ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #52 : พระราชโอรส พระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัว

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 718
      2
      8 ธ.ค. 52

    เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช          ทรงมีสมเด็จพระราชโอรส ประสูติแต่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ๒ พระองค์
                โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ใหญ่เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และพระองค์เล็ก เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์
                พระชนมายุห่างกัน ๕ พรรษา           พระองค์ใหญ่ประสูติ พ.ศ.๒๓๑๐ พระองค์เล็กประสูติ พ.ศ.๒๓๑๕ ในแผ่นดินกรุงธนบุรี
                เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต พ.ศ.๒๓๔๖ ถึง พ.ศ.๒๓๔๙ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานอุปราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นเป็น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ กรมขุนเสนานุรักษ์ ซึ่งเลื่อนเป็นกรมหลวงแล้ว รับพระบัณฑูรด้วย ในปลายรัชกาลที่ ๒ ครั้งนั้นเจ้านายข้าราชการถวายบังคมทูลพระกรุณา ออกพระนามว่า พระบัณฑูรใหญ่ และพระบัณฑูรน้อย ซึ่งหากสิ้นรัชกาล แม้พระบัณฑูรใหญ่จะมีเหตุบังเอิญมิได้รับราชสมบัติ พระบัณฑูรน้อย ก็จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบแทนสุต่อไป มิให้เกิดการวุ่นวาย
                คำเล่าลือต่อๆ กันมา แม้ในเอกสารพระนิพนธ์ในเจ้านายเก่าๆ ก็มีปรากฏว่า พระบัณฑูรน้อยนั้น ขณะทรงพระชันษาหนุ่มๆ ในรัชกาลสมเด็จพระราชบิดา ทรงมีพระรูปพระโฉมงดงามนัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า โปรดฯให้สร้างเครื่องทรงเครื่องต้นสำหรับพระราชพิธีต่างๆ เมื่อสร้างเสร็จ มักโปรดฯให้พระบัณฑูรน้อยทรง ถวายให้ทอดพระเนตร
                ถึง พ.ศ.๒๓๕๒ อีกเพียง ๒-๓ ปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็เสด็จสวรรคต
                พระบัณฑูรใหญ่ ทรงรับราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒ ปรากฏพระนามในเวลาต่อมา ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตามพระนามพระพุทธรูป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงสร้างถวายพระบรมชนกนาถ เพื่อให้เรียกแผ่นดินในรัชกาลที่ ๒ ว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นคู่กันกับเรียกแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตามพระนามพระพุทธรูป ซึ่งทรงสร้างถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช เช่นกัน มิให้เรียกกันว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง เพราะทรงรังเกียจว่า เมื่อมีแผ่นดินต้น แผ่นดินกลางรัชกาลของพระองค์ก็จะกลายเป็นแผ่นดินปลาย อันเป็นอัปมงคล
                พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดเกล้าฯ ตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราช พระบัณฑูรน้อยเป็น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จสถิตพระราชวังบวรฯ หรือวังหน้า
                พระราชวังบวรสถานมงคลนั้น แต่เดิมเรียกกันว่า พระราชวังบวรฯ เพิ่งมาเปลี่ยนในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่ง ‘วังหน้า’ เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ พระเกียรติยศสูงกว่า พระมหาอุปราช กรมพระราชบวรสถานมงคล แต่ก่อนมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้เรียกว่า ‘พระบวรราชวัง’ คำสั่งก็โปรดฯให้ใช้ว่า ‘พระบวรราชโองการ’ คู่กันกับ ‘พระบรมราชโองการ’ มิได้ใช้ว่า ‘พระบัณฑูร’ อย่างพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรฯ
     
