ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #88 : ป้อมปราการเมืองสมัยต้นรัตนโกสินทร์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 518
      0
      9 เม.ย. 53

     สร้างป้อมตามแนวกำแพงด้านเหนือ (ป้อมพระสุเมรุ) และด้านใต้ (ป้อมจักรเพชร) กับวังเจ้านายผู้รักษาพระนครใกล้ป้อมแล้วในรัชกาลที่ ๑

                ทีนี้ก็ยังมีป้อมสำคัญเหมือนกัน อยู่กลางๆ ระหว่างด้านเหนือด้านใต้ คือป้อมมหาไชย (มหาชัย) ซึ่งอยู่ตรงบริเวณที่เป็นธนาคารไทยทนุปัจจุบัน ตรงข้ามกับศูนย์การค้าย่านวังบูรพา

                ตรงนี้เป็นเสมือนด่านต้นทางไปสู่สำเพ็งซึ่งอยู่นอกกำแพงเมือง (ข้ามคลองรอบกรุง หรือคลองโอ่งอ่าง)

                ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่การป้องกันพระนครเข้มแข็งที่สุด จึงทรงพระราชดำริว่า ควรจะมีวังเจ้านายเป็นประธานตรงนั้น ทั้งในขณะนั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา และ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ก็สิ้นพระชนม์ไปในรัชกาลที่ ๑ แล้วทั้งสองพระองค์

                จึงโปรดฯให้เจ้านายสามพระองค์ เสด็จไปสร้างวังประทับที่นั่น (ทั้งสามวังเรียงรายกันอยู่ตรงที่เป็นวังบูรพาภิรมย์ แล้วเป็นย่านการค้าวังบูรพาทุกวันนี้)

                ประจวบกับขณะนั้นทรงมีพระราชประสงค์จะขยายวัดโพธิ์สร้างพระนอน จึงโปรดฯให้ กรมหมื่นนรินทรเทพ และ กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์ พระโอรสในพระองค์เจ้ากุ ซึ่งเวลานั้นครองวังท้ายวัดโพธิ์ของพระองค์เจ้ากุอยู่ เสด็จย้ายไปประทับวังใหม่ดังกล่าว

                ส่วนอีกวังหนึ่งนั้นพระราชทานให้กรมขุนเดชอดิศร (พระยศขณะนั้น) พระองค์เจ้านั่ง พระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จไปประทับ รวมเป็นกลุ่มสามวังด้วยกัน

                พระองค์เจ้ากุ เป็นพระเจ้าน้องนางเธอต่างพระชนนีใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาพระอัฐิเป็น กรมหลวงนรินทรเทวี ดังที่เคยเล่ามาแล้ว

                ส่วนกรมขุนเดชอดิศร เป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ เป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ โปรดฯเลื่อนให้เป็นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร อันเป็นพระอิสริยยศ ทรงกรมสูงสุด (ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้เปลี่ยนเรียก พระอิสริยยศ กรมสมเด็จพระเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา)

                ทั้งกรมหมื่นนรินทรฯ และกรมหมื่นนเรนทรฯ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ นั่นเอง วังกรมหมื่นนเรนทรฯ นั้นเชื้อสายอยู่กันต่อมา ส่วนวังกรมหมื่นนรินทรฯ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ เสด็จไปประทับอยู่

                สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศรฯ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าในกรมอยู่กันต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๕

                ถึงรัชกาลที่ ๕ การป้องกันพระนครตามแบบเก่ามิได้มีความสำคัญอีกต่อไป เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์น้อยจะเสด็จออกวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงโปรดฯให้รวมวังทั้ง ๓ วัง เข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน โปรดฯให้สร้างวัง พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ คือ วังบูรพาภิรมย์เพราะสถานที่ตั้งวังอยู่ด้านตะวันออกของกรุงรัตนโกสินทร์

                เจ้านายพระองค์สุดท้ายที่ได้ประทับวัง ๑ ใน ๓ วัง ย่านนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ (พระองค์เจ้ากปิตถา) สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ขณะนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ (พระอิสริยยศสูงสุดในรัชกาลที่ ๗ คือ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช) พระชันษา ๑๓ พรรษา อีกหลายปีต่อมาจึงได้สร้างวังบูรพาภิรมย์

