ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประวัติบุคคลสำคัญ

    ลำดับตอนที่ #2 : มาสโลว์ เจ้่าแห่งทฤษฎีความต้องการ

    • อัปเดตล่าสุด 1 เม.ย. 55


     

    มาสโลว์ (Dr. Abraham H. Maslow) ได้อธิบาย เรื่องความต้องการของมนุษย์ว่า เป็นลำดับทั้งหมด 5 ขั้น (Five general system of needs) โดยเขียนเป็นรูปพีระมิด แห่งความต้องการไว้ แสดงความต้องการ ขั้นมูลฐานของมนุษย์ (Basic needs) เป็นทฤษฎีการจูงใจ ซึ่งเป็นคนแรก ที่ได้เขียนขึ้น เรียกว่า "Maslow's General theory of human mativation" กำหนดหลักการว่า บุคคลพยายามสนองความต้องการของตน เพื่อความอยู่รอด และความสำเร็จของชีวิต อะไรคือสิ่งที่จุดประกาย ให้มาสโลว์คิดเช่นนี้ ?


    มาสโลว์ เป็นนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม มีชื่อจริงว่า อับราฮัม แฮโรล์ด มาสโลว์ (Abraham Harold Maslow) เกิดเมื่อ วันที่ 1เมษายน พ.ศ.2451 ที่เมืองบรูคลินรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดามารดาเป็นชาวรัสเซีย ที่อพยพเข้ามาอยู่ในอเมริกา แม้จะเป็นพวกเร่ร่อนที่ยากจน แต่บิดาและมารดา ก็หวังว่าจะมอบสิ่งที่ดีที่สุด ให้กับลูกของเขาในดินแดนใหม่ พวกเขามีส่วนผลักดัน ให้ลูกสนใจในเรื่องวิชาการ เพราะเล็งเห็นว่าการเรียนเท่านั้น ที่จะเป็นทางนำพวกเขาไปสู่ความสำเร็จ แต่ว่ามันกลับทำให้ ชีวิตในวัยเด็กของมาสโลว์ ค่อนข้างจะโดดเดี่ยว และมีเพียงหนังสือเท่านั้นที่เป็นเพื่อนในยามยาก

    ตามความประสงค์ของบิดาและมารดา เขาต้องเข้าไปเรียนที่ the City College of New York (CCNY) ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับเรื่องกฏหมาย แต่เรียนได้เพียง 3 เทอม เขาย้ายไปเรียนที่ Cornell แต่ก็ต้องกลับมาที่ CCNY อีกครั้ง จากนั้นเขาได้แต่งงานอยู่กินกับ เบอร์ทา กู้ดแมน (Bertha Goodman) ซึ่งเป็นญาติห่างๆ ของเขาเอง ซึ่งก็ไม่ค่อยจะเป็นที่ถูกอกถูกใจ ผู้เป็นพ่อและแม่เท่าไรนัก ทว่าเบอร์ทาก็ได้ให้กำเนิดลูกสาวถึงสองคน

    มาสโลว์และภรรยาได้ย้ายไปอยู่ที่ Wisconsin ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เขาสนใจ จะเข้าศึกษาต่อใน The University of Wisconsin วิชาที่เขาสนใจ คือ จิตวิทยา เขาสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปี 2473 , ปริญญาโทในปี 2474 และปริญญาเอกในปี 2477 เป็นที่น่าสังเกตว่า ปริญญาทุกใบล้วน ได้มาจากสาขาจิตวิทยา อีกทั้งยังเป็นที่ Wisconsin 1 ปี หลังจากที่สำเร็จการศึกษา เขาจึงเดินทางกลับนิวยอร์ค เพื่อไปทำงานกับ E. L.Thorndike ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่นี่เอง ที่เขาเริ่มจะให้ความสนใจศึกษา เกี่ยวกับเรื่องเพศของมนุษย์ ที่วิทยาลัย บรูคลิน เขาได้เริ่มอาชีพอย่างเต็มตัว โดยเป็นอาจารย์ในแผนกวิชาจิตวิทยา ชีวิตของเขาในช่วงนี้ จึงต้องติดต่อกับปราชญ์ชาวยุโรป ที่อพยพมาอยู่ที่อเมริกาและบรูคลินอยู่บ่อย ๆ


