ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #68 : สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 944
      2
      9 ธ.ค. 52

    ฉบับที่ ๒๔๕๒ เรื่องพระราชวังดุสิต ในตอนท้ายพลั้งมือเขียนลงไปว่า เจ้าจอมมารดาเอิบ เป็นท่านเดียวของ ก๊กอ.ที่มีพระเจ้าลูกเธอ

                ที่จริงตั้งใจจะเขียนว่า เจ้าจอมมารดาอ่อนผู้ซึ่งเป็นพี่สาวคนใหญ่ (เป็นท่านเดียวที่มีพระเจ้าลูกเธอ ท่านจึงเป็น เจ้าจอมมารดา)

                ผู้อ่านหลายท่านทักท้วงเรื่องนี้มาจากหลายทาง ขอขอบพระคุณทุกท่าน ที่ได้กรุณาแสดงความสนใจอย่างยิ่งต่อบทความนี้ หากมีที่พลาดพลั้งอีกก็หวังว่าจะกรุณาทักท้วงมาอีก

                เล่าต่อถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑

                ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระสรีสุดารักษ์ได้เสกสมรสกับเจ้าขรัวเงิน (สันนิษฐานกันว่า คำว่า เจ้าขรัวนั้น ใช้สำหรับคหบดีเชื้อสายจีนผู้มั่งคั่ง และมีคนเคารพนับถือ สันนิษฐานอีกเช่นกันว่า คำนี้อาจเลือนๆ กลายเป็น เจ้าสัวหรือ เจ๊สัวก็เป็นได้)

    (จากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา เจ้าจอมมารดาอ่อน ในรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงอรประพันธ์รำไพ

                เจ้าขรัวเงิน เป็นบุตรคนที่ ๔ ของมหาเศรษฐี ซึ่งสืบเชื้อวงศ์ลงมาแต่มหาเสนาบดีเมืองปักกิ่ง ซึ่งหนีมาอยู่เมืองไทย แต่ครั้งราชวงศ์หมิงเสียแก่แมนจู เพราะไม่ยอมตัดมวยไว้หางเปียตามพวกแมนจู มารดาของเจ้าขรัวเงิน เป็นน้องร่วมบิดามารดากับภรรยาของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่)

                เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) นั้น ท่านเป็นลูกพี่ลูกน้อง กับ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ (หม่อมมุก) พระภัสดา กรมหลวงนรินทรเทวี (พระองค์เจ้ากุ พระเจ้าน้องนางเธอ ในรัชกาลที่ ๑) แล้วยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ผู้เป็นบิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ด้วย ท่านเหล่านี้ จึงเกี่ยวดองกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์

                พระโอรสธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ มีปรากฏพระนามอยู่ ๕ พระองค์ สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์พระองค์หนึ่ง

                ๑. เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (ในรัชกาลที่ ๑ สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้ใช้ว่า พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์)

                ฯเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์มีพระชันษาน้อยกว่า กรมพระราชวังหลัง (พระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์ใหญ่ ๓ พรรษา) ในแผ่นดินธนบุรี ไม่ปรากฏว่ารับราชการตำแหน่งใด ดังพระโอรสสามพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่

                ฯเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ไม่สู้จะเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) เท่าใดนัก ตามพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ประจักษ์ชัด ว่า วังหน้าโปรดปรานกรมพระราชวังหลังมากกว่า

                ทั้งนี้หากพูดกันอย่างทั่วๆ ไป ก็ต้องว่า คงเป็นเพราะกรมพระราชวังหลังท่านเป็นนักรบ รบเก่ง มาแต่ในรัชสมัยกรุงธนบุรี จนได้เป็นพระยาสุริยอภัย ส่วนฯเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ท่านไม่ใช่นักรบ ไม่ปรากฏว่ารับราชการใดๆ ในแผ่นดินธนบุรีดังกล่าว

                มีคำกล่าวถึงรัชสมัย ๔ แผ่นดิน ต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ในรัชกาลที่ ๑ นั้นใครเป็นนักรบเป็นคนโปรด รัชกาลที่ ๒ ใครเป็นกวีเป็นคนโปรดรัชกาลที่ ๓ ใครสร้างวัดเป็นคนโปรด และรัชกาลที่ ๔ ใครพูดฝรั่งรู้วิชาการฝรั่งเป็นคนโปรด

                ในรัชกาลที่ ๑ นั้น ผู้คนในแผ่นดิน ตลอดจนพระราชพงศาวดาร และจดหมายเหตุ เมื่อเอ่ยถึงพระเจ้าอยู่หัวจะใช้ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสมอ

                ครั้งหนึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เป็นแม่ทัพถือพลทหารห้าพันยกกองทัพเรือไปตีเมืองไซ่ง่อนคืนให้แก่องเชียงสือ (เจ้าญวนซึ่งหนีกบฎเข้ามาพึ่งพระบารมีในรัชกาลที่ ๑) พร้อมทั้งกองทัพไทยยกไปทางเขมร รวมกับกองทัพเขมรซึ่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ผู้สำเร็จราชการไทยกำกับดูแลเจ้านายเขมรอยู่ในขณะนั้น) เกณฑ์ให้ยกขนาบไปอีกทางหนึ่ง

                ปรากฏว่าทัพเรือของฯกรมหลวงเทพหริรักษ์ เสียทีแก่ข้าศึกถูกตีแตก ต้องถอยหนีเข้าไปพักพลอยู่ในกรุงกัมพูชา

                เมื่อกลับถึงพระนคร พระราชพงศาวดารจดไว้ว่า

                 ครั้นมาถึง ณ วันศุกร เดือนสาม แรมสิบค่ำ หนังสือบอกราชการทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ เข้ามาถึงพระนคร สมุหนายก นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงพระพิโรธ ดำรัสให้มีตราหากอบทัพกลับเข้ามาพระนคร แล้วลงพระราชอาญาจำสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งเสียทัพกับทั้งเรือรบเรือลำเลียง เครื่องสาตราอาวุธปืนใหญ่น้อยทั้งสิ้นแก่ข้าศึกนั้น

                ครั้นนานมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางทั้งสองพระองค์ กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯในกรมหลวงเทพหริรักษ์ กับทั้งท้าวพระยาข้าราชการ ซึ่งรับพระราชอาญาอยู่ในเวนจำนั้น ให้พ้นโทษด้วยกันทั้งสิ้น

                เมื่อต้น พ.ศ.๒๓๔๖ ศึกพม่าครั้งที่ ๔ พม่าจะยกมาตีเชียงใหม่ ซึ่งเวลานั้นพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าครองนคร เป็นประเทศราชขึ้นแก่กรุงรัตนโกสินทร์

                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงโปรดฯให้ ฯกรมหลวงเทพหริรักษ์ และเจ้าพระยายมราชยกทัพขึ้นไปทัพหนึ่ง เจ้าอนุคุมทัพลาวเวียงจันทน์ทัพหนึ่ง ยกไปรักษาเมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็เสด็จยกทัพตามขึ้นไปด้วย

                กองทัพพม่าเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ ขณะที่กองทัพของ ฯกรมหลวงเทพหริรักษ์ เจ้าพระยายมราช เข้าตีลำพูนที่พม่ารักษาเมืองอยู่แตก และยับยั้งทัพอยู่ที่ลำพูน

                ฝ่ายกรมพระราชวังมหาสุรสิงหนาท เมื่อยกทัพวังหน้าตามไปนั้น ไปทรงพระประชวรที่เมืองเถิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงโปรดฯให้กรมพระราชวังหลัง ยกทัพตามขึ้นไปยังเมืองเถิน

                 กรมพระราชวังหลังเห็นเสด็จยกขึ้นไปถึงเมืองเถิน เห็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงพระประชวนพระอาการมาก พระองค์ซูบผอมอยู่แล้วลงบันทมอยู่ในพระสาคร กรมพระราชวังหลังก็ทรงพระกันแสง

                แลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรฯ ตรัศกับการพระราชวังหลังว่า จะขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่นั้น เห็นจะไม่ได้แล้ว ให้กรมพระราชวังหลัง เสด็จขึ้นไปแทนพระองค์เถิด จึ่งพระราชทานพระแสงดาบให้กรมพระราชวังหลังขึ้นไปด้วยพระองค์หนึ่ง แล้วให้มหาดไทร่างตราใจความนั้นว่า ให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปแทนพระองค์ ถ้ากรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปถึงกองทัพกรุง (กองทัพหลวง-จุลลดาฯ) แล้วให้เร่งรดมเข้าตีพม่าเอาเมืองเชียงใหม่คืนให้จงได้ อย่าให้คิดว่าพี่น้องเอาแต่การแผ่นดินตามอาญาทัพศึก

                เมื่อกรมพระราชวังหลังจะทูลลากรมพระราชวังบวรฯ ออกจากเมืองเถินนั้น เห็นพระองค์ทรงพระประชวนมากอยู่ ก็ทรงพระกันแสงมิใคร่จะเสด็จไป จึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ ตรัศกับกรมพระราชวังหลังว่า เจ็บไข้ยังไม่เป็นไรดอก จะเอาชีวิตรไว้ถ้าให้ได้ เร่งขึ้นไปเถิด

                (พระราชพงศาวดาร ร.๑ ฉบับ ร.ร. สวนกุหลาบ)