                เมื่อยังทรงพระเยาว์พระชันษา ๑๐-๑๑ พรรษา ได้เคยเสด็จเยี่ยมเยือนกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ดังนั้นเมื่อได้รับพระราชทานที่ซึ่งส่วนหนึ่งเคยเป็นวังของกรมหมื่นภูบาลฯ จึงทรงรำลึกถึงขึ้นมา ทรงพระนิพนธ์เล่าถึงความสมถะของกรมหมื่นภูบาลฯ เอาไว้ว่า

                 กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์นั้น ท่านไม่ทรงไยดีในเรื่องสถานที่อยู่เลย ทรงขวนขวายแต่ซื้อสิ่งของแปลกๆ ต่างๆ มาตั้งไว้ทอดพระเนตรเล่น เห็นประทับอยู่ในตำหนักเตี้ยๆ พื้นชั้นเดียวหลังหนึ่ง อันเต็มไปด้วยสิ่งของแปลกๆ ต่างๆ นานาเรียงรายกันอยู่ และจนถึงซับซ้อนกันก็มี สิ่งของเหล่านี้มีจนชั้นเครื่องเล่น เครื่องกลไก เครื่องตุ๊กตาต่างๆ เช่น ลิงใส่เสื้อสีซอยักหน้าไปมา และนกร้องในกรง เป็นต้น

                กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอัมพา (หรืออำภา) สกุลไกรฤกษ์ ท่านทรงมีพี่น้องด้วยกัน ๕ พระองค์ เป็นพระองค์ชาย ๖ พระองค์ คือ

                ๑. กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ (พระองค์เจ้ากปิตถา)

                ๒. กรมขุนวรจักร ธรานุภาพ (พระองค์เจ้าปราโมช) และ

                ๓. พระองค์เจ้าชายเกยูร สิ้นพระชนม์ก่อนได้ทรงกรม

                อีก ๓ พระองค์ เป็นองค์หญิง พระนามว่า กัณฐา กัลยาณี และ กนิษฐ์น้อยนารี

                ว่าถึงพระนามกรมเจ้านายพระบรมวงศ์ ครั้งในรัชกาลที่ ๑-๓ หากโปรดเกล้าฯ สถาปนาพร้อมๆ กันมักจะพระราชทานให้คล้องจองกันเป็นชุด

                เช่นในรัชกาลที่ ๑ เมื่อแรกสถาปนาพระบรมราชวงศ์ ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ๒ พระองค์ เป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (เจ้ากรมเป็นพระยา) และ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระศรีสุดารักษ์ (เจ้ากรมเป็นพระ)

                ทรงตั้งพระเจ้าหลานเธอ (หลานน้า-พระภาคิไนย) พระโอรสในสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่เป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงทั้ง ๓ พระองค์ พระนามกรมคล้องจองกันว่า อนุรักษ์เทเวศร์ ธิเบศบดินทร์ นรินทร์รณเรศ เป็นต้น

                ในรัชกาลที่ ๒ ก็เป็นเช่นเดียวกับในรัชกาลที่ ๑ คือโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามกรมเป็นชุดในการสถาปนาคราวเดียวกัน

                เช่นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดเกล้าฯ สถาปนากรมเจ้านาย ๔ พระองค์ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ๑ พระองค์ และพระเจ้าน้องยาเธอ ๓ พระองค์ พระราชทานพระนามกรมคล้องจองกัน คือ

                กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓)

                กรมหมื่นอินทรพิพิธ (พระองค์เจ้าทับทิมต้นราชสกุล อินทรางกูร ณ อยุธยา

                กรมหมื่นจิตรภักดี (พระองค์เจ้าทับ ต้นราชสกุล ทัพพะกุล ณ อยุธยา

                กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระองค์เจ้าคันธรศ)

                เป็นต้น

                ในรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นอย่างเดียวกันกับในรัชกาลที่ ๑ และ ๒ ในรัชกาลนี้มักโปรดฯให้เลื่อนกรมเจ้านาย ซึ่งทรงรับกรมมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ และ ๒ ที่ทรงสถาปนาใหม่นั้นน้อยพระองค์ สถาปนาคราวละพระองค์เดียวบ้าง ๒ พระองค์บ้าง หากสถาปนาสองพระองค์พร้อมกัน ก็มักพระราชทานให้คล้องจองกัน เช่น ศรีสุเทพ เสพสุนทร

