ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #255 : พระราชพิธีถวายโถข้าวยาคู

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 423
      1
      18 เม.ย. 53

     

    พระราชโอรส-ธิดารัชการที่ ๔ ในเจ้าจอมมารดาแพ เรียงจากพระองค์ใหญ่
    พระองค์เจ้า (หญิง) ยิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา
    พระองค์เจ้า (หญิง) พักตร์พิมลพรรณ
    พระองค์เจ้า
    (ชาย) เกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ต้นราชสกุล ‘เกษมสันต์ ณ อยุธยา’
    พระองค์เจ้ามนุษยาคมานพ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
    พระองค์เจ้า (หญิง) บัญจบเบญจมา

    ใน ‘บุญบรรพ์’ บทที่ ๖๓ กล่าวถึง ‘ทูลกระหม่อมพระ’ (สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ) เสด็จเข้าไปรับพระราชทานฉันข้าวยาคู ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีผู้สงสัยถามมาว่า ข้าวยาคู คือ ข้าวอะไร ทำไมจึงต้องมีการพระราชทานฉันข้าวยาคู -

    เรื่อง ‘ข้าวยาคู’ นี้ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน ทรงมีพระบรมราชาธิบายเอาไว้ว่า เป็นเรื่องของพราหมณ์มาแต่เดิม เช่นเดียวกับพระราชพิธีต่างๆของพราหมณ์ ซึ่งเมื่อการพระราชพิธีเหล่านี้เข้ามาในสยาม ก็เลยพลอยประพฤติตามลัทธิพราหมณ์ไปด้วย

    สำหรับการถวายข้าวยาคูแก่พระสงฆ์ในเทศกาลสาร์ท (เดือน ๑๐ หรือประมาณเดือนกันยายน) อันเป็นระยะเวลาที่เมล็ดข้าวกำลังตั้งท้องเป็นน้ำนมขาวๆนั้น แรกเริ่มเดิมทีพวกนับถือพราหมณ์ถวายแก่พราหมณ์ เพื่อขอพรให้ข้าวในนาเจริญงอกงามบริบูรณ์ดี โดยเอาข้าวอ่อนกำลังตั้งท้องมาตำทั้งรวงแล้วกรองเอาแต่น้ำนม น้ำไปเคี่ยวไฟอ่อนๆจนเปียกข้น ปรุงรสเป็น ๒ อย่าง คือ อย่างเค็ม ใส่ขิง ใบกะเพรา เจือเกลือเล็กน้อย ส่วนอย่างหวานใส่น้ำตาลกรวด

    แต่ข้าวยาคูที่มาอยู่ในสยาม และถวายพระภิกษุสงฆ์ตลอดมาทำกันแต่อย่างหวานเจือน้ำตาลกรวด หรือน้ำตาลทรายขาว ตามสะดวก

    การทำข้าวยาคูหวานนี้ ในสมัยก่อนตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา เรื่อยลงมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่ยังมีคำพูดติดปากว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ และต่อมาแม้เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เด็กนักเรียนก็ยังท่องกันคล่องปากว่า ‘เมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน’ นั้น คงจะรู้จักทำกันมาไม่เฉพาะแต่ในการพระราชพิธี ราษฎรชาวบ้านทั่วไปก็คงจะพลอยทำถวายพระไปด้วย

    เรื่องข้าวยาคูเคยเขียนแทรกไว้ในนวนิยายเรื่อง ‘บ้านเกิด’ ประมาณเกือบ ๕๐ ปีมาแล้ว เป็นเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สักสิบปีได้ พระเอกโตในอเมริกา กลับมาอยู่นาอันเป็นมรดกของพ่อ เวลานั้นดูเป็นคนมีอุดมการณ์รักบ้านเกิดรักผืนดิน มาถึงสมัยนี้คงขายที่นาให้นักธุรกิจ ‘พัฒนา’ สร้างศูนย์การค้า ตึกรามต่าง ๆไปหมดแล้ว กินอุดมการณ์อิ่มไม่พอเพียง

    กลับมาเล่าเรื่องพระราชพิธีถวายข้าวยาคูแก่พระภิกษุสงฆ์ต่อไป

    เริ่มด้วยโปรดฯ ให้นำรวงข้าวกำลังเป็นน้ำนมมาจ่ายแจกให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน และบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ เพื่อทำยาคู ซึ่งภาชนะใส่ยาคูนั้นกำหนดให้ทำเป็นโถฟักทอง (สมัยก่อนชาววังเรียกกันว่าฟักเหลือง)

    การพระราชพิธีมีสวดมนต์เลี้ยงพระ ๓ วัน เสด็จพระราชดำเนินออกฟังพระสวด และถวายโถยาคู ทั้ง ๓ วัน วันแรกเป็นโถยาคูข้าราชการ วันที่ ๒ เป็นโถยาคูของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า วันที่ ๓ เป็นโถของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน

    ทุกวันสังฆการีจะจัดธงฉลากชื่อพระภิกษุที่มาในวันนั้น ๆไว้ถวาย

    เมื่อเสด็จออกทรงศีลแล้ว จึงเสด็จทอดพระเนตรโถ ทรงปักฉลากธงชื่อพระสงฆ์ที่โถ ตามแต่จะโปรดพระราชทานโถผู้ใดแก่พระสงฆ์องค์ใด ส่วนมากพระราชทานโถของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีอาวุโสสูง หรือมีพระเกียรติยศยิ่งกว่าพระองค์อื่น ถวายแก่พระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์สูงเรียงตามลำดับไป

    ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัย พ.ศ.๒๔๒๖ มีบันทึกเรื่องพระราชพิธีถวายโถข้าวยาคูครั้งหนึ่งไว้ว่า

    “เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เสด็จออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดเทียนนมัสการทรงศีล แล้วเสด็จทรงประเคนแล้วเสด็จมาทรงปักตั๋วชื่อพระที่โถยาคู โปรดให้ยกโถไปตั้งถวายพระ โถพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ เป็นทรงประเคนถวายกรมพระปวเรศร โถพระองค์เจ้าโสมาวดี ถวายกรมหมื่นวชิรญาณ นอกนั้นก็เรียงเป็นลำดับพระสงฆ์ไปตามควรทั่วกัน โถวันนี้เป็นปานกลาง”

    พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา ประสูติ พ.ศ. ๒๓๙๔ สูงพระชันษากว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (พระบรมราชสมภพ พ.ศ. ๒๓๙๖) สองปี

    พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา ประสูติ พ.ศ. ๒๓๙๕

    ขณะนั้นทรงเป็นพระเจ้าพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๕ เพียงสองพระองค์

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงมีพระราชธิดาเป็นพระองค์แรก คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ประสูติ พ.ศ. ๒๓๙๔

    ในปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ทรงมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ และพระราชธิดา ๒ พระองค์ พระราชโอรสทั้ง ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าชายทักษิณาวัฏ และสมเด็จเจ้าฟ้าชายโสมนัส สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทรงพระชนม์อยู่แต่พระราชธิดา ๓ พระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามคล้องจองกัน และพระราชทานสร้อยพระนามอย่างเจ้าฟ้า ทั้ง ๓ พระองค์ คือ

    พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา

    พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี

    พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา

    แม้พระนามโดยไม่มีสร้อยพระนามก็คล้องจองกัน คือยิ่งเยาวลักษณ์ ทักษิณชา โสมาวดี

    ทั้งสามพระองค์ต่างเจ้าจอมมารดากัน

    กรมพระปวเรศร คือพระองค์เจ้าฤกษ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ ๑๘ ใน สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ ประสูติในรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๕๒ จึงทรงเป็น ‘ลูกผู้น้อง’ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และทรงเป็น ‘อา’ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ขณะนั้น (พ.ศ. ๒๔๒๖) ทรงมีพระชันษา ๗๔ พรรษา ทรงดำรงตำแหน่งเป็นสกลสังฆปรินายก (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๖) และทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ (ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ จึงโปรดฯให้ประกอบพิธีมหาสมณุตมภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์)

    ที่ทรงเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ เพราะในเวลานั้นกฎเกณฑ์พระยศพระองค์เจ้ายังไม่แน่นอน ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้เฉพาะพระราชโอรสธิดา ในรัชกาลที่ ๓ เท่านั้น ทรงมีคำนำพระนามว่า พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ส่วนพระราชโอรสธิดาใน สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ รัชกาลที่ ๑ ๒ ๓ ใช้พระเจ้าวรวงศ์เธอ

    ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓ นั้น เคยทรงศักดิ์เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอควรจะมีพระอิสริยยศ คำนำพระนามสูงกว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ จึงโปรดฯให้ใช้ว่า พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ

    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดฯให้ใช้คำนำพระนาม พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๑-๕ ที่เป็นพระองค์เจ้าว่า ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ’ โดยบอกรัชกาลไว้ท้ายว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น (รัชกาล) ใด ส่วนคำว่า ‘พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ’ ให้เป็นคำนำพระนามพระราชโอรสธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๔

    กรมหมื่นวชิรญาณ คือ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และเป็นพระอนุชาของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ทรงศักดิ์เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประสูติ พ.ศ. ๒๔๐๒

    ขณะนั้น (พ.ศ. ๒๓๒๖) พระชันษา ๒๔ เพิ่งจะทรงผนวชได้ ๓-๔ ปี โปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
    ถึงรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๓๕๗ โปรดฯให้ประกอบพิธีมหาสมณุตมาภิเษก และเลื่อนพระอิสริยยศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×