ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #296 : วังเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 5

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 656
      0
      20 เม.ย. 53

    นรัชกาลที่ ๕ ขณะพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ยังทรงเป็นกรมหมื่นและทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลอยู่นั้น
              ในรัชกาลที่ ๕ ขณะพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ยังทรงเป็นกรมหมื่นและทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลอยู่นั้น
               พ.ศ.๒๔๓๙ เป็นเวลาประจวบกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กำลังจะเสด็จกลับเมืองไทย หลังจากทรงได้รับปริญญาทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซ์เฟิร์ดแล้ว ซึ่งในบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอชุดแรก ๔ พระองค์ ที่โปรดฯให้เสด็จฯออกไปศึกษาต่างประเทศนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงศึกษาสำเร็จเสด็จกลับประเทศสยามก่อนพระองค์อื่น
               ดังนั้น กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ในฐานะทรงเป็นเสนาบดีนครบาล (เวียง) จึงทรงเป็นห่วงถึงวัง ซึ่งต้องสร้างให้เป็นที่ประทับ เพราะจะทรงเป็นพระราชโอรส ชั้นพระองค์เจ้าพระองค์แรก ที่จะเสด็จ 'ออกวัง' พร้อมกับเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณตามวิชาที่ได้ทรงศึกษามา
               พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๙) ดังนี้
              "ถึงกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์
               ด้วยได้เห็นหนังสือของเธอลงวันที่ ๒ เดือนนี้ สำแดงความกระตือรือรับหงิดๆในการซึ่งชายรพีจะกลับเข้ามาจะไม่มีที่อยู่นั้น (เธอ) จึงได้ส่งแผนที่ซึ่งลองกะดูมาให้ดู แลแสดงน้ำใจว่า มีความร้อนใจด้วยกลัวว่าจะไม่มีที่อยู่นั้น การที่เธอได้เสียเวลาที่จะส่งแผนที่ทั้งหลายนี้ ในระหว่างที่ราชการแลการงานของเธอมีมากนั้นขอบใจแล้ว แลขอบใจพระยามหาโยธาที่ได้เตือนมาด้วย
               แต่ในส่วนตัวฉันเองออกท้อใจมาเสียตั้ง ๑๐ ปีมาแล้ว ในเรื่องที่จะหาที่บ้านให้ลูก เห็นเป็นการลั่นประแจตาย หรือเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น แลกลับให้ชื่อเสียงลูกเสียด้วย (ว่า) ขึ้นชื่อว่าซื้อที่ทำวัง
               แต่อันที่แท้ก็ไม่ได้ลงทอดธุระว่าจะปล่อยให้มันปลิวไปตามลม แต่ครั้นเมื่อได้เห็นเธอยังนึกถึงอยู่ก็มีความยินดีค่อยเสื่อมคลายหายจากน้ำใจที่เกือบจะเป็นมิจฉาทิฐิมาเสียนานแล้ว
               แต่ถึงจะรีบจัดอย่างไรก็คงไม่ทัน จะต้องเช่าตึกถนนเจริญกรุงหรือบำรุงเมืองให้อยู่ไปก่อน เมื่อเดชะบุญของเด็กจะได้ที่บ้านจึงค่อยคิดการต่อไป ครั้นจะกวนเธอหรือผู้หนึ่งผู้ใดในเวลานี้ ก็เป็นเวลาที่มีราชการอันจะร้องว่าติด แลจะเลยไปติดอยู่เสียได้ด้วย จึงยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ด้วยธุระของฉันแลครอบครัวย่อมมีน้ำหนักเบากว่า บุตรภรรยาญาติมิตรของใครแลใคร เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าเป็นแมงเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ควรรับแต่วาจาพลีอยู่เนืองนิตย์ แลเป็นผู้ซึ่งกลัวเศรษฐีประจบเศรษฐี คอยให้ฉัตรเศรษฐี เช่นกรมประจักษ์ฯเคยพูดเล่นอยู่นั้นด้วย ฉันไม่แลเห็นช่องทางได้อย่างใดที่จะสำเร็จในเวลานี้ จึงตอบหนังสือฉบับนี้เสียก่อนทีหนึ่ง"
               เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น บรรดาพระเจ้าน้องยาเธอล้วนแต่ยังทรงพระเยาว์ ที่จะต้องเสด็จออกวังต่อไปในเวลาข้างหน้าถึง ๓๐ พระองค์ องค์ใหญ่ คือ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร พระชันษาเพิ่งจะ ๑๓
