เหมาะสม และยังคงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ ถึงกับสามารถกล่าวนำดื่มอวยพรในงานเลี้ยงพระกระยาหารเช้าของวันอภิเษกสมรสได้ จากนั้นไม่นานเจ้าหญิงซีตาทรงพระครรภ์พระโอรสและอาร์ชดยุกออตโตประสูติในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 และตามมาด้วยพระโอรสธิดาอีกเจ็ดพระองค์ในอีกทศวรรษต่อมา
พระชายาในรัชทายาทแห่งออสเตรีย[แก้]
ในเวลานั้น อาร์ชดยุกคาร์ลมีพระชนมายุยี่สิบเศษและไม่ทรงคาดคิดว่าจะได้เป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์ โดยเฉพาะขณะที่อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ยังมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ แต่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนพ.ศ. 2457 เมื่อพระองค์และเจ้าหญิงโซฟี พระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ที่เมืองซาราเยโว โดยกลุ่มชาตินิยมชาวเซิร์บในแคว้นบอสเนีย อาร์ชดยุกคาร์ลและอาร์ชดัชเชสซีตาทรงทราบข่าวจากโทรเลขในวันเดียวกัน พระองค์ตรัสถึงพระสวามีว่า "แม้ว่าจะเป็นวันที่อากาศแจ่มใส ข้าพเจ้าเห็นพระพักตร์ของพระองค์ซีดขาวในแสงแดด"
การลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 อาร์ชดยุกคาร์ลทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพลแห่งกองทัพออสเตรียบัญชาการกองร้อยที่ 20 เตรียมพร้อมรบในเมืองไทรอล สงครามสร้างความลำบากใจแก่อาร์ชดัชเชสซีตา เนื่องจากพระเชษฐาและพระอนุชาสู้รบในฝ่ายตรงข้ามกัน (เจ้าชายเฟลิกซ์ และเจ้าชายเรอเน่ ทรงเข้าร่วมกองทัพออสเตรีย ในขณะที่เจ้าชายซิกซ์ตัส และเจ้าชายเซเวียร์ ประทับอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและเข้าร่วมกองทัพเบลเยียม) นอกจากนี้ ประเทศอิตาลีซึ่งเป็นบ้านเกิดของอาร์ชดัชเชสซีตา ได้เข้าร่วมสงครามต่อต้านออสเตรียในปี พ.ศ. 2458 และเป็นเหตุให้ข่าวลือของอาร์ชดัชเชสซีตา"ที่เป็นอิตาลี" เริ่มเป็นที่ซุบซิบกัน แม้แต่ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 เค้านท์ออตโต ฟอน เวเดิล ทูตเยอรมันประจำกรุงเวียนนา เขียนจดหมายไปยังราชสำนักในกรุงเบอร์ลินว่า "จักรพรรดินีทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อิตาลี... ประชาชนไม่เชื่อชาวอิตาลีและเหล่าญาติของพระนางสักเท่าใดนัก"
ตามพระราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ อาร์ชดัชเชสซีตาและพระโอรสธิดาเสด็จออกจากพระราชฐานในเมืองเฮ็ทเซ็นดอร์ฟไปประทับในพระราชวังเชินบรุนน์ พระองค์ปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการร่วมกับสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งพระองค์ตรัสเล่าถึงเรื่องความกลัวต่อเหตุการณ์ในอนาคตแก่อาร์ชดัชเชสซีตา สมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ เสด็จสวรรคตด้วยโรคหลอดพระวาโยอักเสบและพระปัปผาสะบวมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ขณะมีพระชนมพรรษา 86 พรรษา อาร์ชดัชเชสซีตาทรงเล่าในภายหลังว่า "ข้าพเจ้าจำรูปร่างพ่วงพีของเจ้าชายล็อบโควิตซ์ก้าวเข้ามาหาสวามีของข้าพเจ้า และด้วยน้ำตาที่เอ่อเต็มสองตา ได้ทำสัญลักษณ์รูปไม้กางเขนบนหน้าผากของคาร์ล แล้วพูดว่า 'ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานพรแก่ฝ่าพระบาท' นับเป็นครั้งแรกที่ได้ยินการใช้พระอิสริยยศกษัตริย์กับเราทั้งสอง"
พระจักรพรรดินีและพระราชินี[แก้]
สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลและสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาทรงทำพีระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2459 ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ต่อจากนั้นมีพิธีพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารฉลองการครองราชสมบัติ แต่ไม่นานงานสังสรรค์ได้สิ้นสุดลง ด้วยสองพระองค์ทรงตระหนักว่าไม่ควรจัดงานเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกในช่วงสงครามอันเลวร้าย เมื่อเริ่มต้นรัชกาลแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลไม่ได้เสด็จออกนอกกกรุงเวียนนาบ่อยนัก จึงได้มีรับสั่งให้ติดตั้งสายโทรศัพท์จากเมืองบาเดิน (ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารในพระองค์) มายังพระราชวังฮอฟบูร์ก พระองค์ทรงโทรศัพท์หาพระจักรพรรดินีซีตาหลายครั้งเมื่อใดที่ประทับห่างไกลกัน จักรพรรดินีทรงมีอิทธิพลต่อพระราชสวามีอยู่บ้างและมีโอกาสร่วมในการเข้าเฝ้าของอัครมหาเสนาบดีหรือการประชุมทางการทหารอย่างไม่โจ่งแจ้งมากนัก และพระองค์ยังทรงมีความสนพระทัยในนโยบายด้านสังคมเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องของกิจการทหารยกให้เป็นสิทธิของสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลแต่เพียงผู้เดียว ด้วยความแข็งขันและแน่วแน่ พระองค์ได้โดยเสด็จพระราชสวามีไปยังมณฑลต่างๆ และแนวรบ รวมทั้งอุทิศพระวรกายให้กับพระราชกรณียกิจการกุศลและการเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลของผู้ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม
กรณีซิกซ์ตัส[แก้]
ในขณะนี้ สงครามโลกได้ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่สี่ และเจ้าชายซิกซ์ตัส พระเชษฐาในสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตา ซึ่งร่วมรบในกองทัพเบลเยียม เป็นผู้เสนอญัตติสำคัญเบื้องหลังแผนการให้จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีสร้างสันติภาพกับฝรั่งเศส สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลทรงเริ่มติดต่อกับเจ้าชายซิกซ์ตัสผ่านทางเส้นสายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นกลาง และสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตามีพระราชหัตถเลขาเชิญพระเชษฐามายังกรุงเวียนนา โดยมีเจ้าฟ้าหญิงมาเรีย อันโตเนีย พระมารดาเป็นผู้ส่งจดหมายให้ด้วยพระองค์เอง
เจ้าชายซิกซ์ตัสเสด็จมาพร้อมด้วยเงื่อนไขที่เห็นชอบจากประเทศฝรั่งเศสเพื่อการเจรจา เช่น การคืนเมืองอัลซาสและลอร์แรนให้กับฝรั่งเศส (ซึ่งผนวกกับประเทศเยอรมนีภายหลังจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียเมื่อปี พ.ศ. 2413) การคืนเอกราชให้กับประเทศเบลเยียม และราชอาณาจักรเซอร์เบีย และการมอบเมืองคอนสแตนติโนเปิลให้แก่ประเทศรัสเซีย สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลทรงเห็นชอบด้วยในหลักการกับประเด็นสามข้อแรกและมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าชายซิกซ์ตัสลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2460 ให้แจ้ง "ข้อความที่เป็นความลับและไม่เป็นทางการซึ่งเราจะดำเนินการทุกวิถีทางและอิทธิพลของเราเองทั้งหมด" แก่ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส ในที่สุดความพยายามในการทูตระดับพระราชวงศ์ไม่ประสบผลสำเร็จ ประเทศเยอรมนีปฏิเสธการเจรจาเรื่องดินแดนอัลซาสและลอร์แรน และลังเลที่จะยุติสงครามเมื่อเห็นว่าการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซียรออยู่ตรงหน้า เจ้าซิกซ์ตัสทรงพยายามต่อไป โดยเข้าพบกับนายลอยด์ จอร์จ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในกรุงลอนดอน เกี่ยวกับเรื่องความต้องการดินแดนออสเตรียของประเทศอิตาลีตามสนธิสัญญาลอนดอน แต่นายกรัฐมนตรีอังกฤษไม่สามารถโน้มน้าวให้นายทหารอังกฤษสร้างสันติภาพกับออสเตรียได้ สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาสามารถสร้างความสำเร็จด้วยพระองค์เองในช่วงเวลานี้ โดยหยุดยั้งแผนการของเยอรมันที่จะส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดยังพระราชฐานของสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียมในวันเฉลิมพระนามของทั้งสองพระองค์
