ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #252 : พระแก้วมรกต

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 406
      0
      17 เม.ย. 53

      ผู้อ่านหลายรุ่นถามกันมาหลายเรื่อง ส่วนมากทางโทรศัพท์ บางคำถามตอบได้ไม่เกินขอบเขตของ ‘เวียงวัง’ อันเป็นเรื่องเล่าถึงอดีตของ ‘เวียง’ และ ‘วัง’ ซึ่งน่าจะมีผู้อ่านท่านอื่นๆใคร่ทราบด้วย ก็จะเล่าเรียงลำดับกันไป

                เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องพระบาง ผู้อ่านวัยหนุ่มสาวไปทัศนาจรเมืองหลวงพระบาง จึงได้ทราบว่า พระบางคู่บ้างคู่เมือง เมืองหลวงพระบางนั้น เคยมาประทับอยู่กรุงรัตนโกสินทร์ ๒ ครั้งมาแล้ว จึงอยากทราบว่าสมัยใด

                ครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อยังดำรงพระยศ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แผ่นดินกรุงธนบุรี อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ พร้อมกับพระแก้วมรกต ขบวนแห่อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางจากท่าเรืออยุธยาตามลำน้ำเจ้าพระยาสู่กรุงธนบุรีนั้น โปรดฯให้เรือเข้าขบวนอย่างมโหฬาร ดังที่เรื่อง ‘บุญบรรพ์’ บรรยายผสมผสานจินตนาการตามจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวี

                พระบางจึงสถิตอยู่ ณ กรุงธนบุรี เข้าใจว่าที่วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) เช่นเดียวกับ พระแก้วมรกต

                ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษก สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงโปรดฯให้อัญเชิญพระแก้วมรกตข้ามมาสถิต ณ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระราชดำริจะอัญเชิญพระบางข้ามมาอยู่ด้วย

                ขณะนั้น พระเจ้านันทเสน ผู้เป็นเจ้าพ่อของเจ้าจอมมารดาทองสุก และเป็นเชษฐาของเจ้าอนุวงศ์ (เวลานั้นโปรดฯให้ครองนครเวียงจันทน์ในฐานะประเทศราช หลังจากพระเจ้าสิริบุญสาร บิดาถึงแก่พิราลัย) ก็ได้กราบทูลว่า

                “พระแก้วกับพระบาง มีปีศาจที่รักษาพระพุทธรูปไม่ชอบกัน ถ้าอยู่ด้วยกันที่เมืองใด ก็ไม่มีความสบายที่เมืองนั้น การเห็นเป็น (ตัว) อย่างมา ๓ ครั้งแล้ว”

    พระบาง พระสำริด สูง ๒ ศอก ปัจจุบันอยู่ในหอพิพิธภัณฑ์ (พระราชวังเจ้ามหาชีวิต) หลวงพระบาง

                แล้วพระเจ้านันทเสน ก็บรรยายเหตุการณ์ทั้ง ๓ ครั้งนั้น เล่าโดยสรุปว่า

                แรกเริ่ม พระบางท่านก็ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง ซึ่งได้ชื่อตามชื่อของท่าน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๔๓-๔๔

                แต่พอล่วงเข้า ๕๐ ปี พระเจ้าไชยเชษฐา (หลานปู่ของพระเจ้าหลวงพระบาง หลานตาของพระเจ้าเชียงใหม่) เดิมก็ครองเมืองเชียงใหม่อยู่ แล้วเกิดเสด็จมาครองเมืองหลวงพระบาง ได้อาราธนาพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่มาด้วย แล้วก็เฉลิมฉลองพระแก้วมรกตเป็นการใหญ่ ประดิษฐานไว้ในปราสาท

                อีกไม่กี่ปีหลวงพระบางกับเชียงใหม่เกิดรบกันขึ้น เชียงใหม่เป็นฝ่ายชนะรุกเข้ามา จนกระทั่งหลวงพระบางเกรงว่า ครั้งนี้คงจะเสียเมืองแน่ๆ จึงลงผี (หรือเข้าผี) ถามคนทรงผีรักษาองค์พระบางมาลงเอง  บอกความว่า

                ‘ผีรักษาองค์พระบางเป็นเจ้าของเมือง ไม่ชอบกับผีรักษาองค์พระแก้ว ขอให้ไล่พระแก้วไปเสียจากเมืองหลวงพระบาง ผีรักษาพระบางจึงจะช่วยให้มีชัยแก่ข้าศึก’

