ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #282 : นายหันแตรในราชอาณาจักรสยาม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 631
      0
      19 เม.ย. 53

     

    เรื่องความโอหังของนายหันแตรเกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราในพระราชอาณาจักรสยาม จนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินไม่โปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระราชอาณาจักรของพระองค์อีกต่อไป นายหันแตรเข้ามากรุงเทพฯรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ เข้ามาลงหลักปักฐาน ตั้งห้างหอมีภรรยาเป็นหญิงไทยซึ่งบ้างว่าเป็นเชื้อสายโปรตุเกสบ้างว่า เป็นชาววังหลังชื่อทรัพย์ เมื่อสมรสกับนายหันแตรแล้ว ใช้ชื่อฝรั่งว่า      อันเจลินา มีหลักฐานมั่นคงเป็นสุขสบายอยู่ในแผ่นดินสยามเป็นเวลาถึง ๑๘ ปี ถูกขับออกไป พ.ศ.๒๓๘๗

    เรื่องนายหันแตร หรือ รอเบิร์ต ฮันเตอร์ ทั้งนี้ทำให้เกิดผลเสีย ต่อการทำสัญญาของ เซอร์เจมส์ บรูค (Sir James Brooke) ในเวลาต่อมาเมื่อ (พ.ศ.๒๓๙๓)
                เรื่อง เซอร์เจมส์ บรูค เคยเล่ามาแล้ว จึงจะขอกล่าวถึงสาระสำคัญในสัญญาข้อ (๒) ซึ่งมีใจความสำคัญว่า ขอให้คนอังกฤษและคนอยู่ในบังคับอังกฤษเข้ามาค้าขายและมีที่อยู่ในเขตแดนสยาม แลกเปลี่ยนกลับที่คนใต้บังคับกรุงเทพฯ จะไปมีที่อยู่ทำมาค้าขายทั่วเขตแดนอิงลันด์ ฮินดูสถาน ตลอดเครตบริตัน (Great Britain)
                ซึ่งความในข้อ (๒) นี้ เสนาบดีปรึกษาพร้อมกัน (ตามกระแสพระราชดำริ) แล้ว ตอบปฏิเสธไปโดยให้เหตุผล ๒ ประการว่า
               "ความข้อ ๒ นี้ เสนาบดีปฤกษาพร้อมกันเห็นว่าคนไทยที่เป็นพ่อค้าพาณิช จะไปตั้งซื้อขายในบ้านเมืองอังกฤษหามีไม่ มีแต่คนโหยกเหยกละญาติพี่น้องทิ้งภูมิลำเนาไปเที่ยวอยู่ในเขตรแดนอังกฤษ คนดังนี้เราหาเอาเปนธุระไม่ เถิงจะไปเที่ยวอยู่บ้านใดเมืองใดไปกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองประการใด ก็ให้กระทำโทษกันตามอาญากฎหมายบ้านเมืองนั้นเถิด
                (แต่) ซึ่งคนอยู่ใต้บังคับอังกฤษจะเข้ามาอยู่ค้าขายในแดนเมืองไทยหัวเมือง ซึ่งเป็นขอบขัณฑเสมาให้ได้เหมือนคนประเทศอื่นๆนั้น คนประเทศอื่นเข้ามาตั้งทำมาหากินอยู่ในขอบขัณฑเสมาช้านานหลายชั่วอายุคนมาแล้ว จนมีภรรยามีบุตรมีหลานเกี่ยวพันกันทุกชาติทุกภาษา เช่นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเหมือนกัน จะทำเรือกสวนไร่นาทำมาหากินประการใดก็กระทำได้ ถ้าคนเหล่านั้นกระทำผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายก็กระทำโทษได้เหมือนคนไทย แลคนชาติอังกฤษ แต่บุราณมาก็ยังไม่เคยเข้ามาอยู่ในเขตรแดนกรุงฯ
                (จนกระทั่ง) เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก มิศหันแตรเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ ณ กรุงฯ ก่อนลูกค้าอังกฤษทั้งปวง..."