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 หลังจากการลงนามสนธิสัญญาเบรสต์-ลิทอฟสก์ระหว่างเยอรมนีกับรัสเซีย เค้านท์ออตโตคาร์ แซร์นิน รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรียได้กล่าวปราศรัยโจมตีนายจอร์จ เคลม็องโซ นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสที่กำลังเข้ามาร่วมประชุมว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างสันติภาพระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลาง นายเคลม็องโซรู้สึกโมโหอย่างมากและได้นำจดหมายลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2460 ของสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ล ที่ค้นเจอออกมาตีพิมพ์ ในไม่ช้า พระชนม์ชีพของเจ้าชายซิกซ์ตัสดูเหมือนจะตกอยู่ในอันตรายและเกิดความกลัวกันว่าเยอรมนีอาจจะเข้ายึดครองออสเตรีย เค้านท์แซร์นินได้เร่งให้สมเด็จพระจักรพรรดิส่ง "คำมั่นสัญญา" ไปยังเหล่าพันธมิตรของออสเตรียว่า เจ้าชายซิกซ์ตัสมิได้ทรงรับพระบรมราชานุญาตให้แสดงจดหมายฉบับนั้นต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ไม่มีการกล่าวถึงประเทศเบลเยียมเลย และนายเคลม็องได้โกหกการพูดถึงเรื่องดินแดนอัลซาส เค้านท์แซร์นินได้ติดต่อกับสถานทูตเยอรมันมาโดยตลอดระยะที่เกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้ และพยายามโน้มน้าวให้สมเด็จพระจักรพรรดิสละราชสมบัติเนื่องจากเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เขาจึงได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศไป
จุดจบของจักรวรรดิ[แก้]
ในชาวงเวลานี้ สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังจะสิ้นสุดลงกับสมเด็จพระจักรพรรดิที่ทรงพร้อมรบ สหภาพคณะมนตรีเช็กได้สาบานตนในการตั้งเป็นรัฐเอกราชเชคโกสโลวัก ภายใตัจักรวรรดิฮับส์บูร์กเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2461 แต่กองทัพเยอรมันยังคงแสดงแสนยานุภาพก่อความรุนแรงในสงครามอาเมียงส์ และเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 สมเด็จพระราชาธิบดีเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งบัลแกเรีย ได้แยกตัวออกจากพันธมิตรในฝ่ายมหาอำนาจกลางและฟ้องร้องเพื่อสันติภาพด้วยตนเอง สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาประทับอยู่กับสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลเมื่อทรงได้รับโทรเลขเรื่องการล่มสลายของราชอาณาจักรบัลแกเรีย พระองค์ทรงเล่าว่า "ทำให้มีความเร่งด่วนมากขึ้นในการเจรจาเพื่อสันติภาพกับมหาอำนาจตะวันตกในขณะที่ยังมีเรื่องให้เจรจากันอยู่" ในวันที่ 16 ตุลาคมสมเด็จพระจักรพรรดิทรงออก "แถลงการณ์ประชาชน" เสนอให้มีการปรับโครงสร้างจักรวรรดิบนแนวทางตามแบบสหพันธรัฐโดยแต่ละเชื้อชาติจะมีรัฐเป็นของตนเอง แต่แต่ละประเทศพยายามแยกตัวออกไปและจักรวรรดิจึงล่มสลายโดยสิ้นเชิง
เมื่อทรงปล่อยให้พระราชโอรสธิดาอยู่ทีพระราชวังเกอเดลโล ประเทศฮังการีแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลและสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังเชินบรุนน์ ในเวลานี้รัฐมนตรีๆ ต่างได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐใหม่ "เยอรมัน-ออสเตรีย" และในวันที่ 11 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีพร้อมกับโฆษกประจำองค์สมเด็จพระจักรพรรดิได้เตรียมแถลงการณ์เพื่อให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธย เมื่อทอดพระเนตรเห็นครั้งแรก สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาเข้าพระทัยว่าเป็นแถลงการณ์เพื่อสละราชสมบัติและมีพระราชดำรัสอันเป็นที่เลื่องลือว่า "พระประมุขจะสละราชสมบัติไม่ได้ พระองค์อาจถูกปลดออกราชสมบัติได้... ไม่เป็นไร เพราะเป็นอำนาจบังคับ แต่จะให้สละราชสมบัติอย่างนั่นหรือ ไม่มีวัน ไม่มีวัน ไม่มีวันอย่างเด็ดขาด ข้าพเจ้าจะยอมตายข้างพวกท่านเสียดีกว่า แล้วก็ยังคงมีออตโตอยู๋อีก หากพวกท่านสังหารพวกเราทั้งหมด จะยังคงมีสมาชิกราชวงศ์ฮับส์บูร์กคนอื่นเหลืออยู่ดี" สมเด็จพระจักรพรรดิพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตีพิมพ์เอกสารเผยแพร่สู่สาธารณชน และพระองค์พร้อมทั้งครอบครัวและข้าราชบริพารในราชสำนักเสด็จออกจากตำหนักล่าสัตว์ในเมืองเอ็กคาร์ทเซา ซึ่งใกล้กับชายแดนประเทศฮังการีและสโลวาเกีย หลังจากนั้นได้มีการประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐเยอรมัน-ออสเตรียในวันต่อมา