                รับสั่งว่าจะทรงคอยท่า ก็ทรงคอยอยู่จนกระทั่ง กรมพระราชวังหลังทรงได้ชัยชนะกลับมา

                ในพระราชพงศาวดารจดเรื่องราวเอาไว้ตั้งแต่กองทัพวังหน้าซึ่งกรมพระราชวังหลังเป็นแม่ทัพยกไปเอาไว้ว่า

                 ฝ่ายกองทัพพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ แลกองทัพกรมขุนสุนทรภูเบศร์ (กรมขุนสุนทรภูเบศร์ เดิมชื่อจีนเรือง เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับกรมพระวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อสถาปนาพระบรมวงศ์ จึงโปรดฯให้เป็นเจ้าทรงกรมโดยเฉพาะองค์เดียว ลูกหลานมิได้เป็นเจ้าด้วย-จุลลดาฯ) ก็เร่งยกทัพออกจากเมืองลำพูนไปช่วยเมืองเชียงใหม่ ตั้งค่ายล้อมพม่าไว้ แลกรมพระราชวังหลัง ทูลลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรฯ จากเมืองเถิน แล้วรีบขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ ไปทางริมแม่น้ำ ไปถึงกองทัพที่ตั้งอยู่เมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังหลังจึ่งให้หานายทัพนายกองมาพร้อมกัน แล้วเชิญท้องตรารับสั่งอ่านให้ฟัง แล้วกรมพระราชวังหลังจึ่งมีพระราชบัญชา สั่งให้นายทัพนายกองให้ตีพม่าให้แตกในเวลาพรุ่งนี้ ไปกินเข้าเช้าในเชียงใหม่ให้จงได้ ถ้าผู้ใดย่อท้อก็จะทำโทษตามอัยการศึก

                นายทัพนายกองพร้อมกันทั้งทัพกรมพระราชวังหลัง แลทัพในพระราชวังน่า แลทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ ยกรดมคนเข้าตีค่ายพม่า ซึ่งล้อมเมืองเชียงใหม่ แต่เวลาสามยาม...ฯลฯ...”

                กรมพระราชวังหลังนั้น ท่านเคยเป็น ยอดทหารของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาแล้ว ในการตีค่ายพม่าครั้งนี้เห็นได้ว่าทรงใช้วิธีการของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งตีค่ายเมืองจันทบุรีนั่นเอง

                ปรากฏว่ากองทัพไทย ปีนค่ายพม่าได้ทุกค่าย พม่าแตกหนีไปแต่ไม่มีผู้ใดติดตามจับพม่า อินแซหวุ่นแม่ทัพใหญ่หนีไปได้ แล้วพระยาเชียงใหม่ จัดพวกลาวในเมืองเชียงใหม่พันเสศ ให้ตามพม่าติดไปทีเดียว สั่งพวกลาวว่าถ้าพบพม่าแล้วอย่าให้จับเป็น พวกลาวเห็นพม่าก็จับฆ่าเสียสิ้น

                (พระราชพงศาวดาร ร.๑ ฯ)

                กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท นั้น เมื่อพระโรคค่อยคลายก็เสด็จกลับพระนครพร้อมกับกรมพระราชวังหลัง

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จทรงเยี่ยมพระประชวน และทรงถามข้อราชการ กรมพระราชวังบวรฯ ก็กราบทูลกล่าวโทษฯกรมหลวงเทพหริรักษ์ กับเจ้าพระยายมราชว่าไปถึงเมืองลื้อแล้วถอยทัพลงมาตั้งอยู่ใต้ทางเมืองลื้อ

                 ต่อทัพวังน่า ขึ้นไปถึงเมืองลำพูนแล้ว จึ่งได้ยกขึ้นไป แลกองทัพซึ่งยกไปตีพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่นั้น พวกกองทัพวังน่าตีได้ก่อน ทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์แลทัพเมืองเวียงจันทน์นั้นก็มาไม่ทัน (พระองค์) จึงปรับโทษกรมหลวงเทพหริรักษ์ เจ้าพระยายมราชให้ไปตีเมืองเชียงแสนกับด้วยเจ้าอนุ(พระราชพงศาวดาร ร.๑ ฯ)

                 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสว่า กรมพระราชวังหลังตีพม่าแตกไปแล้ว ทำไมจึ่งไม่รีบยกติดตามไปกระทำมันเสียให้ยับเยิน กรมพระราชวังบวรฯ จึ่งกราบทูลแก้ไขว่า กรมพระราชวังหลังเห็นว่าข้าพระพุทธเจ้าป่วยมากอยู่ ภอตีทัพแตกก็รีบกลับลงมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งหายขัดเคืองกรมพระราชวังหลัง

                (พระราชพงศาวดาร ร.๑ ฯ)

                ทั้งสามพระองค์ สวรรคต ทิวงคต และสิ้นพระชนม์ ในเวลาไล่เลี่ยกัน

                สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๔๖

                พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ สิ้นพระชนม์ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๓๔๘

                กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๔๙

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×