ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #260 : รายาแห่งซาราวัค

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 387
      0
      18 เม.ย. 53

     

    ซอร์ เจมส์ บรู๊ก (Sir James Brook) ชาติอังกฤษ เข้ามากรุงเทพฯ ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๓) ด้วยจุดประสงค์จะเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาบางข้อ ซึ่ง ร้อยเอก เฮนรี่ เบอร์นี่ (Captain Henry Burney) เข้ามาทำไว้เมื่อต้นรัชกาล (พ.ศ. ๒๓๖๙)

    เซอร์ เจมส์ บรู๊ก รายาซาราวัค

    คนไทยสมัยกระโน้นเรียก ท่านเซอร์ผู้นี้ว่า เย สัปปุรุด ตามปากเรียก แต่เขียนว่า เย สัปปุรุษ บ้าง เขียนว่า เย สัปรุษ บ้าง

    ทว่า ในจดหมายเหตุจดว่า เซอ เชม สับรุก

    เจมส์ บรู๊ก ผู้นี้ ทั้งรูปร่าง หน้าตา และประวัติชีวิตผจญภัย ออกจะเป็น ‘พระเอก’ อยู่ไม่น้อย

    เริ่มแต่ตอนเกิดมาก็เป็นลูกชายของตระกูลขุนนาง ร่ำรวยพ่อเคยไปเป็นผู้พิพากษาศาลสูงอยู่ที่เมืองพาราณสี ชีวิตจึงพัวพันอยู่กับประเทศทางตะวันออก เมื่ออังกฤษรบกับพม่า ก็เข้าสมัครเป็นทหาร ขณะนั้นอายุได้ ๒๑-๒๒ กำลังหนุ่มไฟแรง และด้วยความรักการผจญภัย ต่อมาเมื่อได้รับมรดกจากบิดาถึง ๓๐,๐๐๐ ปอนด์ เจมส์ บรู๊ก จึงซื้อเรือยอชท์ลำหนึ่ง ออกเดินทางรอนแรมอ้อมแหลมกู๊ดโฮปไปถึงสิงคโปร์ แล้วเดินทางต่อไปยังซาราวัค

    และที่ซาราวัคนั้นเอง เจมส์ บรู๊ค ก็ได้เป็นรายาแห่งซาราวัค (ในพระราชพงศาวดาร และจดหมายเหตุเรียกว่า สรวะ)

    เรื่องของเรื่องก็คือ ซาราวัค ตอนนั้นเป็นของสุลต่านแห่งบรูไน สุลต่านส่งขุนนางไปปกครองชื่อ มาโกตา มาโกตากับพรรคพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่กดขี่ชาวเมือง ก็เลยเกิดกบฏขึ้น พอดี เจมส์ บรู๊ก มาถึงซาราวัค รายาบอร์เนียวซึ่งได้รับบัญชาจากสุลต่านให้ปราบกบฏ ไม่สามารถปราบได้ จึงขอให้เจมส์ บรู๊กช่วย

    พวกกบฏสู้ไม่ได้ หัวหน้ากบฏจึงยื่นข้อเสนอว่า หากรายาบอร์เนียวและสุลต่านส่งมาโกตากลับไป และให้เจมส์ บรู๊กเป็นรายาแห่งซาราวัค พวกเขาจะยอมแพ้

    ทั้งนี้เพราะขณะที่เจมส์ บรู๊กช่วยปราบกบฏนั้น ได้ปราบพวกโจรสลัด และช่วยเหลือชาวบ้านคอยขัดขวางมาโกตา มิให้ทำการกดขี่ชาวบ้าน พวกกบฏจึงเห็นความดี

    สุลต่านแห่งบรูไน และรายาบอร์เนียวจึงต้องจัดการแต่งตั้งเจมส์ บรู๊กเป็นรายาแห่งซาราวัคขึ้นกับสุลต่าน