การลี้ภัยนอกประเทศ[แก้]
หลังจากช่วงหลายเดือนที่ยากลำบากในเมืองเอ็กคาร์ทเซา เหล่าพระราชวงศ์ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่ไม่เคยคาดคิด เจ้าชายซิกซ์ตัสทรงเข้าพบกับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือสมาชิกราชวงศ์ฮับส์บูร์ก สมเด็จพระเจ้าจอร์จทรงรู้สึกเห็นใจกับคำขอร้องนี้ (นับเป็นเพียงไม่กี่เดือนตั้งแต่พวกปฏิวัติสังหารสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย พระญาติสนิท) และให้สัญญาว่า "ข้าพเจ้าจะทำทุกอย่างที่จำเป็นโดยทันที"
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงส่งทหารอังกฤษหลายนายไปช่วยเหลือสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลและพระราชวงศ์ นำโดยร้อยโทเอ็ดเวิร์ด ลิสเล สตรัทท์ ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2462 ได้มีคำสั่งจาก กระทรวงกลาโหมให้ "นำสมเด็จพระจักรพรรดิออกจากออสเตรียโดยด่วน" แม้มีความยุ่งยากบางประการ สตรัทท์ได้จัดรถไฟพระที่นั่งไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์และสามารถให้พระองค์เสด็จออกนอกประเทศอย่างสมพระเกียรติและไม่มีการสละราชสมบัติ สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ล สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตา พระราชโอรสธิดาและเหล่าข้าราชบริพารเสด็จออกจากประเทศออสเตรียในวันที่ 24 มีนาคม
ประเทศฮังการี และการลี้ภัยบนเกาะมาเดรา[แก้]
ที่ประทับแห่งแรกระหว่างการลี้ภัยของครอบครัวเป็นปราสาทวาร์เท็กในเมืองรอสชาช ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของราชวงศ์บูร์บอง-ปาร์มา แต่องค์กรรัฐบาลของสวิส ซึ่งกังวลเกี่ยวกับนัยแอบแฝงของราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ประทับอยู่ใกล้กับชายแดนออสเตรีย ได้บังคับให้สมาชิกทุกพระองค์ย้ายไปประทับทางด้านฝั่งตะวันตกของประเทศแทน ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา ครอบครัวสมเด็จพระจักรพรรดิจึงได้ย้ายไปประทับที่วิลลาพรันกินส์ ใกล้กับทะเลสาบเจนีวา โดยดำรงพระชนม์ชีพอย่างเงียบสงบ ชีวิตอันสงบมีอันต้องสิ้นสุดลงโดยทันทีในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2463 เมื่อนายมิคลอส ฮอร์ธี ได้รับเลือกให้เป็นผู้สำเร็จราชการ หลังจากช่วงเวลาแห่งความไร้เสถียรภาพในประเทศฮังการี สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลยังคงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฮังการีโดยทางปฏิบัติ (สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 4) แต่ฮอร์ธีได้ส่งผู้แทนมาเข้าเฝ้าพระองค์ที่วิลลาพรันกินส์ เพื่อกราบทูลไม่ให้เสด็จไปยังฮังการีจนกว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะสงบลงแล้ว หลังจากสนธิสัญญาทรีอานง ความทะเยอทะยานของฮอร์ธีก็เพิ่มมากขึ้น สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลทรงเป็นกังวลและขอความช่วยเหลือจากร้อยโทสตรัทท์ให้พาพระองค์เสด็จไปยังฮังการี พระองค์ทรงพยายามเข้าควบคุมสถานการณ์อยู่สองครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2464 และอีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2465 แต่ล้มเหลวหมดทุกครั้ง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตา (พระองค์ได้โดยเสด็จสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลด้วยรถไฟพระที่นั่งเป็นครั้งสุดท้ายไปยังกรุงบูดาเปสต์ด้วย)
สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลและสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาประทับอยู่ที่ปราสาทตาต้า ซึ่งเป็นที่พำนักของเค้านท์เอสเตอร์ฮาซี จนกว่าจะสามารถหาที่ลี้ภัยถาวรที่เหมาะสมได้ มีการแนะนำให้ประทับลี้ภัยที่เกาะมอลตาแต่ได้รับการปฏิเสธจากลอร์ด เคอร์ซัน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ และดินแดนฝรั่งเศสก็ได้ถูกห้ามเนื่องจากความเป็นไปได้ในการสมคบคิดวางแผนร้ายของพระเชษฐาและพระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาในนามสมเด็จพระจักรพรรดิ ในที่สุดสถานที่ลี้ภัยถาวรจึงเป็นเกาะมาเดราของโปรตุเกส ในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2464 ทั้งสองพระองค์เสด็จโดยรถไฟพระที่นั่งจากเมืองทิฮานีไปที่เมืองบอยอ ซึ่งมีเรือตรวจการณ์ HMS Glow-worm รอรับเสด็จอยู่ และได้เสด็จมาถึงเมืองฟุงฌาล ประเทศโปรตุเกส ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ส่วนพระราชโอรสธิดายังคงประทับที่ปราสาทวาร์เท็กในประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับอาร์ชดัชเชสมาเรีย เธเรซา พระอัยยิกาในสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ล แต่สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาได้เสด็จไปพบกับพระโอรสธิดาทุกพระองค์ในเมืองซูริค เมื่ออาร์ชดยุกโรเบิร์ต พระโอรสทรงเข้ารับการผ่าตัดโรคไส้ติ่งอักเสบ พระโอรสธิดาทุกพระองค์เสด็จไปประทับร่วมกับพระราชชนกและพระราชชนนีที่เกาะมาเดราในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465
การสวรรคตของพระราชสวามี[แก้]
สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลมีพระพลานามัยไม่ดีมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากเสด็จไปซื้อของเล่นให้กับอาร์ชดยุกคาร์ล ลุดวิก พระโอรสในวันที่อากาศเย็นจัดในเมืองฟุงฌาล พระองค์ประชวรด้วยโรคหลอดพระวาโยอักเสบ และลุกลามกลายเป็นโรคพระปัปผาสะบวมอย่างรวดเร็ว ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ได้ พระโอรสธิดาและข้าราชบริพารหลายคนล้มป่วยด้วยเช่นกัน และสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตา (ซึ่งในขณะนั้นมีพระครรภ์แปดเดือน) ทรงรักษาพยาบาลทุกพระองค์ สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระอาการแย่ลงเป็นลำดับและเสด็จสวรรคคเมื่อวันที่ 1 เมษายน โดยมีพระราชดำรัสสุดท้ายกับสมเด็จพระจักรพรรดินีว่า "เรารักเจ้ามากเหลือเกิน" หลังจากงานพระศพเสร็จสิ้น ผู้ร่วมงานคนหนึ่งได้กล่าวถึงสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาว่า "สตรีผู้นี้ควรเป็นที่ชื่นชมจริงๆ พระองค์ไม่สูญเสียความสุขุมเยือกเย็นแม้แต่สักวินาทีเดียวเลย พระองค์ทรงทักทายผู้คนรอบด้านและพูดคุยกับคนทีมาช่วยเหลืองานพระศพด้วย ทุกคนประทับใจเสน่ห์ของพระองค์กันทุกคน" สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาทรงฉลองพระองค์สีดำไว้ทุกข์ให้กับพระราชสวามีตลอดระยะ 67 ปีของการเป็นม่าย
เมื่อทรงเป็นม่าย[แก้]
หลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ล อดีตราชวงศ์ออสเตรียจะต้องย้ายอีกครั้งในไม่ช้า สมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟองโซที่ 13 แห่งสเปนได้พยายามติดต่อกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษผ่านทางเอกอัครราชทูตสเปนในกรุงลอนดอน ซึ่งอนุญาตให้จักรพรรดินีซีตาและพระโอรสธิดาเจ็ดพระองค์ (จะเป็นแปดในอีกไม่นาน) ประทับในประเทศสเปนได้ สมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟองโซทรงส่งเรือบรบหลวง Infanta Isabel ไปยังเมืองฟุงเฌาเพื่อรับทุกพระองค์มายังเมืองคาดิซ เมื่อมาถึงแล้วได้เสด็จไปยังพระราชวังปาร์โดในกรุงมาดริด ซึ่งอีกต่อมาไม่นานสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์สุดท้ายคือ อาร์ชดัชเชสเอลิซาเบธ สมเด็จพระราชาธิบดีอัลฟองโซที่ 13 พระราชทานพระราชวังอูรีบารเร็นในเมืองเลกิติโอบนอ่าวบิสเคย์ให้เป็นที่ลี้ภัยแก่พระญาติในราชวงศ์ฮับส์บูร์ก