ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #302 : พระยามหาเทพ (ปาน)

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.08K
      0
      20 เม.ย. 53

      เล่าถึงระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ตอนที่แล้ว ตั้งใจจะหยุดไว้เพียงนั้น
               แต่เรื่องราวของพระมหามนตรี (ทรัพย์) นั้นเกี่ยวพันกับพระบรมราชวิสัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นพระราชคุณธรรมแห่งผู้เป็นกษัตริย์ นั่นคือ ทรงเล็งเห็นค่าของขุนนาง หากยังเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน มิได้เป็นอันตรายแก่ชาติบ้านเมือง แม้จะประพฤติตนกำเริบเสิบสานเทียบเทียมพระองค์ ก็มิได้ทรงถือสา ดังเช่นพระยามหาเทพ (ปาน) ประพฤติการกำเริบเสิบสานจนถึงพระกรรณ ก็มิได้ทรง เอาเรื่อง เอาราวž จนกระทั่งพระยามหาเทพ (ปาน) แพ้ภัยตนเอง เพราะไปรังแกจีนค้าฝิ่น จับแล้วรีดเอาเงินทอง พอเห็นจีนมั่งมีขึ้นก็จับมารีดเอาอีก พวกจีนเจ็บแค้นจึงคิดกันตั้งตนเป็นตั้วเหี่ย ต้องปราบปรามกันเป็นการใหญ่ โปรดฯให้พระยามหาเทพ (ปาน) ออกไปปราบ เลยไปถูกพวกจีนยิงหนีกลับมา
               ก่อนเล่าเรื่อ่พระมหามนตรี (ทรัพย์) ซึ่งเกี่ยวพันกับพระยามหาเทพ (ปาน) ขอเล่าเรื่องพระยามหาเทพ (ปาน) ตามพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ท่านจดเอาไว้ดังนี้ 
               ในเดือน ๑๒ ข้างแรมนั้น มีการอัศจรรย์ ควรจะกล่าวไว้ ด้วยพระยามหาเทพ (ปาน) ทำผ้าป่าจะไปทอดที่วัดบวรมงคล มีนายเวร ขุนหมื่น ผู้คุมในกรม และขุนนาง เจ๊สัว จุ้นจู๊ ขุนพัฒน์ และชาวแพ มาขออาสารับฎีกาไปทำมากกว่ามาก จนเหลือพระในวัด ต้องเอาไปทอดวัดอื่นๆต่อไป ผ้าป่านั้นทำประกวดประขันกันเป็นกระจาด ๓ ชั้นบ้าง ๔ ชั้นบ้าง...ฯลฯ...จะพรรณนาก็ยืดยาว ลงทุนเจ้าของหนึ่งก็หลายชั่งไม่เสียดาย คิดแต่จะให้เจ้าคุณมีความกรุณาอย่าให้ข่มเหงอย่างเดียว
               เจ้าคุณนั้นก็ทำยศเหมือนอย่างในหลวง ผูกแพใหญ่ขึ้นบนเรือที่ปากคลองหน้าบ้าน แล้วก็ลงมานั่งอยู่ในแพ มีหม่อมๆละครและมโหรี ห่มแพรสีทับทิมลงมาหมอบเฝ้าดูผ้าป่าอยู่หน้าแพ ก็เป็นการเอิกเริกอย่างใหญ่ในแผ่นดินครั้ง ๑ ถึงโดยว่าเจ้าและขุนนางผู้ใหญ่จะทำบ้างก็ไม่ไดเช่นนั้น และเมื่อปีฉลู ตรีศกนั้น กรมหมื่นอัปษรสุดาเทพเป็นถึงพระราชบุตรีโปรดปรานมาก คนก็เข้าพึ่งพระบารมีแทบทั้งแผ่นดิน ทำผ้าป่ากระจาดใหญ่ขึ้นที่หน้าพระตำหนักน้ำครั้ง ๑ ก็ยังสู้พระยามหาเทพไม่ได้ พระยามหาเทพทำครั้งนั้น ก็เพื่อจะลองบุญวาสนาว่า ตัวกับกรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ ผู้คนจะยำเกรงนับถือใครมากกว่ากัน จึงได้คิดทำประกวดประขันขึ้นบ้าง ทำการศพพี่หญิงก็ครั้ง ๑ ทำการศพบุตรหญิงก็ครั้ง ๑ แต่ผู้เอาผ้าและของไปช่วย ขุนนางดูจะหมดทั้งแผ่นดิน เจ๊สัว เจ้าภาษี นายอากร จุ้นจู๊ และราษฎรชาวแพ แทบจะทั้งหมด