ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #262 : ชาวโปรตุเกสในแผ่นดินสยาม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 386
      0
      18 เม.ย. 53

     

    รั่งที่เข้ามาในกรุงเทพรัตนโกสินทร์ที่คนไทยเรียกชื่อคล้องจองกันนั้นก็มีหันแตร และหันตรีคู่หนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วชื่อภาษาฝรั่งนั้น หันแตรว่า ฮันเตอร์ (Hunter) หันตรีว่า เฮนรี่ (Henry) ไม่น่าจะเป็นแตรเป็นตรีได้ เข้าใจว่า “แตร” กับ “ตรี” นี้ น่าจะเป็นภาษาเขียนจดหมายเหตุ จริงๆ แล้วปากคนไทยกินหมากคงจะเรียกว่า “หันแกร-หันกรี” มากกว่า

    ฝรั่งคู่นั้น นายหันแตรเป็นคนสก๊อต ส่วนนายหันตรีเป็นคนอังกฤษ

    ส่วนอีกคู่หนึ่งคนไทยเรียกว่า “กาละหก” คนหนึ่ง “การะฝัด” คนหนึ่ง จริงๆ แล้วปากคงเรียก “กาละหก-กาละฝัก” นั่นแหละ เพราะลิ้นคนไทยสมัยก่อนแข็ง กระดกรัวว่า “การะ” เห็นจะลำบาก

    สำหรับนายการะหกนี้ บางทีมักมีผู้เรียกคล่องปากว่า “กะลาหก” ก็มี

    ฝรั่งทั้งสองคน คนแรกนายกาละหกชื่อ ดอน คาร์โลส (Don Carlos) เป็นชาติโปรตุเกส สมัยก่อนคนไทยเรียก (“พุทเกศ”) เข้ามาในรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๖๑ ส่วนนายกาละฝัด ชื่อนี้คนไทยคงคุ้นกันดีเพราะมีผู้เขียนถึงและ อ้างถึงบันทึกของแกอยู่บ่อยๆ ชื่อฝรั่งว่า Crawfurd คนไทยจึงเรียก กาละฝัด คู่กันกับกาละหก นายกาละหกเข้ามากรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เช่นกัน แต่เป็นปลายรัชกาล (พ.ศ.๒๓๖๕) กาละฝัดเป็นชาติอังกฤษ

    สำหรับกาละฝัดเคยเล่าและอ้างถึงมาหลายครั้งแล้ว ในที่นี้จึงจะเล่าแต่เรื่องนายกาละหก

    ตามจดหมายเหตุต่างๆ ว่านายกาละฝัดนั้นมีนิสัยไม่สู้ดีนัก ติดจะวางอำนาจและคุยเขื่องมิหนำซ้ำยังมีเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองแอบแฝง ไม่เหมือนนายกาละหก ซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายเพียงอย่างเดียว นิสัยสุภาพอ่อนโยน

    ว่าถึงเรื่องราวของนายกาละหกแต่พอเป็นสังเขปก่อน

    ครั้งนั้น การค้าสำเภากับจีน จีนนำสำเภาเข้ามา ไทยก็ส่งสำเภาออกไปค้าขายติดต่อกันอยู่ จีนมีเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่ง คือ เมืองมาเก๊า หรือหมาเก๊า ซึ่งตกเป็นของโปรตุเกส พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสทรงส่งขุนนางมาเป็นเจ้าเมือง ครั้งนั้นไทยได้ส่งเรือกำปั่นหลวงออไปค้าขายที่เมืองมาเก๊า เจ้าเมืองมาเก๊าจึงแต่งให้นายกาละหกเป็นทูตเข้ามาขอเจริญพระราชไมตรี พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการ และหนังสือถึงเสนาบดีไทย ในหนังสือนั้นก็อ่อนน้อมว่ากรุงโปรตุเกสเคยติดต่อค้าขายมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วได้ขาดตอนไปเสียช้านาน ขอให้เรือโปรตุเกสเข้ามาค้าขายสืบไป