สรังความซาบซึ้งแก่สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาซึ่งไม่ประสงค์จะเป็นภาระอันหนักอึ้งแก่ประเทศที่ให้ที่หลบภัยแก่พระองค์ สมเด็จพระจักรพรรดินีประทับอยู่ในเมืองเลกิติโออีกเป็นระยะเวลาหกปี และได้เริ่มต้นการเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่พระโอรสธิดาอย่างเต็มที่ ทุกพระองค์ดำรงพระชนม์ชีพด้วยการเงินที่จำกัด โดยมีรายได้หลักจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ในออสเตรีย ไร้องุ่นในเมืองโยฮันนิสแบร์ก และเงินที่เรี่ยไรได้ด้วยความสมัครใจ แต่ส่วนสมาชิกในราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ลี้ภัยพระองค์อื่นๆ อ้างสิทธิในเงินจำนวนมาก และมีการยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือจากอดีตข้าราชการในราชสำนักด้วย
การย้ายไปเบลเยียม[แก้]
ในปี พ.ศ. 2472 พระโอรสธิดาหลายพระองค์เจริญพระชนมายุใกล้จะเข้ามหาวิทยาลัยและครอบครัวได้พยายามจะย้ายไปประทับที่อื่นซึงมีบรรยากาศทางการศึกษาที่น่าอภิรมย์มากกว่าสเปน ในเดือนกันยายนปีนั้น ทุกพระองค์ทรงย้ายไปประทับที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองสตีน็อคเคอร์ซีล ใกล้กับกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสมาชิกหลายพระองค์ในราชวงศ์ สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตายังคงดำเนินการล็อบบี้ทางการเมืองในนามราชวงศ์ฮับส์บูร์ก แม้แต่หยั่งเชิงสายสัมพันธ์กับมุสโสลินีในประเทศอิตาลี นอกจากนี้ยังมีหนทางในการฟื้นฟูราชวงศ์ฮับส์บูร์กภายใต้นายกรัฐมนตรีออสเตรียสองคนคือ เอ็งเกลแบร์ต ดอลฟุส และเคิร์ท ชุสชนิก และด้วยการเสด็จเยือนออสเตรียหลายครั้งของมกุฎราชกุมารออตโตอีกด้วย การเริ่มต้นทั้งหมดมีอันต้องสิ้นสุดลงทันทีด้วยการผนวกออสเตรียเป็นส่วนหนึ่งของนาซีเยอรมนีในปี พ.ศ. 2481 ในฐานะผู้ลี้ภัย ราชวงศ์ฮับส์บูร์กเป็นผู้นำการต่อต้านทหารนาซีในออสเตรีย แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างผู้นิยมระบอบกษัตริย์และระบอบสังคมนิยม
การเสด็จหนีไปอเมริกา[แก้]
หลังจากนาซีเยอรมนีบุกเข้ายึดประเทศเบลเยียมในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาและครอบครัวทรงกลายเป็นผู้ลี้ภัยสงคราม ทุกพระองค์ทรงรอดจากการถูกสังหารอย่างฉิวเฉียดจากการโดนระเบิดที่ปราสาทอย่างจังโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันและเสด็จหนีไปยังปราสาทที่ประทับของเจ้าชายซาเวียร์ในเมืองบอสซ์ เมือรัฐบาลที่คบคิดกับฝ่ายศัตรูของนายฟิลิปป์ เปแตงขึ้นมามีอำนาจ สมาชิกราชวงศ์ฮับส์บูร์กต้องเสด็จไปยังชายแดนเมื่อวันที 18 พฤษภาคม จากนั้นเสด็จต่อไปยังโปรตุเกสซึ่งรัฐบาลสหรัฐได้ออกหนังสือตรวจลงตราให้ออกนอกประเทศในวันที่ 9 กรกฎาคม หลังจากการเดินทางที่เสี่ยงภัย ทุกพระองค์เสด็จถึงนครนิวยอร์กในวันที่ 27 กรกฎาคม และประทับอยู่ในลองไอส์แลนด์ และเมืองนูอาร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ ในช่วงหนึ่งสมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาและพระโอรสธิดาหลายพระองค์ประทับในฐานะอาคันตุกะระยะยาวที่เมืองซัฟเฟิร์น รัฐนิวยอร์ก
สิ้นพระชนม์[แก้]
หลังจากการฉลองวันประสูติครบรอบ 90 พรรษา พระองค์ทรงเป็นที่รักของพระราชวงศ์ทั่วไป แต่สุขภาพที่แข็งแรงของพระองค์เริ่มไม่สู้ดีแล้ว ซึ่งขณะนั้น พระราชวงศ์จัดงานฉลองวันประสูติครบรอบ 95 พรรษาที่เมืองซีเซอร์ ประเทศออสเตรีย คณะแพทย์ได้แจ้งว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีทรงเริ่มเป็นโรคปอดบวม โดยเป็นเชื้อโรคสะสมในร่างกายของพระองค์ตั้งแต่ลี้ภัยอยู่ในเกาะมาไดร่าแล้ว ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ พระราชวงศ์ทั้งหมดได้เสด็จเข้ามาเฝ้าพระอาการเรื่อยมา จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาทรงสิ้นพระชนม์ ณ วันที่14 มีนาคมพ.ศ. 2532 สิริอายุได้ 97 พรรษา ถือว่าเป็นพระราชวงศ์ที่พระชนม์ชีพยืนยาวที่สุด...
งานพระศพถูกจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติในกรุงเวียนนา ในวันที่1 เมษายน โดยรัฐบาลได้เข้ามาช่วยในการจัดพระราชพิธีศพด้วย โดยมีพระราชวงศ์อิมพีเรียลออสเตรีย-ฮังการี และ พระราชวงศ์บูร์บอง-ปาร์มา เข้ามาร่วมในพระราชพิธีพระศพด้วย พระราชพิธีได้รับความสนใจเป็นอย่างมากของสื่อ โดยเฉพาะการเมือง เพราะอาจเป็นแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศก็เป็นได้ พระศพถูกฝังที่วิหารฮับส์บูร์ก อิมพีเรียล คริปต์ในกรุงเวียนนา ซึ่งเป็นสถานที่ฝังพระศพพระราชวงศ์ฮับส์บูร์กมาช้านาน
พระราชโอรสและธิดา[แก้]
สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 1 แห่งออสเตรีย และเจ้าหญิงซีตาแห่งบูร์บอง-ปาร์มา มีพระราชโอรสและธิดารวมทั้งสิ้น 8 พระองค์ ดังนี้
-
อาร์ชดยุกออตโต มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย (ฟรันซ์ โยเซฟ ออตโต โรเบิร์ต มาเรีย แอนตัน คาร์ล แม็กซ์ ไฮนริช ซิกส์ตัส ซาเวอร์ เฟลิกซ์ เรนาตัส ลุดวิก แกตัน ไพอัส อิกเนเชียส;20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)
- ดำรงพระอิสริยยศ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459
- ดำรงตำแหน่ง ประมุขแห่งราชวงศ์ออสเตรีย-ฮังการี (Head of the Imperial and Royal Family of Austria-Hungary) เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2465
- ทรงอภิเษกสมรสวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ณ เมืองน็องซี ประเทศฝรั่งเศส กับ เจ้าหญิงเรจิน่า เฮเลนา เอลิซาเบธ มาร์กาเรเทแห่งแซ็กซ์-ไมนิงเกิน (6 มกราคม พ.ศ. 2468 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553) มีพระโอรสธิดา 7 พระองค์
- อาร์ชดัชเชสอเดลไฮด์แห่งออสเตรีย (อเดลไฮด์ มาเรีย โยเซฟา ซิกซ์ตา อันโตเนีย โรเบอร์ตา ออตโตเนีย ซีตา ชาร์ล็อต หลุยซา อิมมาคูลาต้า ปีอา เธเรเซีย เบียทริกซ์ ฟรันซิสกา อิซาเบลลา เฮนเรียตตา แม็กซิมิเลียนา เจโนวีนา อิกนาเซีย มาร์คุส ดาเวียโน; 3 มกราคม พ.ศ. 2457 - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2514) ไม่ได้อภิเษกสมรส
-
อาร์ชดยุกโรเบิร์ตแห่งออสเตรีย (โรเบิร์ต คาร์ล ลุดวิก แม็กซิมิเลียน ไมเคิล มาเรีย แอนตัน ฟรันซ์ เฟอร์ดินานด์ โยเซฟ ออตโต ฮิวเบิร์ต จอร์จ ไพอัส โยฮันเนส มาร์คุส ดาเวียโน; 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539)
- ทรงได้รับการสถาปนาเป็น อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย-เอสเต เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2460
- ทรงอภิเษกสมรสวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2496 ณ เมืองบูร์ก-อ็อง-แบรส ประเทศฝรั่งเศส กับ เจ้าฟ้าหญิงมาร์เกริต้า อิซาเบลลา มาเรีย วิตตอเรีย เอ็มมานูเอลลา เอเลนา เจนนาราแห่งซาวอย (ประสูติ 7 เมษายน พ.ศ. 2473) มีพระโอรสธิดา 5 พระองค์
-
อาร์ชดยุกเฟลิกซ์แห่งออสเตรีย (เฟลิกซ์ ฟรีดริช ออกุสต์ มาเรีย ฟอน ซีเก ฟรันซ์ โยเซฟ ปีเตอร์ คาร์ล แอนตัน โรเบิร์ต ออตโต ไพอัส ไมเคิล เบเนดิคต์ เซบาสเตียน อิกเนเชียส มาร์คุส ดาเวียโน; 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 - 6 กันยายน พ.ศ. 2554)
- ทรงอภิเษกสมรสวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ณ เมืองโบลิเยอ ประเทศฝรั่งเศส กับ เจ้าหญิงแอนนา-ยูเชนี พอลีน กาเบรียลลา โรเบอร์ตีน มารี เดอ แมร์เซเดส เมลชัวร์แห่งอาเรนแบร์ก (5 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 - 9 มิถุนายนพ.ศ. 2540) มีพระโอรสธิดา 7 พระองค์
- อาร์ชดยุกคาร์ล ลุดวิกแห่งออสเตรีย (คาร์ล ลุดวิก มาเรีย ฟรันซ์ โยเซฟ ไมเคิล กาเบรียล อันโตเนียส โรเบิร์ต สเตฟาน ไพอัส เกรเกอร์ อิกเนเชียส มาร์คุส ดาเวียโน; 10 มีนาคม พ.ศ. 2461 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2550)
