ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #49 : สนามหลวง ถนน และวังในสมัย ร.1

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.08K
      2
      5 ก.ค. 52

     

    ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อแรกสร้างพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล พื้นที่สนามหลวงที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ยังมีขนาด เพียงครึ่งเดียวจากด้านวังหลวง มาสิ้นสุดตรงกึ่งกลางสนามเท่านั้น ส่วนนอกจากนั้นเป็นเขตของวังหน้า ซึ่งเขตวังหน้าชั้นนอกนั้น แนวป้อมกำแพงวังล้ำเข้าไปในสนามหลวงทุกวันนี้

    สะพานผ่านพิภพลีลา สมัยรัชกาลที่ ๕ ใต้ลงมาที่เห็นยอดหมากคือหน้าห้างแบดแมน ตรงเสาธงคือป้อมเผด็จดัสกร ถนนราชดำเนินในจากป้อมเผด็จดัสกรถึงเชิงสะพาน สมัยรัชกาลที่ ๑ เรียกว่าถนนหน้าจักรวรรดิ์วังหน้า

                ส่วนวังหลวงหรือพระบรมมหาราชวัง ขอบเขตพระบรมมหาราชวังก็ยังมิได้กว้างขวางอย่างทุกวันนี้ ทางด้านเหนือ ด้านตะวันออก ด้านตะวันตก คงเป็นเหมือนทุกวันนี้ แต่ทางด้านใต้ตรงวัดโพธิ์นั้น ระหว่างวังหลวงกับวัดโพธิ์ ที่เป็นบริเวณวิหารพระนอนและพระนอน ยังไม่ได้สร้าง (สร้างสมัยรัชกาลที่ ๓) เขตวังหลวงสิ้นสุดแค่ป้อมอนันตคีรี ตัดตรงไปถึงป้อมสัตบรรพตแค่นั้น

                หน้าวัดโพธิ์ระหว่างวังหลวงกับวัดดังกล่าว เป็นวังกรมหลวงนรินทรเทวี (พระองค์เจ้ากุ พระเจ้าน้องนางเธอ ต่างพระมารดา ในรัชกาลที่ ๑) และขุนนางเสนาบดีที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มาสร้างบ้านเพื่อสะดวกแก่การเข้าเฝ้าฯ มีบ้านของเจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายก และบ้านเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ทุกหลังหันหน้าออกถนนท้ายวัง (เรียกกันว่า ถนนท้ายสนม)

                ถนนรอบบริเวณวังเป็นถนนอิฐ ในสมัยแรกนั้นว่าส่วนมากเป็นอิฐปูตะแคงฝังลงไปในดิน พื้นที่ท้องสนามชัยหน้าถนนมหาชัยทุกวันนี้ยังคงเป็นพื้นที่ว่างและป่าละเมาะทางด้านหลัง หากจะนึกจินตนาการถึงภาพสมัยโบราณในครั้งกระนั้นต้องลบภาพกระทรวงกลาโหมตลอดจนตึกรามต่างๆ ออกไปเสียให้หมดก่อน

                ถนนที่ขนานกับกำแพงวังหลวงและท้องสนามชัยดังกล่าวเรื่อยผ่านสนามหลวงและสนามวังหน้าไปจนจดสะพานผ่านพิภพ ตลอดทั้งสายนี้ สมัยรัชกาลที่ ๑ เรียกแบ่งออกเป็นสองชื่อ ตอนที่ผ่านวังหลวงตั้งแต่ป้อมเผด็จดัสกร (ป้อมที่ปักธงในภาพประกอบ) ไปจนพบถนนมหาราชหน้าสถานีตำรวจนครบาลที่ ๑ ก่อนนั้นเรียกว่า ถนนหน้าจักรวรรดิ์วังหลวง (ปัจจุบันเรียกว่า ถนนสนามชัย)

    เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาศักดิพลเสพ วังหน้ารัชกาลที่ ๓ และ พระอัครชายา พระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาสุรสิงหนาท

                ส่วนตอนต่อมาตั้งแต่ป้อมเผด็จดัสกร ถึงเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ก่อนนั้นเรียกว่า ถนนหน้าจักรวรรดิ์วังหน้า (ปัจจุบันคือถนนราชดำเนินใน)

                ในสมัยรัชกาลที่ ๑-๓ ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กรุงรัตนโกสินทร์ ถนนในเกาะรัตนโกสินทร์ มีเพียง ๙ สาย คือ

                ๑. ถนนสนามชัย หรือถนนหน้าจักรวรรดิ์วังหลวงดังกล่าว

                ๒. ถนนราชดำเนินใน หรือถนนหน้าจักรวรรดิ์วังหน้าดังกล่าว

                ๓. ถนนบำรุงเมือง มีเขตตั้งแต่ประตูสำราญราษฎร์ (สามยอด) พบกับถนนสนามชัย เดิมเรียกว่า ถนนเสาชิงช้า เพราะตัดผ่านเสาชิงช้า ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ขยายถนนเปลี่ยนชื่อว่า ถนนบำรุงเมือง