                พระเจ้าไชยเชษฐา จึงให้อาราธนาพระแก้วมรกตไปฝากไว้เมืองเวียงจัน (เวลานั้นยังไม่ได้สร้างเป็นเมืองหลวง ยังคงเป็นเมืองเวียงจัน - เวียงคำ เมืองเล็กๆ คล้ายเมืองแฝด)

                ครั้นพอ พระแก้วมรกตเสด็จจากเมือง ฝ่ายเมืองหลวงพระบางก็ชนะศึก ตีพวกเมืองเชียงใหม่แพ้กลับไป

                ว่าไปแล้ว ดูก็น่าอัศจรรย์เหมือนกัน

                ทีนี้พระไชยเชษฐา เห็นว่า เมืองหลวงพระบางนั้นใกล้เชียงใหม่และพม่า ยากแก่การรักษา จึงมาสร้างเมืองเวียงจันทน์ เป็นเมืองหลวง ให้ชื่อว่า ‘เมืองจันทบุรี ศรีสัตนาคนหุตฯ’ แต่เรียกกันทั่วๆไปว่า ‘เวียงจันทน์’

                เป็นอันว่า พระแก้วมรกต ท่านก็อยู่เวียงจันทน์ ส่วนพระบาง ท่านก็อยู่หลวงพระบางของท่านไป ต่างองค์ต่างอยู่

                ทีนี้เจ้าบ้านผ่านเมืองนั่นแหละ ท่านทำยุ่งอีก

                เรื่องของเรื่องก็คือ ต่อมาอีก ๒๐๐ ปี เจ้านายเมืองเวียงจันทน์ และเมืองหลวงพระบางแยกเป็นสองสาย แล้วเกิดรบกันขึ้น พระเจ้าเวียงจันทน์ชนะ ก็เลยอาราธนาพระบางมาประทับเมืองเวียงจันทน์

                เป็นอันว่า ‘เสือ’ และ ‘สิงห์’ กลับมาอยู่ถ้ำเดียวกันเป็นครั้งที่ ๒

                พระเจ้านันทเสนท่านว่า ตั้งแต่พระแก้วมรกต กับพระบางมาอยู่ด้วยกัน ณ เมืองเวียงจันทน์ เวียงจันทน์ที่เคยสงบสุข ก็เกิดเหตุวุ่นวาย พี่น้องรบกันเอง จนเสียบ้านเมืองแก่ญวน ต้องเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยกรุงธนบุรี

                แล้วก็ในสมัยกรุงธนบุรีนี้เอง ที่ทั้งพระแก้วมรกต และพระบางมาอยู่ด้วยกันในเมืองเดียวกันเป็นครั้งที่ ๓

                สถิตอยู่เมืองเดียวกัน เพียง ๒ ปี ก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย จนกระทั่งถึงผลัดแผ่นดิน

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสดับเรื่องที่พระเจ้านันทเสนกราบทูลเตือนดังนั้น จึงโปรดฯพระราชทานพระบางอัญเชิญให้กลับคืนไปนครเวียงจันทน์ดังเดิม

                เป็นอันว่า

                ครั้งแรก พระบางเสด็จมาสถิตกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ เพียง ๒-๓ ปี

                ครั้งที่ ๒ ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๗๐) เมื่อเกิดเรื่องพระเจ้าอนุเวียงจันทน์ โปรดฯให้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นแม่ทัพหลวง ยกไปรบเวียงจันทน์ คงจะมิได้ทรงทราบความเดิม จึงอัญเชิญพระบางกลับมากรุงเทพฯอีก แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พอจะทรงทราบอยู่ จึงโปรดฯให้อัญเชิญพระบางไปประดิษฐาน ณ วัดสามปลื้ม ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาปฏิสังขรณ์ โปรดเกล้าฯพระราชทานพระนามว่า วัดจักรวรรดิราชาวาส

                อันวัดสามปลื้มนี้ว่าเดิมชื่อ วัดนางปลื้ม แล้วเลือนไปกลายเป็น ‘สามปลื้ม’ เวลานั้น ถือว่ามิใช่วัดในพระนคร ด้วยอยู่นอกกำแพงเมืองกรุงเทพฯ รัตนโกสินทร์ ออกไป

