ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #53 : ตำนาน "วังหน้า" และ "วังหลัง"

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.34K
      0
      8 ธ.ค. 52

    เรื่อง ‘วังหลัง’ หรือ ‘กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข’ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ‘กรมพระราชวังหลัง’ มีผู้ถามกันมามากเช่นกัน
                 ‘วังหน้า’ นั้นเรียกวังของพระมหาอุปราชกรมพระราชวัง รับพระบัณฑูร แรกเริ่มมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ รัชกาลที่ ๘ พระบรมราชวงศ์เชียงราย แห่งกรุงศรีอยุธยา เหตุที่ทรงตั้งพระมหาอุปราชวังหน้า ก็เพื่อมิให้เกิดแย่งชิงราชสมบัติกัน เหมือนเมื่อครั้งเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา ยกทัพมาจากเมืองลูกหลวงแย่งชิงราชสมบัติกันจนถึงแก่สิ้นพระชนม์ด้วยกันทั้งคู่ ราชสมบัติจึงตกแก่เจ้าสามพระยา พระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
                 ‘วังหน้า’ พระองค์แรกคือ พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระนามว่า พระอินทราชา ต่อมาเมื่อ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สวรรคต ‘วังหน้า’ ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระอินทราชาที่ ๒ รัชกาลที่ ๙ พระบรมราชวงศ์เชียงราย
                 ‘วังหน้า’ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้ตั้งทุกรัชกาล บางรัชกาลก็ไม่ได้ตั้ง หรือไม่ทันตั้ง เพราะมีเหตุให้เปลี่ยนราชวงศ์อยู่บ่อยๆ พระเจ้าแผ่นดิน ๓๓ พระองค์ ราชวงศ์ ๕ ราชวงศ์ มี ๑๒ แผ่นดินเท่านั้นที่ตั้ง พระมหาอุปราชวังหน้า ๑๒ พระองค์
                ส่วน ‘วังหลัง’ หรือกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เพิ่งจะมีขึ้นในรัชกาล
    สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (รัชกาลที่ ๑๗ ของกรุงศรีอยุธยา และที่ ๑ แห่งบรมราชวงศ์เชียงราย-สุโขทัย เป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ สมเด็จพระเอกาทศรถ
                ในรัชกาลนี้โปรดให้ สมเด็จพระนเรศวร ประทับวังด้านหน้าพระราชวัง และทรงสร้างวังทางด้านหลังพระราชวัง พระราชทานสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงเรียกกันว่า ‘วังหลัง’ คู่กันกับ ‘วังหน้า’
                ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (รัชกาลที่ ๒๗ กรุงศรีอยุธยา ที่ ๔ แห่งบรมราชวงศ์ปราสาททอง) ไม่ได้ทรงตั้งมหาอุปราชวังหน้า แต่โปรดให้พระราชอนุชาพระองค์หนึ่ง คือ พระไตรภูวนาถทิตยวงศ์ ประทับอยู่วังหลัง
                 ‘วังหลัง’ ในสองรัชกาลนี้ เป็นแต่ที่ประทับยังมิได้เป็น ‘กรมพระราชวังหลัง’
                ถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (รัชกาลที่ ๒๘ กรุงศรีอยุธยา เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ถึงรัชกาลที่ ๒๙ พระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงเสือ ขุนหลวงสรศักดิ์ ย้อนกลับเข้าราชวงศ์ปราสาททองอีกครั้งหนึ่ง เพราะถือว่าขุนหลวงเสือเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นราชวงศ์ปราสาททองต่อกันมาอีก ๔ พระองค์จนเสียกรุง)
                ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชานี้เอง ที่มีทั้ง ‘วังหน้า’ และ ‘วังหลัง’ ‘วังหน้า’ เรียกว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ‘วังหลัง’ เรียกว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข’
                กรมพระราชวังหลัง หรือ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ในรัชสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ในรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีเพียงพระองค์เดียวเช่นกัน
                เรื่อง กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข นี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์อธิบายไว้ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๕ ไว้อย่างชัดเจน อย่างอ้างอิงได้ ดังนี้
                 “คำว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ มีเรื่องตำนานมาแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
                เมื่อรวมคนหัวเมืองเหนือลงมาตั้งสู้ศึกพม่าที่พระนครศรีอยุธยา ครั้งนั้น พระนเรศวรสร้างวังเป็นที่ประทับอยู่ทางด้านหน้าพระราชวังหลวง คนทั้งหลายคงเรียกวังนั้นตามนามวังที่เคยเสด็จประทับ ณ เมืองพิษณุโลกว่า ‘วังจันทร์’ บ้าง เรียกว่า ‘วังหน้า’ บ้าง (แต่สมเด็จพระนเรศวรมิได้ทรงรับ พระมหาอุปราชวังหน้า ณ กรุงศรีอยุธยา หากแต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ราชบิดา โปรดให้เสด็จกลับขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาหัวเมืองเหนือ มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าพระมหาอุปราชกรมพระราชวัง หรือ ‘วังหน้า’ ที่แล้วๆ มา-จุลลดาฯ)
                สันนิษฐานว่าครั้งนั้นคงสร้างวังขึ้นที่สวนหลวงด้านหลังพระราชทานพระเอกาทศรถอีกวัง ๑ คนทั้งหลายก็เรียกกันว่า ‘วังหลัง’ จึงเกิดมี วังหลวง วังหน้า และวังหลังขึ้นแต่ครั้งนั้นมา
