ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #270 : แพรห่มเครื่องยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 620
      0
      19 เม.ย. 53

    คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ บอกเล่ามาว่าได้เห็นภาพของ คุณหญิงสังวาล อภัยรณฤทธิ์ คุณทวดของเธอ ห่มผ้าแพรปักดอกคล้าย ๆ ปักด้วยดิ้น เมื่อแรกเข้าใจว่าเป็นผ้าห่มธรรมดาทั่วไป แต่ผู้ใหญ่บอกว่าเป็นแพรห่มเครื่องยศ จึงถามมาว่าเคยทราบเรื่องแพรห่มเครื่องยศดังกล่าวหรือไม่-

    คำถามนี้ทำให้ต้องค้นเป็นการใหญ่ เพราะเรียนตรง ๆ ว่า เมื่อแรกก็ไม่ทราบเช่นกัน

    ปรากฏว่ามีอยู่ในตำนานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับจุลจอมเกล้าฯ ฝ่ายในไว้

    สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า
    สมาชิกเครื่องราชอิศริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า พระราชทานรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๓๖ (ตามพระอิสริยยศขณะนั้น)
    หน้า (ซ้ายไปขวา)
    ๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล
    ๒. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร
    ๓. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์
    ๔. สมเด็จพระนางเจ้า สว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
    ๕. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
    ๖. พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
    ๗. พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
    ๘. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค
    ๙. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
    หลัง (ซ้ายไปขวา)
    ๑๐. พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี
    ๑๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน ใน ร.๒
    ๑๒. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ใน ร.๓
    ๑๓. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์
    ๑๔. เจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมี
    ๑๕. เจ้าคุณจอมมารดาแพ

    พระราชบัญญัติฯ มาตรา ๑๖ นั้นว่าดังนี้

    มาตรา ๑๖ เครื่องยศสำหรับสมาชิกฝ่ายในนั้น คือ

    แพรห่มสีชมภูปักดิ้นเลื่อมลายทอง

    ชั้นที่ ๑  ปักเป็นอักษร จ.๓ ตัวไขว้กันเป็นหย่อม กว้าง ๒ นิ้ว มีใบชัยพฤกษ์เป็นแหย่ง ชายผ้ามีรูปตราปฐมจุลจอมเกล้า

    ชั้นที่ ๒  ปักลายอย่างเดียวกับที่ ๑ แต่หย่อมกว้างเพียงนิ้วกึ่ง ชายผ้าเป็นรูปตราวิเศษของทุติยจุลจอมเกล้า

    ชั้นที่ ๓  ปักเป็นอักษร จ.๓ ตัว เป็นหย่อมกว้างนิ้วหนึ่ง ไม่มีแหย่ง ชายผ้าเป็นรูปดวงตราตติยจุลจอมเกล้า แต่กลางดวงตราเป็น จ.๓ ตัว แทนพระบรมรูป

    ชั้นที่ ๔  ปักเป็นหย่อมอย่างชั้นที่ ๒ แต่หย่อมกว้างเพียงกึ่งนิ้ว เป็นดอกรายไป ชายผ้าเป็นรูปดวงตราจตุตถจุลจอมเกล้า แต่ใช้อักษร จ.๓ ตัวแทนพระบรมรูป”

    แพรห่มเครื่องยศนี้ในรัชกาลที่ ๕ บางวาระโปรดฯให้ใช้สีขาวได้

    เรื่องนี้พบในหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ นางชิด หุ้มแพร (เอื้อน ลดาวัลย์ ณ อยุธยา) ซึ่งท่านเป็นบุตรีของพระมหาราชครู พราหมณ์พิธีในราชสำนัก

    เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ (ลดาวัลย์) ในรัชกาลที่ ๕ ได้เขียนเล่าประวัติของ นางชิด หุ้มแพร เกี่ยวกับพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยาฝ่ายในเอาไว้ว่า

    “เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ นั้น จะมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยาปีละ ๒ ครั้ง จนตลอดรัชกาล ตามพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยานี้ มีพราหมณ์อ่านตำราคำแช่งน้ำ ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน

    สำหรับฝ่ายใน ผู้อ่านโองการแช่งน้ำในพระราชพิธี คือ คุณจอมอิ่มซึ่งเป็นป้าแท้ ๆ ของคุณเอื้อนน้องสะใภ้ของข้าพเจ้า คุณจอมอิ่มขึ้นอยู่กับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ท่านอยู่ในตำหนักเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ทีเดียว คุณจอมอิ่มเวลาทำพิธีอ่านโองการ ต้องแต่งขาวทั้งตัว แม้แต่แพรปักที่สำหรับเกียรติยศของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ก็ต้องใช้ต่วนขาวปักดิ้นเงิน แทนที่จะเป็นสีชมภูปักดิ้นทองตามปกติ”

    ถึงตรงนี้ เพื่อให้ได้เห็นภาพพระราชพิธีถือน้ำฯ ของฝ่ายในตามคำบรรยายของผู้ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ ที่นั้นด้วย เป็นการประดับความรู้ในเรื่องของอดีต จึงขออนุญาตคัดต่อเฉพาะตอนนี้ดังนี้

    “พระราชพิธีกระทำในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระราชอาสน์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดค่อนไปทางพระพี่นั่งอัฐทิศอุทุมพร หน้าพระราชอาสน์ห่างออกไปประมาณ ๑๐ วา ตั้งโต๊ะเครื่องพระราชพิธี มีหม้อน้ำ ถ้วยจอกกากะเยียวางคัมภีร์คำโองการแช่งน้ำ เชิงเทียน กระถางธูปบูชา พอได้เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับพระราชอาสน์แล้ว คุณจอมอิ่มซึ่งพร้อมอยู่ในที่เฝ้าตามตำแหน่งเจ้าจอม ซึ่งนั่งอยู่ทางตะวันออกค่อนไปทางพระที่นั่งภัทรบิฐ มีพระบรมวงศ์ประทับซีกเหนือ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมอยู่งานนั่งซีกใต้

