ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #289 : สนธิสัญญาเบาริ่ง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 285
      0
      19 เม.ย. 53

    วั นที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๘ เป็นวันลงนามในสนธิสัญญา ระหว่างประเทศอังกฤษ และประเทศสยาม ที่ไทยเรียกว่า 'สนธิสัญญาเบาริ่ง'
             นับถึงบัดนี้ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๙ ก็เป็นเวลาผ่านมานานถึง ๑๕๑ ปีแล้ว
            ในการเจรจาปรึกษาทำหนังสือสัญญาด้วย Sir John Bowring นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯตั้งผู้รับสั่งให้ปรึกษาด้วย Sir John Bowring คือ
            ๑. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระองค์เจ้านวม)
            ๒. สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์)
            ๓. สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ)
            ๔. ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)
            ๕. เจ้าพระยาผู้ช่วยราชการกรมท่า (เจ้าพระยาทิพากรวงษมหาโกษาธิบดี)
            ยังมีอีกท่านหนึ่งคือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ที่สมุหนายก เวลานั้นป่วยไปไหนไม่ได้ จึงมิได้เข้าประชุมในการตกลงทำหนังสือสัญญา
            ทั้ง ๕-๖ ท่านดังกล่าวมานี้ ล้วนเป็นขุนนางชุดในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้ปรึกษาหารือกันเจรจากับทูตต่างประเทศที่ขอเข้ามาทำสัญญาค้าขาย ซึ่งพระองค์ทรงติดตามและทรงมีพระราชดำริพระราชทานตลอดเวลา
           ครั้งนี้ 'สนธิสัญญาเบาริ่ง' ได้มีการประชุมเจรจากันหลายครั้งที่บ้านเสนาบดี คือ บ้านของสมเด็จองค์ใหญ่ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์)
           การเจรจาครั้งสำคัญวันที่ ๙ เมษายน ที่บ้านของสมเด็จองค์ใหญ่ นั้น Sir John Bowring ได้บันทึกเอาไว้ว่า
           "เวลาเช้าสี่โมงล่วงแล้ว เราได้พากันไปที่บ้านสมเด็จองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นการไปหาครั้งแรกตามหน้าที่ทางราชการ เราได้รับความต้อนรับตามเคย มีทหารรักษาประตูวันทยาวุธ เราได้ไปด้วยเรือหลวง เราได้เดินผ่านฝูงคนที่มาคอยดูเราอยู่เป็นอันมาก
           เราได้เข้าไปพักอยู่ที่ในห้องใหญ่ซึ่งแต่งประดับล้วนแล้วไปด้วยเครื่องทองคำ สมเด็จองค์ใหญ่นั่งอยู่ที่กลางห้อง พระเจ้าน้องยาเธอ (กรมหลวงวงศาธิราชสนิท) ประทับอยู่ข้างซ้าย สมเด็จองค์น้อยนั่งอยู่ทางข้างขวาในที่แท่นเดียวเสมอกันกับที่ข้าพเจ้านั่งพระกลาโหม (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหพระกลาโหมที่ยังเป็นว่าที่อยู่ เพราะบิดาของท่าน คือ สมเด็จองค์ใหญ่ ยังอยู่ในตำแหน่งสมุหพระกลาโหมอยู่ ทว่าครั้งนั้น เมื่อบิดาของท่านได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยา เรียกกันว่า สมเด็จองค์ใหญ่แล้ว คนทั้งหลายต่างก็เรียกเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า ท่านกลาโหม-จุลลดาฯ) นั่งอยู่ข้างหน้า
           พระกลาโหมคนเดียวเป็นหัวใจของที่ประชุม ด้วยเขาพูดเกือบคนเดียวแทบจะทั้งนั้น
    ที่ประชุมพูดโต้เถียงกันอยู่กว่าหกชั่วโมง ได้พูดข้อความในหนังสือสัญญาที่จะได้ทำต่อกันทุกข้อ เมื่อข้อใดเป็นการตกลงกันแล้ว เสมียนก็เขียนจดลงเส้นดำน้ำหมึก เสมียนนั้นหมอบเขียนอยู่ที่ริมเท้าข้างเท้าพระกลาโหม พระคลังไม่ได้มาอยู่ในที่ประชุม แต่เขาก็เป็นเสนาบดีคนหนึ่งที่ได้ทรงตั้งให้อยู่ในกรรมการ (คือเจ้าพระยาทิพากรวงษฯ-จุลลดาฯ)...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ"
           Sir John Bowring ได้เล่าถึงเสนาบดีทั้ง ๔ ในที่ประชุมว่า
