ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #77 : "เพ็ง" คนโปรดในรัชกาลที่ 4

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.13K
      0
      9 เม.ย. 53

     คนโปรดในรัชกาลที่ ๔ ชื่อ เพ็งเช่นเดียวกับในรัชกาลที่ ๓ เดิมท่านชื่อ วันเพ็ง(หรือ วันเพ็ญ) เพราะเกิดในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ต่อมาเรียกกันเพียงสั้นๆ ว่านายเพ็ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเลี้ยง โดยมีพระราชดำรัสว่า เป็นลูกบุญธรรมตั้งแต่นายเพ็งยังเยาว์วัย อายุ ๑๓ ปี ทรงพระเมตตาโปรดปรานมาก ตรัสเรียกว่า พ่อเพ็งตั้งแต่แรกจนแม้เมื่อเป็นผู้ใหญ่รับราชการเป็นเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี และโปรดฯให้เป็นอุปทูตไปอังกฤษด้วยพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ราชทูต
    เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ถ่ายภาพกับธิดา (เจ้าจอมมารดามรกต) คนยืนข้างโต๊ะ ส่วนอีก ๓ คนเข้าใจว่าเป็นบุตรชาย เพราะแต่งกายสวมเสื้อเป็นชุด สำรับเหมือนๆ กัน

          ว่ากันว่า ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก ซึ่งเดิมเรียกว่า จมื่นคือ จมื่นสรรพเพธภักดี จมื่นเสมอใจราชจมื่นไวยวรนารถ และจมื่นศรีสรรักษ์ นั้น เพิ่งจะเปลี่ยนมาเรียกว่า เจ้าหมื่นในรัชกาลที่ ๔ นี้ เนื่องจากนายเพ็งมีฐานะดังที่ออกพระโอษฐ์ว่า เป็น ลูกบุญธรรมซึ่งจะโปรดฯตั้งให้เป็นเจ้าก็ผิดราชธรรมเนียมประเพณี เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดฯให้นายเพ็งเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก ซึ่งทรงเปลี่ยนคำว่า จมื่นเป็น เจ้าหมื่น

          ในเรื่องขุนช้างขุนแผน พระไวย ก็ยังเรียกกันว่า จมื่นไวยวรนารถในจดหมายเหตุต่างๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๓ หัวหมื่นมหาดเล็ก ล้วนเรียกว่า จมื่นด้วยกันทั้งสิ้น

          ประวัติของนายเพ็ง ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง นั้น มีอยู่ว่า ท่านเป็นบุตรชายของหลวงจินดาพิจิตร (ด้วง) ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาพระคลัง (ฉิม) ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จประทับ ณ พระราชวังเดิม (กรุงธนบุรี) โปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อยังทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ยังทรงพระเยาว์ เสด็จฯไปทรงศึกษาในสำนักพระพุฒาจารย์ (ขุน) เจ้าอาวาสวัดท้ายตลาด ขณะนั้นนายด้วงบวชเป็นสามเณรอยู่ที่นั่น สมเด็จพุฒาจารย์ (ขุน) จึงให้สามเณรด้วงถวายการปฏิบัติดูแลเจ้าฟ้ามงกุฎ จนกระทั่งสามเณรด้วงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก็ยังถวายปฏิบัติเช่นเดิม จนเป็นที่สนิทสนมคุ้นเคย

          จนกระทั่งนายด้วงลาอุปสมบทไปมีภรรยา และเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นที่หลวงจินดาพิจิตร (ด้วง) ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงผนวช เสด็จประทับอยู่วัดสมอราย (ในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชาธิวาส) หลวงจินดาพิจิตรก็ไปมาเฝ้า และถวายอยู่งานนวดในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสมอๆ  เพราะเป็นผู้มีฝีมือในทางนี้

          เล่าเติมเสียนิดว่า เมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ขุนพลแก้ว ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นแม่ทัพใหญ่ไปทำสงครามที่กัมพูชาและญวน ครั้งนั้นมีการเกณฑ์ผู้คนไปทัพ หลวงจินดาพิจิตร (ด้วง) เป็นผู้หนึ่งซึ่งถูกเกณฑ์ด้วย แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ทราบว่าหลวงจินดาฯ เป็นข้าหลวงเดิม มีหน้าที่ถวายอยู่งานนวด ทูลกระหม่อมพระเสมอๆ จึงงดเว้นให้ยกถวายทูลกระหม่อมพระ ไม่ต้องไปทัพ

