ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประวัติบุคคลสำคัญ

    ลำดับตอนที่ #1 : ยามาดะ นางามาสะ ญี่ปุ่นในราชสำนักไทย

    • อัปเดตล่าสุด 1 เม.ย. 55


     
      

    จังหวัด พระนครศรีอยุธยา (Phra Nakhon Sri Ayutthaya) (เรียกสั้นๆ ว่า “อยุธยา”) ในอดีต รู้จักกันในนาม “กรุงศรีอยุธยา ” (Ayudhya) หรือ “กรุงศรีอโยธยา” (Ayodya) เป็นเมืองหลวงเดิม ของราชอาณาจักรไทย (สยาม) ก่อนเสียเอกราชแก่พม่าเมื่อ 250 ปีที่แล้ว จากร่องรอยอดีต บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรือง ของพระนครแห่งนี้ ด้วยมีแม่น้ำสายหลัก ที่ไหลออกสู่ทะเลที่อ่าวไทย อย่างแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน พื้นที่แห่งนี้จึงเคยเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขาย ระหว่างตะวันออกและตะวันตก ให้กับพ่อค้านานาประเทศ ทำการค้ากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทำให้มีผู้คนที่ต่างกันทั้งเชื้อชาติ ศาสนา แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย มีการตั้งสถานีการค้า ซึ่งต่อมาขยายเติบโต กลายเป็นเป็นชุมชนเมืองปกครองชน ในอาณัติของตนเอง โดยการทำสนธิสัญญา หรือข้อตกลงกับราชสำนักไทย

     
     

    ประเทศ ญี่ปุ่นนับเป็นอีกหนึ่งประเทศคู่ค้า ที่ไม่เคยห่างหายไปจากประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยอยุธยา ซึ่งตรงกับสมัยเคโช (Kesho Era) ถึงสมัยคังเอ (Kan’ ei Era) ทั้งสองฝ่ายค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากัน ด้วยดีตลอดมา โดยไทยต้องการผ้าไหม ผ้าทอ เงินและทองแดง ส่วนญี่ปุ่นต้องการหนังกวาง และหนังสัตว์ ของป่า ไม้ฝาง (sappan wood) เครื่องปั้นดินเผา และข้าวสำหรับทำเหล้าอาวาโมริ เป็นต้น

    ขณะเดียวกัน สินค้าจากตะวันตก ที่เป็นที่ต้องการ เช่น เครื่องกระสุนดินดำ ก็จะถูกส่งมายังอยุธยา ก่อน ที่จะส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น มีหลักฐานบันทึกว่า ในสมัยของโชกุนโตกุกาวะ (Tokugawa period) ระหว่างปี 1604 - 1635 โชกุนได้ออกใบอนุญาต ให้เรือญี่ปุ่นจำนวน 56 ลำ เดินทางมาค้าขาย ที่กรุงศรีอยุธยา และราชสำนักไทยได้อนุญาต ให้เรือญี่ปุ่น เข้ามาทำการค้าขายในพระนคร 56 ลำ เรียกว่า เรือประทับตราแดง (The Red Seal Ships) ด้วยเอกสารที่ออกให้แก่เรือของญี่ปุ่น ที่เข้ามาค้าขายในสยาม เรียกว่า “ใบเบิกร่องประทับตราแดง”

     

    ตั้งแต่ ปี 1580 เป็นต้นมา ชาวญี่ปุ่นเข้ามาอาศัย อยู่ในกรุงศรีอยุธยามากกว่า 1,500 คน (บางหลักฐานระบุว่ามีถึง 7,000 คน) สร้างบ้านเรือน อยู่ริมฝั่งด้านตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระนคร บริเวณเดียวกันกับบ้านฮอลันดา เรียกว่า บ้านญี่ปุ่น (Ban Yipun - Nihonmachi - Japanese Quarters) มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับสองของอุษาคเนย์ (Nihonmachi ที่ใหญ่อันดับหนึ่งในสมัยนั้น คือ บ้านญี่ปุ่นในมนิลา) มีหัวหน้าหมู่บ้าน หรือ นายบ้านซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ จากราชสำนักไทย พระราชทานทั้งราชทินนาม และบรรดาศักดิ์ มีอาทิ ออกพระสุมิฮิโร (Ok Phra Sumihiro) (1600-1610) ออกญาเสนาภิมุข (Ok Ya Senaphimuk) (1617-1630) เป็นต้น

    รัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ 1611-1628) เป็นยุคที่ชาวญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาท ในราชสำนักไทยมากที่สุด ทั้งได้รับชักชวน ให้เข้ารับราชการ สนองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการทหารรักษาพระองค์ พระเจ้าทรงธรรมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเหล่าทหารรักษาพระองค์ชาวญี่ปุ่น ขึ้นเป็นกรม พระราชทานนามว่า “กรมอาสาญี่ปุ่น“ (Krom Asa Yipun - Department of Japanese Volunteers) พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ถือธงชาติญี่ปุ่น เป็นสัญลักษณ์ของกรมฯ มีชาวญี่ปุ่นเป็นทหารประจำการประมาณ 800 นาย

    ยามาดะ นางามาสะ (Yamada Nagamasa) (1590 - 1630) เป็นนายทหารที่โดดเด่น ของกรมอาสาญี่ปุ่น บรรดาศักดิ์ (title) สูงสุดที่ท่านได้รับพระราชทาน คือ ออกญาเสนาภิมุข (ออกญา เป็นบรรดาศักดิ์ หรือ ยศของขุนนางชั้นสูง เทียบเท่าเสนาบดี (Lordship) หรือเจ้าครองนคร (Prince) ถือศักดินา 10,000 ไร่ ออกญาเป็นคำที่ใช้สมัยอยุธยาตอนต้น ภายหลังกร่อนมาเป็นพระยา) (เสนาภิมุข เป็นราชทินนามทางทหาร แปลว่า หัวหน้าทหารสูงสุด เสนา-ทหาร อภิ-สูงสุด มุข-หัวหน้า) หลักฐานบางแห่งระบุว่าท่าน เป็นราชวัลลภ (นายทหารรักษาพระองค์) ซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งราชวัลลภได้นั้น ต้องเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยสูง

     

    ท่าน เกิดในครอบครัวพ่อค้า ชาวเมืองชิซูโอกะ (Shizuoka) ชื่อเดิมคือเมืองซูรุกะ (Suruga) เมื่อวัยเยาว์ท่านถูกส่ง ไปเรียนหนังสือที่วัดแห่งหนึ่ง แต่ท่านกลับหนีไปฝึกวิถีซามูไร และเป็นพนักงานหามเกี้ยวของปราสาท นูมาสุ (Numazu Castle) ไม่ปรากฎว่าเข้ามาประเทศไทย ตั้งแต่สมัยใด ทราบแต่ว่าในปี 1610-1612 ท่านได้ลงเรือสินค้าญี่ปุ่น จากเกาะใต้หวัน มาอาศัยอยู่ที่บ้านญี่ปุ่น โดยมีอาชีพเป็นพ่อค้าหนังกวาง ต่อมาได้รับราชการ เป็นขุนนางในราชสำนักไทย เป็นนายบ้านญี่ปุ่น ราวปี 1617 ได้รับบรรดาศักดิ์ที่ออกขุน (Ok Khun) และรับราชการทหารเป็นราชวัลลภ ที่ออกญาเสนาภิมุข (Ok Ya Senaphimuk) ผู้บัญชาการกรมอาสาญี่ปุ่น รักษาพระองค์ มีนักรบซามูไรเป็นทหารในสังกัด 300 - 700 นาย

    ระหว่างรับราชการในราชสำนักไทย ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) แต่งสำเภาของตนเอง ร่วมกับกองเรือพาณิชย์ฮอลันดา ไปค้าขายที่นางาซากิ เมื่อปี 1624 และได้พักอยู่ที่ญี่ปุ่น เป็นเวลา 3 ปี ระหว่างปี 1624 - 1627

