ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #251 : การฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งใหญ่

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 660
      0
      17 เม.ย. 53

    ขณะนี้บ้านเมืองกำลังอื้ออึงไปด้วยเรื่องคอรัปชั่น ซึ่งสมัยก่อนที่จะใช้ทับศัพท์ฝรั่งนั้นเรียกกันว่า ‘ฉ้อราษฎร์บังหลวง’ หรือว่ากันเต็มๆก็ว่า ‘ฉ้อ (โกง) ราษฎรและ (เบียด) บังเงินหลวง’ นั่นเอง

                จึงน่าจะได้เล่าเรื่อง การฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๐๗) ซึ่งถึงกับจดไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ มีความตามในเครื่องหมายอัญประกาศ

                “โปรดฯให้ชำระเจ้าพนักงานฉ้อพระราชทรัพย์ หลวงพิชัยวารี (หณุ) ทำเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวาย กล่าวโทษพระยาสมบัตยาธิบาล (นาก) จมื่นราชนาคา (เลี้ยง) ซึ่งเป็นพนักงานเบิกจ่ายเหล็กซื้อพระราชทรัพย์ของหลวงปี ๑ เป็นเงินถึง ๕,๐๐๐ ชั่งเศษ”

                คือเบิกเงินจ่ายค่าเหล็กเป็นเงินถึงประมาณปีละ ๕,๐๐๐ ชั่งเศษ จนเป็นที่น่าสงสัย

                “(จึง) มีพระบรมราชโองการให้พระยาสุริยวงศวัยวัฒน์ เป็นตระลาการชำระให้ได้ความจริง ท่านตระลาการได้เรียกบัญชีฎีกาพระคลังในขวา สอบกับบัญชีพระคลังมหาสมบัติได้ความว่า ในจำนวน

                ปีระกา ตรีศกจ่ายเหล็ก ๔๔,๐๔๐ หาบ

                ปีจอ จัตวาศก จ่ายเหล็ก ๕๑,๕๕๐ หาบ

                ปีกุญเบญจศก ทำการ (ที่ต้องใช้เหล็ก) ๑๐ เดือน จ่ายเหล็ก ๖๕,๘๙๐ หาบ

                รวมเงินหลวงออกจากท้องพระคลังไปแล้ว ๑๑,๙๗๕ ชั่ง ๒ ตำลึง ๓ สลึง

                ปีชวดฉศก จ่ายเหล็ก ๗๕,๘๐๐ หาบ คิดค่าเหล็ก ค่าถ่าน (ครั้งนี้) จ่ายเงินท้องพระคลัง ๖,๑๕๘ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

                ชำระบัญชีที่จ่ายเหล็กครั้งนั้น ๓ ปี ๘ เดือน รวมเหล็กทั้งสิ้น ๒๓๗,๒๘๐ หาบ เงินในท้องพระคลังออกไปแล้ว ๑๘,๑๓๓ ชั่ง ๑๗ ตำลึง ๓ สลึง”

                คิดเฉลี่ยแล้ว จึงจ่ายค่าเหล็กถึงปีละประมาณ ๕,๐๐๐ ชั่ง

                ดังนั้น

                “พณฯหัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหม เห็นว่าพระยาสมบัตยาธิบาล จมื่นราชนาคา เป็นเจ้าพนักงานฉ้อพระราชทรัพย์ของหลวง มีความผิดเป็นอันมาก กราบทูลขึ้น โปรดฯให้ถอดเสียจากที่ ส่งไปจำไว้ ณ คุกทั้ง ๒ คน แล้วยกพิกัดเก่าเสียจัดการใหม่มิให้คิดฉ้อได้ แล้วโปรดฯให้เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (ทองอยู่) เป็นที่พระยาสมบัตยาธิบาล ให้นายขันแย้ม เป็นจมื่นราชนาคาต่อไป แต่นั้นมาโดยมีราชการในเรื่องใช้เหล็ก อย่างมากปี ๑ ออกเงินหลวงเพียง ๖๐๐ - ๗๐๐ ชั่ง เท่านั้น ผิดกว่าแต่ก่อน ปี ๑ ถึง ๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ชั่ง”