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯ รับรองกาละหกอย่างราชทูต นายกาละหกพักอยู่กรุงเทพฯ ๗ เดือน จึงเข้ากราบถวายบังคมลากลับเมืองมาเก๊า ไม่ทันถึงปีพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสทรงส่งให้กลับมาขอทำสัญญาค้าขายรวม ๒๓ ข้อ แต่ในหนังสือที่ขอมานั้น ว่าหากข้อไหนเสนาบดีไม่ชอบใจก็ให้แก้ไขได้ตามที่ไทยเห็นสมควร

    เมื่อทั้งตัวทูตและสัญญาที่ขอทำด้วยมีความสุภาพอะลุ้มอล่วยกัน นายกาละหกจึงเป็นที่โปรดปรานและทั้งบรรดาขุนนางข้าราชการ ก็พากันชอบใจในอัธยาศัยใจคอ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสของพระราชทานที่ตั้งบ้านเรือนให้นายกาละหกอยู่ และให้นายกาละหกเป็นกงสุลเยเนราลโปรตุเกส เพราะประเทศสยามนั้นมีการติดต่อค้าขายและ มีพวกเชื้อสายโปรตุเกสอยู่กันมาก สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ แล้วยังทรงตั้งนายกาละหกเป็นหลวงอภัยพานิชอีกด้วย

    ปรากฏตามเอกสารและจดหมายเหตุต่างๆ นั้น โปรตุเกสหรือพุทเกศ เป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๐ กรุงศรีอยุธยา ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

    ภาพวาดทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยต้นรัชกาลที่ ๔
    ฝรั่งวาดภาพทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๔ ที่เห็นใกล้ ๆ คือฟากกรุงเทพฯ แถวปากคลองตลาด ส่วนปากตรงข้ามคือกรุงธนบุรี มองเห็นโบสถ์มหากางเขน (ซางตาครู้ส) แถบที่เรียกกันว่า กุฏีจีน และเห็นเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส  (ทางด้านขวาของโบสถ์หลังเรือสำเภา) เมื่อต้นรัตนโกสินทร์นั้นบริเวณนี้เป็นท่าเรือ ริมแม่น้ำหน้าวัดประยุรวงศ์ ซึ่งเป็นที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) จึงมีทั้งเรือนหลวงรับรองแขกเมือง และมีตึกโกดังให้ฝรั่งเช่า

    สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ นี้ เมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาอยู่ โปรตุเกสเข้ามาตีเมืองมะละกาได้ ก็ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยว่า มิได้ต้องการเมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้น หากแต่ต้องการค้าขาย ตั้งแต่นั้นมาชาวโปรตุเกสก็เข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา และบ้างก็เลยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา สมัครเข้ารับราชการเป็นทหารรักษาพระองค์และ ทหารอาสา ฝึกหัดทหารไทยให้รู้จักการรบแบบฝรั่งและ การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วยังมีพวกบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศานานิกายโรมันคาทอลิก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตลอดจนราษฏรก็มิได้กีดกัน พวกโปรตุเกสจึงอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข และเมื่อเข้ามาอยู่กันมากๆ พระเจ้าแผ่นจึงพระราชทานที่ดินให้เป็นหมู่บ้านโปรตุเกส ดังที่ปรากฎซากโบราณสถานอยู่ในกรุงเก่าอยุธยา

    ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๒๗ กรุงศรีอยุธยา เวลานั้น เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร เป็นเมืองด่านปราการแรกที่จะเข้ากรุงศรีอยุธยาจากทางทะเล เมืองธนบุรีฯ ตั้งอยู่ตำบลบางกอก (ซึ่งต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมผู้คนจากกรุงศรีอยุธยา ลงมาสถาปนาเมืองธนบุรีฯ เป็นกุรงธนบุรี เมืองหลวงแห่งใหม่ของไทยดังที่ทรางๆ กัน)