    ระหว่าง พำนักที่ญี่ปุ่น ในปี 1626 ท่านได้มอบภาพเขียนเรือรบลำหนึ่งของท่าน ให้กับวัดเซนเจน (Sengen) ใน ชิซูโอกะ บ้านเกิดของท่าน ต่อมาภาพเขียนนี้ถูกไฟไหม้ทำลายไปสิ้น เหลือเพียงภาพสำเนา ตัวเรือรบเป็นเรือแบบตะวันตก มีปืนใหญ่ 18 กระบอก ลูกเรือสวมเกราะซามูไร

     

    จาก หลักฐานภาพเขียน ที่เหลืออยู่ในภายหลัง แสดงว่าฃอกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) มีความชำนาญทั้งการรบทางบก และการรบทางทะเล เหตุที่นักรบซามูไร ในกรมอาสาญี่ปุ่น มีความชำนาญการรบเป็นอย่างสูง และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยนั้น เซอร์ ยอร์จ แซนซัม (Sir George Sansom) (1883-1965) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ให้เหตุผลว่า พวกเขาเป็นผู้ที่มีความตั้งใจแน่วแน่ เด็ดเดี่ยว ที่จะออกสู่โพ้นทะเล โดยไม่หันหลังกลับบ้านอย่างเด็ดขาด ทำให้พวกเขาไม่กลัวตาย และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น กุนจิ คิอิจิ (Gunji Kiichi)(b. 1891)บรรยายถึงชาวญี่ปุ่นในอยุธยาว่า

    “ด้วย โล่เหล็ก ความกล้าหาญ และดาบคม พวกเขาไม่สามารถอยู่เฉยได้แม้ขณะจิต และเมื่อต่อสู่ด้วยคมดาบ ความหาญกล้าของเขาใครเลยจะเข้าใจ นอกจากชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ในสายตาของชาวสยามและชาวตะวันตก พฤติกรรมของชาวญี่ปุ่น เต็มไปด้วยความฮึกเหิมและห้าวหาญ"


     

    ตำนาน ความห้าวหาญ ของนักรบอาสาชาวญี่ปุ่น มีมาก่อนแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ตามหลักฐานเสนอโดย ศ.ดร.เขียน ธีรวิทย์ เมื่อปี 1605 แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่อสมเด็จพระเอกาทศรถ ในการยุทธ์ทางทะเล ที่ปัตตานี ทหารเรือญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีเรือรบอังกฤษ และสังหารกัปตันเรือรบลำนั้นอย่างกล้าหาญ

    ด้านความซื่อสัตย์ และยึดมั่นในความกตัญญู ออกญาภิมุขนั้นเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นเจ้ามหาชีวิต และต่อพระราชวงศ์ จนปรากฏในเอกสารประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 20 ของไทยว่า

    “ถ้าในพระนครศรีอยุธยา ยังมีขัตติยวงศ์ผู้มีสิทธิ์ ที่จะได้สืบราชสมบัติอยู่ตราบใด ออกญาเสนาภิมุขจะคอยขัดขวาง ไม่ยอมให้ผู้อื่นได้ราชสมบัติเป็นอันขาด”

     
     

    ขัตติย วงศ์ผู้มีสิทธิ์ ที่จะสืบราชสมบัตินั้นมี 2 พระองค์คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร กับพระอาทิตยวงศ์ เมื่อพระเจ้าทรงธรรมพระราชบิดาสิ้นพระชนม์นั้น ทรงมีพระชนมายุ 15 พรรษา

    เมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระศรีศิลป์พระอนุชา ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คิดชิงราชสมบัติ ออกญาศรีวรวงศ์ พระมหาอำมาตย์ พระญาติในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งดูแลพระเชษฐาธิราชกุมารและพระอาทิตยวงศ์ จึงขอให้ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) เป็นกำลังสำคัญ เข้าจู่โจมจับพระศรีศิลป์ ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชสำเร็จโทษ แล้วกราบบังคมทูลเชิญพระเชษฐาธิราชกุมาร พระราชนัดดาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชโอรสพระองค์โต ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 15 พรรษา โดยมีออกญาศรีวรวงศ์ ซึ่งได้เลื่อนฐานะเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการ

