ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #37 : "พิทักษ์มนตรี" และ "พิทักษ์เทเวศร์"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.01K
      1
      6 มิ.ย. 52

    พระนามทรงกรมของพระบรมวงศ์ที่ขึ้นต้นว่า พิทักษ์นั้น มีสองพระองค์ คือ พิทักษ์มนตรีและ พิทักษ์เทเวศร์

    พระองค์แรก พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีพระราชภาคิไนย (หลานน้า) ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งทรงเป็นทั้ง ลูกผู้พี่และนับฐานะอย่างชาวบ้านทั่วไป ท่านก็เป็นทั้ง น้องเมียในรัชกาลที่ ๒ ด้วย ในรัชกาลที่ ๒ จึงเป็นพระบรมวงศ์พระญาติสนิทถึงสองชั้น ดังที่เล่ามาแล้ว

    แต่ที่เล่าว่า พระสัมพันธวงศ์เธอ ในรัชกาลที่ ๑ (ซึ่งรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้บัญญัติคำว่า พระสัมพันธวงศ์เธอเป็นคำนำพระนาม) มีเพียง พระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระพี่นางเธอ ในสมเด็จพระเชษฐา (พระเจ้ารามณรงค์) และในพระน้องนางเธอ (กรมหลวงนรินทรเทวี) นั้นพลาดไป

    ยังมีพระองค์เจ้าพระโอรสพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งประสูติแต่พระอัครชายา เจ้าครอกทองอยู่อีก ๖ พระองค์ ซึ่งทรงมีคำนำพระนามว่า พระสัมพันธวงศ์เธอเช่นกัน

    กรมพระราชวังหลังเป็นพระราชภาคิไนย (หลานน้า) พระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) เป็นกรมพระราชวังหลังเพียงพระองค์เดียวในกรุงรัตนโกสินทร์

    พระโอรสพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง ทั้ง ๖ พระองค์ คือ

    ๑. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนราเทเวศร์ (พระองค์เจ้าชายปาน) ต้นราชสกุล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
    ๒. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกระจับ
    ๓. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรศร์โยธี
    (พระองค์เจ้าชายบัว) ว่าทรงเป็นหมันจึงไม่มีโอรสธิดา
    ๔. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายแตง) ต้นราชสกุล เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
    ๕. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฐมวงศ์

    พระองค์นี้ประสูติในปีที่ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี จึงได้พระนามว่า พระองค์เจ้าปฐมวงศ์สุนทรภู่เคยตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ได้แต่งนิราศธารทองแดงไว้เมื่อตามเสด็จครั้งนั้น พระองค์เจ้าปฐมวงศ์ทรงผนวชอยู่วัดระฆังจนสิ้นพระชนม์ ไม่มีโอรสธิดา

    ๖. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจงกล

    พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่น และกรมหลวง (๑) (๓) และ (๔) สามองค์นี้ คนทั่วไปมักเรียกกันว่า เจ้าสามกรมเพราะแยกวังประทับ ณ พระราชวังหลัง ด้วยกัน

    เล่าถึง พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ก่อน

    ในรัชกาลที่ ๒ ท่านเป็นที่โปรดปรานและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาก ได้ทรงกำกับกรมวัง และกรมมหาดไทย

    แต่ที่โปรดปรานเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นเพราะเรื่องการละคร

    ในรัชกาลที่ ๒ เป็นระยะบ้านเมืองสงบ การเศรษฐกิจค่อยดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะช่วงกลางและปลายรัชกาล ซึ่งมีพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นกำลังสำคัญ พูดกันอย่างสามัญ ก็ว่า ทรงหาเงินถวายให้พ่อใช้ ทั้งทางราชการก็ทรงทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯจึงทรงมีเวลาสำหรับทรงงานสร้างสรรค์ศิลปะ ทั้งกวี การช่าง การละคร ทำให้ในรัชกาลนี้ศิลปะทั้งปวงดังกล่าวเฟื่องฟูที่สุด

    ในรัชกาลที่ ๑ ละครที่ปรากฏชื่อมากที่สุด เป็นละครของ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้า

    กรมหลวงเทพบริรักษ์ (ต้นราชสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระเชษฐาของ ระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี

    ต่อมา เมื่อพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ ฯเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงรับมรดกละครมาทั้งโรง ปรากฏว่าโปรดการละครมาก ทรงชำนาญกระบวนละคร แต่ละครนอกวังหลวงครั้งกระนั้นเป็นละครผู้ชาย ละครผู้หญิงมีได้แต่เฉพาะในพระบรมมหาราชวังเท่านั้น

    ฯเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงมีตัวละครเอกอยู่สองท่าน คือ

    ๑. นายทองอยู่ เป็นตัวอิเหนา ได้เป็นครูละครหลวงในเวลาต่อมา เป็นผู้นำแบบอย่างการรำของ ฯเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี มาหัดให้ละครหลวง ตลอดจนละครแทบทุกโรง ไม่ว่าของเจ้านาย ขุนนาง ล้วนแต่หัดมาจากครูทองอยู่ นับถือกันว่าเป็นทั้งครูละคร และครูเสภา

    ๒. นายรุ่ง เป็นตัวนางเอก คู่กันมากับนายทองอยู่ ต่อมาได้เป็นครูนาง เป็นครูคู่กันมากับนายทองอยู่ ซึ่งเป็นครูพระตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ จนรัชกาลที่ ๓ ซึ่งแม้ในรัชกาลที่ ๓ จะไม่โปรดการละคร ทรงยกเลิกละครหลวง ทว่าก็มิได้ทรงหวงห้ามมิให้ผู้อื่นมีละคร ละครผู้หญิงนอกวังหลวงจึง แอบมีกันขึ้นในรัชกาลนี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงฟื้นฟูละครในวังหลวงขึ้นใหม่ จึงได้ทรงประกาศให้นอกวังเล่นละครผู้หญิงกันได้ ไม่หวงห้ามอีกต่อไป

    สำหรับพระองค์ ฯเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี นั้น นับถือกันว่า เป็นครูละครสำคัญ เมื่อละครในไหว้ครูก็จะออกพระนามบูชาเป็นนิจ

    ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง อิเหนาขึ้นใหม่ทั้งเรื่อง เพราะทรงพระราชดำริว่า บทละครอิเหนา

    แต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น เป็นแต่แต่งซ่อมแซมบทครั้งกรุงเก่า ไม่สนิทและไม่เหมาะสำหรับกระบวนรำ

    บทละครที่ทรงพระราชนิพนธ์แล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จะพระราชทานให้ ฯ

    เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีไปทรงซ้อมท่ากระบวนรำให้เข้ากันได้ วิธีซ้อมรำของ ฯเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี เล่ากันมาว่าโปรดให้เอาพระฉาย (กระจก) บานใหญ่มาตั้ง แล้วทรงรำทอดพระเนตร ปรึกษากับครูทองอยู่ ครูรุ่ง ช่วยกันแก้ไขจนกระทั่งเห็นพ้องกันว่างดงามไม่มีที่ติ แล้วจึงทรงให้ครูทั้งสองไปหัดให้ละครหลวง แล้วละครหลวงก็ไปซ้อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ทอดพระเนตรทรงติชมแก้ไขกระบวนรำอีกชั้นหนึ่ง เมื่องดงามเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้วจึงโปรดฯให้ถือเป็นแบบแผน

    บทละครอิเหนาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งทรงแต่งซ่อมแซมจากของเก่าบ้างนั้น บทเดิมตอนท้าวกุเรปันกริ้วอิเหนา ส่งราชสารมาตัดพ้อต่อว่า เปรียบเทียบกับที่ทรงพระราชนิพนธ์ดัดแปลงใหม่ในรัชกาลที่ ๒ จะเห็นได้ว่าของเดิมนั้นค่อนข้างยืดยาดไม่เหมาะกับกระบวนรำ

