ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #269 : พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.01K
      0
      19 เม.ย. 53

     

    ระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๔๘ พระชันษาจึงครบรอบร้อยปีในปีนี้ (พุทธศักราช ๒๕๔๘)

     

    เสด็จถึงสถานีนิวตัน ในการเสด็จพระราชดำเนินเมืองกัวลาลัมเปอร์ วันที่ ๒๙ กันยายน ทรงแนะนำเจ้าจอมสุวัทนาแก่สุลต่านสลังงอ

    ทรงเป็นพระมเหสีเทวีพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ ๖ และเป็นพระองค์เดียวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม์ (องค์ พ.ศ.๒๔๖๘ เพิ่มเติมจากพระราชพินัยกรรม์องค์ พ.ศ.๒๔๖๓ ที่พระราชทานไว้ก่อนหน้าแล้ว)

    ว่า โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโกศพระอังคารพระนางเจ้าสุวัทนา คู่กับพระโกศบรรจุพระราชสรีรังคาร ซึ่งในพระราชพินัยกรรม์องค์แรกทรงมีพระราชดำรัสว่า ให้กันส่วนหนึ่งของพระราชสรีรังคาร เชิญไปบรรจุใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ณ พระปฐมเจดีย์

    พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติพระราชธิดา สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ได้เพียงวันเดียว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ก็เสด็จสวรคต

    ตลอดพระชนมชีพของพระนางเจ้าสุวัทนา  พระวรราชเทวี ได้ทรงอภิบาลทำนุบำรุงใกล้ชิดสมเด็จพระราชธิดา เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก มิได้ห่างเลยสักเวลาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๘ พระชันษาได้ ๘๐ ปี

    ทรงพระเกียรติยศในฐานะ พระมเหสีในพระเจ้าแผ่นดินสยาม และพระชนนีผู้ประเสริฐมาจนตลอดพระชนมชีพของพระองค์

    ซึ่งเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระตำหนักไบรตัน ห่างกรุงลอนดอนไป ๕๐ ไมล์ พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ พระราชธิดานั้น คนอังกฤษเรียกกันว่า Queen of Siam ดังที่ คุณเสถียร พันธรังษี เขียนเอาไว้ เมื่อเป็นผู้แทนของหนังสือพิมพ์ ‘ชาวไทย’ ไปทำข่าวงานบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ แล้วเลยไปขอเข้าเฝ้าพระนางเจ้าฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๖

    พระนางสุวัทนา พระวรราชเทวี
    ประทับทอดพระเนตรการแข่งขันเทนนิสในงานแอตโฮมฯ ที่จวนคาโคซา วันที่ ๓๐ กันยายน ผู้ที่นั่งเฝ้า ๑ นางสโตนเนอร์ ๔ มิสเตอร์สโตนเนอร์ ๕ สุลต่านแห่งนครสลังงอ และ ๒ เจ้าจอมสุวัทนา

    “ถึงสถานีปลายทาง ต้องอาศัยแผนที่ที่ท่านเอกอัครราชทูตประทานไป ออกจากสถานีก็ยื่นแผนที่ให้ตำรวจ ซึ่งเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดในอังกฤษ พอเห็นแผนที่และบ้านเลขที่ที่ประทับ ตำรวจอังกฤษก็รู้ทันที่ว่าเราจะไปหาใคร”

    ‘Queen of Siam ใช่หรือไม่’ เขาถามและยิ้ม ข้าพเจ้ารับว่าใช่ เขาก็จูงมือเราไปขึ้นรถบัส ซึ่งมีอยู่หลายสายที่จะผ่านชายทะเลไปยังพระตำหนัก

    ข้าพเจ้าคิดไปตลอดทาง ถึงคำว่า Queen of Siam คิดถึงคำว่า นางกษัตริย์ของประเทศสยาม ซึ่งคนอังกฤษทั้งหลายพากันขนานพระนามให้ ตั้งแต่มาประทับอยู่ที่พระตำหนักชายทะเลแห่งนี้ ไม่มีใครพูดว่านางกษัรติย์ของประเทศไทยเลยสักคนเดียว”

    พระประวัติของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี นั้น แม้จะมิได้มีเชื้อสายแห่งราชตระกูล ก็ทรงเป็นผู้ “มีสกุลสูงทั้งสองสาย” ปรากฏอยู่ในพระบรมราชโองการสถาปนาขึ้นเป็น ‘เจ้า’ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๘

    “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ทรงพระราชดำริว่า เจ้าจอมสุวัทนาได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์กตเวที มีความจงรักภักดีในใต้ผ่าละอองธุลีพระบาทเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรที่จะได้ยกย่องให้เป็นใหญ่ เพื่อผดุงพระราชอิสริยยศแห่งพระราชกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า

    อนึ่ง เจ้าจอมสุวัทนาก็เป็นเชื้อสกุลที่บรรพบุรุษทั้งสองฝ่าย ได้รับราชการมีความดีความชอบในราชการ ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินต่อเนื่องกันมาหลายชั่วคน คือข้างฝ่ายบิดาของเจ้าจอมสุวัทนาเป็นเชื้อสายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ซึ่งเคยรับราชการเมืองพระตะบองต่างพระเนตรพระกรรณ ตั้งแต่รัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่หนึ่งมาจนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ฝ่ายมารดาก็เป็นเชื้อสายสืบสกุลลงมาจากเจ้าพระยาอัครมหาเสนาทางสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ นับว่าเป็นผู้มีสกุลสูงทั้งสองสาย จะทรงยกย่องให้เจ้าจอมสุวัทนามีอิสริยยศสูงในตำแหน่งก็สมควรแล้ว

    จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็นเจ้า มีพระอิสริยยศ เป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี”

    สาแหรกสกุล หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Family Tree ของเจ้่าจอมสุวัทนา เป็นสาขาลงมาดังนี้

    เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์       +         ท้าวศรีสุนทรนาฏ
                    (วร บุนนาค)                       (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)
                         |                                               |
                         +--------------------------|----------+
                                                            v
              เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์    +    คุณเล็ก บุนนาค
               (เลื่อม อภัยวงศ์)
                         |                                  |
                         +-------------|------------+
                                           v
                       พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
                          (พระนามเดิมว่า เครือแก้ว)

    พระนางสุวัทนา พระวรราชเทวี
    เสด็ตประพาสร้าน บี.บี. เดอ ซิลวา เกาะหมาก วันที่ ๗ ตุลาคม พร้อมด้วยเจ้าจอมสุวัทนาตามเสด็จ

    พระประวัติของพระนางเจ้าฯ นั้น คงมีผู้เขียนกันไว้หลายสำนวนแล้ว มีความปรากฏโดยสรุปว่า ทรงเข้ารับราชการโดยเข้าไปอยู่กับท้าวศรีสุนทรนาฏ คุณยายซึ่งเข้าไปเป็นครูฝึกหัดการฟ้อนรำในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงมีพระมเหสีเทวีอยู่ ๒ พระองค์ คือ พระนางเธอลักษมีลาัวัณ และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระบรมราชินี ทรงมีพระสนมเอก ๑ ท่าน คือ พระสุจริตสุดา

    และเวลานั้น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระบรมราชินีทรงเป็น ‘ข้างใน’ ที่มีพระอิสริยยศสูงสุด

    ตามพระประวัติพระมเหสีเทวีและพระสนมเอกนั้นปรากฏว่าทรงจดทะเบียนสมรสด้วยทั้ง ๓ พระองค์ และ ๑ ท่าน

    ดังนั้น จึงมีผู้สงสัยกันมากเรื่อง “จดทะเบียนสมรส”

    ที่จริงสมัยนั้นเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บรรดา ‘ข้างใน’ แห่งองค์พระมหากษัตริย์ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรส

    หากแต่ว่า ใน พ.ศ.๒๔๕๗ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๕ ปี โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศกฏมณเฑียรบาล ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในราชสำนัก บังคับให้ข้าราชสำนักต้องจดทะเบียนชื่อภรรยาทุกคน และถ้ายังไม่มีภรรยา ต่อไปหลัีงจากออกกฏมณเฑียรบาลนี้ หากจะมีภรรยาต้องจดทะเบียนที่กรมตนสังกัด

    พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
    ทอดพระเนตรการแข่งขันคลี ที่สุลต่านอีสคันดาจัดมีขึ้นถวาย ณ สนามเมืองกัวลากังสาร์ วันที่ ๘ ตุลาคม ผู้ที่นั่งเฝ้า ๑ นางพารร์ ๒ รายาประไหมสุหรี ๖ รายามูดาแห่งเประ และ ๔ เจ้าจอมสุวัทนา

    แต่เมื่อในสมัยก่อนโน้นความนิยมในการมีภรรยาหลายคนยังคงอยู่ในสังคม จึงมีมาตรา ๑๖ กล่าวว่า

    “มาตรา ๑๖ ผู้ใดที่มีภรรยาหรือเคหสถาน อันได้จดทะเบียนแล้ว ถ้าจะมีภรรยาหรือเคหสถานเพิ่มขึ้นมากกว่าเก่า ต้องไปจดทะเบียนเพิ่มเติมภายในกำหนดปักษ์หนึ่ง นับแต่วันได้ภรรยาใหม่ หรือได้เป็นเจ้าของเคหสถานใหม่นั้นเป็นต้นไป”

    ทั้งยังมีมาตรา ๓๕ ที่ว่า

    “มาตรา ๓๕ ผู้ใดได้มีภรรยาแล้ว แต่ได้หย่าร้างกับภรรยาแล้วก็ดี หรืออยู่แยกกับภรรยาโดยความยินยอมพร้อมใจกันก็ดี ท่านว่าให้ถือเอาเป็นคนโสด”

    จึงถือว่าการทรงจดทะเบียนรับพระมเหสีเทวีและเจ้าจอมนั้น ทรงปฏิับัติตามกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวฯ นั่นเอง ซึ่งมิได้เหมือนกับการ ‘จดทะเบียนสมรส’ ในกฏหมายปัจจุบัน

    ในเดือนกันยายนปีนั้นเอง เสด็จฯ พระราชดำเนินประพาสประเทศมะลายู ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนาตามเสด็จในฐานะ ‘ข้างใน’ พร้อมด้วยท้าวนางและข้าหลวง แม้เจ้าจอมสุวัทนาจะยังมิได้มีพระอิสริยยศเป็นพระมเหสีเทวี ก็ทรงยกย่องคู่กันกับพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินกลับเดือนตุลาคม เจ้าจอมสุวัทนาก็ยังคงเป็นเจ้าจอมสุวัทนาอยู่ จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๘ จึงได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายพระนามสมเด็นพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระบรมราชินี เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา”

    และวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๘ นั้นเอง ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนา ขึ้นเป็น “พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×