                แปลว่า พระยาสมบัตยาธิบาลคนเดิมกับจมื่นราชมาตย์คนเดิม แกช่วยกันเบียดบังหลวงถึงปีละ ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ชั่ง ตลอดเวลาเกือบ ๔ ปี สมัยเมื่อ ๑๔๐ ปีมาแล้ว ก็เป็นเงินประมาณ ๑๒,๐๐๐ - ๑๕,๐๐๐ ชั่ง คิดเทียบกับสมัยปัจจุบัน ค่าของเงินสูงขึ้นกว่า ๑๐๐ เท่า เอา ๘๐ คูณ ๑๒,๐๐๐ - ๑๕,๐๐๐ แล้วคูณด้วยอีกสัก ๑๐๐ เท่า หรือ ๑๒๐ เท่า เป็นเงินเท่าใด โปรดคิดดูเอาเถิด

                พระยาสมบัตยาธิบาล (นาก) ผู้นี้ปรากฏว่ารับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมพระคลังในขวา มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ มีหน้าที่จัดหาซื้อสิ่งของในราชการ เช่น ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์ไม้ขอนสักตามขนาดที่จะใช้ก่อสร้าง โปรดฯให้ซื้อจากราษฎรตามราคาในท้องตลาด พระยาสมบัตยาธิบาลให้เจ้าพนักงานหาซื้อ ก็ซื้อไม่ได้ (เกิดเรื่องซื้อเหล็กครั้ง พ.ศ.๒๔๐๗ นี้ จึงเป็นเหตุให้สันนิษฐานกันว่า ที่ไม่ยอมขายก็เพื่อเก็บไว้โก่งราคาทำนองนั้น ซึ่งพระยาสมบัตยาธิบาลอาจรู้เห็นเป็นใจด้วย)

                ครั้งนั้นพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯตรัสเรียกว่า ‘เจ้าศรีทองเพ็ง’ จึงทำเรื่องราว  ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ขอทำภาษีไม้ขอนสัก ซึ่งถ้าหากทรงมีพระราชประสงค์ไม้ขอนสักใหญ่โต เพื่อทรงใช้ในการบ้านเมืองและการพระศาสนาเจ้าภาษีจะขอถวายให้เปล่าๆไม่คิดราคา ส่วนไม้ขอนสักที่ย่อมลงมานั้น ก็จะให้มีพิกัดราคา ซึ่งเจ้าภาษีต้องขายให้แก่เจ้าพนักงานหลวงตามราคาพิกัด จะขึ้นลงตามใจชอบหาได้ไม่

                พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ ซึ่งโปรดฯให้เป็นตระลาการชำระให้ได้ความจริงเวลานั้น คือ คุณชายวร (หรือวอน) บุตรชายใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (เจ้าคุณชายช่วงซึ่งเวลานั้นเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ - ที่สมุหพระกลาโหม) คุณชายวร เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๗ เป็นพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก ถึงรัชกาลที่ ๕ จึงได้เป็นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ที่สมุหพระกลาโหมแทนท่านบิดา ในสมัยนั้นเรียกกันว่า ‘เจ้าคุณทหาร’

                ส่วน พณฯหัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหม ก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ‘เจ้าคุณชายช่วง’ ซึ่งในรัชกาลที่ ๔ คนทั้งหลายมักเรียกท่านว่า ‘เจ้าคุณกลาโหม’

                ‘เจ้าคุณชายช่วง’ ผู้นี้ ในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระเมตตาเสมือนเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ดังที่เคยเล่ามาแล้ว ในที่นี้น่าจะได้เล่าถึงเกียรติคุณของท่านอีกเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ตั้งบิดาของท่านเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ และตั้งอาของท่าน (เจ้าคุณชายทัต ปลายรัชกาลที่ ๓ เป็นพระยาศรีพิพัฒน์) เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ พระราชทานเครื่องยศคือพระแสงประดับพลอยลงยาราชาวดี และกลด เสลี่ยงงา เป็นเครื่องยศอย่าง (พระองค์) เจ้าต่างกรมเหมือนกันทั้งสององค์


    “เสนาธิการของเรา”
    (พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี)
    ภาพล้อ ฝีพระหัตถ์
    ในพระบาทสมเด็จ
    พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

                สำหรับพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) นั้น โปรดฯให้ว่าที่สมุหพระกลาโหม (‘ว่าที่’ ยังไม่ถึง ‘ที่’ เพราะเมื่อโปรดฯให้เป็น เจ้าพระยานั้นสมเด็จเจ้าพระยาบิดาของท่านเป็นที่สมุหพระกลาโหมอยู่ และเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้ง ๔ ทิศ ด้วย)

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯพระราชทานกลด เสลี่ยงงา และกระบี่ประดับพลอยลงยาราชาวดี เครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม (ซึ่งมิใช่พระองค์เจ้า ดังเช่นกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ พระภัศดาพระองค์เจ้ากุ)