                พระบัณฑูรน้อยในรัชกาลที่ ๑ หรือ สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาเสนานุรักษ์            ในรัชกาลที่ ๒ ทรงมีพระชายา แต่ดั้งเดิม เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เดิมพระนามว่า พระองค์เจ้าสำลีวรรณ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เรียกกันว่า คุณสำลี
                พระราชโอรสธิดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ในรัชกาลที่ ๑ ยกย่องเรียกกันว่า ‘คุณ’ บ้าง ‘หม่อม’ บ้าง แต่ถึงชั้นนัดดา (หลวงปู่) คือชั้นที่ ๓ เรียกกันว่า ‘คุณชาย’ และ ‘คุณหญิง’ เรื่องเรียกชั้นนัดดาว่า ‘คุณหญิง’ นี้ พอจะยืนยันได้ เพราะมีท่านผู้หนึ่ง ชื่อ คุณหญิงพลับ ธิดา คุณพงศ์ (หรือพระพงศ์นรินทร์ หรือเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์) คุณหญิงพลับได้เป็นหม่อมห้ามในกรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าลดาวัลย์) ในวังก็เรียกกันว่าคุณหญิงพลับ เรื่อยมา
                คุณสำลี หรือสำลีวรรณ เป็นธิดาของเจ้าจอมมารดาอำพัน มีพี่ชายร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันคือ พระองค์เจ้าชายอรนิกา (ในรัชกาลที่ ๑ เรียกกันว่า คุณหนูคำ)
                เล่าเสริมสักนิดว่า เจ้าจอมมารดาอำพันนั้น เป็น ธิดาของอุปราชจันทร์แห่งเมืองนครศรีธรรม ราช คนแรก
                เรื่องราวของ ‘อุปราชจันทร์’ ตาของเจ้าจอมมารดาสำลีวรรณในสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาเสนานุรักษ์ มีเรื่องราวยืดยาวอยู่ว่า
                เมื่อตอนที่กรุงศรีอยุธยาแตก เวลานั้นเมืองนครฯ ว่างเจ้าเมืองอยู่ เพราะพระยาศรีธรรมโศกราช ถูกอุทธรณ์ต้องถอดออกจากตำแหน่งมาก่อนหน้านี้ หลวงนายสิทธินายเวร พระปลัดเมืองจึงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครฯ
                ส่วนอุปราชจันทร์ เดิมเป็นหลวงฤทธิ์นายเวร มหาดเล็กกรุงศรีอยุธยา มีภรรยาชื่อบุนนาค บุนนาคเป็นธิดาของพระยาวิชิตณรงค์ พี่ชายร่วมสายโลหิตกับหลวงนายสิทธิ ซึ่งกำลังตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองนครฯอยู่
                กรุงศรีอยุธยาแตก หลวงฤทธิ์นายเวร (อุปราชจันทร์) จึงพาบุตรภรรยา หนีไปเมืองนครฯ
                เพราะหลวงฤทธิ์นายเวร (อุปราชจันทร์) เป็นข้าราชสำนักเก่า รู้เรื่องราวขนบธรรมเนียมราชประเพณีดี เมื่อเจ้าเมืองนครฯ (หลวงนายสิทธิ) ตั้งตัวเป็นเจ้าได้ปรึกษาถึงราชพระเพณีต่างๆ กับหลวงฤทธิ์นายเวร (อุปราชจันทร์) แล้วตั้งหลวงฤทธิ์นายเวรเป็นกรมพระราชวังบวรฯ วังหน้าเมืองนครฯ           ส่วนท่านบุนนาคเรียกว่าเจ้าครองข้างใน ธิดาชื่ออาพันที่ติดตามไปด้วย ตั้งเป็นพระองค์เจ้า ‘วังหน้า’ นั้น คนทั้งหลายเรียกกันว่า ‘อุปราชจันทร์’
                ต่อมาเมื่อสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว ทรงยกกองทัพไปปราบปรามทางใต้ ตีได้เมืองนครฯ ชุมพร ไชยา สงขลา อย่างง่ายดาย เจ้านครฯ อุปราชจันทร์ และเจ้าเมืองสงขลา หนีไปพึ่งเจ้าเมืองตานี เจ้าเมืองตานีเกรงพระเดชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงส่งตัวถวายทั้ง ๓ คน เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงจัดการบ้านเมืองทางใต้เรียบร้อยแล้ว          โปรดฯให้พระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริวงศ์ครองเมืองนครฯ (ครองได้ ๗ ปีก็พิราลัย) ส่วนเจ้านครฯ อุปราชจันทร์ นั้นทรงนำตัวไปกรุงธนบุรีด้วย
                สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงพระราชดำริ ทั้งเจ้านครฯ แ อุปราชจันทร์มิได้มีความผิด เพราะในขณะที่กรุงศรีอยุธยาแตก ต่างคนต่างก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ จึงโปรดฯให้รับราชการในกรุงธนบุรีได้ตามเสด็จฯไปทัพศึกหลายคราว จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงโปรดฯให้เจ้านครฯกลับออกไปครองเมืองนครฯ ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัตร เป็น พระเจ้านครศรีธรรมราช มีเกียรติยศเสมอเจ้าประเทศราช ตั้งคุณพัฒน์บุตรเขยพระเจ้านครฯ เป็น อุปราชพัฒน์
                ส่วนอุปราชจันทร์นั้น สมัครรับราชการต่อไปในกรุงธนบุรี ได้ถวายธิดาคนเดียวคือคุณอำพันเป็นเจ้าจอมในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ประสูติพระราชโอรส ๑ พระราชธิดา ๑ คือพระองค์เจ้าอรนิกา และพระองค์เจ้าสำลีวรรณ
                อุปราชจันทร์ ในแผ่นดินกรุงธนบุรีได้เป็นที่เจ้าพระยาสุรินทราชา ออกไปเป็นเจ้าเมืองถลาง ดูแลหัวบ้านหัวเมืองทางใต้และอยู่เมืองถลางจนถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นสกุล ‘จันทโรจวงศ์’
                เจ้าจอมมารดาสำลีวรรณนี้ พิเคราะห์ตาม พ.ศ.ประสูติพระราชโอรสพระองค์แรกของท่าน คือ พ.ศ.๒๓๓๔ สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาเสนานุรักษ์ พระชนมายุเพิ่งจะ ๑๙ ตามคำบอกเล่ากันมาว่าเจ้าจอมมารดาสำลีเห็นจะเป็น ‘รักแรก’ ของ สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ เช่นเดียวกับที่ คุณศรี (หรือสี) ธิดาของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด บุณยรัตพันธ์) เป็น ‘รักแรก’ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ แต่ครั้งแรกปลายกรุงธนบุรี
                แต่เมื่อเวลาโปรดปรานคุณสำลีวรรณ นั้น ล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว คุณสำลีวรรณ เห็นจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน กับสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ หรืออาจจะอ่อนกว่า รูปโฉมคงจะงดงาม เพราะเล่ากันมาในเชื้อสายของท่านว่าท่านเป็นที่สนิทเสน่หาของพระราชสวามีเป็นอย่างมาก ในระยะเวลา ๙ ปี มีพระราชโอรสธิดา ถึง ๕ พระองค์
                พระราชโอรสพระองค์แรก ประสูติ พ.ศ.๒๓๓๔ สิ้นพระชนม์ แต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ และเจ้าจอมมารดาสำลี
                พระราชธิดา ๒ พระองค์ และพระราชโอรสสุดท้าย ล้วนแต่ได้รับพระราชทาน พระนามซึ่งมีความหมายว่า เป็นเชื้อสายกษัตริย์สองพระองค์ คือ พระราชวงศ์จักรี และพระราชวงศ์กรุงธนบุรี คือ
                พระองค์เจ้าหญิงประชุมวงศ์พระนามมีความหมายชัดอยู่แล้ว พระองค์เจ้าหญิงนัดดา (หมายถึงพระราชนัดดา ใน สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ) และพระองค์เจ้าชายพงศ์อิศเรศ (พงศ์กษัตริย์ ทั้งทางฝ่ายพระราชบิดา และเจ้าจอมมารดา) เมื่อพระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศ ทรงกรมในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงพระราชทานนามกรมอันมีความหมายว่า เป็นพงศ์กษัตริย์ ทั้งสองฝ่ายอีกว่า ‘กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดชน์’
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×