ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #84 : สะพาน "เฉลิม"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 677
      1
      9 เม.ย. 53

    ขอให้เล่าเรื่อง สะพานถ่าน สะพานเหล็ก สะพานเสี้ยวกับสะพานเฉลิมเผ่า โดยเฉพาะสะพานเฉลิมเผ่าที่เคยอยู่แถวโรงพยาบาลตำรวจและกองอะไรของตำรวจแถวๆ นั้น สะพานนี้ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์ให้อดีตอธิบดีตำรวจ เผ่า ศรียานนท์ ใช่ไหม-

                เรื่องสะพาน ฉลิมเผ่าก่อน

                ชื่อสะพานเฉลิมเผ่า มิใช่ชื่อที่ตั้งในสมัยประชาธิปไตย หากแต่มีมาก่อนตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ ๕

                เป็น เฉลิมหนึ่งในบรรดาสะพาน เฉลิมทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๑๗ สะพาน (ไม่นับสะพานเฉลิมวันชาติ ที่เพิ่งสร้างในสมัยประชาธิปไตย)

                 สะพาน เฉลิมทั้ง ๑๗ สะพานดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์พระชนมายุครบรอบพรรษาทุกปี เริ่มแต่ พ.ศ.๒๔๓๗ ซึ่งพระชนมพรรษาครบ ๔๒ พรรษา (สะพานเปิดใช้ พ.ศ.๒๔๓๘)

                สะพานแรกจึงโปรดฯ พระราชทานชื่อว่า สะพานเฉลิมศรี ๔๒

                สร้างที่ถนนสามเสนตอนข้ามคลองบางขุนพรหม ซึ่งต่อมา (คงจะสมัยรัชกาลที่ ๗ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ได้ถูกรื้อเพื่อปรับปรุงถนนสามเสนและถมคลองบางขุนพรหม สะพานนี้จึงเหลือแต่ชื่อ เช่นเดียวกับสะพาน เฉลิมอื่นๆ แทบทั้งหมด คือ

                ๑. เฉลิมศรี ๔๒ ข้ามคลองบางขุนพรหม
                ๒. เฉลิมศักดิ์ ๔๓ ข้ามคลองอรชร

                ๓. เฉลิมเกียรติ ๔๔ ข้ามคลองหัวลำโพง ปลายถนนสาทรใต้
                ๔. เฉลิมยศ ๔๕ ข้ามคลองหน้าวัดพระพระพิเรนทร์ ถนนวรจักร
                ๕. เฉลิมเวียง ๔๖ ข้ามคลองตรอกเต๊า ถนนเยาวราช
                ๖. เฉลิมวัง ๔๗ ข้ามคลองสะพานถ่าน ถนนอุณากรรณ
                ๗. เฉลิมกรุง ๔๘ ข้ามคลองวัดจักรวรรดิ์ ถนนเจริญกรุง
                ๘. เฉลิมเมือง ๔๙ ข้ามคลองสาทธรปลายถนนสุรศักดิ์
                ๙. เฉลิมภพ ๕๐ ข้ามคลองหัวลำโพง ปลายถนนสุรวงศ์
                ๑๐. เฉลิมพงศ์ ๕๑ ข้ามคลองสะพานถ่าน ถนนเฟื่องนคร
                ๑๑. เฉลิมเผ่า ๕๒ ข้ามคลองอรชร ระหว่างถนนปทุมวัน (หรือถนนพระราม ๑ ในปัจจุบัน)
                ๑๒. เฉลิมพันธุ์ ๕๓ ข้ามคลองวัดสามจีน ถนนเจริญกรุง
                ๑๓. เฉลิมภาคย์ ๕๔ ข้ามคลองสีลม ระหว่าง ถนนเจริญกรุง
                ๑๔. เฉลิมโลก ๕๕ ข้ามคลองบางกะปิ คือที่ประตูน้ำ
                ๑๕. เฉลิมหล้า ๕๖ ข้ามคลองบางกะปิ ถนนพญาไท
                ๑๖. เฉลิมเดช ๕๗ ข้ามคลองหัวลำโพง ปลายถนนสี่พระยา
                ๑๗. เฉลิมสวรรค์ ๕๘ ข้ามคลองโรงไหม (คลองหลอดตรงถนนพระอาทิตย์)

