ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #36 : พระสัมพันธวงศ์เธอ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 730
      1
      6 มิ.ย. 52

     

    เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินประพาสเยาวราชในวันตรุษจีน ได้ยินว่าวัดสัมพันธวงศ์เดิมชื่อวัดเกาะแก้ว หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัดเกาะ เปลี่ยนชื่อเป็น วัดสัมพันธวงศ์ ตามพระนามพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ผู้ทรงบูรณ์ปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๑

                 

    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉายเฉิด กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ (ในรัชกาลที่ ๕)
    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย (ในรัชกาลที่ ๕)

     พระสัมพันธวงศ์เธอนั้น เคยได้ยินแต่ในรัชกาลที่ ๕ ไม่เคยทราบว่าในรัชกาลที่ ๑ ก็มีพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้านายชั้นไหนระดับใดจึงจะมีคำนำพระนามว่า พระสัมพันธวงศ์เธอ-

                      คำนำพระนามเจ้านายในราชตระกูลนั้นเปลี่ยนไปตามแต่ละรัชกาลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชสัมพันธ์

                    ในรัชกาลที่ ๑ พระโอรสธิดาในพระเชษฐภราดาในพระเชษฐภคินีในพระราชอนุชาและในพระกนิษฐภคินี ที่เป็นชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า มีคำนำพระนามว่า พระเจ้าหลานเธอ (หลานน้า หลานอา และหลานลุง) ทุกพระองค์ (เว้นแต่กรมพระราชวังหลัง หลานน้าพระองค์ใหญ่ ซึ่งโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข)

                    ในรัชกาลที่ ๒ เจ้านายพระบรมวงศ์ชั้นนี้ ทรงอยู่ในฐานะ ลูกพี่ลูกน้องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ

                    ไม่ปรากฏว่าทรงมีคำนำพระนามอย่างใดในหมายรับสั่ง และในพระราชพงศาวดาร ก็เรียกแต่เจ้าฟ้ากรมหลวง เจ้าฟ้ากรมขุน ที่ทรงอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้ารับกรม ก็ออกพระนามกรมว่า กรมหมื่นนั้น กรมหมื่นนี้ เช่น กรมหมื่นนรินทรเทพ (พระโอรสพระองค์ใหญ่ในพระองค์เจ้ากุ-กรมหลวงนรินทรเทวี พระเจ้าน้องนางเธอในรัชกาลที่ ๑)

                    ถึงรัชกาลที่ ๓ ก็เช่นกัน ไม่ปรากฏว่ามีคำนำพระนามแสดงพระราชสัมพันธ์ คำนำพระนามเจ้านายพระบรมวงศ์ มีแต่ที่มีพระราชสัมพันธ์โดยตรง เช่น สมเด็จพระพันปีหลวง (แม่) พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ (หลานปู่ที่เป็นพระองค์เจ้า ซึ่งมีเพียงพระองค์เดียว คือ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี) และพระหลานเธอ (หม่อมเจ้า หลานปู่หรือพระราชนัดดาโดยตรงลงมา)

                    จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ จึงได้โปรดฯให้ใช้คำนำพระนามเจ้านายที่เป็นพระเชษฐาและพระอนุชา ส่วนพระชนกชนนีของพระราชมารดา (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) และรวมทั้งที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระราชมารดาด้วยว่า พระสัมพันธวงศ์เธอ

                    เจ้านายพระบรมวงศ์ หลานน้า หลานอา หลานลุง ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นลุง เป็นน้า ในรัชกาลที่ ๔ ที่เป็น พระสัมพันธวงศ์เธอปรากฏพระนามมีอยู่ ๑๐ พระองค์ คือ

                    ๑. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมขุนรามินทรสุดา เป็นพระธิดาองค์เดียวของ พระเจ้ารามณรงค์ (ขุนรามณรงค์ แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา) พระเจ้ารามณรงค์ เป็น พระเชษฐาของรัชกาลที่ ๑ รองลงมาจาก สมเด็จพระพี่นาง พระองค์ใหญ่ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า

    กรมพระยาเทพสุดาวดี) พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมขุนรามินทรสุดา นี้ คนทั้งหลายเรียกกันว่า เจ้าครอกชี

                     เจ้าครอกชีนี้ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก พม่าได้กวาดต้อนไปพร้อมเชลยอื่นๆ  ไปตกอยู่เมืองทวายถึง ๒๕ ปี ผนวชเป็นรูปชีอยู่