                    พระราชนิพนธ์เดิมว่า

                     ในลักษณสารพระบิดา             ว่ากรุงดาหาเป็นศึกใหญ่
    ให้เร่งยกพลสกลไกร  ไปช่วยชิงชัยให้ทันที
    ถึงจะไม่เลี้ยงบุษบา    ว่าชั่วช้าอัปลักษณ์ทั้งศักดิ์ศรี
    แต่เขาแจ้งอยู่สิ้นทั้งธรณี            ว่านางนี้เป็นน้องของตัวมา
    อนึ่งท้าวดาหาฤทธิไกร               มิใช่อาหรือไรให้เร่งว่า
    อันสุริวงศ์เราเหล่าเทวา              ไม่เคยเสียพาราแก่ผู้ใด
    ถ้าแม้นเสียกรุงดาหา  ตัวจะอายขายหน้าหรือหาไม่
    อันเกิดเหตุครั้งนี้ก็เพราะใคร ถ้าไปอยู่เลี้ยงกับบุตรี
    ที่ไหนจะเกิดสงคราม ใครจะหยาบหยามได้ก็ใช่ที่
    ซึ่งเกิดเหตุเภทภัยครั้งนี้             เพราะตัวทำความดีเป็นพ้นไป
    ครั้งหนึ่งก็ให้เสียวาจา                อายชาวดาหากรุงใหญ่
    ครั้งนี้จะคิดประการใด               จะให้เสียศักดิ์ก็ตามที
    แม้นว่ามิยกไปช่วย     ถึงเรามอดม้วยอย่าดูผี
    อย่าดูทั้งเปลวอัคคี     ขาดกันแต่วันนี้ไป

                    ฯ ๑๔ คำฯ

                    พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ว่า

                ในลักษณนั้นว่าปัจจามิตร มาตั้งติดดาหากรุงใหญ่
    จงรีบเร่งรี้พลสกลไกร                ไปช่วยชิงชัยให้ทันที
    ถึงไม่เลี้ยงบุษบาเห็นว่าชั่ว แต่เขารู้อยู่ว่าตัวนั้นเป็นพี่
    อันองค์ท้าวดาหาธิบดี                นั้นมิใช่อาหรือว่าไร
    มาตรแม้นเสียเมืองดาหา จะพลอยอายขายหน้าหรือหาไม่
    ซึ่งเกิดศึกสาเหตุเภทภัย              ก็เพราะใครทำความไว้งามพักตร์
    ครั้งหนึ่งก็ให้เสียวาจา                อายชาวดาหาอาณาจักร
    ครั้งนี้เร่งคิดดูจงนัก   จะซ้ำให้เสียศักดิ์ก็ตามที
    แม้นมิยกพลไกรไปช่วย              ถึงเราม้วยก็อย่ามาดูผี
    อย่าดูทั้งเปลวอัคคี     แต่นี้ขาดกันจนบรรลัย

                    ฯ ๑๐ คำฯ

    พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงเป็นต้นราชสกุล มนตรีกุล ณ อยุธยา

    ตกมาถึงชั้นหม่อมหลวง ผู้เป็นเหลนทวดของพระองค์ท่าน มีท่านหนึ่งเป็นหม่อมเอกในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้มีเชื้อสายมรดกเรื่องการละครมาจากเสด็จทวดของท่าน คือ หม่อมหลวงต่วนศรี (มนตรีกุล) วรวรรณ เมื่อเสด็จในกรมพระนราฯ ทรงสร้างละครร้องขึ้นมา ม.ล.ต่วนศรี ท่านเป็นผู้แต่งเพลงขึ้นประกอบแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะตับลาวในสาวเครือฟ้า ตับพม่าในเรื่องพระเจ้าธีบอ หรือเพลงละครสมัยใหม่ (ของเวลานั้น) เช่นเรื่องตุ๊กตายอดรัก ก่อนที่ละคร กรมพระนราฯจะเรียกกันว่า ละครปรีดาลัยตามชื่อโรงละครสร้างใหม่ คนทั่วไปมักเรียกกันว่า ละครหม่อมต่วน

    ม.ล.ต่วนศรี เดิมท่านชื่อ ต่วนมาเติมเป็น ต่วนศรีในยุควัฒนธรรมสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งหากผู้หญิงชื่อเป็นผู้ชาย อำเภอมักจะเติมคำว่า ศรีต่อท้าย หากผู้ชายชื่อไม่เพราะเสียงอ่อนไป อำเภอก็มักจะเติมคำว่า ศักดิ์ให้ ในสมัยนั้นชื่อที่ลงท้ายว่า ศรีและ ศักดิ์จึงมีมากมาย

    ม.ล.ต่วนศรี ท่านเป็นพระมารดาของพระนางเธอลักษมีลาวัณ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×