ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #295 : พระเจ้าแผ่นดินกับเงินของแผ่นดิน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 306
      0
      20 เม.ย. 53

    ระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะทรงเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น 'พระเจ้าแผ่นดิน' ซึ่งจะทรงใช้เงินของ 'แผ่นดิน' เท่าใดก็ย่อมได้คงไม่มีผู้กล้าทัดทาน แต่ก็ไม่เคยทรงนำเงินรายได้ของแผ่นดินออกมาใช้เป็นการส่วนพระองค์ แม้แต่จะใช้เจือจานพระญาติพระวงศ์เป็นพิเศษ          
               เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ (พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ) เป็นเสนาบดี กรมพระนครบาล กรมหมื่นภูธเรศ ทรงว่าราชการกรมพระนครบาลอยู่ ๔-๕ ปี ก็ทรงประชวร เวลานั้นระบบการบัญชี ยังไม่เป็นระเบียบ การเก็บภาษีอากร เจ้าภาษีก็เก็บส่งขาดๆเหลือๆ และยังไม่มีการแยกเรื่องใช้จ่ายให้เป็นสัดส่วน จึงปรากฏว่ากรมหมื่นภูธเรศฯ ทรงใช้สอยเงินไปส่วนหนึ่ง (ว่าที่จริงอาจจะมิได้ทรงใช้สอยส่วนพระองค์อย่างเดียว แต่เมื่อเงินขาด ก็ต้องทรงรับผิดชอบ) ดังนั้น กรมหมื่นภูธเรศฯ จึงทรงมีหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และเมื่อพระอาการมากขึ้น จึงกราบบังคมทูล พระมหากรุณาขอพระราชทานสองสิ่ง ถ้าหากพระองค์สิ้นพระชนม์
               คือ ๑. ขอพระราชทานที่วังเป็นสิทธิ และ ๒. ขอพระราชทานเงินภาษีส่วนที่ว่าเอาไปใช้สอยเสียนั้น
               ตรงนี้น่าจะได้เล่าเพิ่มเติมสักนิดว่า
               การที่ทรงขอพระราชทานที่วังเป็นสิทธินั้น เนื่องด้วยแต่ไหนแต่ไรมา การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชทานวังรวมทั้งที่สร้างวังให้แก่เจ้านาย (ตลอดจนขุนนาง) นั้น เป็นการโปรดฯ ให้ประทับอยู่ แต่มิได้ยกให้เด็ดขาด วังและที่วังนั้น ในสมัยก่อนก็รายรอบอยู่ใกล้ๆพระบรมมหาราชวัง เพื่อสะดวกแก่การเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และมักพระราชทานให้เป็นกลุ่ม เช่นวังพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ อยู่เป็นกลุ่ม ๕ วัง ตรงมุมแหลมท้ายวัดโพธิ์ (ปัจจุบันเป็นที่ทำการราชการและสถานีตำรวจ) วังพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ อยู่เป็นกลุ่ม ๓ วัง คือตรงที่เรียกกันว่า แพร่งนรา แพร่งสรรพสาตร และแพร่งภูธร ทุกวันนี้ ทั้ง ๓ แพร่งได้ชื่อมาจากเสด็จในกรม ๓ พระองค์ เจ้าของวัง คือ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์
               วังและที่วังที่พระราชทานให้เหล่านี้ เมื่อมิได้พระราชทานให้เด็ดขาด จึงเมื่อเจ้าของวังสิ้นพระชนม์ลง บางทีก็โปรดเกล้าฯให้โอรส ธิดา ตลอดจนบริวารอยู่กันไปก่อน บางแห่งก็โปรดเกล้าฯพระราชทานให้เจ้านายพระองค์อื่นเสด็จประทับต่อ โดยพระราชทานที่ให้พระโอรสของเจ้าของวังองค์เก่า ย้ายไปอยู่ไกลออกไป ส่วนพระธิดามักโปรดฯ ให้เข้าไปประทับอยู่กับเจ้านายฝ่ายในที่เป็นพระญาติพระวงค์กัน
               ทั้งนี้เว้นเสียแต่ วังและที่วังเหล่านี้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์ โดยมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเอาไว้
    เจ้าของวังจึงจะมีสิทธิยกให้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน และมีสิทธิขายได้
               ดังนี้ เมื่อกรมหมื่นภูธเรศฯ ประชวรพระอาการหนัก จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่วังเป็นสิทธิ เพื่อพระโอรส ธิดา ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระเยาว์จะได้ไม่ต้องกระจัดพลัดพรายกันไป
    เรื่องนี้ ปรากฏในพระราชหัตถเลขา ถึง 'กอมมิตตีกรมพระนครบาล' พ.ศ.๒๔๓๐ ตอนหนึ่งว่า
              "เรื่องที่บ้านนั้น (ตอบ) ว่า จะตายก็ดี มิตายก็ดี ไม่ได้คิดจะเอาที่บ้านคืน ยอมอนุญาตให้"
               ไหนๆพูดถึงเรื่องวังเจ้านายแล้ว
               ขอเติมอีกสักนิด คือมีคำกล่าวอันได้ยินกันมาว่า 'ไล่ที่ทำวัง' ซึ่งบางท่านวิจารณ์ออกจะเป็นเชิงลบอยู่สักหน่อย คล้ายๆกับว่าเจ้านายท่านอยากจะทำวังตรงไหนก็ไล่ราษฎรที่อยู่มาก่อนเพื่อเอาที่ทำวังของท่าน
               ที่จริงแล้ว คำกล่าวนี้มีมาแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเสด็จข้ามมาสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเหตุที่เป็นชัยภูมิเหมาะ มีคูเมืองเดิมของกรุงธนบุรีทางทิศตะวันออกอยู่แล้ว แต่เวลานั้นมีกลุ่มชาวจีนตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อน ตรงที่จะต้องโปรดฯให้สร้างพระบรมมหาราชวัง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พวกชาวจีนอพยพลงไปอยู่ ณ บริเวณที่เรียกกันว่า สำเพ็ง ทุกวันนี้
