ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #293 : เมื่อสยามกู้เงินตลาดเงินครั้งแรก

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 257
      0
      20 เม.ย. 53

    นสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงพระราชดำริจะสร้างเรือรบคือเรือป้อมอย่างญวนไว้สู้ศึกญวน ครั้งนั้นโปรดฯให้ขอแรง ขุนนางที่มีทุนรอนและบรรดาเจ๊สัวเจ้าภาษีอากร ช่วยกันรับต่อเรือเจ้าละลำสองลำ แต่มิได้ขอแรงเปล่า พระราชทานเงินช่วยลำละ ๒๐ ชั่ง เวลานั้นปรากฏว่า มีเจ๊สัว เจ้าภาษีอากร พากันต่อเรือถวายโดยมิรับพระราชทานเงินช่วยก็มี
               และบรรดาเจ๊สัว เจ้าภาษีอากรเหล่านี้นั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๓ เช่นกัน ปรากฏว่า ได้บริจาคเงินถวายใช้สอยในราชการแผ่นดินอยู่เนืองๆ
               เป็นต้นว่า เมื่อเสร็จศึกเมืองเวียงจันทน์ ทรงคาดการณ์ว่า ต่อไปอาจต้องเผชิญกับศึกญวน จึงโปรดฯให้มีการแห่สระสนานครั้งใหญ่ผ่านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท (การแห่สระสนานแต่โบราณเทียบได้กับสวนสนามในปัจจุบัน คือการแสดงแสนยานุภาพให้เป็นที่ล่วงรู้แพร่กันออกไปว่ามีกำลังแสนยานุภาพเข้มแข็ง จะว่าขู่กันก็ว่าได้)
               การแห่สระสนานเคยมีมาในกรุงรัตนโกสินทร์แล้วครั้งหนึ่งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งนั้นมิได้ใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ของจริง ให้ใช้ไม้ทำเลียนแบบ แต่ครั้งในรัชกาลที่ ๓ การแห่สระสนานครั้งที่ ๒ นี้ ขบวนแห่คึกคัก พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ขุนนาง ไพร่ทหารเข้าขบวนแห่กันมากมาย อาวุธยุทโธปกรณ์โปรดฯให้ใช้อาวุธจริงๆ บรรดาขุนนางที่มีกำลังเงิน เจ๊สัว เจ้าภาษีอากร ซึ่งเข้าขบวนแห่ตามหลัง ต่างมีบริวารบ่าวไพร่มากมาย ก็พากันสร้างเครื่องอาวุธดาบ หอก หลาว แหลนต่างๆให้บริวารบ่าวไพร่คือประกวดประขันกัน (การแห่สระสนานครั้งนี้ มีบรรยายละเอียดในบุญบรรพ์ บรรพ ๒)
               ดังนั้น เมื่อแห่สระสนานเสร็จ จึงมีอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้ใช้สู้ศึกมากมาย โปรดฯให้นำไปเก็บไว้ที่โรงแสง อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้เหลือใช้เก็บมาจนถึงรัชกาลที่ ๕
               ราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้อาศัยกำลังเงินพวกเจ๊สัวเจ้าภาษีอากรอยู่ไม่น้อย ยามศึกก็ช่วยสร้างกำลังรบ ยามสงบก็สร้างวัดวาอาราม ซึ่งในสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางสังคมชาวบ้าน เป็นโรงเรียน นอกจากจะเป็นความรุ่งเรืองของศาสนา และเป็นความงามของบ้านเมืองแล้ว ด้วยบรรดาพวกเจ๊สัวเจ้าภาษีอากรเหล่านั้น ต่างมีใจสำนึกถึงบุญคุณของแผ่นดินสยาม ที่ได้ให้พวกเขาอยู่กินอย่างร่มเย็นทำกิจการค้าขายได้ประโยชน์เป็นปึกแผ่นขึ้นมา พวกเขาจึงตอบแทนบุญคุณด้วยการแบ่งเงินทองให้แผ่นดินตามความมั่งคั่งมากน้อย แม้ว่าจะมิใช่เป็นการบังคับ