                    จนกระทั่งพระยาทวายขอสามิภักดิ์ และกราบบังคมทูลมาว่ามีพระราชภาคิไนยมาอยู่ที่เมืองทวายองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงโปรดฯให้เจ้าพระยายมราช (นามเดิมว่าทองอิน เป็นเจ้าพระยายมราชท่านแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ปรากฏว่ามีบุตรหลานสืบสายลงมา) ขึ้นไปทวาย

                    เจ้าพระยายมราช (ทองอิน) ได้จัดการส่งพระองค์เจ้าชีเสด็จโดยทางเรือจากเมืองทวาย มาถึงแม่น้ำน้อย เมืองกาญจนบุรี

                    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จออกไปรับพระองค์เจ้าชี ทั้งสองพระองค์

                    ความในพงศาวดาร กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

                     เจ้าพระยายมราชก็ส่งพระองค์เจ้าชีมากับพระราชาพิมลแลข้าไทชาวกรุงตามเสด็จพระองค์เจ้าชีลงมาเป็นอันมาก...สมเดจพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงไต่ถามทุกขศุขตั้งแต่ตกไปอยู่เมืองอังวะแล้ว หลบหลีกลงมาได้จนถึงเมืองทวาย พระองค์เจ้าชีเล่าถวายถึงความทุกขยากลำบาก แล้วก็ทรงพระกันแสง สมเดจพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็กลั้นน้ำพระเนตรมิได้ รับสั่งให้พระองค์เจ้าชีลงสรงอุทกวารีอยู่ที่หาดทรายทำไว้ในแม่น้ำน้อย แล้วสรงน้ำปริตรแล้วก็ให้เรียกเรือมารับพระองค์เจ้าชี แลข้าไทที่ตามมานั้นเปนเรือหลายลำด้วยกัน ก็ให้สนมกรมวังนำส่งพระองค์เจ้าชีเข้ามา ณ กรุงเทพฯ

                    เจ้าครอกชีสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

    ทรงสถาปนาพระอัฐิเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมขุนรามินทรสุดา

                    ๒. พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร์
                    ๓. พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ ต้นราชสกุล นรินทรางกูร ณ อยุธยา
                    ๔. พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงทองคำ
                    ทั้ง ๓ พระองค์ เป็นพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระพี่นางเธอ พระองค์ใหญ่ รัชกาลที่ ๑
                    ๕. พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ต้นราชสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา
                    ๖. พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนรรคฆนารี (หรือ อนัคฆนารี)
                    ๗. พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ต้นราชสกุล มนตรีกุล ณ อยุธยา
                    พระองค์นี้ ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดเกาะแก้ว หรือ วัดเกาะ ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯพระราชทานชื่อวัดว่า วัดสัมพันธวงศาวาสเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดสัมพันธวงศ์
                    ๘. พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ต้นราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
                    ตั้งแต่ที่ ๕-๘ เป็นพระโอรสธิดา ในสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อยรัชกาลที่ ๑ และเป็น ลุงเป็น ป้าเป็น น้าแท้ๆ ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
                    ๙. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรเทพ
                    ๑๐. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์

                    สองพระองค์ที่ ๙ และ ๑๐ เป็นพระโอรสในพระองค์เจ้ากุ พระน้องนางเธอในรัชกาลที่ ๑ (ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาพระอัฐิเป็น กรมหลวงนรินทรเทวี)

                    ราชสกุลซึ่งสืบเนื่องลงมาจาก กรมหลวงนรินทรเทวี คือ นรินทรกุล ณ อยุธยาซึ่งคล้ายกันกับ นรินทรางกูร ณ อยุธยา

                    พระสัมพันธวงศ์เธอ ทั้ง ๑๐ พระองค์ เป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ ในรัชกาลที่ ๔

                    ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเชษฐา และพระอนุชา พระกนิษฐาของ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนีของพระองค์ เลื่อนจาก หม่อมเจ้า เป็นพระองค์เจ้าและโปรดฯให้ใช้คำนำพระนามว่า พระสัมพันธวงศ์เธอ๖ พระองค์ด้วยกัน คือ

                    ๑. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ
                    ๒. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมชื่น
                    ๓. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพื้นพงศ์ประยุรวงศ์สนิท
                    ๔. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย
    พระชนนี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
                    ๕. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉายเฉิด กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์
                    ๖. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×