    (คัดจดหมายเหตุเรื่องเซอเชมสบรุกฯ ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พ.ศ.๒๔๖๖ ตามคำสะกดการันต์ เดิม)
                จากนั้นเป็นข้อความบรรยายความประพฤติก้าวร้าวของนายหันแตร ต่อลูกค้าคนไทยและต่อเจ้าพนักงานหลายอย่างหลายประการ รวมทั้งลักลอบซื้อขายฝิ่นอันเป็นของต้องห้าม
    แล้วจึงให้เหตุผลประการที่ ๒ ในการปฏิเสธสัญญาข้อนี้ว่า
                "เราเห็นว่า แต่หันแตรเข้ามาอยู่คนเดียวเท่านี้ก็ยังองอาจพูดจาเหลือเกิน ถ้าอังกฤษจะเข้ามาอยู่ ณ กรุงฯมากแล้ว จะเที่ยวไปอยู่ในข อบขัณฑเสมาใดๆ ก็จะมีความทะเลาะวิวาทจนถึงทุบตีกัน ฝ่ายอังกฤษหรือฤาฝ่ายไทยล้มตายลงฝ่ายหนึ่งก็จะเป็นความใหญ่ขึ้น เห็นการดังนี้ (แล้ว) ที่จะให้อังกฤษเข้ามาอยู่มากนักไม่ได้ บ้านเมืองจะไม่อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งจะทำให้ทางไมตรีมัวหมองไป ความข้อ (๒) นี้ (จึง) ขอเสียเถิด เราจะยอมให้ไม่ได้"
                (คัดจากหนังสือจดหมายเหตุฯ ฉบับเดียวกัน)
                เป็นอันว่า เรื่องเข้ามาขอทำสัญญาเป็นข้อๆไป รวมด้วยกัน ๙ ข้อนั้น ฝ่ายไทยปฏิเสธอย่างนุ่มนวลไปทั้งหมด ดังที่ยกสัญญาข้อ (๒) มาเล่านี้
                ใคร่ขอให้อ่านที่ไทยยกเหตุผลในการปฏิเสธสัญญาข้อที่ (๓) เรื่อง อังกฤษขอให้สัญญาว่า จะให้มีที่ฝังศพของคริสตชนใต้บังคับอังกฤษ ซึ่งอังกฤษก็จะให้มีที่ฝังศพ เผาศพ ของพุทธศาสนิกชนไทยที่ไปอยู่ในเขตแดนอังกฤษเช่นกัน
                ข้อ (๓) นี้ จดหมายเหตุจดคำตอบของคณะเสนาบดี ไว้น่าอ่านยิ่งนัก โดยเฉพาะทำให้ทราบว่า พระราชอาณาจักรสยามนี้ แต่ไหนแต่ไรมาย่อมเป็นที่อยู่อันร่มเย็นเป็นสุขภายใต้พระบารมีของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ไม่ว่าชนชาติใดภาษาใด
                จึงขอคัดมาให้อ่านกันดังนี้ (สะกดการันต์ตามสมัย พ.ศ.๒๔๖๖)
                "ความข้อ (๓) นี้ เสนาบดีปรึกษาพร้อมกันก็เห็นว่ากรุงฯ เป็นประเทศใหญ่ ไพร่บ้านพลเมืองหลายเพศหลายภาษา ถือลัทธิศาสนาต่างๆกัน ฝรั่งชาติพุทเกต บาดหลวงฝรั่งเศสเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งบ้านเรือนเป็นพากภูมิช้านานแต่บุราณมา มีบุตรหลานสืบๆหลายชั่วคนมาแล้ว ฝรั่งชาติพุทเกตกตัญญูรู้พระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว คนใดที่มีสติปัญญา ก็ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้มียศถาบรรดาศักดิ์ตามสมควร จึงโปรดเกล้าฯให้ทำวัดสั่งสอนศาสนา หมอมริกัน ซึ่งเข้ามาเช่าที่ปลูกโรงสวดแจกหนังสือแผ่สาสนาอยู่ที่กรุงฯนี้ ก็รู้จักพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ว่าได้เข้ามาอยู่มีความศุขสบาย มิได้มีผู้ใดเบียดเบียน หมอบรัดเลก็ได้แปลหนังสือตำราปลูกฝีดาดแลตำราหญิงคลอดบุตรส่งให้เจ้าพนักงานทูลเกล้าฯถวาย หมอยอนก็เป็นคนรู้หนังสือไทยหนังสืออังกฤษชัดเจน ก็ได้มาช่วยเจ้าพนักงานเขียนหนังสือแปลหนังสืออังกฤษออกเป็นคำไทยอยู่เนืองๆ พวกหมอมริกันเข้ามาทำหนังสือแจกแผ่สาสนา เรื่องความพระเยซูคฤศ มิได้ทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เหลือเกิน ก็อยู่ไปได้ด้วยกัน ถ้ากระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ผิดอย่างธรรมเนียมก็จะต้องขับให้ไปเสียจากบ้านจากเมือง พวกหมอมริกันแลกปิตัน ต้นหนพ่อค้าอังกฤษเข้ามาตั้งซื้อขายอยู่ที่กรุงฯ ก็หลายปีมาแล้ว ป่วยไข้ล้มตายลงก็มี ได้ฝังศพฝังผีกันตามเพศภาษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาอันประเสริญ ก็มิได้ห้ามปรามเกียจกันในทางสาสนาของคนต่างประเทศ เมื่ออยู่ไม่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ผิดกฎหมายประเพณีบ้านเมืองแล้วก็อยู่ด้วยกันไปได้ ความก็แจ้งประจักษ์อยู่ดังนี้
                แลคนฝ่ายไทย ถ้าไปอยู่ในบ้านในเมือง แว่นแคว้นของอังกฤษแลบ้านเมืองอื่นๆก็ดี ก็เป็นไพร่บ้านพลเมืองของเมืองนั้น จะกระทำความดีความชั่วสิ่งใดก็สุดแต่กฎหมายประเพณีบ้านเมืองของเมืองนั้นๆ แลคนเหล่านั้นจะยังถือสาสนาของตัวอยู่ ฤๅจะไปถือสาสนาภาษาใดๆก็ดี ล้มตายลงจะฝังศพเผาผีอย่างไรก็สุดแต่น้ำใจของเขา เราก็มิได้เอาเป็นธุระ ซึ่ง เซอร์เชม สับรุก จะมาขอทำสัญญาด้วยที่ฝังศพฝังผีนั้น เห็นหาต้องการที่จะเป็นข้อสัญญากันไม่"
