ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #57 : พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 958
      2
      8 ธ.ค. 52

     

    พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ๕ พระองค์ ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงในรัชกาลที่ ๕ แต่ละพระองค์ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงผูกดวงพระชะตา พร้อมคาถาพระราชทานพระนาม พระราชทานให้เมื่อประสูติ ทว่ามีปรากฏอยู่เพียง ๔ พระองค์ พระองค์ใหญ่คือ พระองค์เจ้าทักษิณชานราธิราชบุตรี นั้นไม่ปรากฏคาถาพระราชทานพระนามรวมทั้งอีกสองพระองค์ใหญ่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ฯ และพระองค์เจ้าโสมาวดีฯ ก็ไม่ปรากฏ พระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ๘๔ พระองค์ท่านทรงรวบรวมคาถาพระราชทานพระนามได้เพียง ๔๑ พระองค์เท่านั้น นับตั้งแต่พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล (กรมหลวงพิชิตปรีชากร) พระราชโอรสลำดับที่ ๒๐ เป็นพระองค์แรกลงไป

    พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี)
    พระองค์เจ้าทักษิณชานราธิราชบุตรี พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง พระองค์แรก ในรัชกาลที่ ๕
    พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี)
    พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
    พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี)

                พระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ (เว้นแต่พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ ซึ่งยังไม่ทันจะได้รับพระอิสริยยศ พระนางเธอ พระนางเจ้า และสมเด็จพระนางเจ้า ดังอีก ๔ พระองค์ ก็มีเหตุให้ทรงประชวรตั้งแต่พระราชโอรสสิ้นพระชนม์เสียแต่วันแรกประสูติ) ลำดับตามพระชันษา คือ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี นั้น หากพิจารณาตามคำแปลคาถาพระราชทานพระนาม จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

    ทรงพระปรีชาในการผูกดวงชะตา ทรงทายทักดวงพระชะตาพระราชธิดา

    แต่ละพระองค์อย่างแม่นยำ แต่ละพระองค์ นอกจากพระพรตามธรรมดาๆ เช่น ให้มีความสุข ไม่มีโรค มั่งคั่ง ฯลฯ แล้ว จะทรงเน้นพระพรพิเศษแตกต่างกันออกไป ตามที่คงจะได้ทรงมีพระวิจารณญาณต่อดวงพระชะตานั้นๆ

                พระพรพิเศษ พระราชทาน พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงขอให้พระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ ทั้งเทพดาอารักษ์ ช่วยปกปักรักษาให้พ้นจากอันตราย

                พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชทานพระพรพิเศษให้ได้ที่พึ่งอันบริบูรณ์ด้วยกำลังเป็นที่ต้องใจ

                พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระพรพิเศษ คือ ให้เป็นผู้ประเสริฐ ไม่มีใครเลิศขึ้นกว่า ตั้งอยู่ในวงศ์ของบิดาจนสิ้นกาลนาน คือพระชนมายุยืนนาน

                พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี นั้น พระราชทานพรพิเศษยาวกว่าพระองค์อื่นๆ

    ให้เป็นผู้มีอำนาจ ให้รักษาไว้ซึ่งยศของบิดามารดา พี่ชาย น้องหญิง ให้ดีงามในกาลทั้งปวง

                คำแปลคาถาพระราชทานพระนาม พระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ โดยละเอียดว่าดังนี้

                พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่พากันออกพระนามตามเหตุที่บังเกิดขึ้นว่า สมเด็จพระนางเรือล่มบ้าง พระนางเรือล่ม บ้าง) ว่า

                 พระองค์เจ้าหญิงองค์นี้ ทรงนามว่า สุนันทากุมารีรัตน์ อย่างนี้ ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากทุกข์และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก มีโภคมาก มียศและบริวารไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับทั้งอารักขเทพดา จงช่วยอภิบาลรักษา พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์นั้น ให้พ้นไปจากอันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแก่พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ

                พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี (พระนางเธอ พระองค์เจ้าฯ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) ว่า

                 ธิดาของเราผู้บังเกิดแต่สำลีนี้ จงปรากฏโดยนามว่า สุขุมาลมารศรี จงทรงนามนั้นไว้ มีสุขเสมอ อนึ่งจงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีบริวาร งดงาม ไม่มีโรค ไม่ลำบาก เจริญโดยลำดับ จงได้ซึ่งที่พึ่งอันบริบูรณ์ด้วยกำลังเป็นที่ต้องใจ

                สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯนี้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทรงมีพระราชโอรส ๑ พระราชธิดา ๑ และ สมเด็จพระราชโอรสนั้น ในรัชกาลที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๗ ทรงเป็น กำลังสำคัญของแผ่นดินตลอดมา สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ทรงสนิทเสน่หาพระราชโอรสยิ่งนัก สมเด็จพระราชโอรสก็ทรงเคารพรักพระชนนีนักหนา และทรงประพฤติพระองค์เป็น ที่พึ่งของพระชนนีตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ สมดังพระพรพิเศษของสมเด็จพระบรมชนกนาถที่ได้พระราชทานพระชนนีไว้

                พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ว่า

                 พระนามซึ่งชื่อว่าสว่างวัฒนานี้ พระราชทานให้แก่พระราชกุมารีองค์ใด พระราชกุมารีองค์นั้นผู้เป็นบุตรี จงมีความสุข อย่ามีโรคและอย่ามีความวุ่นวายเลย จงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก จงมียศสมบัติเป็นผู้ประเสริฐ ไม่มีใครเลิดขึ้นกว่า จงตั้งอยู่ในวงศ์ของบิดาสิ้นกาลนานเทอญ

                พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี เมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯสถาปนาพระองค์เจ้าสุนันทาฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี พระองค์แรก และสถาปนา พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี ในวาระนั้นด้วย

                ต่อมาถึงแม้ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สวรรคตแล้ว และพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงสถาปนา สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ขึ้นเป็น มกุฎราชกุมารแทน และโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จฯเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็มิได้ลดพระอิสริยยศ พระบรมราชเทวีลง จึงทรงเป็นพระบรมราชเทวี อันเป็นตำแหน่งพระอัครมเหสี คู่กันกับพระบรมราชินีนาถ ตลอดมาในรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๖ จึงได้โปรดฯให้มีการจัดลำดับพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ ๕ เป็นระเบียบลดหลั่นกันไปตามพระอิสริยยศ คือ

                ๑. พระบรมราชินีนาถ เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสี (และทรงเติมว่า หากพระอัครมเหสี มิได้เคยทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ พระอิสริยยศ คือ พระบรมราชินีไม่มีคำว่า นาถต่อเมื่อทรงสำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์จึงจะออกพระนามว่า พระบรมราชินีนาถ)
                ๒. พระบรมราชเทวี ตำแหน่งเอกอัครมเหสีเดิม
                ๓. พระราชเทวี (พระอัครราชเทวี)
                ๔. พระอัครชายา
                ๕. พระราชชายา

                สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯจึงทรงพระเกียรติยศคงที่อยู่แม้จะมีตำแหน่งพระบรมราชินีนาถเพิ่มขึ้นมาในรัชกาลที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๖ พระองค์ท่านทรงเป็นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า (ป้าทางแม่) คู่กันกับสมเด็จพระพันปีหลวง ถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาพระอิสริยยศสูงสุดเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า แล้วทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลที่ ๘ และ รัชกาลที่ ๙

                เห็นได้ว่า สมดังพระพรที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานไว้ว่า

                 เป็นผู้ประเสริฐไม่มีใครเลิศขึ้นกว่า

                พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (พระนางเธอฯ พระนางเจ้าฯ พระวรราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระอรรคราชเทวี และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ออกพระนามกันในรัชกาลที่ ๖ ว่า สมเด็จพระพันปีหลวง) ว่า

                 พระราชธิดาองค์นี้ ทรงพระนามว่า เสาวภาผ่องศรี เป็นพระราชบุตรีที่รัก จงมีความสุข อย่ามีโรค มียศอันประเสริฐ จงอย่ามีโทษในกาลทั้งปวงเลย อันใครผู้ใดผู้หนึ่งไม่พึงคุมเหงได้ จงมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติมาก เป็นผู้มีอำนาจ ไม่หวั่นไหวด้วยเหตุเป็นอันมาก จงรักษาไว้ซึ่งยศของบิดามารดาพี่ชาย น้องหญิง ให้ดีให้งามในกาลทั้งปวง ด้วยอานุภาพของพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น จงช่วยอภิบาลรักษาพระราชธิดาที่ทรงนามว่า เสาวภาผ่องศรีในกาลทั้งปวงเทอญ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×