               ถึงรัชกาลที่ ๔ ศึกสงบ มีการสร้างสาธารณูปโภค ขุดคลองเพิ่ม สร้างถนนหนทาง โดยเฉพาะสะพานข้ามคลอง แม้จะโปรดฯให้ทางราชการสร้างทว่าบางครั้งก็ต้องทรง 'ขอแรง' ขุนนาง และบรรดาเจ๊สัวเจ้าภาษีอากร ซึ่งเจ๊สัวนั้น บางท่านก็ไม่ต้องให้พระเจ้าแผ่นดินทรง 'ขอแรง' หากแต่สร้างถวายทำถวายให้แก่แผ่นดินเองด้วยความรู้คุณแผ่นดินดังกล่าว
               ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ การสร้างความเจริญของบ้านเมือง จำเป็นต้องให้ทันความเจริญของนานาประเทศ โดยเฉพาะการสร้างสาธารณูปโภค เช่นรถไฟเชื่อมการติดต่อถึงกันทั่วพระราชอาณาจักร
               จึงโปรดฯให้สร้างทางรถไฟสายแรกขึ้น จากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา เรียกกันต่อมาว่า "รถไฟนครราชสีมา"
                ในการสร้างรถไฟสายแรกในพระราชอาณาจักรนี้
               "โปรดเกล้าฯให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติรวบรวมเงินแผ่นดินซึ่งเหลือจากจ่ายราชการไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับสร้างรถไฟสายนี้เป็นของหลวง เจ้าพนักงานโยธาธิการเป็นผู้จัดการ กะสร้างประมาณทุนทำไม่เกิน ๒ แสนชั่งถ้วน ให้แบ่ง (ทุน ๒ แสนชั่ง นั้น) เป็นส่วนๆละ ๑ ชั่ง ๒๐ บาท (๑๐๐ บาท) ไม่เกินแสนหกหมื่นส่วน
               แลในส่วนเหลือจากประมาณเป็นของหลวงแล้ว นอกจากนั้นจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเฉลี่ยให้แก่มหาชน ผู้มีความเต็มใจจะรับเข้าส่วนรถไฟนี้ด้วย เป็นช่องชี้ให้ผู้มีทุนทั้งหลายหว่านทรัพย์ลงประกอบการ ซึ่งจะเกิดกำไรยิ่งขึ้นถ่ายเดียวเพราะไว้ใจได้แน่ว่าจะไม่ขาดทุนเลยเป็นอันขาด
               ด้วยโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานกระทรวงพระคลังมหาสมบัติรับประกันแก่ผู้ส่งเงินเข้าส่วน ว่า
               ถ้าภายใน ๑๐ ปี ผลกำไรรถไฟยังแบ่งไม่ได้ ฤๅแบ่งได้ต่ำกว่าร้อยละ ๕ ต่อปีก็ดี เจ้าพนักงานกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจะจ่ายเงินออกใช้เป็นผลกำไรแก่ผู้ถือส่วนจนครบร้อยละ ๕ ต่อปี ทั้งสิ้น ถ้าแลผลกำไรรถไฟมากกว่าร้อยละ ๕ อีกเท่าใด ก็จะได้เป็นสิทธิของผู้ถือส่วนจนหมด"
               นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการขายหุ้นให้แก่มหาชน เพื่อนำเงินใช้ในราชการแผ่นดิน 'ผู้ถือส่วน' ก็คือ 'ผู้ถือหุ้น' นั่นเอง
               ทางรถไฟนครราชสีมา สร้างเรื่อยไปถึงกรุงเก่า (อยุธยา) ถึงแก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง จนกระทั่งถึงนครราชสีมา เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๔ เป็นเวลานาน ๙ ปี พ.ศ.๒๔๔๔ จึงเสร็จเรียบร้อย เปิดให้ประชาชนโดยสารได้ตลอดสาย สิ้นเงินในการก่อสร้างรถไฟสายนี้ ๑๗,๕๘๕,๐๐๐.- บาท
               แต่ต่อมาเมื่อจะสร้างทางรถไฟให้ขึ้นไปทางเหนือต่อไป และจำเป็นต้องสร้างทางรถไฟสายอื่นๆให้เสร็จอย่างรวดเร็วทันใช้ จะรอนำเงินในท้องพระคลังออกใช้ก็ไม่ทันการ
               เพราะการเก็บภาษีอากรอันเป็นรายได้แผ่นดินแต่โบราณมานั้น ได้เงินรับมาเท่าใด ก็ใช้จ่ายแต่เพียงในวงเงินที่มีอยู่ ต่อเมื่อเงินเหลือเท่าใด จึงใช้ทำนุบำรุงบ้านเมือง
               ดังนั้น พระราชอาณาจักรสยาม ว่ากันตั้งแต่เพียงยุครัตนโกสินทร์เป็นต้นมา จึงเป็นประเทศเดียวเท่านั้นในบรรดาประเทศที่ถึงวัฒนธรรมด้วยกันทั้งหลายที่ไม่มีหนี้สิน
               พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงต้องทรงเลือก ว่าจะใช้วิธีเดิมรักษาชื่อเมืองไทยว่าไม่มีหนี้สินต่อไปดี หรือจะยอมเป็นหนี้กู้เงินมหาชน จากตลาดโลกมาทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรวดเร็วทันโลก
               เมื่อทรงปรึกษาเสนาบดีเห็นพร้อมกันแล้ว จึงตัดสินพระราชหฤทัย พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากมหาชน (Public Joan) ที่ตลาดเงินเมืองลอนดอน
               แต่ในการขอกู้เงินนั้น จำเป็นต้องมีประกาศรายละเอียด รายรับ รายจ่าย ของประเทศเพื่อให้เจ้าหนี้มีความเชื่อถือ
               แต่ก่อนมาสำหรับเงินใช้สอยส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินนั้น ทรงได้รับอยู่ ร้อยละ ๑๕ ของรายได้แผ่นดิน (ซึ่งกระทรวงพระคลังตรวจเงินแผ่นดินแล้วปรากฏว่าทรงเบิกใช้สอยไม่เคยเกินร้อยละ ๑๕ เลย)
               ครั้นเมื่อจะกู้เงินตลาดโลก จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นตามแบบฝรั่ง คือต้องกำหนดจำนวนเงินบอกไว้ให้ปรากฏในงบประมาณว่า ถวายปีละเท่าใดให้ชัดเจน
               ดังนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันตมงคล ต้นราชสกุลไชยันต์ ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงพระคลังจึงได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
               ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบทันที ใจความว่า
              "โปรดฯให้กระทรวงพระคลังแก้ไขให้ตรงตามแบบฝรั่งด้วย ส่วนจำนวนที่จะถวายให้ทรงใช้สอยปีละเท่าใด ก็ให้กระทรวงพระคลังพิจารณาดูตามเห็นสมควรถวายเท่าใดก็จะยอมรับเท่านั้นโดยไม่รังเกียจ สุดแต่ให้สำเร็จประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นประมาณ"
               เมื่อจะมีการกู้เงินตลาดโลกเป็นครั้งแรกนั้น ไทยได้ขอยืมผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมาเป็นที่ปรึกษากระทรวงพระคลังเป็นเวลา ๓ ปี ชื่อ มิสเตอร์มิทเชล อินเนส (Mitchel Innes) ชาติอังกฤษ
               สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ว่า มิสเตอร์มิทเชล อินเนส ถึงกับกล่าวกับสมเด็จฯด้วยความชื่นชมเป็นอย่างยิ่งว่า
              "No country has a King like yours"
               และสมเด็จฯได้ทรงพระนิพนธ์เล่าถึงคำพูดของ มิสเตอร์มิทเชล อินเนส ต่อไปว่า
               "ตามประเทศอื่นมักปรากฏแต่ว่า พระเจ้าแผ่นดินอยากได้เงินใช้ส่วนพระองค์ให้มากขึ้น ซึ่งเสนาบดีเป็นราษฎร (Parliament) คอยขัดขวางไม่ยอมถวายตามพระประสงค์ แต่เมืองไทยนี้พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจสิทธิ์ขาดจะสั่งให้เป็นอย่างไร ก็ได้ตามพระราชหฤทัย แต่พระเจ้าอยู่หัวกลับยอมสละผลประโยชน์ส่วนพระองค์พระราชทานแก่บ้านเมือง แล้วยังซ้ำให้เสนาบดีกะจำนวนจะถวายเท่าใดก็จะทรงยอมรับเท่านั้น ดังนี้ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นที่จะทำเหมือนอย่างพระเจ้าอยู่หัว จึงนับถือเป็นอย่างยิ่ง"
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×