               เมื่อทรงสร้างพระบรมมหาราชวังแล้ว วังของพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางเสนาบดี ทั้งหลายก็ต้องตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังดังกล่าว จึงต้องโปรดฯให้ราษฎรที่อาศัยอยู่เดิม ย้ายออกไป โดยพระราชทานที่ให้อยู่ใหม่ มิได้ทรงขับไล่แน่นอน แม้เมื่อรัชกาลต่อๆมาก็เช่นกัน จนถึงรัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่า เมื่อจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังให้พระเจ้าน้องยาเธอก็ตาม พระราชโอรสก็ตาม จะทรงซื้อที่จากราษฎรฯ ผู้เป็นเจ้าของอยู่ก่อนเสมอ หรือมิฉะนั้นก็เป็นที่ดินราชพัสดุ
               ทีนี้ข้อ ๒. กรมภูธเรศฯ ท่านขอพระราชทานเงินภาษีส่วนที่ทรงใช้สอยไป ซึ่งเคยกราบบังคมทูลไว้ว่าจะทรงใช้คืนให้นั้น หากท่านสิ้นพระชนม์ ก็ขอพระราชทานเลย
    ข้อนี้เห็นจะทรงเกรงว่า เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว จะลำบากแก่พระโอรสธิดา ซึ่งอาจจะต้องทรงใช้หนี้แทน
               ข้อ ๒ นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มิได้ทรงตอบว่ากระไร
               ครั้นถึง พ.ศ.๒๓๓๐ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร) ทรงเป็นเสนาบดี กรมพระนครบาล ต่อจากกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์
    กรมพระนครบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องการเงินภาษีอากร และเงินที่จะใช้ราชการในกรมขึ้น พบจำนวนเงินที่ขึ้นบัญชีไว้ว่า กรมหมื่นภูธเรศฯ นำไปใช้สอยยังมิได้คืน จึงทำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูล
               พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานไปยัง 'กอมมิตตีกรมพระนครบาล' ดังนี้
                                                                                                            "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
                                                              วันเสาร์แรม ๑๕ ค่ำ เดือน กันยายน จ.ศ.๑๒๔๙ (พ.ศ.๒๔๓๐)
    ถึงกอมมิตตีกรมพระนครบาล
               ด้วยจดหมายที่ ๑๓/๔๙ ว่าด้วยจัดการเงินภาษีอากรที่ขึ้นในกรมพระนครบาล แลเงินที่จะใช้การในกรมนั้นได้ตรวจดูแล้ว การที่คิดจัดนั้นเป็นการชอบแล้ว ให้จัดการตามที่ว่า เงินรายที่กรมหมื่นภูธเรศร์เอาไปใช้นั้น จะว่าไม่รู้ก็จะว่าเป็นเท็จไป ได้ทราบอยู่ เมื่อกรมหมื่นภูธเรศร์เจ็บอาการมากขึ้น ได้จดหมายมีคำขอ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งขอบ้านเป็นสิทธิ์ อย่างหนึ่งขอเงินภาษีที่เอาไปใช้สอย
                ในเวลานั้น เห็นว่าถ้าจะอนุญาตเงินที่เอาไปใช้ให้เป็นแล้วกันไปตามที่ขอ ถ้ากรมหมื่นภูธเรศร์ไม่ตายก็จะเป็นเหมือนยกภาษีให้...จึงหาได้ว่ากระไร ในข้อนั้น (จึง) ไม่ได้ตอบไป แต่เรื่องที่บ้านนั้น (ตอบ) ว่า จะตายก็ดีมิตายก็ดี ไม่ได้คิดจะเอาที่บ้านคืน ยอมอนุญาตให้ความแจ้งในหนังสือที่มีอยู่ไปแล้ว
               แลในเรื่องเงินภาษีนั้น บัดนี้กรมหมื่นภูธเรศร์ก็ยังอยู่ ก็ควรจะต้องหาเงินใช้เงินแผ่นดิน อย่าให้เป็นที่เสียชื่อเสียงไป จึงจะชอบ
               แต่เงินที่ค้างผู้อื่น (คือรายอื่นที่ยังค้างภาษีกรมพระนครบาลอยู่-จุลลดาฯ) ก็ควรจะเก็บจะเรียกตามธรรมเนียม ให้จัดการเก็บเงินที่ค้างส่งคลังให้สิ้นเชิงเถิด"
               ต่อมากรมหมื่นภูธเรศฯก็ได้ทรงหาเงินใช้คืนแก่กรมพระนครบาลจนครบ เรื่องนี้เคยได้ฟังจากผู้ใหญ่ในสกุลที่รับใช้สนองพระยุคลบาทใกล้ชิดพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เล่าแก่กันว่า หากกรมหมื่นภูธเรศฯ สิ้นพระชนม์ในครั้งนั้น พระองค์ท่านก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกให้ โดยจะทรงพระราชทานเงินใช้คืน แก่กรมพระนครบาลเอง


                                                        พระพิทักษ์ยุติธรรม์           ถ่องแท้
                                                        บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน          ส่องโลก ไสร้แฮ
                                                        ยังมีอีกมากมายนัก          พรรณนารำพันได้มิมีสิ้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×