ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #73 : ผู้ดีแปดสายแรก ผู้ดีแปดสาแหรก

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.23K
      0
      9 เม.ย. 53

    -ผู้ดีแปดสาแหรก จริงๆ แล้วคืออย่างไร ฟังคล้ายๆ คำประชดนะ เพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งพบบอกว่า รู้จักชื่อบรรพบุรุษทางแม่ขึ้นไปถึง ๗ ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นล้วนแต่เป็นผู้ดี (มีเงิน) เป็นที่รู้จักของคนทั่วๆ ไปก็อาจเรียกได้ว่าผู้ดี (ก็คงจะแปดสาแหรก) แล้ว-
                เมื่อแรกทีเดียว ได้ฟังมาว่าไม่ใช่คำประชด เป็นคำพูดเมื่อต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง
                ตามพระนิพนธ์ในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยา ภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช (สมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระครรภโภทรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง) เรื่อง ‘ราชินิกุล ในรัชกาลที่ ๕’
    พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อเสด็จประพาสธารพงัน สมเด็จพระราชปิตุลาฯ ประทับบนก้อนหินเบื้องพระพักตร์
    พระบรมรูป
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (พระองค์กลาง) ทรงฉายกับสมเด็จพระอนุชา และพระอนุชา เมื่อยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระราชปิตุลาฯ พระองค์เล็กสุดทรงยืนกลาง
     