               บรรดาพระเจ้าน้องยาเธอเหล่านี้ มาเจริญพระวัยเป็นหนุ่ม ต้องเสด็จ 'ออกวัง' ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทุกพระองค์ ซึ่งที่ดินสำหรับสร้างวังนั้น หากเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ รุ่นใหญ่และรุ่นกลาง ส่วนมากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงซื้อพระราชทานเอาไว้ให้ แต่พระองค์ที่ยังเล็กๆยังไม่ทันได้รับพระราชทาน จึงตกเป็นพระราชภาระในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระราชทานที่วังเก่าที่เป็นวังเจ้านายแต่ก่อนบ้าง ทรงซื้อพระราชทานบ้าง การซื้อพระราชทานก็สุดแล้วแต่พระราชดำริว่า จะพระราชทานให้เป็นสิทธิขาด หรือพระราชทานให้ประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์ แต่ส่วนมากมักซื้อพระราชทานให้เป็นสิทธิขาด
               การที่ทรงมีรับสั่งในพระราชหัตถเลขาว่า "เห็นเป็นการลั่นประแจตาย" และ "หรือเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น แลกลับให้ชื่อเสียงลูกเสียด้วย" ก็เพราะทรงเห็นมาแล้วว่า พระเจ้าน้องยาเธอบางพระองค์ไม่ทรงชอบพระทัยในที่ที่สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานไว้ ครั้นจะขายก็ไม่ได้ ด้วยเป็นที่พระราชทาน ซึ่งอันที่พระราชทานนี้ หากมิทรงมีพระบรมราชานุญาตไว้ว่าให้เป็นกรรมสิทธิ์ขายได้ ก็ไม่มีสิทธิ์ขาย นี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ที่ทรงว่าเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น เพราะทรงเห็นว่า แม้จะเป็นการซื้อที่มิใช่เป็นการไล่ที่ แต่หากเจ้าของไม่เต็มใจ ก็เป็นการเดือดร้อนแก่ผู้ที่เขาอยู่มาก่อน ซึ่งตลอดเวลา ๑๐ ปี ที่ทรงต้องรับพระราชภาระ เรื่องวังของพระเจ้าน้องยาเธอ นับเป็นสิบๆวัง คงต้องทรงพบกับปัญหาเหล่านี้ เช่นที่ดินที่พระราชทานเอาไว้แต่รัชกาลก่อนนั้น เมื่อยังไม่มีการสร้างวัง ทิ้งเอาไว้เฉยๆ ก็มีผู้เข้าไปอยู่อาศัย ครั้นนานปีเข้าจะไล่ก็ไม่ได้ บางทีจึงต้องโปรดฯให้ซื้อกลับ เป็นต้น
               การเป็นพระเจ้าแผ่นดินในสมัยบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระบรมราชวงศ์จักรีนั้น จะเห็นได้ตามพระราชหัตถเลขาว่า มิใช่จะทรงสำราญพระราชหฤทัยเสมอไป ถึงกับทรงเปรียบพระองค์เองว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินอย่าง 'แมง' หรือ 'แมลง' เท่านั้น ซึ่งคอยรับแต่คำบวงสรวงเป็นพลีกรรม
               และเป็น "ผู้ซึ่งกลัวเศรษฐีประจบเศรษฐี คอยให้ฉัตรเศรษฐี" ฉัตร-ในที่นี้คงจะทรงหมายถึงยศศักดิ์เช่นเป็นขุน หลวง พระ พระยา
               'กรมประจักษ์ฯ' ในพระราชหัตถเลขานั้นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่) การที่ได้พระนามว่า 'ทองกองก้อนใหญ่' กล่าวไว้ในพระประวัติว่า เมื่อประสูตินั้น ประจวบกับมีผู้นำทองก้อนใหญ่ที่ขุดพบ เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พอดี จึงได้โปรดเกล้าฯพระราชทานพระนามพระกุมารที่ประสูติในวันนั้นว่า 'ทองกองก้อนใหญ่'
               ขณะนั้นทรงกรมเป็นกรมหมื่น และเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง
               พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ฯพระองค์นี้ เรื่องราวของท่านตามที่ได้ยินผู้ใหญ่ในแวดวงรั้ววังพูดสู่กันฟังบ้าง อ่านพบในหนังสือที่เจ้านายทรงนิพนธ์บ้าง ปรากฏว่า เมื่อยังทรงเยาว์วัยอยู่นั้น ทรงซนและติดจะแผลงๆ พระวาจาโผงผางตรงไปตรงมา ไม่ทรงเกรงใจใคร
               เมื่อพระชันษา ๑๒ ก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคต มีคำกลอน (ซึ่งคงเป็นเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งทรงแต่งขึ้น) แสดงพระอัชฌาสัยเจ้านายเด็กๆ กล่าวถึง 'กรมประจักษ์ฯ' ไว้ว่า
               "เที่ยวลอบจุดโคม ท่านทอง"
               ก็คือท่านทรงซุกซน ตามปกติในวังสมัยรัชกาลที่ ๔ ยังไม่มีไฟฟ้าตามถนนในวัง แต่มีโคมจุดไฟไว้ปลายเสาเป็นระยะๆ ตกค่ำเจ้าพนักงานจึงจะจุด แต่ขณะที่เจ้าพนักงานยังไม่ทันจุด ท่านทองก็จะทรงแอบไปจุดเสียก่อน ตามประสาเด็ก ซึ่งไม่ว่าเด็กสมัยใด เรื่องเล่นเกี่ยวกับไฟเป็นชอบนักหนา
               เรื่องของ 'กรมประจักษ์ฯ' ยังมีอีกหลายต่อหลายเรื่อง ที่แสดงถึงการ 'พูดเล่น' ดังในพระราชหัตถเลขา ทรงคิดอย่างไร ก็กล้าพูดออกมาอย่างนั้น โดยแม้จะมิใช่การพูดเล่น เป็นการพูดจริงๆ ตรงไปตรงมาก็ตาม
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×