-
อาร์ชดยุกรูดอล์ฟแห่งออสเตรีย (รูดอล์ฟ ซีรินกัส ปีเตอร์ คาร์ล ฟรันซ์ โยเซฟ โรเบิร์ต ออตโต อันโตเนียส มาเรีย ไพอัส เบเนดิคต์ อิกนาเชียส ลอเรนเชียส จุสติเนียนี มาร์คุส ดาเวียโน; 5 กันยายน พ.ศ. 2462 - 15 พฤษภาคมพ.ศ. 2553)
- ทรงอภิเษกสมรสครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2496 ณ เมืองทักซิโดพาร์ค รัฐนิวยอร์ก กับ เคานท์เตสซีเนีย เชอร์นิสเชว่า-เบโซบราโซวา (11 มิถุนายน พ.ศ. 2472 - 20 กันยายน พ.ศ. 2511) พระโอรสธิดา 4 พระองค์
- ทรงอภิเษกสมรสครั้งที่สองเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2514 ณ เมืองเอลลิงเกิน ประเทศเยอรมนี กับ เจ้าหญิงแอนนา กาเบรียลลา มาเรีย เธเรเซีย กาสปาราแห่งเรเดอ (ประสูติ 11 กันยายน พ.ศ. 2483) มีพระธิดา 1 พระองค์
- อาร์ชดัชเชสชาร์ล็อตแห่งออสเตรีย (ชาร์ล็อต เฮ็ดวิก ฟรันซิสกา โยเซฟา มาเรีย อันโตเนีย โรเบอร์ตา ออตโตเนีย ปีอา แอนนา อิกนาเชีย มาร์คุส ดาเวียโน; 1 มีนาคม พ.ศ. 2464 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2532)
- อาร์ชดัชเชสเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย (เอลิซาเบธ ชาร์ล็อต อัลฟองซา คริสตินา เธเรเซีย อันโตเนีย โยเซฟา โรเบอร์ตา ออตโตเนีย ฟรันซิสกา อิซาเบลลา ปีอา มาร์คุส ดาเวียโน; 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 - 7 มกราคม พ.ศ. 2536)
พระราชอิสริยยศ[แก้]
- 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2454: เจ้าฟ้าหญิงซีตาแห่งบูร์บอง-ปาร์มา (Her Royal Highness Princess Zita of Bourbon-Parma)
- 21 ตุลาคม พ.ศ. 2454 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459: อาร์ชดัชเชสซีตาแห่งออสเตรีย (Her Imperial and Royal Highness Archduchess Zita of Austria)
- 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2532: สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการี (Her Imperial and Royal Apostolic Majesty The Empress of Austria, Apostolic Queen of Hungary)
ราชตระกูล[แก้]
สมเด็จพระจักรพรรดินีซีตาแห่งออสเตรีย (สมเด็จพระราชินีซีตาแห่งฮังการี) |
พระชนก: ดยุกโรเบิร์ตที่ 1 แห่งปาร์มา |
พระอัยกาฝ่ายพระชนก: ดยุกชาร์ลส์ที่ 3 แห่งปาร์มา |
พระปัยกาฝ่ายพระชนก: ดยุกชาร์ลส์ที่ 2 แห่งปาร์มา |
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก: เจ้าหญิงมาเรีย เทเรซ่าแห่งซาวอย |
|||
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก: เจ้าหญิงหลุยส์ มารี เทเรสแห่งฝรั่งเศส |
พระปัยกาฝ่ายพระชนก: เจ้าชายชาร์ลส์ เฟอร์ดินานด์แห่งฝรั่งเศส, ดยุกแห่งเบอร์รี่ |
||
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก: เจ้าหญิงแคโรไลน์ เฟอร์ดินานด์ หลุยส์แห่งทู ซิชิลี่ส์ |
|||
พระชนนี: เจ้าหญิงมาเรีย แอนโตเนียแห่งโปรตุเกส |
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี: สมเด็จพระราชาธิบดีมิเกลที่ 1 แห่งโปรตุเกส |
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี: สมเด็จพระราชาธิบดีจอห์นที่ 6 แห่งโปรตุเกส |
|
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี: เจ้าหญิงชาร์ลอตแห่งสเปน |
|||
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี: เจ้าหญิงอาเดลเลดแห่งโลเวนสไตน์-เวอร์เธ็ม-โรเซนเบิร์ก |
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี: เจ้าฟ้าชายคอนสแตนติน มกุฎราชกุมารแห่งโลเวนสไตน์-เวอร์เธ็ม-โรเซนเบิร์ก |
||
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี: เจ้าหญิงมารี แอ็กเนส เฮ็นเรียตแห่งโฮเฮ็นโลห์ว-แลนเจนเบิร์ก |
ความคิดเห็น