    ดังนั้น เมืองธนบุรีฯ เวลานั้นจึงเป็นเมืองท่ามีเรือค้าขายของชาติต่างๆ เข้ามาจอดกันคึกคักคับคั่ง เมืองธนบุรีฯ มี ๒ ฟากคือ ฟากตะวันตกและฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

    ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชดังกล่าวนี้เป็นเวลาที่มีความสัมพันธ์กันมากกับฝรั่งเศส สมเด็จพระรายณ์จึงโปรดฯ พระราชทานที่ดินฟากตะวันออกของเมืองธนบุรีฯ หรือบางกอกให้บาทหลวงฝรั่งเศสสร้างโบสถ์หรือวัดขึ้น เรียกว่าวัดคอนเซ็ปชัญ เมื่อมีพวกโปรตุเกสเข้ามาขอตั้งถิ่นฐานในบางกอก จึงโปรดฯ ให้เข้าไปอยู่ในบริเวณนั้นด้วย นับเป็นชุมชนโปรตุเกสแห่งที่ ๒ นอกจากหมู่บ้านโปรตุเกสชุมชนแห่งแรกบนแผ่นดินสยามในสมัยอยุธยา

    บริเวณวัดคอนเซ็ปชัญนี้ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระัพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเกิดกบฏวุ่นวายในเขมร พระยาเขมรพาพวกเขมรเข้ารีตเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่บริเวณวัดคอนเซ็ปชัญ และในรัชกาลที่ ๓ เมื่อเกิดกบฏญวน มีชาวญวนเข้ารีตหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ขยายอาณาเขตบริเวณวัดคอนเซ็ปชัญให้กว้างขวาง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พวกญวนไปอยู่ที่ชุมชนนั้นด้วย จะได้ปฏิบัติกิจศาสนาร่วมกันด้วยมีวัดอยู่แล้ว บริเวณนี้ต่อมาจึงได้ชื่อว่า “บ้านมิตตคาม” ตำบลสามเสน (หรือสมัยโบราณมีผู้เรียกว่า “สามแสน”) อันหมายถึงเป็นที่อยู่ของผู้ที่เป็นมิตรกัน อาจหมายถึงถือศาสนาอย่างเดียวกันและ เพราะญวนอพยพเข้ามาเป็นพวกสุดท้ายมากด้วยกัน บางทีจึงเรียกกันว่า “บ้านญวน”

    ทีนี้เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนาเมืองกรุงธนบุรีมหาสมุทรเป็นกรุงธนบุรีฯ เมืองหลวงแห่งใหม่ ทรงรวบรวมผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาลงมา พระราชทานที่ดินซึ่งเดิมมีศาลเจ้าและมีพระจีนอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “กุฏีจีน” นั้นส่วนหนึ่งให้เป็นที่อยู่ของพวกจีนและ พระราชทานที่ดินส่วนหนึ่งบริเวณใกล้ๆ นั้นให้พวกโปรตุเกสที่พากันหนีมาจากหมู่บ้านในอยุธยาด้วย ต่อมาบาทหลวงฝรั่งเศสขอพระราชทานสร้างโบสถ์ให้พวกโปรตุเกสได้ประกอบกิจศาสนา เป็นโบสถ์มีไม้กางเขนอยู่บนยอดโบสถ์ (ดังในภาพประกอบ) ชื่อ “วัดซางตาครู้ส” มักเรียกกันว่า “วัดมหากางเขน”

    ชาวโปรตุเกสที่เข้ามาอยู่ในแผ่นดินสยามทั้ง ๓ ยุคในเวลาห่างกัน ซึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอยู่กับเขมร ญวน ที่เข้ามาทีหลัง สมัยกรุงธนบุรีฯ อยู่บริเวณกุฏีจีนใกล้กับพวกจีน ฝรั่งโปรตุเกสพวกนี้จึงมักเรียกกันว่า “ฝรั่งกุฏีจีน”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×