                แต่กลดและเสลี่ยงงานั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่ยอมรับ ท่านถวายคืน จึงเป็นที่เข้าใจกันว่าท่านถ่อมตัว ไม่ตีตนเสมอกับบิดาและอาประการหนึ่ง หรืออีกประการหนึ่งก็ไม่ทำตัวเท่ากับเจ้านาย นี่เป็นเกียรติคุณของท่านอันเป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังทั้งๆที่จะว่าไปแล้วนับว่าท่านเป็นคนสำคัญไม่น้อยทีเดียว

                จมื่นราชนาคา ยศจมื่นทั่วไปอยู่ระหว่างหลวงและพระ จากจมื่นก็ขึ้นเป็นพระ ยศต่ำกว่าจมื่น หัวหมื่นมหาดเล็กในราชสำนัก (วังหลวง) ซึ่งก่อนรัชกาลที่ ๔ เรียกว่าจมื่นเหมือนกัน ทว่ายศของจมื่นในพระราชสำนักอยู่ระหว่างพระและพระยาขึ้นจากจมื่นก็เป็นพระยา ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯให้เรียกจมื่นในพระราชสำนักว่า ‘เจ้าหมื่น’ เรื่องนี้เคยเล่ามาแล้ว

                นายขันแย้ม คือ นายขัน หุ้มแพร ๑ ใน ๔ ของมหาดเล็กหัวหน้าหุ้มแพร ที่เรียกกันว่า หุ้มแพร ต้นเชือก คือ นายกวด หุ้มแพร นายขัน หุ้มแพร นายฉัน หุ้มแพร นายชิด หุ้มแพร เรียกคล้องจองกันว่า กวด ขัน ฉัน ชิด นายขัน หุ้มแพร คนนี้ ชื่อตัวว่าแย้ม จึงเรียกกันว่านายขันแย้ม

                เรื่องโกงๆที่โด่งดังมากอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องล็อตเตอรี่พระยานนทิเสน คนปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ ถึงรัชกาลที่ ๗ จนถึงต่อๆลงมาอีก ดูจะรู้จักชื่อพระยานนพิเสนกันแทบทั้งนั้น

                ว่าที่จริงจะว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ไม่เชิงนัก แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น ชื่อเสียงพระยานนพิเสนเรียกว่าย่อยยับ โดนคาดหน้าตราชื่อตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

                เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ในวันมหามงคลพระบรมราชสมภพ ได้มีข้าราชการและราษฎรช่วยกันเรี่ยรายเงินทูลเกล้าฯ ถวายสมทบทุนซื้อเรือรบหลวงอันทันสมัยตามพระราชดำริ ก็ช่วยกันหาเงินด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงร่วมด้วย

                การหาเงินวิธีหนึ่งก็คือออกสลากล็อตเตอรี่ โดยมีพระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี เป็นประธาน

                ทีนี้เมื่อล็อตเตอรี่ออก  ปรากฏว่า คนในบ้านของพระยานนทิเสน ถูกล็อตเตอรี่กันทั้งบ้าน เวลานั้นมีหนังสือพิมพ์แล้วสัก ๒-๓ ฉบับ หนังสือพิมพ์ก็พากันลง คนรู้ คนพูดกันอื้ออึงไปทั้งเมือง มีคนแต่งกลอนลำตัดด่า พิมพ์ออกมาขายดิบขายดี คนจำกลอนท่องกันเกร่อทั่วบ้านทั่วเมือง ดูเหมือนคนแต่งจะใช้นามปากกาว่า หะยีเขียด เมื่อผู้เล่ายังเด็กๆ เวลาผ่านมาแล้วถึง ๑๕-๑๖ ปี คนรุ่นปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา ก็ยังพูดกัน ถึงพระยานนทิเสน เรียกว่าเรื่องล็อตเตอรี่ครั้งนั้น ทำให้พระยานนทิเสนเปรอะเปื้อนมัวหมองจนลบไม่หาย ล้างไม่ออกนั่นแหละ เพราะคนสมัยกระโน้น เขายกย่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอันดับหนึ่ง จึงได้ว่า

                “สุจริตคือเกราะบัง ศาตร์พ้อง”

                เรื่องนี้จะว่า พระยานนพิเสน ‘คอรัปชั่น’ ก็ไม่เชิงนัก แต่ก็เรียกว่าทุจริต โดยเอาประโยชน์ให้ญาติพี่น้องบริวาร และคงจะลูกเมียด้วยทั้งบ้าน ซึ่งถึงอย่างไรก็เสียชื่อ จนกระทั่งตัวตายไปแล้วบัดนี้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×