          ซึ่งจะเห็นได้ว่า การถนอมพระทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มิใช่แต่เฉพาะพระองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แม้ขุนนางใกล้ชิดสนิทในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ต่างก็พลอยถนอมพระทัยท่านกันเป็นส่วนมาก

          หลวงจินดาพิจิตร (ด้วง) ขณะนั้น มีบุตรธิดาด้วยภรรยา ชื่อ มอญ ถึง ๕ คน เด็กชายวันเพ็งเป็นคนสุดท้อง

          เมื่อหลวงจินดาพิจิตร (ด้วง) เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เด็กชายเพ็งก็ติดตามไปด้วยแทบทุกครั้ง (สมัยโน้นการติดตามผู้ใหญ่ไปวัดเป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็กๆ นอกจากจะได้วิ่งเล่นในบริเวณวัดซึ่งกว้างขวางร่มรื่นกว่าที่ใดๆ แล้ว ยังได้เล่นกับพวกลูกศิษย์วัดอีกด้วย)

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทอดพระเนตรเห็นเด็กชายเพ็งเนืองๆ ทรงพอพระราชหฤทัย จึงทรงออกพระโอษฐ์ขอต่อหลวงจินดาพิจิตร (ด้วง) ว่า

           ลูกชายคนเล็กที่ตามแกมานี่ ขอให้ข้าเถิดแล้วมีพระราชดำรัสแก่เด็กชายเพ็งว่า

           ข้าจะรับเลี้ยงเจ้าไว้เป็นลูกบุญธรรมของข้า

          ดังนี้ เด็กชายเพ็งจึงเป็นข้าหลวงเดิม ติดตามพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ อย่างใกล้ชิดสนิท ตั้งแต่ยังประทับ ณ วัดสมอราย จนเสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์

          เมื่อนายเพ็งอายุ ๒๑ ครบบวช ทูลกระหม่อมพระ ก็โปรดให้อุปสมบทวัดพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ในการบวชนายเพ็งครั้งนี้ โปรดให้จัดการแห่แหนช้างม้าผู้คนเป็นขบวนเอิกเกริก คล้ายๆ กับขบวนแห่นาคเจ้านายชั้นสูง ผู้คนพากันมาดูเล่าลือกัน จนถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำรัส ซึ่งเป็นพระวาจาที่เล่ากันต่อๆ มา เพราะแสดงถึงน้ำพระทัยอันทรงพระเมตตาต่อสมเด็จพระราชอนุชาต่างพระมารดาอีกเรื่องหนึ่ง ว่า

           การแห่แหนบวชนาคไพร่ๆ ราษฎรเช่นครั้งนี้ แห่ช้างแห่ม้าพาหนะของหลวงอย่างมากมาย   ราษฎรเช่นครั้งนี้ แห่ช้างแห่ม้าพาหนะของหลวงอย่างมากมาย เคยมีก็แต่นาคเจ้านายใหญ่ๆ โตๆ ถึงว่านาคขุนน้ำขุนนางก็ไม่เคยมีปรากฏเลยพึ่งมามีครั้งนี้แหละที่นาคไพร่ๆ มีการแห่แหนเป็นที่ครึกครื้น แต่ก็ช่างเถิด เพราะว่าเป็นนาคของชีต้นวัดบนเธอจะทำเหลือๆ เกินๆ อย่างไรบ้างก็ช่างเธอเถิด

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสเรียกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯว่า ท่านฟ้าใหญ่เมื่อทรงผนวชแล้ว บางทีก็ตรัสเรียกว่า ชีต้นวัดบน

           ต้นในที่นี้หมายถึง หลวงคือเท่ากับเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทำนองนั้น

          ที่ใช้พาหนะช้างม้าของหลวง เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดให้เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระอนุชา ผู้เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ประสูติแต่พระราชชายานารีเจ้าฟ้ากุณฑล ทรงจัดการเรื่องแห่นาค ขณะนั้นเจ้าฟ้าอาภรณ์ทรงช่วยกำกับกรมพระคชบาลอยู่ จึงทรงนำช้างม้าของหลวงออกมาใช้ในการแห่แหน ถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงออกพระโอษฐ์ดังกล่าว

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดฯ ให้นายเพ็ง เข้ารับราชการเป็นหัวหมื่นมหาดเล็กเวรศักดิ์ที่จมื่นสรรพเพธภักดี ดังกล่าว แล้วโปรดฯให้ออกไปเป็นอุปทูต