                สะพานเฉลิมทั้ง ๑๗ นี้ ส่วนมากไม่เคยเห็นไม่เคยผ่าน โดยเฉพาะสะพานทางแถวเยาวราช

                คล่องและคุ้นเคยแต่สะพานข้ามคลองหัวลำโพงและคลองอรชร เพราะเมื่อเด็กๆ บ้านอยู่ริมคลองหัวลำโพงฟากตรงข้ามกับสถานเสาวภา สะพานที่คุ้นกันดี คือ สะพานเฉลิมเกียรติ เฉลิมภพ เฉลิมเดช และอีก ๒ สะพาน คือ เฉลิมเผ่า กับเฉลิมภาคย์

                ว่าถึงสะพานเฉลิมเกียรติ เฉลิมภพ เฉลิมเดชก่อน

                สมัยเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีมาแล้ว สะพานเหล่านี้ยังอยู่ดีเพราะคลองหัวลำโพงยังอยู่ ยังมีเรือผ่านเข้าออกได้ บรรจบกับคลองสีลมและคลองสาทร แต่คลองสีลมนั้นค่อนข้างตื้นและแคบกว่าคลองสาทร

                เวลานั้นแม้เรือเครื่องเผาหัวที่เรียกกันว่า เรือแท็กซี่ (เพราะมักใช้สำหรับรับส่งผู้โดยสารเช่นเดียวกับเรือหางยาวทุกวันนี้) ก็ยังแล่นผ่านเข้าคลองหัวลำโพงได้

                คนรุ่นหนุ่มสาวสมัยนี้ต้องหลับตาลบภาพถนนพระรามสี่ในปัจจุบันให้หมดเสียก่อน

                แล้วจินตนาการถึงถนนพระรามสี่หรือถนนตรง (ชื่อในสมัยรัชกาลที่ ๘)

                ซึ่งเป็นถนนลาดยางมาตอยขนานไปกับคลองหัวลำโพงที่แยกจากคลองผดุงกรุงเกษมตรงหัวลำโพง ตรงลิ่วทั้งถนนและคลอง ถนนนั้นเมื่อแรกสร้างมาหยุดอยู่ตรงต้นคลองอรชรที่ไหลผ่านข้างสะพานเสาวภาไปบรรจบกับคลองหัวลำโพง ตรงปลายถนนจึงมีสะพานไม้ทอดข้ามไปยังอีกฟากหนึ่ง ซึ่งก็คือถนนผ่านหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ แต่เวลานั้น ยังไม่มีโรงพยาบาลจุฬาฯ แถบนั้นจึงเป็นที่ว่างๆ อยู่ใกล้สนามม้า อาจมีบ้านเรือนอยู่ในที่รกๆ บ้าง

                ตรงสะพานไม้เก่าข้ามต้นคลองอรชรนี้แหละ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดฯให้สร้างสะพานเฉลิมศักดิ์ ๔๓ แทนสะพานเก่า แล้วเลยโปรดฯ ให้สร้างถนน จากปลายสะพานด้านใต้ ขนานกับทางรถไฟสายปากน้ำ (เวลานั้นยังไม่มีรถรางตามปีกถนนฟากตรงข้ามสถานเสาวภา ซึ่งขนานกับรถไฟสายปากน้ำและคลองหัวลำโพง)

                ถนนหัวลำโพงสร้างต่อนี้ เรียกกันว่าถนนหัวลำโพงนอก สร้างต่อจนถึงมุมถนนสาทรใต้ เป็นถนนลูกรัง เมื่อผู้เล่ายังเด็กประมาณ พ.ศ.๒๔๗๙ มีทั้งรถไฟสายปากน้ำ รถราง โรงพยาบาลจุฬาฯ สวนลุมพินีแล้วแต่รถรางสายหัวลำโพงหมดปลายทางเพียงแค่ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ส่วนถนนตรงไปถึงมุมถนนสาทรใต้ยังเป็นถนนลูกรังอยู่

                เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้สร้างถนนหัวลำโพงนอกต่อไปจนถึงมุมถนนสาทรใต้แล้ว เลยโปรดฯให้สร้างสะพานเฉลิมเกียรติ ๔๔ ข้ามคลองหัวลำโพง เชื่อมปลายถนนสาทรใต้กับถนนหัวลำโพงนอกที่ต่อออกไปบรรจบกันนั้น