    ในปี 2494 มาสโลว์ ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยา ที Brandeis เป็นเวลา10 ปี ที่นี่เองที่เขาได้รู้จักกับเคริ์ท โกล์ดสไตน์ (Kurt Goldstein) ผู้ที่ทำให้เขาเริ่มสนใจเรื่องจิตวิทยา เกี่ยวกับการให้ความสำคัญ มากกว่าทฤษฎีที่จะสร้างขึ้นเอง เขาใช้เวลาปีสุดท้าย ในช่วงปลดเกษียณ ที่แคลิฟอเนีย กระทั่งวันที่ 8 มิถุนายน 2513 เขาก็สิ้นใจด้วยโรคหัวใจวาย ด้วยวัยเพียง 62 ปีเท่านั้น หลังจากที่ต้องทนทรมานมานานหลายปี

    ทฤษฏีที่ทำให้มาสโลว์โด่งดังมาก คือ ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ เป็นลำดับทั้งหมด 5 ขั้น (Five general system of needs) โดยเขียนเป็นรูปพีระมิดแห่งความต้องการ แสดงความต้องการขั้นมูลฐานของมนุษย์ (Basic needs) เป็นทฤษฎีการจูงใจ ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้เขียนขึ้น เรียกว่า "Maslow's General theory of human mativation มาสโลว์กำหนดหลักการว่า บุคคลพยายามสนองความต้องการของตน เพื่อความอยูรอด และความสำเร็จของชีวิต

    ทฤษฎีความต้องการ

    โลกเราปรากฏขึ้นมาในจักรวาล ได้หลายล้านปีแล้ว ทั้งยังเป็นจุดกำเนิดวิวัฒนาการ ของสิ่งมีชีวิตหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นพืชสัตว์หรือ มนุษย์เอง แรกเริ่มเดิมทีเชื่อกันว่า มนุษย์เราในยุคต้นๆ ก็ไม่ได้มีลักษณะท่าทาง เหมือนดังเช่นทุกวันนี้ทันที ตามหลักฐานแล้วชี้ว่า มีพัฒนาการมาจากวานรหรือลิงนั่นเอง กระทั่งสัตว์หลายๆ ชนิด เช่น จระเข้ก็ว่ากันว่า เมื่อก่อนน่าจะเป็นไดโนเสาร์ พันธุ์หนึ่ง และยีราฟบรรพบุรุษของมัน ก็ใช่ว่าจะคอยาวเหมือนตอนนี้ซะทีเดียว ... แล้วอะไรที่เป็นปัจจัย ทำให้มนุษย์เราและสัตว์พวกนั้น มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม หากมองดูผิวเผินแล้ว แทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อดีตของสิ่งมีชีวิต คือ อะไร?

    คำตอบที่ได้ คือ เพราะมนุษย์ สัตว์ และพืช ต่างก็มุ่งหวังที่จะอยู่รอด เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของตน เราจึงต้องพัฒนาตัวเอง ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว มาสโลว์กล่าวว่า สิ่งที่อยู่เหนือความอยู่รอด หรืออะไรทั้งหมดก็คือ ความต้องการ โดยเฉพาะมนุษย์แล้วเป็นสิ่งมีชีวิต ที่มีความต้องการในหลายระดับมาก
    ครั้งหนึ่ง ขณะที่เขาได้ทำการสำรวจลิง Rhesus ปรากฏว่าหนึ่งในหลายๆ สิ่งทีน่าสนใจ ซึ่งมาสโลว์สังเกต ระหว่างการสำรวจ คือ ความต้องการบางประการ ที่โดดเด่นเหนือความต้องการอื่น ๆ เช่น ถ้าคุณหิวหรือกระหายน้ำ คุณก็จะพยายาม ดับกระหายเป็นขั้นแรก หลังจากนั้นคุณก็อาจจะอยู่ได้ โดยไม่ต้องกินอาหารได้เป็นอาทิตย์ ๆ แต่จะขาดน้ำได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น น้ำจึงเป็นความต้องการที่จำเป็น เหนือความหิว และในทำนองเดียวกัน ถ้าหากว่าคุณกระหาย แต่ว่ามีใครคนหนึ่ง มาทำให้คุณสำลักจนหายใจไม่ออก อากาศจะเป็นสิ่งที่คุณเรียกร้องมากที่สุดในตอนนี้

     

    มาสโลว์ใช้ความคิดนี้ สร้างทฤษฎีขึ้นมา ซึ่งได้กลายเป็นทฤษฎีที่มีชื่อ ในเวลาต่อมาเรียกทฤษฏีนี้ว่า ทฤษฏีความต้องการตามลำดับขั้น เป็นความต้องการที่อยู่เหนืออากาศ น้ำ อาหาร และเพศ เขาได้อธิบายความคิด เป็นความต้องการ 5 ประการ คือ