ผ้าขาวใช้ในการศพทำบุญให้ทานก็ไม่หมด แต่เหลืออยู่ก็หลายพันพับ ครั้นทีตัวตายลงบ้าง (ตายโดยยกออกไปปราบจีนตั้วเหี่ย ถูกยิงกลับมาตายที่บ้าน-จุลลดาฯ) ก็ไม่มีใครไปช่วย ได้ผ้าขาวไม่ถึงร้อยพับ แต่ชั้นหีบก็ไม่มีผู้ใดคิดต่อให้ บุตรภรรยาก็มัวแต่วิวาท จะชิงสมบัติกัน หลวงเสนาวานิชไปอยู่ที่นั่นเห็นว่าไม่มีผู้ใดทำหีบ ก็ไปเรียกบ่าวไพร่ของตัวมาช่วยต่อหีบขึ้น จึ่งได้ไว้ศพ อันนี้เป็นที่น่าสังเวชอย่างหนึ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่ผู้คนบ่าวไพร่ทั้งชายหญิงมีใช้อยู่ในบ้านกว่าพัน กล่าวไว้เพื่อให้ท่านทั้งหลายสืบไปภายหน้ารู้ไว้ การเบียดเบียนข่มเหงคนทั้งปวงให้ได้ความเดือดร้อน เมื่อตนยังปกติมีชีวิตอยู่ พอสุขสบายไปได้ สิ้นชีวิตไปแล้ว ทรัพย์สินเงินทองเครื่องใช้ บ่าวทาส ก็ผันแปรเป็นอย่างอื่นไป บุตรก็ไม่ได้สืบตระกูล และบ้านเรือนใหญ่โตก็เป็นป่าหญ้าไปทั้งสิ้นŽ
               ตามในพระราชพงศาวดาร แสดงว่าพระยามหาเทพ (ปาน) นั้น มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมพระตำรวจ เห็นจะเป็นพระตำรวจใหญ่ ประวัตินอกไปจากนี้ค้นไม่พบ สันนิษฐานว่า คงจะเป็นขุนนางโปรดปรานมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ และเห็นจะเคยมีฝีมือในทางรบทัพจับศึก หรือในทาง บู๊ž จึงได้เป็นเจ้ากรมพระตำรวจใหญ่
               ความ กร่างž ของพระยามหาเทพ (ปาน) เห็นจะเป็นที่รู้กันไปทั่ว แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็คงจะทรงทราบ นี่เป็นอุทาหรณ์ว่า อันขุนนางข้าทูลละอองธุลีพระบาทนั้น ดีก็มี ชั่วก็มี พระเจ้าแผ่นดินท่านก็คงหนักพระราชหฤทัยไม่น้อย
               พระมหามนตรี (ทรัพย์) ท่านคงหมั่นไส้พระยามหาเทพ (ปาน) จึงได้แต่งเพลงยาว ด่าž แบบบัตรสนเท่ห์ คือไม่ลงนาม เขียนลงในกระดาษ เวลานั้นมีฝรั่งเข้ามาพิมพ์หนังสือ เห็นจะเริ่มมีกระดาษใช้กันบ้างแล้ว นำไปปิดไว้ที่เสาทิมดาบตำรวจหน้า ซึ่งพระยามหาเทพ (ปาน) เวลานั้นเป็น จมื่นราชามาตย์มานั่งชำระความอยู่เสมอๆ
               เพลงยาวนั้น บรรยายความ กร่างž ของพระยามหาเทพ (ปาน) ไว้ตอนหนึ่งว่า
                                                          แต่เห็นเห็นที่เขาเป็นขุนนางมา ไม่เหมือนราชามาตย์ในชาตินี้
                                                 ประกอบหมดยศศักดิ์และทรัพย์สิน เจ๊กจีนกลัวกว่าราชาเศรษฐี
                                                 เมื่อชาติก่อนได้พรของหลวงชี จึงมั่งมีดูอัศจรรย์ครัน
                                                 เขาชมบุญเรียกเจ้าคุณราชามาตย์ แต่ร้ายกาจเกือบยักษ์มักกะสัน
                                                 ลงนั่งยังนาวาเหมือนชาละวัน ขึ้นบกตกมันเหมือนสิงห์ทอง
                                                 จะเข้าวังตั้งโห่เสียสามหน ตรวจพลอึกทึกกึกก้อง