                เป็นอันพ้นจากข้อรังเกียจที่ว่า พระพุทธรูปสององค์อยู่ด้วยกันเมืองเดียวกัน

                จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เสด็จครองราชย์ ปรากฏว่าฝนแล้งลงทุกปี ราษฎร ‘ลือ’ กันว่า เป็นเพราะพระพุทธรูปบางองค์ที่อัญเชิญมา เสนาบดีจึงเข้าชื่อกัน ขอพระราชทานให้ส่งพระบางคืนไปยังเมืองหลวงพระบางของท่าน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้อาราธนากลับไปตามคำขอนั้น

                พระบางจึงเสด็จกลับไปประดิษฐาน ณ เมืองหลวงพระบางตามเดิมจนทุกวันนี้

                ไหนๆเล่าเรื่องพระบางตามที่ถามมาแล้ว

                ขอเล่าประวัติของท่านเพิ่มเติมอีกสักนิด

                พระบางนั้นประวัติของท่านดูจะ Adventure อยู่มากทีเดียว

                ผู้ใดสร้างจะสร้างเมื่อไรไม่ปรากฏ ทว่าแรกเริ่มทีเดียว ท่านอยู่ที่นครธม เมืองหลวงอาณาจักรขอม (หรือเขมร)

                ทีนี้ พระเจ้าฟ้างุ้ม ผู้รวบรวมอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งมีเมืองเชียงทอง เป็นราชธานี ไปได้ราชธิดากษัตริย์ขอมเป็นมเหสี ได้ทูลขอพระบางจากพ่อตาจะให้มาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทอง

                ทูลขอมา แต่ พ.ศ. ๑๙๐๒

                องค์พ่อตาก็ยอมให้

                ทว่าพระบางท่านไประหกระเหินเสีย ๑๔๑ ปี หาได้ไปถึงเมืองเชียงทองไม่

                เพราะเมื่ออาราธนาลงเรือขึ้นมาจากนครธม นั้น ต้องผ่านเมืองเวียงคำเวียงจันทน์ หรือเวียงจันเวียงคำ ที่ว่าเป็นเหมือนเมืองแฝด เมื่อพักขบวนอัญเชิญขึ้นที่เมืองเวียงคำ พระยาเวียงคำได้มีพิธีสมโภช ๗ วัน ครั้นเมื่อเชิญเสด็จต่อไปยังเมืองเชียงทอง ท่านไม่ยอมไป แสดงปาฏิหาริย์ให้เกิดขัดข้องต่างๆ ทั้งทางเรือ ทางบก ทำให้ต้องยอมให้ท่านประทับอยู่เมืองเวียงคำต่อไปก่อน

                จนกระทั่ง พ.ศ. ๑๙๙๙ เกือบ ๑๐๐ ปีต่อมา พระเจ้าไชยจักรพรรดิ แผ่นแผ้ว ได้ครองเมืองเชียงทอง ก็ให้ไปอาราธนาพระบางมาจากเมืองเวียงคำ

                ครั้งนี้ท่านก็ไม่ยอมไปอีก

                เกิดเรืออัญเชิญพระบางไปล่มเสียที่แก่งจันทร์ ทางใต้เมืองเชียงคาน พระบางจมน้ำหายไป คราวนี้แสดงปาฏิหาริย์จริงๆ คือเสด็จกลับไปประดิษฐานอยู่ในวิหารเมืองเวียงคำอย่างเดิม

                อยู่เมืองเวียงคำ เกือบ ๑๐๐ ปี

                จนถึงรัชกาลพระเจ้าวิชลราช ครองเมืองเชียงทองเมื่ออีก ๕๐ ปีต่อมา จึงได้ให้ไปอัญเชิญอีก ครั้งนี้เกรงเรือเล่ม จึงอัญเชิญมาทางบก (เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓)

                ทีนี้สำเร็จ พระเจ้าวิชุลราช ทรงสร้างวัดวิชุลมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐาน เปลี่ยนชื่อเมืองเชียงทอง เป็น เมืองหลวงพระบาง (หลวง = ใหญ่โต  ใหญ่ยิ่ง) พระบางท่านก็อยู่เมืองหลวงพระบางของท่านแต่นั้นมา

                จนกระทั่งถูกอาราธนาไปหลายเมือง เป็นแอดเวนเจอร์ ภาค ๒ จึงได้กลับมาประดิษฐานเมืองหลวงพระบางจนทุกวันนี้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×