    พอพระเจ้าอยู่หัวประทับเรียบร้อยแล้ว คุณจอมอิ่มก็ลุกขึ้นจากที่เฝ้าประจำตามตำแหน่งนั้น เดินออกมาถึงหน้าโต๊ะตั้งเครื่องพระราชพิธี ถวายความเคารพ จุดเทียนขนาดเทียนดูหนังสือเทศน์ แล้วจึงแก้ห่อคัมภีร์ประนมมือว่านโม ๓ จบ แล้วจึงโอมต่อไปหลายบท ที่ว่าทำนองสรภัญญะก็มี ที่ว่าทำนองอ่านร่ายก็มี เป็นทำนองอ่านโคลงสุภาพก็มี กว่าจะเสร็จประมาณ ๒๐ นาที เป็นอย่างช้า เมื่ออ่านเสร็จแล้วถวายความเคารพอย่างแช่มช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วถอยหลังออกไปจากหน้าที่นั่งพอสมควร แล้วกลับไปนั่งประจำตำแหน่งเจ้าจอม”

    เป็นอันได้ทราบว่า ผู้อ่านโองการแช่งน้ำในพระราชพิธีฯ ฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น เป็นเจ้าจอมผู้มีเชื้อสายพราหมณ์พระราชพิธี และเป็นพระราชพิธีเฉพาะฝ่ายใน แยกออกจากฝ่ายหน้า

    ไหน ๆ กล่าวถึงเรื่องแพรห่มเครื่องยศแล้ว น่าจะเล่าถึงเรื่องราวของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า โดยเฉพาะเกี่ยวกับพระราชบัญญัติบางมาตรา

    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในขึ้น ใน ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) เนื่องในมหามงคลพิเศษ สมัยเสด็จครองราชย์ครบ ๒๒ ปี เครื่องราชฯ นี้มี ๔ ชั้น คือ

    ชั้นที่ ๑  ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)

    ชั้นที่ ๒  ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)

    ชั้นที่ ๓  ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)

    ชั้นที่ ๔  จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.)

    สำหรับชั้นที่ ๒ นั้น เพิ่มดวงตราพิเศษ (วิเศษ) ขึ้นอีก ๑ ชนิด ลำดับชั้นสูงกว่า ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) เรียกว่า ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)

    สตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน นั้น

    หากเป็นเจ้านายตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ไม่เปลี่ยนคำนำพระนาม คงใช้อักษรย่อของชั้นที่ได้รับต่อท้ายพระนาม

    หากเป็นผู้เนื่องในพระราชวงศ์ คือ หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ถ้าได้รับ ‘ตรา’ ตั้งแต่ชั้น ๒ ลงมา ให้คงใช้ยศกำเนิดนำหน้าชื่อตามเดิม เติมแต่อักษร จ.จ. หรือ ต.จ. หรือ ท.จ. ท้ายชื่อ นามสกุล

    เว้นแต่ หากได้รับถึงชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) จึงให้ใช้ว่า ‘ท่านผู้หญิง’ แทนยศกำเนิด หม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง” (ข้อความในเครื่องหมายอัญประกาศมาจากพระบรมราชโองการใน ร.๖)

    ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น ท.จ.ว. เมื่อถึงแก่อนิจกรรม จะได้รับพระราชทานโกศบรรจุศพเป็นเกียรติยศ

    สมัยก่อนจึงมักกล่าวกันเป็นคำสามัญว่า ได้ ท.จ. ยังไม่ลงโกศ ได้ท.จ.ว. เป็นท่านผู้หญิง ถึงจะลงโกศ

    ในพระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน มาตรา ๓ นั้นมีข้อความว่า

    มาตรา ๓ จะทรงตั้งพระบรมราชวงศ์ฝ่ายในผู้มีพระเกียรติยศอย่างสูง ซึ่งเป็นที่เต็มพระทัยให้ว่าการเป็นมหาสวามินี ฤๅ คณาธิปตานี มีพนักงานที่จะตรวจตรารักษาเกียรติยศข้อพระราชบัญญัติ แลคำประกาศสำหรับเครื่องราชอิศริยาภรณ์นี้ ให้สมาชิกประพฤติให้ต้องตามข้อพระราชบัญญัติทั้งสิ้น แลเป็นผู้เชิญดวงตราถวายในการตั้งสมาชิกใหม่ด้วย”

    ขณะนั้น พ.ศ.๒๔๓๖ สมเด็จพระนางเจ้า สว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงมีพระอิสริยยศสูงสุด ทว่าพระองค์ท่าน ‘มิเป็นที่เต็มพระทัย’ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกาศนียบัตร ให้พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระวรราชเทวี ดำรงที่มหาสวามินี แลเป็นปฐมคณาธิปตานีในหมู่สมาชิกทั้งปวง

    โปรดเกล้าฯ พระราชทานตราปฐมจุลจอมเกล้า แก่สมเด็จพระนางเจ้า สว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เป็นพระองค์แรก เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๖ พร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ. และ ต.จ. และ จ.จ. แก่เจ้าพนักงานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ๖ พระองค์ และ ๘ ท่าน

    อีก ๖ วันต่อมา วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯปฐมจุลจอมเกล้าแก่พระมเหสี ๓ พระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์ พระเจ้าลูกเธอ ๑ พระองค์ พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ๒ พระองค์ พระเจ้าพี่นางเธอ ๑ พระองค์ และเจ้าจอมมารดา ๒ ท่าน ตามในภาพประกอบ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×