ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #254 : "ลูกขุน" ในสมัยโบราณ "หม่อม" ใช้กับใครกันแน่

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 792
      0
      18 เม.ย. 53

        ในเรื่อง “บุญบรรพ์” กล่าวถึงลูกขุนอยู่หลายตอน มีผู้สงสัยโดยเฉพาะคนสมัยใหม่ที่เห็น “ลูกขุน” และคณะลูกขุนแต่ในจอโทรทัศน์อันเป็น “ลูกขุน” ของฝรั่ง

    ขอเรียนว่า “ลูกขุน แบบศาลฝรั่งอย่างในจอโทรทัศน์นั้นตัดทิ้งไปได้เลย เพราะไทยไม่เคยมีแม้แต่ในปัจจุบัน

    ส่วน “ลูกขุน ที่กล่าวถึงใน “บุญบรรพ์ เป็นเรื่องของ “ลูกขุน ในสมัยโบราณ อันเป็นประเพณีการปกครองมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

    ซึ่งคำว่า “ลูกขุน มิได้หมายถึงแต่เฉพาะข้าราชการด้านศาล หรือแผนกตุลาการเท่านั้น ทว่าหมายถึง บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งคำโบราณเรียกรวมกันว่า “ลูกขุน

    ในสมัยโบราณจนถึงรัชกาลที่ ๕ วิธีบังคับบัญชาข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆนั้นเสนาบดีตั้งจวนอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการกระทรวงของตนที่นั่น ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ หรือผู้มีกิจธุระในกระทรวงใด ต้องไปทำการและประกอบกิจธุระที่จวนเสนาบดีกระทรวงนั้น

    แต่บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งคำโบราณเรียกว่า “ลูกขุน ต้องมาประชุมกันที่พระราชวังทุกวัน

    จึงมีศาลาที่ประชุมเรียกว่า “ศาลาลูกขุน ๓ หลัง

    หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ภายนอกพระราชวังจึงเรียกว่า “ศาลาลูกขุนนอก ในกรุงเทพฯ แต่เดิมศาลาลูกขุนนอกตั้งอยู่ริมหลักเมือง เป็นที่ประชุมข้าราชการอันมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาชั้นสูงปรึกษาอรรถคดี ศาลานี้จึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า “ศาลหลวง (Supreme Court) คณะข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งนั่งศาลาลูกขุนนอกจึงเรียกกันว่า “ลูกขุน ณ ศาลหลวง

    ศาลาลูกขุนใน จำลองในเมืองโบราณว่า ศาลาทั้งฝ่ายซ้าย สำหรัับประชุมข้าราชการฝ่ายผลเรือน ศาลาทางฝั่งขวา สำหรับประชุมข้าราชการฝ่ายทหาร (สมัยอยุธยา

    อีกสองหลัง ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังจึงได้เรียกกันว่า “ศาลาลูกขุนใน ฝ่ายซ้ายเป็นที่ประชุมข้าราชการพลเรือน ขึ้นอยู่กับมหาดไทย (สมุหนายก) ฝ่ายขวาเป็นที่ประชุมข้าราชการฝ่ายทหาร ขึ้นอยู่กับกลาโหม (สมุหกลาโหม)

    ที่เรียกว่าฝ่ายซ้ายขวา เพราะแต่โบราณมา เมื่อเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าแผ่นดิน พลเรือนอยู่ฝ่ายขวาของพระเจ้าแผ่นดิน ทหารอยู่ฝ่ายซ้ายของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งถ้านับจากผู้เข้าเฝ้าฯ ก็เป็นพลเรือนฝ่ายซ้าย ทหารอยู่ฝ่ายขวา จึงนับกันมาว่าทหารเป็นฝ่ายขวา พลเรือนเป็นฝ่ายซ้าย

    ดังนั้น บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งนั่งประชุมศาลาลูกขุนทั้ง ๒ แห่ง จึงได้นามรวมเรียกกันว่า “ลูกขุน ณ ศาลา

    ทั้ง “ลูกขุน ณ ศาลหลวง และ “ลูกขุน ณ ศาลา ๓ ศาลานี้ ประชุมปรึกษา และบัญชาข้าราชการที่อยู่ในวงอำนาจหน้าที่ทั้ง ๓ แห่ง

    เมื่อเสร็จแล้วต่างจึงเข้าไปเฝ้าฯ เป็นการประชุมพร้อมกันที่ในท้องพระโรง โดยพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับ เป็นประธานนำข้าราชการขึ้นกราบบังคมทูล ทรงปรึกษาและบังคับบัญชาราชการเป็นชั้นชี้ขาดด้วยพระบรมราชโองการ

    หมดเรื่องลูกขุน ทีนี้เรื่อง “หม่อม ก็มีผู้สงสัยกันมาว่า ใช้กับใครกันแน่

    ว่ากันแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว มีหลักฐานจากพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๕ เรื่องธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยามตอนหนึ่งว่า

    หม่อมนี้เขาสำหรับเรียกคนผู้ดี ๆที่มีตระกูล ไม่ว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เหมือนหนึ่งปู่พระยาภาสกรวงศ์ แลกรมหมื่นนรินทร เป็นต้น เมื่อยังไม่ได้เป็นเจ้า เป็นขุนนาง ก็เรียกว่า หม่อม

    ปู่พระยาภาสกรวงศ์ คือ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ก่อนได้เป็นพระยาอรรคมหาเสนาในรัชกาลที่ ๑ เรียกกันว่า “หม่อมบุนนาค