    เป็นอยู่ ๕ ปี สุลต่านก็เกิดไม่ชอบใจ ใช้กลอุบายฆ่าพวกของเจมส์ บรู๊กในบรูไนจนหมด เจมส์ บรู๊กจึงบุกเข้าโจมบรูไน จับสุลต่านได้ก็มิได้ฆ่าฟัน เพียงแต่ให้ทำสัญญาใหม่ ให้เจมส์ บรู๊กปกครองซาราวัคเต็มที่ ไม่ต้องขึ้นต่อสุลต่าน ไม่ต้องส่งเงินปีไปบรรณาการ

    แล้วเจมส์ บรู๊กก็ปราบปรามโจรสลัดก๊กใหญ่ ซึ่งเป็นโจรมาแต่รุ่นพ่ออาละวาดอยู่ในน่านน้ำถึง ๕๐-๖๐ ปีมาแล้ว ปราบอยู่หลายปีจนราบคาบ แล้วยังต้องต่อสู้กับพวกโจรจีนทำเหมืองทอง ทำไร่พริกไทย ซึ่งต้องการตั้งตัวเป็นใหญ่ จนกระทั่งซาราวัคสงบราบคาบ เจมส์ บรู๊กจึงเป็นรายาฝรั่งที่ชาวซาราวัครักนักหนา พระราชินีนาถวิคตอเรีียจึงโปรดตั้งให้เจมส์ บรู๊กเป็นเซอร์ เจมส์ บรู๊ก

     อย่างนี้จะไม่ว่าเจมส์ บรู๊กเป็นพระเอกได้อย่างไร

    เซอร์เจมส์ บรู๊ก เป็นรายาแล้ว ๑๐ ปี เวลานั้นอายุ ๔๗ ปี เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตเข้ามากรุงเทพฯ

    เรื่องนี้ไม่แน่นักว่า มีพ่อค้าชาวอังกฤษพูดจากับเจมส์ บรู๊กเพื่อให้ไทยลดค่าธรรมเนียมหรือภาษีขาออกเอง หรือเป็นความต้องการของรัฐบาลอังกฤษ แล้วรัฐบาลโดยเสนาบดีต่างประเทศของอังกฤษ จึงได้มีหนังสือเข้ามาถึงเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีกรมท่า หรือต่างประเทศของไทยว่า

    ได้ส่งเซอร์ เชม สับรุก เจ้าเมืองสรวะและเมืองลาบอน เพื่อให้มาขอแก้หนังสือสัญญาอันจะเป็นผลดีแก่ทางนางพญาวิลาศ และเจ้ากรุงเทพฯ ศรีอยุธยา

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้น มักมีผู้กล่าวถึงพระองค์ว่าไม่โปรดฝรั่ง ในทำนองเหมือนจะตำหนิว่า นโยบายปกครองประเทศของพระองค์ ยังคงถือนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวทำนองนั้น

    ทว่า ตามหลักฐานและเหตุผลแล้ว หาได้เป็นตามที่ทรงถูกวิจารณ์ไม่ เพราะในรัชกาลของพระองค์ปรากฏว่า มีการค้าขายติดต่อกับต่างชาติมาก ทั้งจีน แขก และฝรั่งชาติต่างๆ ตั้งแต่โปตุเกส (ไทยเรียกพุทเกศ)  ฝรั่งวิลาศ (อังกฤษ) ฝรั่งมะริกัน (อเมริกา) ซึ่งเมื่อส่งทูตเข้า ก็โปรดฯ ให้รับรองอย่างดี และเสด็จออกรับในท้องพระโรงอย่างใหญ่โต ดังในคำพยากรณ์แผ่นดิน ๑๐ ยุค (ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นที่ลงความเห็นแน่นอนว่า ท่านผู้ใดเป็นผู้แต่ง) ก็ยังว่า แผ่นดินที่ ๓ หรือรัชกาลที่ ๓ นั้นเป็นยุครักมิตร

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มิได้ทรงรังเกียจฝรั่ง หากแต่ทรงระแวงเจตนาฝรั่ง