    1.ความต้องการพื้นฐานทางสรีระ (Basic physiological needs or Biological Needs, Physical Needs) ความต้องการทางด้านร่างกาย (Physiological Needs) ความต้องการในขั้นนี้ เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) ที่มีอำนาจมากที่สุด และเห็นได้ชัดที่สุด กว่าความต้องการทั้งหมด เป็นความต้องการที่จำเป็น ต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ ความต้องการด้านปัจจัย 4 บำบัดความหิวกระหาย การพักผ่อนนอนหลับ ความต้องการทางเพศ ตลอดจนความต้องการ ที่จะถูกกระตุ้นอวัยวะรับสัมผัส แรงขับของร่างกายเหล่านี้ จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดของร่างกาย และอินทรีย์หากความต้องการในขั้นนี้ ได้รับการตอบสนองแล้ว จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการ ในขั้นที่สูงกว่า แต่ถ้าบุคคลประสบความล้มเหลว ในการสนองความต้องการขั้นพื้นฐานนี้แล้ว ก็จะไม่ได้รับการกระตุ้น ให้เกิดความต้องการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

    2. ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs and security) ความต้องการในขั้นนี้ สังเกตได้ง่ายในทารกและเด็กเล็ก เพราะวัยนี้เป็นวัยที่ต้องการการช่วยเหลือ และต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในวัยผู้ใหญ่ ความต้องการขั้นนี้ จะยังมีอิทธิพลต่อบุคคล โดยเฉพาะคนที่ทำงานในฐานะเป็นผู้คุ้มครอง หรืองานที่เกี่ยวกับความปลอดภัย ความต้องการความปลอดภัย จะเกี่ยวข้องกับการเผชิญสิ่งต่างๆ เช่น สงคราม อาชญากรรม ภัยธรรมชาติ ความสับสน ไม่เป็นระเบียบของสังคม เป็นต้น ในขั้นนี้ศาสนาและปรัชญาที่มนุษย์ยึดถือ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง เพราะทำให้บุคคลได้จัดระบบของตัวเอง ให้มีเหตุผลและวิถีทางที่ ทำให้ตนเองรู้สึกปลอดภัย

    3.ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Love and Belonging Needs or Social Needs) ความต้องการขั้นนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อความต้องการด้านร่างกาย และความปลอดภัย ได้รับการตอบสนองแล้ว มนุษย์ต้องการความรัก และความเป็นเจ้าของ โดยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น ความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว หรือกลุ่มสังคม และจะรู้สึกเจ็บปวดมาก เมื่อถูกทอดทิ้ง หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือแม้แต่กรณีที่จำนวนเพื่อน หรือสมาชิกในบ้านลดน้อยลงไป ผู้ที่ไปอยู่ในสังคมใหม่ จะเกิดความต้องการเป็นเจ้าของ และจะแสวงหาการยอมรับจากสังคมใหม่อย่างยิ่ง การขาดสิ่งนี้ทำให้มนุษย์เกิดความคับข้องใจ และเกิดปัญหาปรับตัวไม่ได้ ส่งผลเป็นความผิดปกติในพฤติกรรม หรือความเจ็บป่วยทางจิตใจ

    4. ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง (Esteem Needs, Self-Esteem Needs) คือ เมื่อบุคคลได้รับการตอบสนองด้านความรัก และความเป็นเจ้าของแล้ว จะส่งผลให้เกิดความต้องการในขั้นนี้เกิดขึ้น ความต้องการในขั้นนี้แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ
    1) ความต้องการนับถือตนเอง (Self-respect) คือ ความต้องการมีอำนาจ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความสามารถและความสำเร็จ ไม่ต้องพี่งพาอาศัยผู้อื่นและมีความอิสระ
    2) ความต้องการได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น (esteem from others) คือ ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง ได้รับความสนใจการยอมรับ และยกย่อง มีสถานภาพทางสังคมและเป็นที่ชื่นชมยินดี ทำให้ตนเองรู้สึกมีคุณค่า

    5. ความต้องการความสมหวังในชีวิต (Self-Actualization Needs, Self-realization , Self-fulfillment Needs) หมายถึง ความปรารถนาในสิ่งท้าทายทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งบุคคลจะได้รับโดยใช้ความสามารถ และศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ และอย่างเหมาะสม หากความต้องการในขั้นต้น ได้รับการตอบสนองมาโดยลำดับ ทำให้เกิดความพึงพอใจอย่างบริบูรณ์ ความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงในระดับนี้ก็จะเกิดขึ้น บุคคลที่ประสบความสำเร็จ ในขั้นสูงสุดนี้จะใช้พลังอย่างเต็มที่ ในสิ่งที่ท้าทายความสามารถ และศักยภาพของตน มีความกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงตนเองเสมอ พลังแรงขับของเขาจะผลักดันให้เขาแสดงพฤติกรรม ที่ตรงกับความสามารถของตนออกมา

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×