          ในบัญชีจดหมายรายชื่อแสดงตำแหน่งหน้าที่ บรรดาศักดิ์ชาติตระกูลของคณะทูตานุทูต บ่งถึงบุคคลที่ ๒ ว่า (สะกดตามต้นฉบับเก่า)

           ๒ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี อุปทูต อายุ ๓๖ โดยตำแหน่งในราชการเปนหัวหมื่นมหาดเล็ก เวรศักดิ์ เปนส่วนหนึ่งในสี่เวร โดยตระกูลเปนบุตรขุนจินดาพิจิตร ซึ่งเปนขุนนางฝ่ายข้างนักปราชญ์ พนักงารรักษาพระคัมภีร์หลวงที่ว่าด้วยพระพุทธสาสนา แต่บิดาหาเลี้ยงไม่ ถวายไว้แก่พระเจ้ากรุงสยามในประจุบันนี้ ได้ทรงชุบเลี้ยงมาแต่น้อยฯ

          ขณะที่ดำรงตำแหน่งอุปทูตอยู่ในอังกฤษนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานโดยเฉพาะไปยัง พ่อเพ็งสามฉบับ (นอกเหนือจากพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานรวมๆ กันไปกับราชทูต และคณะทูตานุทูต

          พระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีนั้น ส่วนมากเป็นเรื่องส่วนพระองค์

          ดังบางตอนในฉบับหนึ่ง ทรงเล่าอาการประชวรขึ้นต้นพระราชหัตถเลขาว่า

           พ่อเพง ข้าเองตั้งแต่วัน ๖ ฯ ๑๐ ค่ำ ป่วยเปนไข้หวัดลง ครั้นกลางคืนให้ครั่นเนื้อครั่นตัวมากขึ้น ปวดศีรษะจับหนาวๆ ร้อนๆ ...ฯลฯ...ฯลฯ...หมอคิดจะให้ฉีดน้ำชักอุจจาระแต่ข้าไม่ยอม ไม่เคยเอาอะไรใส่ทางทวาร ข้าก็กินยาหอลอเวหลายเมดแล้วก็ไม่ออก ข้าจึงเอาดีเกลือละลายน้ำกินกับน้ำชาเข้าไปหลายถ้วย ต่อวัน ๔ ฯ ๑๐ ค่ำ เวลาเที่ยงจึ่งเซาะเดิรออกมาได้...”

           ยาหอลอเวไม่ทราบว่ามาจากศัพท์อะไรค้นหาไม่เจอ แต่ที่อ่านพระราชหัตถเลขา อีกหลายตอนเดาเอาว่าคงเป็นยาฝรั่ง

          พระราชหัตถเลขาถึงเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีอีกฉบับหนึ่ง มีความตอนต้นว่า

           จดหมายมาถึงพ่อเพงสรรเพธภักดี ให้ทราบว่าของที่ฝากมาในหีบหุ้มผ้าเขียนเป็นอักษรอังกฤษว่าให้ข้านั้น ได้มาถึงมือข้าวัน ๔ ฯ ๔ ค่ำ แต่ข้าคเนเห็นจะมีหนังสือฝากด้วยแต่ยังหาได้ไม่ ได้มาแต่หนังสือมิศดาวิศ พี่ชายกับตันวิศที่ตายนั้น ๒ ฉบับ ในหนังสือนั้นสรรเสริญพ่อเพงมาก ว่าซื่อสัตย์ต่อข้า คิดการงารให้เปนประโยชน์แก่ข้าไม่ให้เสียเวลาเมื่ออยู่ในเมืองลอนดอน...”

          เมื่อพระพรหมบริรักษ์ สิ้นชีวิต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจะทรงแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหลายตำแหน่ง ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาเล่าแก่เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี เพราะ

           “...ว่าดังนี้ข้าคิดว่า พ่อเพงจะชอบใจด้วยยินดีจึงบอกมา ถึงการนั้นมิใช่ธุระการงานของพ่อเพงก็ดี ว่ามาให้รู้จะให้พ่อเพงสบายใจ...”

          เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง) เป็นต้นสกุล เพ็ญกุลมีบุตรธิดาทั้งหมดรวม ๒๖ คน

          ธิดาคนที่ ๓ ชื่อ มรกต ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ มีพระองค์เจ้า ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้า (หญิง) จุฑารัตนราชกุมารี และ พระองค์เจ้า (ชาย) เพ็ญพัฒนพงศ์ (กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม)

                บุตรชายรับราชการจนได้เป็นพระยาแต่เพียงผู้เดียว คือ นายนิล ได้เป็นพระยานรินทรราชเสนี ในรัชกาลที่ ๕
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×