    เมื่อ เจมส์ บรู๊ก เข้ามาถึงนั้น ทรงคลางแคลงพระราชหฤทัยในเรื่องขอแก้หนังสือสัญญา ทรงเกรงว่าจะเสียเปรียบฝรั่ง ๑ หรือ อาจจะนำเรื่องขอแก้หนังสือสัญญามาเป็นเหตุให้ลุกลามต่อไป ๑

    เนื่องด้วยฝรั่งซึ่งว่ากันว่าบ้านเมืองใหญ่โต เป็นมหาอำนาจว่างั้นเถิด เข้ามาด้วยเรื่องขอแก้หนังสือสัญญาติดๆ กันถึง ๒ ชาติ

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แม้ว่าจะมิได้ทรงคบฝรั่ง ทว่าก็มิได้ทรงปิดพระเนตรพระกรรณ เรือสำเภาจีน เรือสำเภาชาติต่างๆ เข้ามาค้าขาย ก็คงจะบอกเล่าเรื่องต่างๆ อันเกิดขึ้นกับนานาบ้านเมือง พระองค์เองทรงมีมิตรสหายสมัยเมื่อทรงกำกับกรมท่าในรัชกาลที่ ๒ มากมาย คงจะทรงทราบเรื่องราวของฝรั่งที่เข้ามาติดต่อกับประเทศทางแถบนี้ และในที่สุดก็ถือโอกาสถือจังหวะเข้าครอบครอง

    ดังเช่น จีน โปรตุเกสนำฝิ่นจากอินเดียเข้าจีนตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๖๓ ขายดิบขายดี อังกฤษเอาอย่างบ้าง จึงตั้งแต่ปี ๒๒๑๖ คนจีนติดฝิ่นงอมแงม จนถึงสมัยเฉียนหลงฮ่องแต้ จับเอาฝิ่นมาเผาก็ยังห้ามไม่อยู่ เป็นชนวนให้เกิดสงครามวุ่นวาย และด้วยการที่ฝรั่งเข้าไปค้าขายมะรุมมะตุ้ม ในที่สุดเกิดสงครามกับฝรั่งจนต้องยอมยกเมืองบางเมืองให้ฝรั่ง

    ทางอินเดีย ก็เช่นกัน ฝรั่งเข้าไปค้าขายในเบงกอล (จดหมายเหตุเรียกว่า มังกล่า บ้าง บังกล่า บ้าง) ของอินเดีย ต่อมาเกิดการรบพุ่ง แย่งชิงผลประโยชน์กันระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ในที่สุดอังกฤษได้ทั้งอินเดียและเบงกอล ตั้งขุนนางมาเป็นผู้ว่าราชการผนวกอินเดียและเบงกอลเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ

    ส่วนพม่านั้นเล่า จากการรบเมื่อปลายรัชกาลที่ ๒ ต่อมาจนถึงต้นแผ่นดินของพระองค์นี้เอง อังกฤษมีเหตุรบกับพม่า จนพม่าต้องเสียเมืองส่วนหนึ่ง และต้องเสียค่าไถ่เมืองพม่าคืนถึงล้านปอนด์ เงินในท้องพระคลังไม่พอต้องเรี่ยไรราษฎรอยู่จนบัดนี้ก็ยังได้ไม่ครบ (หมายถึง ในปี พ.ศ.๒๓๙๓ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ เสด็จครองราชย์มาได้ ๒๖ ปี เพราะในพงศาวดารพม่าว่าต้องเรี่ยไรราษฎรอยู่ถึง ๓๐ ปี ตั้งแต่ปีเสียค่าไถ่ พ.ศ.๒๓๖๘)