                ๔. ถนนหน้าพระลาน ตั้งแต่ท่าพระ หรือท่าช้างวังหลวง ถึงถนนสนามชัย (จักรวรรดิ์วังหลวง) ครั้งกระโน้นเรียกว่า ถนนท่าช้างวังหลวง และถนนท่าพระเป็นสองตอน

                ๕. ถนนพระจันทร์ตอนตั้งแต่ถนนหน้าพระธาตุถึงถนนมหาราช ในสมัยรัชกาลที่ ๑-๓ ก็เรียกว่าถนนพระจันทร์ ตามชื่อป้อม

                ๖. ถนนหน้าพระธาตุ ตอนตั้งแต่ถนนหน้าพระลาน ถึงถนนพระจันทร์ เดิมเรียกว่า ถนนหน้าวัดมหาธาตุ

                ๗. ถนนราชินี ตอนตั้งแต่สะพานเฉลิมสวรรค์ ปัจจุบันถึงถนนราชดำเนินใน เดิมตอนนี้เรียกกันว่า ถนนหน้าโรงไหม (ปัจจุบันนี้ ถนนราชินี ยาวตั้งแต่ถนนมหาราช ถึงเชิงสะพานเจริญรัช

                ๘. ถนนท่าขุนนาง เป็นถนนสายสั้นๆ ทางท้ายวัง จากถนนมหาราช ถึงแม่น้ำ ชื่อแสดงว่าเป็นถนนจากท่าน้ำ ซึ่งในครั้งกระโน้นเป็นท่าเฉพาะสำหรับขุนนาง

                ๙. ถนนสำเพ็ง ตั้งแต่ถนนจักรเพชร ถึงถนนโยธา ตำบลตลาดน้อย ปัจจุบันเป็นถนนซอยในสำเพ็ง

                วังเจ้านายและขุนนางสมัยเริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ที่ยังคงอยู่ฟากธนบุรีก็มี ที่ข้ามมาสร้างวังและสร้างบ้านอยู่ใกล้ๆ พระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรฯก็มี

                เฉพาะวังที่สร้างในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งลักษณะของตำหนักและเรือนต่างๆ ก็คงเป็นอย่างเรือนไทยแต่โบราณมา

                วังที่สำคัญ คือวังริมป้อม ๒ ป้อม สำหรับรักษาพระนครข้างเหนือ และรักษาพระนครข้างใต้ คือ

                ๑. วัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา อยู่ริมป้อมพระสุเมรุ รักษาพระนครทางด้านเหนือ ที่วังเดิมเป็นพระนิเวศน์เดิมของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์กรุงธนบุรี เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ขุดคลองรอบพระนครใหม่ ตั้งแต่บางลำพู ไปออกที่เรียกกันในปัจจุบันว่าคลองโอ่งอ่าง จึงพระราชทานที่พระนิเวศน์สถานเดิมตอนในกำแพงพระนครให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ทรงสร้างวัง

    สะพานช้างโรงสี สมัยรัชกาลที่ ๕

                (พระนิเวศน์สถานเดิมของกรมพระราชวังบวรฯ ก่อนขุดคลองบางลำพู เป็นผืนเดียวกันอยู่ เมื่อโปรดฯให้ขุดคลอง คลองผ่านกลางที่ โปรดฯให้สร้างป้อมพระสุเมรุเป็นป้อมใหญ่ประจำมุมพระนครด้านเหนือ วังของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา อยู่ริมป้อมในกำแพงเมือง)

                วังนี้ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์ก็ร้างอยู่ ไม่มีเจ้านายองค์ใดเสด็จไปประทับ ว่ากันว่าพระภูมิเจ้าที่แรง ซึ่งคงจะจริง เพราะเจ้าพระยาบดินทรเดชา ในขณะไม่มีบ้านจะพักอาศัย ก็หากล้าเข้าไปอยู่ไม่ แต่ไปอาศัยอยู่วังของกรมขุนสุนทรภูเบศร์ ซึ่งเป็นวังร้างเช่นกัน

                ๒. วังของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ในรัชกาลที่ ๑

                สำหรับการรักษาพระนครด้านใต้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯ ให้สร้างป้อมจักรเพชรตรงปากคลองคูพระนครขุดใหม่ (ปากคลองโอ่งอ่าง) พระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์)

                วังนี้อยู่ใต้วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) มุมวังอยู่ตรงศาลเจ้าเชิงสะพานวัดราชบุรณะ วังนี้ก็เช่นกัน เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์สิ้นพระชนม์แล้ว ไม่ได้พระราชทานให้เจ้านายพระองค์ใดเสด็จไปประทับ แต่มิได้มีเสียงเล่าลือเรื่องเจ้าที่เจ้าทางดุ หรือแรงแต่อย่างใด

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×