                (ราชินิกุล นั้น ที่ให้ความหมายกันว่า เป็นสกุลฝ่ายราชินี ยังไม่ถูกต้อง ‘ราชินิกุล’ หมายถึงสกุลพระญาติ ฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือหากทรงพระอิสริยยศ พระราชินี ก็ต้องเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลต่อไปด้วย ทั้งนี้แม้ ‘เจ้าจอมมารดา’ ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระเจ้าแผ่นดิน หากมีพระบรมราชโอรสเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็สถาปนาพระชนนีขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ แต่ถ้าหากมิใช่สมเด็จพระราชินี หรือพระสนมเอกของพระเจ้าแผ่นดิน ก็จะทรงพระอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมราชชนนี’ ไม่มี ‘พันปีหลวง’ ท้ายพระนาม
                ราชินิกุล จึงเป็นสกุลฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังเช่น สกุล ณ บางช้าง สกุลชูโต สกุลบุนนาค พระญาติของ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ เป็นราชินิกุล ก่อนสกุลอื่นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพอ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ สมเด็จพระอมรินทรฯ เสด็จอยู่ในที่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระญาติของ สมเด็จพระอมรินทรฯ ก็ขึ้นสู่ฐานะเป็นราชินิกุลแต่นั้นมา คือเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๖ กรุงรัตนโกสินทร์มีราชินิกุลสายแรกเป็นปฐม
                สมเด็จพระราชปิตุลาฯ ทรงพระนิพนธ์ถึงเรื่อง ‘ผู้ดีแปดสายแรก’ ไว้ว่า
                 “ผู้ซึ่งสืบสายมาแต่สกุล ซึ่งเป็นสกุลผู้ดีสายแรกๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์”
                และ ซึ่งเป็น
                 “คำที่กล่าวโฉมถึงผู้ซึ่งสืบสายมาแต่ผู้ดีหลายๆ สายว่า ผู้ดีแปดสายแรก
                จะเห็นได้ว่าท่านทรงใช้คำว่า ‘ผู้ดีแปดสายแรก’ มิใช่ ‘ผู้ดีแปดสาแหรก’
                แล้วในพระนิพนธ์นั้น ท่านก็ทรงยกตัวอย่างบุตรธิดาของหลวงฤทธิ์นายเวร (พุด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กับ คุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ (สกุลเดิม ‘คฤหเดช’ สายสกุลราชินิกุลรัชกาลที่ ๕)
                บุตรธิดาของท่านคู่นี้ เป็นผู้ดีถึงสิบสายแรก ไม่ใช่เพียงแค่แปดสายแรก
                ทรงแยกสายเอาไว้ดังนี้
                 “ทางบิดา (คือทางหลวงฤทธิ์นายเวร-จุลลดาฯ) มีเชื้อสายมาแต่
                สายราชินิกุลกรุงรัตนโกสินทร์ (คือ พระบรมราชจักรีวงศ์) ๑
                สายราชินิกุล รัชกาลที่ ๒ (คือสกุลบางช้าง) ๑
                สายราชินิกุล รัชกาลที่ ๔ (คือสกุลเชื้อสายจีนแซ่ต้น) ๑
                สายราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ (คือสกุลเชื้อสายแขกสุนี) ๑
                สายราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ (คือสกุลชาวสวนวัดหนัง) ๑
                สายราชตระกูลกรุงทวาราวดี (กรุงเก่า) (คือสาย ม.ร.ว.ทับ) ๑
                ทางมารดา (คือทางคุณหหญิงเลื่อนฤทธิ์-จุลลดาฯ)
                มีเชื้อสายมาแต่
                สายราชินิกุล รัชกาลที่ ๕ (คือสกุลหงส์ทองรามัญ) ๑
                สายสกุลพระยาสุราสนาคุ้ม (คือสกุลสุรคุปต์) ๑
    (สกุลสุรคุปต์เป็นสายเขยของราชินิกุล รัชกาลที่ ๕-จุลลดาฯ)
                สายสกุลเจ้าลาวกรุงศรีสัตนาคนหต (คือสกุล ณ เวียงจันทน์) ๑
                สายสกุลพระยาศรีสหเทพ (เรือน) (คือสกุลคฤหเดช) ๑
                (สกุลคฤหเดช เป็นสายเขยของราชินิกุลรัชกาลที่ ๕) ๑
    พระรูป สมเด็จพระราชปิตุลาฯ ฉายเมื่อพระชันษา ๒๘
                จึงรวมเป็น ๑๐ สาย นับว่าต้องกันกับคำที่กล่าวโฉมถึงผู้ซึ่งสืบสายมาแต่ผู้ดีหลายๆ สายว่า ‘ผู้ดีแปดสายแรก’ นั้น แต่พวกนี้มีสายแรกถึง ๑๐ สายสัมพันธ์กันอยู่”
                (เรื่องราชินิกุลใน สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖-๗ เคยเล่าไว้แล้วในตอนก่อนๆ)
                ในพระนิพนธ์ แสดงว่า เมื่อก่อนโน้นคงจะเรียก ‘ผู้ดีแปดสาแหรก’ ว่า ‘ผู้ดีแปดสายแรก’ ทว่าต่อมาอาจเลือนไปจาก ‘สายแรก’ เป็น ‘สาแหรก’ เพราะลักษณะการโยงสายขึ้นไปหาบรรพบุรุษ ตั้งแต่ตัวเองขึ้นไปหาพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และทวดทางพ่อ ทวดทางแม่นั้นมีลักษณะเป็นสาแหรกเอาขาขึ้น
                เมื่อยังเด็กๆ เคยได้ยินผู้ใหญ่ปากจัดบางคนค่อนขอดพวกที่ไว้วางตัวว่าเป็นผู้ดีว่า ‘แม่พวกแปดสาแหรกเก้งไม้คาน’
                บางทีเลยทำให้เห็นว่าคำ ‘ผู้ดีแปดสาแหรก’ เป็นคำประชดประชัน เพราะคนพูดต่อคำว่า ‘เก้าไม้คาน’ ให้คล้องจองกันโดยปราศจากความหมาย ตามวิสัยของคนไทยเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบอุทานเสริมบท
                คำว่า ‘แปดสาแหรก’ นี้ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเล่าไว้ในหนังสือศรุตานุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านเอาไว้ว่า
                 “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ท่านเคยทรงพระราชดำริเล่นทายสายโลหิตของแต่ละคน มีกฎอยู่ว่า ใครรู้จักทวดแปด คือ
                ๑. พ่อของปู่
                ๒. แม่ของปู่
                ๓. พ่อของตา
                ๔. แม่ของตา
                ๕. พ่อของย่า
                ๖. แม่ของย่า
                ๗. พ่อของยาย
                ๘. แม่ของยาย
                รวมเป็นแปดสาย หรือ ‘แปดสาแหรก’ นับว่าผู้นั้นเก่ง จะได้รับพระราชทานรางวัลชมเชย”
                สังเกตว่า มิได้มีคำว่า ‘ผู้ดี’ มีแต่คำว่า ‘แปดสาแหรก’ เท่านั้น
                อาจจะรู้จักบรรพบุรุษถึงแปดสาแหรก แต่สายสกุลทั้งแปด มิได้สืบสายมาจาก ‘ผู้ดีแปดสายแรก’ ก็ได้กระมัง
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×