    เหตุการณ์ที่เกิดกับพม่านี้ จึงเป็นเหตุให้ทรงสะสมพระราชทรัพย์ไว้ในถุงแดงข้างพระที่ เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ได้จากการค้าสำเภาส่วนพระองค์มาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ยังทรงค้าสำเภาในส่วนของพระองค์ และทรงเก็บพระราชทรัพย์ส่วนนี้ไว้ต่างหากจากเงินในท้องพระคลังหลวง อันเป็นเงินแผ่นดินไว้ใช้จ่ายในทางราชการ เงินถุงแดงนี้มีพระราชกระแสกับผู้ใกล้ชิดพระองค์เสมอๆ ว่า “จะได้เก็บไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง”

    ก็ด้วยเหตุทรงประจักษ์ชัดในรัชกาลของพระองค์ว่า พม่าต้องไถ่บ้านไถ่เมืองคืนจากฝรั่งนี้แหละ

    เมื่อ เจมส์ บรู๊ก เข้ามาถึงกรุงเทพฯ เป็นเวลาที่กำลังทรงพระประชวร บางเวลาเสด็จออกว่าราชการ บางเวลาไม่ทรงสบายพระองค์ก็มิได้เสด็จออก ทว่าก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางใกล้ชิดเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทบนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันเป็นพระวิมาน (ที่บรรทม)

    แม้จะกำลังทรงพระประชวร ก็ยังทรงเป็นห่วง ทรงพระราชกังวล พระราชทานกระแสพระราชดำริลงมายังที่ประชุมขุนนางเสนาบดีถึง ๒ วัน ติดๆ กัน ดังที่ได้มีบรรยายไว้ในเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ นั้น

    โดยเฉพาะ กระแสพระราชดำริที่ทรงแนะนำให้เกี่ยงว่า เมื่อครั้ง กปิตัน หันตรี บารนี (เฮนรี่ เบอร์นี่) เข้ามาทำหนังสือสัญญา พ.ศ.๒๓๖๙ นั้น ว่าเป็นทูตมาจากเจ้าเมืองเบงกอล ซึ่ีงมีสิทธิ์ขาดเท่านางพญา บัดนี้หากจะถอนหนังสือสัญญา ก็ให้ หันตรี บารนี เข้ามาขอถอนเอง หากหันตรี บารนี ตายแล้ว ก็ให้นำหนังสือของเจ้าเมืองเบงกอลมาให้

    อันแสดงถึงพระปัญญาปรีชาฉลาดไม่ให้ปฏิเสธเสียทีเดียว แต่ให้ผ่อนสั้นผ่อนยาวไปก่อน ทั้งมิได้ขับไล่ไสส่ง โปรดฯ ให้เลี้ยงดูอย่างดีทั้งนายและไพร่พลเกือบ ๕๐๐ ที่มาด้วยกัน ทั้งข้าว ทั้งมะพร้าว ผลไม้ ตกวันละหลายชั่ง

    ทั้งยังโปรดฯ พระราชทานเรือสำปั้นเก๋งพั้ง เขียนลายทองยาว ๗ วา ให้เจมส์ บรู๊กเอาไป ‘ขี่’ ที่เมืองวิลาสด้วย ๑ ลำ

    น่าเสียดายที่เรือลำนี้มิได้มีผู้พูดถึงเลยว่า เจมส์ บรู๊ก เอาไปขี่หรือเปล่า เพราะเมื่ออยู่กรุงเทพฯ เพียง ๓๘ วัน (แต่มาอยู่ตั้งแต่ปากน้ำนั้น ๑๐๒ วัน) เจมส์ บรู๊ก ก็กลับไปซาราวัค เมื่ออายุมากจึงกลับไปอยู่อังกฤษ และไปสิ้นชีวิตที่อังกฤษ

    เมื่อเจมส์ บรู๊กตายนั้น ชาวซาราวัคอาลัยมาก ยิงปืนใหญ่สลุตให้เป็นเกียรติแก่รายา น่าเสียดายที่ เจมส์ บรู๊กมิได้มีบุตร เพราะเจมส์ บรู๊กไม่ได้แต่งงาน และว่ากันว่า ไม่มีภรรยาด้วย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×