                ถนนพระรามสี่ หรือถนนหัวลำโพงนอก แม้ในสมัยต้นประชาธิปไตย เมื่อผู้เล่ายังเด็ก ก็สิ้นสุดลงเพียงปลายถนนสาทรใต้แค่นั้น ถนนนี้เมื่อแรกสร้างในรัชกาลที่ ๔ เป็นถนนลูกรังทั้งสายยาวไปถึงคลองเตย เป็นการสร้างถนนไปพร้อมกับขุดคลอง คือเอาดินที่ขุดคลองนั้นถมเป็นถนนขนานกันไปกับคลอง (ขุดคลองสร้างถนนตรง พ.ศ.๒๔๐๐) ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เปิดเดินรถไฟสายหัวลำโพง-ปากน้ำ ขนานไปกับคลองหัวลำโพงเมื่อ วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๐ เป็นรถไฟของเอกชนชาติเดนมาร์ก

                ส่วนรถรางเพิ่งเปิดเดินเป็นสายแรก เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๘ ปีเดียวกับสะพานเฉลิมเผ่า ๕๒

                ก็เป็นอันว่า สะพานเฉลิมเกียรติ ๔๔ ข้ามคลองหัวลำโพงปัจจุบันคือแยกสาทรใต้กับถนนพระรามสี่

                สะพานเฉลิมภพ ๕๐ ข้ามคลองหัวลำโพง ปัจจุบัน คือปลายถนนสุรวงศ์ต่อกับถนนพระรามสี่ ตรงไปถนนอังรีดูนังต์

                สะพานเฉลิมเดช ๕๗ ข้ามคลองหัวลำโพง ปัจจุบัน คือ ปลายถนนสี่พระยาต่อกับถนนพระรามสี่ ข้างวัดหัวลำโพง

                เมื่อไม่มีคลองก็ไม่มีสะพาน ถนนหนทางเปลี่ยนแปลงไปจึงจินตนาการยากสักหน่อย มีเพียงชื่อไว้เป็นพระบรมราชานุสรณ์

                สมัยก่อนโน้น บ้านเรือนส่วนมากอยู่ริมคลองฟากตรงข้ามกับสถานเสาวภา อยู่กันหนาแน่น จึงมีสะพานไม้ข้ามคลองของชาวบ้านหลายแห่ง มักจะทำเป็นสะพานโค้งมากๆ ให้เรือลอดได้ เช่นสะพานขาวที่ทาสีขาว เป็นสะพานร่วมกันใช้ จนกลายเป็นจุดที่จอดรถรางเพราะมีผู้ขึ้นลงมาก

                ทีนี้จะว่าเรื่องคลองอรชรอีกครึ่งหนึ่ง

                ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คลองอรชรนี้เป็นคลองสั้นๆ ปลายหนึ่งไหลไปบรรจบกับคลองหัวลำโพง อีกปลายหนึ่งไหลไปจากคลองแสนแสบข้างวัดปทุมวนาราม เป็นคลองเลียบถนนสนามม้าหรืออังรีดูนังต์ โรงเรียนเตรียมจุฬาฯสมัยหนึ่งเคยเรียกกันว่า เตรียมอรชร เพราะด้านหนึ่งติดกับคลองอรชรนี้

                เวลานั้นมีถนนพระรามหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เรียกว่าถนนพระรามหนึ่ง เป็นเพียงถนนลูกรัง เรียกกันว่าถนนปทุมวันบ้าง เรียกว่าถนนบำรุงเมืองบ้าง เพราะเป็นถนนยาวเหยียดต่อมาจากถนนบำรุงเมืองในเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นเพียงถนนลูกรัง ผู้คนยังไม่นิยมใช้ถนนลูกรัง เพราะไม่มีรถจะแล่นแม้

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จะเสด็จฯวังสระปทุม ก็ยังเสด็จฯ เรือพระที่นั่งมาตามลำคลอง

                ถนนตอนข้ามคลองอรชรมีสะพานไม้ชำรุดทรุดโทรมสำหรับคนและรถม้าข้าม เช่นเดียวกับทางปลายคลองด้านถนนหัวลำโพง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงได้โปรดฯให้สร้างสะพานเฉลิมขึ้น เมื่อพระชนมพรรษา ๕๒ พรรษา พระราชทานชื่อว่า สะพานเฉลิมเผ่า ๕๒

                สะพาน เฉลิมแต่ละสะพานนั้น จะมีป้ายบอกชื่อสะพานและ พ.ศ. อยู่ข้างใต้พระบรมนามาภิไธยย่อ ประดับไว้ตรงกลางสองข้างราวสะพาน ดังในภาพสะพานเฉลิมเผ่า ๕๒

                เรื่องสะพานถ่าน สะพานเหล็ก และสะพานเสี้ยวขอยกไปคราวหน้า

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×