                กรมหมื่นศรีสุเทพ (พระองค์เจ้าดารากรต้นราชสกุล ดารากร ณ อยุธยาท่านเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ แต่เพิ่งจะได้ทรงกรมในรัชกาลที่ ๓ พูดกันอย่างสามัญศักดิ์ท่านก็เป็น อาของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯรัชกาลที่ ๓

                ส่วนกรมหมื่นเสพสุนทร (พระองค์เจ้ากุสุมาต้นราชสกุล กุสุมา ณ อยุธยา) เป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๓ ประสูติปีเดียวกับ กรมหมื่นศรีสุเทพ

                ถึงในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ท่านทรงเป็นปราชย์ทางภาษา เมื่อโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมเจ้านาย จึงทรงจัดพระนามกรมพระราชโอรสในรัชกาลต่างๆ ให้คล้องจองกันกับที่รัชกาลก่อนๆ เคยพระราชทานไว้แล้ว รวมทั้งที่ทรงตั้งใหม่ก็ล้วนแต่คล้องจองไพเราะและบ่งบอกความหมายอยู่ในพระนามกรมนั้นๆ

                ดังพระนามกรมพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ คือ พระองค์เจ้าโต ซึ่งพระ

    บาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตั้งเป็นกรมหมื่นอินทรอมเรศ (เลื่อนเป็นกรมขุนใน ร.๓)

                ท่านทรงเป็นพระเชษฐาใกล้ชิด พระชันษาสูงกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เพียงปีเดียว

                ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ เลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ

                และเมื่อโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๔ พระองค์ต่อๆ ไปจากกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ ก็ทรงพระราชทานพระนามกรมคล้องจองกันทั้งหมด คือ

                มหิศวรินทรามเรศ เทเวศร์ วัชรินทร์ สรรพศิลป์ปรีชา วงศาธิราชสนิท สถิตย์สถาพร ถาวรวรยศอลงกฏภิจปรีชา วรศักดาพิศาล ภูบาลบริรักษ์ วรจักรธรานุภาพ บำราบปรปักษ์ (เมื่อยังทรงเป็นกรมหมื่น พระนามกรมว่า ปราบปรปักษ์)

                ส่วนพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงกรมในรัชสมัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ เพียงสองพระองค์เท่านั้นคือ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ โปรดฯ สถาปนา เป็น กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระชนกสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๔)

                อีกพระองค์หนึ่งคือ พระองค์เจ้าคเนจร โปรดฯสถาปนาเมื่อปลายรัชกาลก่อนเสด็จสวรรคต ๕-๖ ปี ได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์

                เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯสถาปนากรมพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ จึงพระราชทานพระนามกรม พระองค์เจ้าชายโกเมน (ซึ่งทรงเป็นพระเชษฐาของพระองค์เจ้าคเนจร แต่มิได้รับพระราชทานตั้งกรมในรัชกาลที่ ๓ พูดง่ายๆ ว่าข้ามท่านไป อาจเป็นเพราะ สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดพระองค์เจ้าคเนจรมาก) ให้พระนามกรมของพระองค์เจ้าโกเมนขึ้นก่อนว่า กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์มีความหมายอยู่ในพระนามกรมว่า ขณะนั้นท่านเป็นพระเชษฐาองค์ใหญ่ในบรรดาพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ แล้วจึงพระราชทานพระนามกรมพระองค์อื่นๆ คล้องจองกันมาตามลำดับ คือ เชษฐาธิเบนทร์ อมเรนทรบดินทร์ ภูมินทรภักดี ราชสีหวิกรม อดุลยลักษณสมบัติ อุดมรัตนราษี ภูบดีราชหฤทัย ภูวนัยนฤเบนทราธิบาล บดินทรไพศาลโสภณ เจริญผลพูลสวัสดิ์

                พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ นับตามศักดิ์อย่างสามัญชนล้วนเป็นหลานอาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×