          "ข้อความที่พระเจ้าน้องยาเธอได้มีรับสั่งในที่ประชุม ดูเป็นถ้อยคำที่มีความคิดและสติปัญญาหลักแหลม สมเด็จองค์ใหญ่นั้นนั่งนิ่งเงียบเฉย ดูเหมือนเกือบจะไม่เข้าใจตลอดในข้อความที่ได้ปรึกษาหารือกันในข้อสัญญาเหล่านั้น ด้วยเวลานั้นเท้าท่านป่วยเจ็บเป็นแผลที่ขา เห็นปิดขี้ผึ้งอยู่ ซึ่งทำให้ท่านไม่ค่อยสบายเห็นจะปวดเจ็บที่แผล (สมเด็จองค์ใหญ่ป่วยเพราะถูกไม้เสี้ยนแหลมตำเท้าซ้าย แผลกลายเป็นพิษ หลังจากทำสัญญาเสร็จ อีกเพียงเดือนเดียว ก็ถึงแก่พิราลัย ชนมายุ ๖๘ ปี ท่านอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ๑ ปี-จุลลดาฯ) สมเด็จองค์น้อย นั้นได้ข่าวว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ อยู่มากในการที่ทำเฉพาะแต่ลำพัง (คือการผูกขาด-monopoly) ตามที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหัวหน้าที่มีความขัดขวางมาก ท่านเสนาบดีทั้ง ๔ ได้พูดโต้ตอบกันด้วยเสียงอันดังมาก เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ ณ ที่นั้นทุกคนที่รู้จักภาษาแล้วก็ได้ยิน เข้าใจได้ความชัดเจนตลอดหมด ตามที่พูดโต้เถียงกันนั้น ครั้นถึงเวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งได้เลิกการประชุมทำหนังสือสัญญา และนัดที่จะได้ประชุมทำกันใหม่อีกในวันพุธเวลาสี่โมงเช้า"
            เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์-ท่านกลาโหม หรือพระกลาโหมที่ Sir John Bowring กล่าวถึงว่า 'พระกลาโหมคนเดียวเป็นหัวใจของที่ประชุม' นั้น
            คือบุตรชายใหญ่ของสมเด็จองค์ใหญ่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาโปรดปรานประดุจพระราชบุตรบุญธรรม ด้วยพระองค์เองทรงสนิทสนมกันเป็นอย่างยิ่งกับสมเด็จองค์ใหญ่ เมื่อทรงผนวช และบวชพร้อมกันนั้น ครั้นสึกแล้ว สมเด็จองค์ใหญ่ท่านสมรสก่อน และได้บุตรชายใหญ่ คือ เจ้าคุณชายช่วง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงมีหม่อมท่านแรก หลังจากทรงลาผนวชแล้ว ๓ ปี ทรงได้พระโอรสองค์ใหญ่จากหม่อมหงิม หม่อมท่านแรก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระบรมอัยกาธิราช พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้ากวีวงศ์ ว่ากันว่า เจ้าคุณชายช่วงนั้น ตามท่านบิดาไปเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสมอ จึงสนิทสนมกับหม่อมเจ้ากวีวงศ์ แต่หม่อมเจ้ากวีวงศ์ มีอายุเพียง ๑๐ ชันษา ก็สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงพระเมตตาบุตรชายใหญ่ของเพื่อนรัก เสมือนทดแทนองค์โอรสใหญ่ของพระองค์ท่าน
            เจ้าคุณชายช่วงเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯเสด็จสวรรคต เจ้าคุณชายช่วงมีอายุได้ ๑๕-๑๖ ปี ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ ต่อไป จำเริญในราชการเป็นที่โปรดปรานด้วยท่านเป็น หนุ่มสมัยใหม่ เปรื่องปราดในยุคนั้น ตำแหน่งสุดท้ายในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็ก เมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต ทรงมีพระบรมราชโองการให้เข้าเฝ้าฯ โดยเฉพาะ และทรงฝากฝังบ้านเมืองโดยมีรับสั่งว่า
            "การต่อไปภายหน้า เห็นแต่เอ็งที่จะเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป...ฯลฯ..."
    พร้อมทั้งทรงมีพระบรมราโชวาทสั่งสอน อันนับว่าเป็นพระอมตะวาจา ควรยึดถือจนทุกวันนี้
            "การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็อยู่ก็แต่พวกข้างฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะร่ำเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมไสไปทีเดียว"
            บันทึก Sir John Bowring นั้น ยกย่องสรรเสริญเจ้าพระยาศรีวรวงศ์ ไว้หลายตอน ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า
            "กิริยาอาการส่วนตัวของท่านอัครมหาเสนาบดีที่ได้กระทำแก่ข้าพเจ้านั้น เป็นเหตุที่น่าควรชมสรรเสริญมาก ด้วยเขาเป็นคนสำคัญและเป็นคนโตใหญ่ที่สุดผู้หนึ่ง และเป็นคนที่มีตระกูลมหาศาลอยู่ในประเทศ...ฯลฯ...ฯลฯ...เขาก็เป็นคนหนึ่งที่สูงศักดิ์ยิ่งนักในการมีความรักชาติภูมิ และเป็นผู้ที่ได้รับความสว่างที่บานแล้วเป็นอย่างยิ่ง ในโลกฝ่ายทิศตะวันออก เขาเป็นคนที่ไม่ประสงค์เงินทองมากนัก และไม่ค่อยจะมีความระวังในเรื่องลาภและทรัพย์สมบัติ เขาได้เคยพูดกับข้าพเจ้าว่า เงินนั้นเป็นสิ่งที่เคยกระทำให้คนเกิดความวิตกวิจารณ์เป็นห่วงใยมาก และเขาได้เคยอธิบายแก่ข้าพเจ้าถึงตัวเขาที่อยู่ในตำแหน่งอันยากยิ่งนัก จนชั้นพวกพี่น้องของเขาก็ตกอยู่ในที่อันยากเหมือนกัน"

           'ที่อันยาก' ก็คือ เพราะเป็นตระกูล 'มหาศาล' และมีอิทธิพลมาก จึงเป็นเหตุให้มักถูกระแวงว่า อาจแย่งชิงราชสมบัติ ดังเช่นที่เกิดขึ้นเนืองๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×