ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #42 : พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 468
      1
      5 ก.ค. 52

    พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นี้ไม่สู้จะมีผู้ทราบและได้อ่านกันแพร่หลายดุจดังพระราชนิพนธ์อื่นๆ

    จัดพิมพ์ขึ้นเพียงสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดดา โปรดให้พิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึก สำหรับประทานแก่พระญาติและอมาตยมิตรที่ไปช่วยงานฉลองพระชันษาเสมอด้วยพระชนมายุกาลแห่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

    ครั้งนั้น พระวิมาดาเธอฯ ทรงตรวจหาเรื่องหนังสือต่างๆ ที่มีต้นฉบับอยู่ ณ พระตำหนัก พบพระราชนิพนธ์พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติฯ กัณฑ์แรก ซึ่งพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ถวายเทศนาในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อวันพระบรมราชสมภพใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ครบ ๑๐๐ พรรษา ที่ต้นฉบับนี้อยู่ ณ พระตำหนัก คงเป็นเพราะพระองค์เจ้าพระอรุณฯ ผู้เป็นพระเชษฐา ถวายให้ทรงเก็บไว้

    สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ได้ทรงสอบสวนหามาได้อีก ๒ กัณฑ์ รวมเป็น ๓ กัณฑ์ ดังกล่าวมาแล้ว

    พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติฯนี้ จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่สอง ในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพแห่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ครบ ๒๐๐ ปี เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๐ โดยรัฐบาลใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ จัดพิมพ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน

    พระราชนิพนธ์กัณฑ์ที่ ๒ ก่อนเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ มีถ้อยความกล่าวถึงการตั้งโรงทานเลี้ยงยาจกวณิพก แสดงถึงน้ำพระทัยกอปรด้วยพระมหาเมตตาแก่ราษฎร ว่า

     “...ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงประติบัติเลี้ยงพระสงฆ์ และมีพระธรรมเทศนาที่วังทุกวันมิได้ขาด แลพระราชทานเงินเดือนให้อาจารย์บอกพระคัมภีร์พุทธวจนะแก่พระภิกษุสามเณรเป็นอันมาก แล้วให้ตั้งโรงทานไว้ที่วังสำหรับเลี้ยงยาจกวรรณิพกทั่วหน้า ถึงวันพระก็ทรงปล่อยสัตว์และแจกเงินคนที่สูงอายุแลคนจนยากเป็นนิจมิได้ขาด เป็นพระราชกุศลนิพัทธทานเสมอมา...”

    การที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนี้ ครั้งที่เจ้านายขุนนางราษฎรพากันชื่นชมยินดีในน้ำพระราชหฤทัย ก็คือ ครั้งที่เจ้าฟ้ามงกุฎ สมเด็จพระอนุชา ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯตรัสเรียกว่า ท่านฟ้าใหญ่ทรงผนวชเณร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงแต่งกระจาดใหญ่อันงดงามวิจิตร เป็นเครื่องบูชาพระธรรมเทศนา แล้วเชิญเสด็จเณรพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มาทรงเทศนาพระมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี ทรงถวายเครื่องไทยธรรมกระจาดใหญ่นั้น

    ด้วยพระราชหฤทัยดังนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

     “...ครั้งนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการราษฎรทั้งปวง พากันชื่นชมยินดีอนุโมทนาเปนการเอิกกะเหริกยิ่งใหญ่ ในกิจการซึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งปวงนี้ ความทราบถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ก็ทรงอนุโมทนา แลทรงสรรเสริญเปนอันมาก แล้วดำรัสว่า แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เปนแต่พระเจ้าลูกเธอ ยังทำทานอยู่เนืองนิจดังนี้ ควรที่พระองค์จะทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่งกว่านั้นบ้าง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงทานหลวงเลี้ยงพระสงฆ์แลยาจกวรรณิพกทั้งปวง แล้วให้มีธรรมเทศนาแจกเงินคนชราพิการ เป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

    ทุกวันนี้ คือ จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

    มีคำถามอยู่คำถามหนึ่งว่า
     ประชาธิปไตยเมืองไทยมีมาแต่ครั้งใด
    เมื่อถามโดยทั่วๆ ไปมักได้รับคำตอบส่วนมากว่า
     ก็เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ น่ะซีบ้างก็ว่า
     สมัยรัชกาลที่ ๕ เพราะเลิกทาสทำให้คนมีเสรีภาพบ้างก็ตอบว่า
     สมัยรัชกาลที่ ๔ กระมังเพราะมีประกาศพระบรมราชโองการให้อิสระเสรีแก่ราษฎรหลายอย่างหลายประการ
    แทบจะไม่มีใครตอบว่า เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓

    ซึ่งที่จริงแล้ว ประชาธิปไตยอันหมายถึง อำนาจ หรือ อธิปไตย มาจากปวงประชา ได้มีการประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง พระสงฆ์ เลือกหัวหน้าผู้ปกครองหรือผู้บริหารประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มิใช่โดยการสืบเชื้อสาย มิใช่โดยการ ปราบดาภิเษกหรือแย่งชิงกันให้เสียเลือดเนื้อ

    ประชาธิปไตยดังกล่าวเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ และ เมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ ตอนใกล้จะเสด็จสวรรคต

    ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จดเอาไว้ว่า

     บรรดาพระราชวงศานูวงศ์ ต่างกรมผู้ใหญ่ เสนาบดี แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย นอนประจำอยู่ในพระราชวัง (เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ใกล้จะเสด็จสวรรคตและสวรรคตแล้ว-จุลลดาฯ) จึงอาราธนาพระสังฆราชฯ คณะผู้ใหญ่มาแล้ว พร้อมด้วยพระบรมราชวงศานุวงศ์ต่างกรมแลท่านเสนาบดีแลข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดินประชุมกัน เห็นว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาช้านาน ทั้งข้าทูลละอองธุลีพระบาทก็มีความจงรักสามิภักดิ์ในพระองค์ท่านก็มาก สมควรจะครอบครองสิริราชสมบัติรักษาแผ่นดินสืบพระบรมราชตระกูลต่อไป จึงพากันเข้าเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่ เชิญเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามพิภพต่อไป

    พระสังฆราชาคณะนั้นนัยว่า คือ ผู้แทนของราษฎรชาวบ้าน เพราะในสมัยโบราณวัดและพระสงฆ์คือที่ร่วม และเป็นที่ใกล้ชิดกลมกลืนกับราษฎรชาวบ้านทั้งปวง การได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจึงเป็นไปอย่าง เอนกมหาชนนิกร สโมสรสมมติคือที่ประชุมหรือ สภาลงมติ จนกระทั่งใกล้จะเสด็จสวรรคตทีนี้ได้แสดงพระองค์ เป็นนักประชาธิปไตยด้วยพระองค์เองเลยทีเดียวไม่ทรงหวงอำนาจ ไม่ทรงเห็นแก่พระราชโอรสซึ่งทรงพระราชดำริแล้วว่า ไม่มีพระองค์ใดมีความสามารถพอที่จะรักษาแผ่นดินไว้ได้

    ทรงคืนอำนาจ คืนแผ่นดิน กลับไปให้ที่ประชุมเลือกพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่กันเอง

    เมื่อกำลังทรงพระประชวรหนัก มีกระแสพระราชดำรัสแก่ขุนนางสนิทที่เข้าเฝ้าฯว่า

     “...กรุงเทพมหานครศรีอยุธยาขอบขัณฑสีมา อาณาจักรกว้างขวาง พระเกียรติยศก็ปรากฏไปทั่วนานาประเทศ ถ้าทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระอิสริยยศมอบให้พระบรมวงศานุวงศ์ พระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งพอพระทัย ให้ขึ้นเสวยราชสมบัติแทนพระองค์ต่อไป แต่ตามชอบอัธยาศัยในพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวนั้น

    เกลือกเสียสามัคคีรสร้าวฉาน ไม่ชอบใจไพร่ฟ้าประชาชนและคนมีบรรดาศักดิ์ ผู้ทำราชกิจทุกพนักงานก็จะเกิดการอุปัทวภยันตรายเดือดร้อน แด่พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรจะได้ความลำบากเพราะมิได้พร้อมใจกัน...”
    จากนั้นก็

    “...ดำรัสให้จดหมายกระแสพระราชโองการ ทรงปฏิญาณยกพระนามพระรัตนตรัยสรณคมน์อันอุดม เป็นประธานพยานอันยิ่งให้เห็นจริงในพระราชหฤทัยแล้ว ทรงพระราชดำรัสยอมอนุญาตให้เจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหม พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา พระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายกกับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงมีความสโมสรสามัคคีรส ปรึกษาพร้อมกัน เมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด ที่มีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชานุวัตร เป็นศาสนุปถัมภก ยกพระบวรพุทธศาสนาและปกป้องไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรรักษาแผ่นดินให้เป็นสุขสวัสดิ์โดยยิ่ง เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวงได้ ก็สุดแท้แต่จะเห็นดี ประนีประนอมพร้อมใจกัน ยกพระบรมวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเสวยสวรรยาธิปัตย์ถวัลยราชสืบสันตติวงศ์ดำรงราชประเพณีต่อไปเถิด อย่าได้กริ่งเกรงพระราชอัธยาศรัยเลย เอาแต่ให้ได้เป็นสุขทั่วหน้า อย่าให้เกิดรบราฆ่าฟันกันให้ได้ความทุกข์ร้อนแก่ราษฎร

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×