    กรมหมื่นนรินทร คือ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ พระภัสดา พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากุในรัชกาลที่ ๑ (พระองค์เจ้ากุนั้น ถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรมเป็นกรมหลวงนรินทรเทวี โดยนำพระนามทรงกรม “นรินทร ของกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ มาขึ้นต้นพระนามทรงกรมของพระองค์เจ้ากุ เล่าไว้เพราะมักมีผู้เข้าใจกันว่า พระองค์เจ้ากุทรงกรมเป็นกรมหลวงนรินทรเทวีก่อน พระภัสดาได้ทรงกรมทีหลัง)

    กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์นั้น เป็นบุตรชายของเจ้าพระยามหาเสนาบดี (ผล) กรุงศรีอยุธยาชื่อ มุก จึงเรียกกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีว่า “หม่อมมุก

    เล่าขยายความอีกสักนิดว่า ท่านเป็นพี่ชายของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) และเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) เป็นบิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)

    กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ หรือหม่อมปิ่นท่านจึงเป็นลุงของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)

    จึงเป็นเหตุให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) คุ้นเคยสนิทสนมในพระวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มาแต่ยังทรงพระเยาว์ เล่ากันว่าเคยอุ้มพระองค์ให้ทรงขี่คอมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยเจ้าพระยาบดินเดชาเกิดก่อนพระราชสมภพ ๑๐ ปี (พ.ศ.๒๓๒๐) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงตรัสเรียกว่า “พี่สิงห์ เมื่อโปรดฯ ให้เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้ว ตรัสเรียกว่า “พี่บดินทร์

    สรุปว่า พวกผู้ดีมีตระกูลทั้งชายหญิงก่อน ๆนั้นก็เรียกกันว่า “หม่อม

    แต่ต่อมาจะเป็นเมื่อใดไม่ทราบ นำมาเรียกบรรดาอนุภรรยา หรือเมียน้อย ๆของพระยาพานทอง หรือพระยาใหญ่ ๆระดับเจ้าบ้านผ่านเมือง และเจ้าพระยาว่า “หม่อม ในพระราชนิพนธ์เรื่องเดียวกันทรงพระราชนิพนธ์ว่า

    ตั้งแต่ หม่อม แปลว่า ‘เมีย' เสียก็กระดากกันไป

    คือต่อมานอกจากเรียกบรรดาอนุภรรยาดังกล่าวว่า “หม่อม แล้ว ยังเรียกพวก “นางห้าม ในเจ้านายว่า “หม่อม ด้วย

    ในรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้มีประกาศพระบรมราชโองการเรื่องการใช้คำนำหน้าชื่อชนต่าง ๆมีเรื่อง “หม่อม อยู่ว่า

    “ข้างในใช้ชิดของพระองค์เจ้า หม่อมเจ้าทั้งปวงที่มิใช่พระองค์เจ้า หม่อมเจ้าเีรียกว่า ‘หม่อม’ ทั้งสิ้น

    พนักงานข้างในปวงที่มิได้เป็นเจ้าแลราชนิกุลเรียกว่า ‘หม่อมพนักงาน’ ทั้งสิ้น

    ถ้าพระองค์เจ้า หม่อมเจ้าต้องโทษถูกออกจากบรรดาศักดิ์ พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ก็เรียกว่า ‘หม่อม’

    บุตรชายหญิงของหม่อมเจ้าก็เรียกว่า ‘หม่อม’ เหมือนกัน

    กับราชนิกุลที่ไม่มีชื่อตำแหน่ง ทั้งชายหญิงก็เรียกว่า ‘หม่อม’

    เห็นจะเป็นด้วยประกาศพระบรมราชโองการฉบับนี้นี่เอง แม้เมื่อมียศหม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงแล้ว ในรัชกาลที่ ๔ จึงมีผู้เรียกว่าหม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงว่า “หม่อม ดังเดิมที่เคยเรียกกันมา

    เล่าเลยต่อไปอีกสักนิดถึงคำ่ว่า “คุณหญิง และ “ท่านผู้หญิง (เฉพาะที่เป็นภรรยาของพระยา เจ้าพระยา) ในสมัยก่อน

    เมื่อต้น ๆรัตนโกสินทร์ คำนำหน้านามว่า “คุณหญิง” (รวมทั้ง “คุณชาย”) นั้น ใช้เรียกบรรดาราชินิกุลวงศ์เจ้าคุณนวล (เจ้าคุณพระราชพันธุ์ น้องนางในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี รัชกาลที่ ๑) ซึ่งเป็นราชินิกุลชั้นที่ ๓ และชั้นที่ ๔

    กับบรรดาพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

    ส่วนเอกภรรยาของพระยา และเจ้าพระยาที่ถือศักดินาตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ลงมาจนถึง ๔๐๐ ก็เรียกกันว่า ท่านผู้หญิงบ้าง ท่านเฉย ๆบ้าง

    ในประกาศฉบับนี้ มีพระบรมราชโองการว่าให้ ภรรยาหลวงของข้าราชการที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์ใช้คำว่า ท่านผู้หญิง ว่า ท่าน นำหน้าชื่อ

    แต่หากภรรยาหลวงนั้นมิได้รับพระราชทานเครื่องยศบรรดาศักดิ์ หรือเป็นอนุภรรยาก็ไม่ต้องมีคำนำหน้าชื่ออย่างใด

    คำว่า “หม่อม นำหน้าชื่ออนุภรรยาของเจ้าพระยาคงจะเลิกใช้กันไปตั้งแต่เมื่อตอนนี้เอง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×