                ครั้นมาถึงรัชกาลสมเด็จพระศรีสุธรรมาธิราช (พ.ศ. ๒๑๙๙) สมเด็จพระนารายณ์ฯได้เป็นพระมหาอุปราช ประทับอยู่ที่วังหน้า แล้วเกิดรบกันขึ้นกับสมเด็จพระศรีสุธรรมาธิราช (พระเจ้าอาของพระนารายณ์ฯ-จุลลดาฯ) สมเด็จพระนารายณ์ฯได้ราชสมบัติ แต่ไม่เสด็จมาอยู่วังหลวง
     ประทับอยู่ที่วังหน้าต่อมาอีกหลายปี สันนิษฐานว่า เห็นจะเปลี่ยนนามวังจันทร์เกษม (ซึ่งเรียกมาแต่ครั้งพระนเรศวรฯ-จุลลดาฯ) เป็น ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ ในตอนนี้ เพราะเป็นพระราชวังและเป็นมงคลสถานที่ได้เสวยราชย์
                ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯนั้นปรากฏว่า พระไตรภูวนาถทิตยวงศ์ ราชอนุชาองค์ ๑ ได้ประทับอยู่ ณ วังหลัง แต่หาได้เพิ่มยศศักดิ์อย่างใดไม่
                ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาธิราช ตั้งราชวงศ์ใหม่ จะตั้งให้หลวงสรศักดิ์ผู้เป็นบุตร เป็นพระมหาอุปราช และจะตั้งนายจบคชประสิทธิ์ผู้เป็นหลาน เป็นเจ้าชั้นสูง รองแต่พระมหาอุปราชลงมา ให้อยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล คือ วังหน้า องค์หนึ่ง ให้อยู่วังหลังองค์หนึ่ง
                จึงเอาระเบียบการตั้งกรมเจ้านายบังคับบัญชา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงบัญญัติขึ้น มาใช้ให้ขนานนามข้าราชการบรรดาที่มีตำแหน่งขึ้นอยู่ในพระมหาอุปราช เรียกรวมกันตามชื่อวังว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’
                แล้วเอาแบบนั้นไปตั้งขึ้นสำหรับ วังหลังเรียกนามว่า‘กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข’
                จึงเกิดนามเรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข แต่นั้นสืบมา”
                กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลัง กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีเพียงพระองค์เดียว ในรัชกาลที่ ๑ ได้เคยเล่าเรื่องของท่านตลอดจนพระโอรสชั้นผู้ใหญ่ที่ได้ทรงกรม ที่เรียกกันว่า ‘เจ้าสามกรม’ มาแล้ว
                จึงขอเท้าความแต่เพียงสั้นๆ ว่า ‘กรมพระราชวังหลัง’ ท่านเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ใน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ พระอินทรักษา (หม่อมเสม) เป็นพระบิดา
                พระอินทรักษา (หม่อมเสม) เป็นบุตรชายใหญ่ของพระยากลาโหมราชเสนา อธิบดีกรมกลาโหมฝ่ายพระราชวังบวรสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์
                 “กรมพระราชวังหลัง” เดิมท่านมีพระนามว่าทองอิน ประสูติรัชสมัยพระเจ้าบรมโกษ เมื่อ พ.ศ.๒๒๘๙ ท่านจึงมีพระชันษาสูงกว่า สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ถึง ๒๑ ปี
                ในรัชสมัยกรุงธนุบรี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวง รับราชการจนกระทั่งเลื่อนเป็น พระยาสุริยอภัย ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา ศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศ เสมอเจ้าพระยา
                เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์
                เมื่อชนะศึกพม่า มีความชอบ จึงโปรดเกล้าฯเพิ่มพระเกียรติยศ สถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข รับพระบัญชาตามแบบอย่างกรมพระราชวังหลัง แต่ครั้งสมเด็จพระเพทราชา
                กรมพระราชวังหลัง มีพระอัครชายา พระนามว่าทองอยู่ เมื่อสถาปนาพระบรมราชวงศ์ โปรดฯ ให้ทรงศักดิ์เป็น เจ้าครอกทองอยู่ เรียกกันว่า ‘เจ้าข้างใน’ บ้าง ‘เจ้าครอกข้างใน’ บ้าง “เจ้าครอกใหญ่’ บ้าง
                ที่เรียกว่า ‘เจ้าครอกใหญ่’ สันนิษฐานกันว่า คงจะเรียก พระอัครชายา (เจ้าศิริรจจา หรือศรีอโนชา) ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่า ‘เจ้าครอก’ เช่นกัน จึงทำให้น่าจะมีทั้งเจ้าครอกใหญ่ และเจ้าครอกน้อย นี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ยังไม่มีเอกสารยืนยัน
                เจ้าครอกทองอยู่ เดิมท่านเป็นชาววังสมัยอยุธยา เป็นข้าหลวงสำนัก เจ้าฟ้าหญิงจันทวดี
                ตามพระราชพงศาวดาร ฉบับ คำให้การขุนหลวงหาวัด ที่พม่าจดเอาไว้ ว่า เจ้าฟ้าหญิงจันทวดี เป็นพระขนิษฐาของเจ้าฟ้าหญิงพินทวดี ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชธิดา ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวสาน้อย) ส่วนพระพันวสาใหญ่ คือกรมหลวงอภัยนุชิต)
                เจ้าฟ้าหญิงจันทวดี นั้น เมื่อกรุงแตก ไม่ปรากฏพระองค์ เช่นเดียวกับเจ้านายอีกหลายๆ พระองค์ มีแต่เจ้าฟ้าหญิงพินทวดี ที่ทรงรอดมาได้ เมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงอุปถัมภ์ยกย่องให้เสด็จอยู่ในวัง เป็นหลักในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีฝ่ายใน จนถึงแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มหาราช ก็ทรงยกย่อง เชิญเสด็จเข้าประทับในพระบรมมหาราชวัง เช่นกัน สมเด็จเจ้าฟ้าพินทวดี ทรงเจริญพระชันษาเสด็จอยู่มาจนสิ้นรัชกาลที่ ๑
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×