ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #285 : เจ้าจอมมารดา

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.11K
      2
      19 เม.ย. 53

    แต่ พระสนมผู้นี้มิได้เป็นเจ้า จึงออกรับแขกเมืองไม่ได้ เวลานี้ไม่มีมเหษีมาตั้งแต่สมเด็จพระนางสิ้นพระชนม์แล้ว ข้าพเจ้าได้ยินข่าวว่าพวกขุนนางจะตกลงกันเลือกตั้งพระมเหษีขึ้นนานแล้ว แต่พวกวังหน้ากับพระกลาโหมไม่ตกลงเห็นด้วย จึงยังไม่ได้ตั้งพระมเหษีองค์ใหม่"

            พระสนมท่านที่ทรงเอ่ยถึงนี้ คือ เจ้าจอมมารดาเที่ยง ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าฯ
            ประวัติของเจ้าจอมมารดาเที่ยงเคยเล่าเอาไว้บ้างแล้ว เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นพระสนมเอกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัยยกย่องเป็นพระสนมผู้ใหญ่ โปรดเกล้าฯให้บัญชาการห้องพระเครื่องต้น พระสนมผู้ใหญ่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้บัญชาการห้องพระเครื่องต้น นี้ต้องเป็นผู้ที่ไว้วางพระราชหฤทัยสนิทในพระองค์อย่างยิ่ง ดังเช่นในรัชกาลที่ ๒ พระสนมเอกที่โปรดฯให้บัญชาการห้องพระเครื่องต้น คือ เจ้าคุณจอมมารดาเรียม ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวงใน ร.๓
            พระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ผู้นี้เป็นมหาดเล็ก ผู้ซื่อสัตย์จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯยิ่งนัก ตรัสเรียกอย่างสนิทสนม เมื่อท่านชราแล้วว่า 'ไอ้เฒ่าดิศ' เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นธิดาคนใหม่ที่พระยาอัพภันตริกามาตย์นำขึ้นถวายตัวเพราะไม่มีบุตรชาย จะถวายตัว ทำราชการฝ่ายหน้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์
            เจ้าจอมมารดาเที่ยงถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนม ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จทรงลาผนวชประทับยังพลับพลา ที่โรงแสงใน ก่อนที่จะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ธรรมเนียมเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น บรรดาข้าราชการฝ่ายใน พร้อมทั้งบรมวงศานุวงศ์ ต้องเข้าเฝ้าฯ และข้าราชการผู้ใหญ่ก็ตาม ข้าหลวงเดิมก็ตาม ผู้ที่ทรงสนิทคุ้นเคยก็ตาม ก็จะนำลูกหลานขึ้นถวายตัว
            ผู้ที่ถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนมรุ่นแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ นอกจากเจ้าจอมมารดาเที่ยงแล้ว ก็มีเจ้าจอมมารดาแพ ธิดาพระสำราญ ราชหฤทัย (อ้าว ธรรมสโรช) กับท้าวทรงกันดาล (สี) ท่านผู้นี้มารดารับราชการเป็นผู้ใหญ่อยู่ในวังมาแต่รัชกาลที่ ๓ คงจะนำขึ้นถวายตัว
            เจ้าจอมมารดาผึ้ง ธิดาพระยาราชสงคราม (อิน อินทรวิมล) บิดาถวายตัวรับราชการมาแต่อายุ ๙ ขวบ ในรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้เล่าเรียน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้จารหนังสือพระไตรปิฎก ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดถึงปีละ ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เมื่อเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงพระกรุณาโปรดปรานมาก เคยมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานว่า "ข้าเชื่อว่ารักข้าจริง" ในบรรดาเจ้าจอมมารดารุ่นเดียวกันที่มีพระองค์เจ้ารุ่นใหญ่ เจ้าจอมมารดาผึ้ง เป็นผู้เดียวที่มีพระองค์เจ้าชาย พระนามว่าพระองค์เจ้าทักษิณาวัฏ ทว่าพระชันษาเพียงขวบเดียวก็สิ้นพระชนม์ ประสูติเดือนกรกฎาคม ๒๓๙๕ ภายหลังพระองค์เจ้า (หญิง) ยิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชกุมารี ๖ เดือน (ประสูติ เดือนมกราคม ๒๓๙๕)
            เจ้าจอมมารดาจันทร์ ธิดาพระยาพิพิธสุนทรการ (สุข) ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด คงจะเป็นข้าหลวงเดิมไม่ทราบนามสกุล บางทีข้าราชการผู้ใหญ่ที่ไม่ปรากฏนามสกุล อาจเป็นเพราะบุตรหลานที่เป็นชายมิได้รับราชการกันต่อๆมา จึงมิได้มีโอกาสขอพระราชทานนามสกุล เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชกาลที่ ๖ เจ้าจอมมารดาจันทร์มีพระองค์เจ้าหญิงพระองค์แรก คือ พระองค์เจ้า (หญิง) ทักษิณชานราธิราชบุตรี ประสูติเดือนกันยายน พ.ศ.๒๓๙๕
            เจ้าจอมมารดาเที่ยง ที่กล่าวแล้ว มีพระองค์เจ้าหญิง พระชันษาเป็นลำดับที่ ๔ ประสูติเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๙๕
            เจ้าจอมมารดาตลับ เป็นธิดาเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) เดิมเป็นพระมหามนตรี บุตรเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายกในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้เป็นพระสนมเอก เจ้าจอมมารดาตลับมีพระองค์เจ้าหญิง ประสูติเดือนมีนาคม ๒๓๙๕ แต่สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาเพียง ๗ วัน
            เจ้าจอมพระสนมรุ่นแรกนี้ นับเฉพาะท่านที่มีพระองค์เจ้า เรียงตามลำดับพระชันษาพระองค์เจ้าลูกเธอในแต่ละท่านคือ                    

            พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ฯ ประสูติ พ.ศ.๒๓๙๔
            พระองค์เจ้าทักษิณาวัฏ อ่อนกว่า พระองค์ยิ่งฯ ๖ เดือน
            พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ อ่อนกว่า พระองค์ทักษิณาวัฏ ๒ เดือน
            พระองค์เจ้าโสมาวดีฯ อ่อนกว่า พระองค์ทักษิณชาฯ ๒ เดือน
            พระองค์เจ้าหญิงที่ ๔ อ่อนกว่า พระองค์โสมาวดี ๔ เดือน
            ในบรรดาเจ้าจอมพระสนมรุ่นแรกนี้ เจ้าจอมมารดาเที่ยง มีพระองค์เจ้าถึง ๑๐ พระองค์
            ส่วนพระมเหสี ซึ่งฝรั่งหมายถึง Queen นั้น Sir John Bowring บันทึกว่า "เวลานี้ไม่มีมเหษี ตั้งแต่สมเด็จพระนางสิ้นพระชนม์แล้ว" สมเด็จพระนางคือ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งธรรมเนียมฝรั่ง ถือว่าเป็น Queen เพราะในพระราชพงศาวดารจดว่า มีการสถาปนา โปรดฯให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางนาฎบรมอรรคราชเทวี หรือ สมเด็จพระนางเจ้าบ้าง สมเด็จพระนางเธอบ้าง
            ว่าที่จริงแล้วขณะเมื่อ Sir John Bowring เข้ามาในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๙๘ นั้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๕ ได้ทรงสถาปนาหม่อมเจ้ารำเพย (พระธิดาในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระขนิษฐาลูกผู้น้องในสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ) ขึ้นเป็นพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ และทรงพระราชทานสมมติยาภิเษกเป็นพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ขณะนั้นทรงมีเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ พระชันษา ๑ พรรษา ๗ เดือนแล้ว (ประสูติ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๖) แต่ Sir John Bowring บันทึกว่า เวลานี้ไม่มีมเหสี คงว่าไปตามธรรมเนียมฝรั่ง ซึ่งต้องสถาปนาขึ้นเป็น Queen มิใช่เป็นเพียง Prineess (พระองค์เจ้า)
             และที่ว่าพวกขุนนางจะตกลงกันเลือกตั้งพระมเหสีขึ้นนานแล้ว แต่พวกวังหน้ากับพระกลาโหม พระกลาโหมคือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (เจ้าคุณชายช่วง บุนนาค) ไม่ตกลง ทั้งนี้สันนิษฐานว่า การตั้งพระอัครมเหสีนั้น ตามโบราณราชประเพณีเมื่อประสูติเจ้าฟ้าชายก็จะทรงศักดิ์ เป็น สมเด็จหน่อพุทธเจ้า และทรงเป็นรัชทายาท อันพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นั้น ปรากฏมาแต่เมื่อยังทรงพระผนวชอยู่แล้วว่า พระอนามัยไม่สู้ดี หากเสด็จสวรรคตก่อนวังหน้า และทรงมีหน่อพุทธเจ้าเป็นรัชกาลทายาทตามโบราณราชประเพณี ถึงแม้จะยังทรงพระเยาว์ อาจมีพระญาติวงศ์หรือพรรคพวกฝ่ายพระอัครมเหสีก่อความวุ่นวายต่อการเสด็จขึ้นครองราชย์ของวังหน้า สันนิษฐานกันว่าอย่างนั้น เพราะธรรมเนียมวังหน้า ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ Sir John Bowring เองก็ยังว่าไว้ในบันทึกนี้ว่า
             "นายพันเอกบัตเตอร์เวิ๊ธ ซึ่งได้เคยพูดอยู่ว่าพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินเป็นรัชทายาทผู้ที่จะได้สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ซึ่งเรามิได้เคยได้ยินมาแต่ก่อน ซึ่งมีแต่ความเข้าใจว่า วังหน้านั้นจะเป็นผู้ที่จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป"
             พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ดำรงพระยศ พระนางเธอ พระองค์เจ้าฯ จนเมื่อสิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๔๐๔ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชนมายุเพิ่ง ๘ พรรษา
             พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขา พระราชทานไปยังพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ซึ่งเป็นราชทูตไปฝรั่งเศส ทรงเล่าถึงพระนางเธอฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า 'แม่เพย' ว่า
             "แม่เพอยนี้ถึงในกรุงเทพฯ ท่านทั้งปวงรู้ว่าเป็นแต่เจ้าเล็กเจ้าน้อยก็ดี ในเมืองที่มาทำสัญญาไมตรี แลลูกค้าพาณิช ต่างประเทศ เป็นอันมาก เขานับถือว่าเป็นคนโตคนใหญ่ ตั้งแต่วันสิ้นชีวิตลงแล้ว กงสุลต่างประเทศบรรดาที่มีธงเขาก็ลดธง ครึ่งเสาให้สามวัน เรือกำปั่นที่ทอดอยู่ในแม่น้ำทุกลำ กงสุลเขาก็ป่าวร้องให้ลดธงแลไขว้เชือกสำแดงความให้รู้ว่าเศร้าโศก สามวัน"

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×