     

    ราว ปี 1629-1630 เมืองละคร (Ligor) หรือนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน อันเป็นเมืองท่าสำคัญ ทางภาคใต้ของประเทศไทยเกิดเหตุจลาจล ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) ได้รับบัญชาจากออกญาศรีวรวงศ์ สมุหพระกลาโหม ให้คุมกรมอาสาญี่ปุ่น กำลังพล 300 นาย สนธิกับกำลังทหารไทย 3,000 - 4,000 นาย ออกเดินทัพไปยังเมืองละครเมื่อ มกราคม 1630

    ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) ปราบปรามหัวหน้าคนสำคัญๆ ในเมืองละครได้หลายคน จนการจลาจลสงบลง จึงได้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนพระยานครศรีธรรมราชเดิมนั้น ตามกฎอัยการศึกจะต้องถูกประหารชีวิต แต่ด้วยกุศโลบายทางการเมือง เพื่อมิให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อกรุงศรีอยุธยา และต่อออกญาเสนาภิมุข ซึ่งเป็นคนต่างชาติ ท่านจึงรับไว้เป็นที่ปรึกษา และให้ความเคารพตามสมควรต่อฐานานุรูป (เพราะพระยานครศรีธรรมราชเป็นเชื้อพระวงศ์พื้นเมือง ของนครศรีธรรมราช ซึ่งถือเป็นประเทศราชขึ้นต่อรัฐบาลสยาม) ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) มิได้กลับมากรุงศรีอยุธยาอีกเลย ท่านได้เสียชีวิตในปีนั้นเอง

     

    สาย น้ำตะวันออกได้พาออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) มาให้เราได้รู้จัก และควรค่าแก่การคารวะจิตใจกล้าหาญ ซื่อสัตย์กตัญญู และพร้อมที่จะตายในหน้าที่อย่างกล้าหาญ

    เรื่องราวของออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) ได้รับการเล่าขานมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ท่านอาจารย์ อัตสุตาเนะ ฮิราตะ (Atsutane Hirata) (1776 - 1843)

     

    นักปราชญ์ และนักชาตินิยม ได้เขียนยกย่องให้ ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) เป็นต้นแบบที่ประชาชนแห่งญี่ปุ่น อันยิ่งใหญ่ควรศึกษาเมื่อเดินทางสู่โพ้นทะเล (a model for when the people of the spirit of Great Japan go overseas)

    ภาพออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) บนหลังช้าง นำหน้านักรบซามูไรเข้าสู่สนามรบ เป็นแรงบันดาลใจ ให้กับงานวรรณกรรมเยาวชนของญี่ปุ่น สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองหลายเรื่อง

     
     

    ใน ราวทศวรรษที่ 80 เมื่อญี่ปุ่นมีนโยบาย ให้ความสำคัญกับเอเชีย เรื่องของออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) ได้รับการนำมาบอกเล่า และตีพิมพ์ใหม่ในญี่ปุ่นหลายครั้ง ในฐานะวีรบุรุษของชาติ

    มีหนังสือและนิยายเกี่ยวกับ ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) 20 เล่ม มีภาพยนตร์หนึ่งเรื่องชื่อ Yamada Nagamasa - Oja no ken (1959) และมีการแต่งเป็นบทละครโนะ เป็นตำราเรียนสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นบทเพลงปลุกใจให้รักชาติ

    สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) คือ สัญญลักษณ์ของความสัมพันธ์สองแผ่นดิน นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต อาจารย์โตรุ ยาโนะ (Toru Yano) กล่าวว่า ชาวญี่ปุ่นรับรู้เรื่องราวของ ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) ในฐานะวีรบุรุษ และได้รับการเอ่ยถึงทุกครั้ง ที่ชาวญี่ปุ่นพูดถึงประเทศไทย

    จิตวิญญาณสูงสุดที่คนไทยต้องศึกษาจากออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) คือ ปณิธาน”อาสาเจ้าจนตัวตาย” ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่จนวาระสุดท้ายของชีวิต


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×