                                                 ห่อผ้ากาน้ำมีพานรอง ห่อสมุดชุดกล้องร่มค้างคาว
                                                 นุ่งปูมเขมรใหม่วิไลเหลือ สวมเสื้อได้ประทานห่มส่านขาว
                                                 ลงจากหอกลางหางหงส์ยาว เมียชมว่างามราวกับนายโรง
                                                 ช่างหมดจดงดงามถึงสามอย่าง จะไว้วางกิริยาก็อ่าโถง
                                                 แต่ใจโตกว่าตับกับซี่โครง เมื่อเดินโคลงโยกย้ายหลายทำนอง
                                                 ถนนกว้างสี่วามาไม่ได้ กีดหัวไหล่ไกวแขนให้ขัดข้อง
                                                 พวกหัวไม้เห็นกลัวหนังหัวพอง ยกสองมือกราบออกราบดิน
                                                 ด้วยอำนาจราชศักดิ์นั้นหนักหนา ถ้าเข้าคาแล้วแต่ล้วนเป็นสัตย์สิ้น
                                                 มีทหารชาญไชยใจทมิฬ ดังจะกินเนื้อมนุษย์สุดพิภพ
                                                 ไชยภักดีว่าที่ขุนต่างใจ ทั้งนอกในไวเวรก็เจนจบ
                                                  ศรีสังหาญพนักงานจำการครบ แสนใจรบรับเรียกค่าฤชา
                                                  ทั้งสามนายยอมตายในใต้เท้า มิเสียทีมีบ่าวคราววาสนา
                                                  เคยเชื่อใจไว้วางต่างหูตา รู้อัธยาศรัยน้ำใจนาย
                                                                         ...ฯลฯ...ฯลฯ...Ž
               ก็จะเห็นได้จากเพลงยาวนี้ว่า พระยามหาเทพ (ปาน) มีอำนาจราชศักดิ์มาก พวกจีนกลัวยิ่งกว่าราชาเศรษฐี ซึ่งเป็นขุนนางกรมท่าซ้ายบังคับบัญชาพวกจีน ไม่แน่ว่าเป็นหลวงหรือพระ ถ้าเข้าคาแล้วแต่ล้วนเป็นสัตย์สิ้นž คือถ้าผู้ต้องหาไม่รับสารภาพ พระมหาเทพ (ปาน) ก็เอาเข้าขื่อคาทรมานจนต้องรับหมด พระยามหาเทพ (ปาน) มีลูกน้องซึ่ง ยอมตายในใต้เท้าŽ อยู่สามนาย คือ ขุนไชยภักดี ทำหน้าที่คล้ายเลขานุการคนสนิท ขุนศรีสังหารพนักงานจำตรวนขื่อคาทรมานลงโทษ และขุนแสนใจรบ เป็นพนักงานเรียกค่าฤา คือ ค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับเฉพาะตัวบุคคล (หรือสินบน หรือค่าป่วยการนั่นเอง)
               เพลงยาวแผ่นนี้ เจ้าพระยาบำเรอภักดิ์ สมัยนั้นเรียกกันว่า เจ้าพระยาบำเรอภักดิ์ตกกระ เพราะท่านตกกระไปทั้งหน้าตาแขนแมน เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ คือมีผู้คนขุนนางพากันมุงอ่าน ท่านจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ คืนให้นำไปปิดไว้ดังเก่า รับสั่งแต่เพียงว่า
               เขาหยอกกันเล่นŽ โดยมิได้กริ้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
               เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเล่ากันมาถึงพระบรมราชปรีชาพร้อมพระราชสุขุมคัมภีรภาพ ทั้งทรงวางพระองค์เป็นกลาง (อาจเพราะทรงทราบเกล้าฯ อยู่แล้วถึง สันดานž ของพระมหาเทพ แต่เมื่อเป็นถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และมิได้มีความผิดถึงขั้นต้องลงพระราชอาญา หรือถอดถอน ทั้งการทำโทษแก่คนโทษก็เป็นหน้าที่ของพระยามหาเทพอยู่ จึงมิได้ทรงเอาเรื่องเอาราว)
               ส่วนพระมหามนตรี (ทรัพย์) นั้น ว่ากันว่าเป็นคนสมัยเดียวกันกับสุนทรภู่ คือเกิดในรัชกาลที่ ๑ จะรับราชการมาแต่รัชกาลที่ ๒ หรืออย่างไรไม่ปรากฏ ทว่ามาปรากฏชื่อเอาในรัชกาลที่ ๓ ว่าเป็นคนโปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ผู้หนึ่งซึ่ง มีสติปัญญา ควรที่จะวางพระทัยได้ราชการŽ เพราะเมื่อครั้งที่กรมหมื่นอับสรสุดาเทพ (ในหนังสือเก่าท่านใช้ว่า อัปษรสุดาเทพž) �นางแก้ว และพระยาศรีสหเทพ-ขุนคลังแก้ว สิ้นพระชนม์ และสิ้นชีพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระอาลัย จึงทรงพระราชนิพนธ์พระบรมราชปุจฉาไปยังที่ประชุมคณะเถรานุเถระ ๖๐ รูป ทรงแสดงความข้องพระราชหฤทัยว่า พระองค์คงจะทรงมีบุพกรรมเป็นอกุศลกรรมแต่ชาติปางก่อนตามมาตัดรอนในชาตินี้หรืออย่างไร
               เมื่อพระราชาคณะทั้งปวงประชุมกันแต่งคำวิสัชนาทูลเกล้าฯถวาย นั้น มีข้อความบางตอนกล่าวถึงการสิ้นชีพของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ว่า
               ...แต่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่มีสติปัญญาควรที่จะวางพระทัยได้ราชการเหมือนอย่าง...ฯลฯ...พระมหามนตรี (ทรัพย์) ...ฯลฯ...ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดฯชุบเลี้ยงไว้ตามยศถาบรรดาศักดิ์โดยขนาด ก็มิได้อยู่สนองพระเดชพระคุณ ด่วนถวายบังคมลาดับสูญไป ก็ทรงมีพระอาลัยอยู่ด้วยทรงพระเมตตา...Ž
               แสดงว่า พระมหามนตรี (ทรัพย์) สิ้นชีวิตไปก่อน พ.ศ.๒๓๘๘ ก่อนกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ จะเสด็จสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๘
    เรื่องขุนนางไม่ลงรอยกันนี้ มีอยู่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมิเพียงแค่ไม่ลงรอยกัน หากถึงกับบาดหมางกัน ซ้ำเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เรื่องเกิดแต่ปลายรัชกาลที่ ๒ คือ เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายก กับเจ้าพระยามหาเสนา (สังข์) สมุหพระกลาโหม (มีบรรยายละเอียดในเรื่อง บุญบรรพ์ บรรพ ๑ž บทที่ ๙๐) ในรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงชำระความ ก็พอดีสิ้นแผ่นดินที่ ๒ ความค้างมาถึงรัชกาลที่ ๓ (เรื่องราวอยู่ใน บุญบรรพ์ บรรพ ๒ž หน้า ๑๕)
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×