                สัญญาข้อ (๔) นี้ หากดูเพียงเผินๆ อาจมีผู้เห็นว่าไม่สำคัญ แต่ถ้าหากพิจารณาให้ลึกลงไปจะเห็นความรอบคอบของคณะเสนาบดีที่โปรดเกล้าฯให้พิจารณาข้อสัญญา หรือจริงๆแล้วก็คือพระราชดำริอันรอบคอบของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เพราะ ขณะนั้นแม้จะทรงพระประชวรอยู่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศ์ และเสนาบดีขุนนาง ประชุมกันปรึกษาหารือกัน โดยทรงติดตามโปรดฯให้ถวายคำปรึกษาตลอดเวลา
                ความสำคัญดังกล่าว คือ หากทำสัญญาข้อนี้ไปแล้ว และหากเกิดมีการเรียกร้องเอาที่ 'อันควรฝังศพ' เป็นเมืองหรือเป็นสุสานกินพื้นที่กว้างขวางในพระราชอาณาจักรโดยถือว่า ให้สิทธิไว้แล้ว จึงมีอำนาจยึดครองตามข้อสัญญา ก็จะกลายเป็นเรื่องยุ่งลามไปถึงเรื่องการเมืองและเรื่องศาสนา โดยเฉพาะเรื่องศาสนาซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่ง จึงได้ตอบไปว่า 'เห็นหาต้องการที่จะเป็นข้อสัญญากันไม่'
                บุคคลรู้การต่างประเทศที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมปรึกษาหารือ "จงพร้อมมูลปรองดองกัน อย่าได้ถือทิฐิมานะ แก่งแย่งให้เสียราชการไป ให้ตรึกตรองการหน้าการหลังดูจงรอบคอบ จะมีคุณอย่างไรบ้าง จะมีโทษอย่างไรบ้าง ฉันใดสมณชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะได้อยู่เย็นเป็นสุข..." นั้น
    คือ
                ๑. เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ใน รัชกาลที่ ๔
                ๒. พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (ทัด) คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ในรัชกาลที่ ๔
                ๓. พระยาราชสุภาวดีศรีบรมหงษ์ (เจ้าสัวโต) คือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ในรัชกาลที่ ๔
                ๔. เจ้าพระยามหาโยธารามัญราช (หอเรียะ หรือหวงดี)
                ๕. จมื่นไวยวรนารถภักดีศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในรัชกาลที่ ๕
                ๖. พระยาพิพัฒน์โกษาราชปลัด (บุญศรี) คือ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ในรัชกาลที่ ๕
                ๗. พระยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรม กรมท่าขวา (นาม) เจ้ากรม (ท่าขวาคือฝ่ายแขกรวมทั้งฝรั่ง)
                ๘. พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) เจ้ากรม กรมท่าซ้าย (ท่าซ้าย คือ ฝ่าย จีน)
                ๙. จมื่นทิพเสนา (เรือง) ที่เรียกกันว่า 'ทิพเสนาตาแหวน'
               ๑๐. จมื่นราชามาตย์ (ขำ) คือ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ในรัชกาลที่ ๔
               ๑๑. นายจำเรศ (เม่น) คือ เจ้าพระยาวิเชียรคิรี ในรัชกาลที่ ๕
               ๑๒. พระยาสวัสดิวารี (ฉิม) จางวางเจ้าภาษี
                ทั้ง ๑๒ ท่านเป็นผู้ประชุมปรึกษาเจรจากับทูต แต่ผู้ที่ให้คำปรึกษา และดูแลการแปลคำตอบออกเป็นภาษาไทย คือ ทูลกระหม่อมพระ (สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) จมื่นไวยวรนารถ (ช่วง) พระยาอุไทยธรรมราช (หนูใหญ๋) คือ เจ้าพระยามหาศิริธรรมฯ ในรัชกาลที่ ๔ และพระยาสุรเสนา (สุก) คือ เจ้าพระยายมราช ในรัชกาลที่ ๔
    ส่วนผู้รับผิดชอบในการแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ คือ
               มิชชันนารีอเมริกัน จอห์น เทเลอร์ เจนส์ คนไทยเรียก 'หมอยอน' ที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุตอนนี้ และนายเจมส์ เฮย์ พ่อค้าชาวอังกฤษ สหายของนายหันแตร ซึ่งเรียกกันว่า 'หมอเฮ' บ้าง ในจดหมายเหตุไทย เรียกว่า 'เสมียนยิ้ม' ฝรั่งผู้นี้มิได้มีความผิดใดๆ และยังทำการอันเป็นประโยชน์ ช่วยเจ้าพนักงานอยู่เนืองๆ จึงยังคงอยู่ในพระราชอาณาจักรได้อย่างสุขสบาย
               อนึ่ง 'พุทเกต' นั้นคือ โปรตุเกส

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×