ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #249 : เถร-เถน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 485
      0
      17 เม.ย. 53

      หนุ่มน้อย ๑๓-๑๔ ขวบ ท่องคล่องปากว่า พระ เณร เถร ชี แล้วเกิดสงสัย ถามว่า คุณยาย เถร นี่เป็นใคร

                เด็กยุคนี้ไม่รู้จัก ‘เถร’ หรือ ‘ตาเถร’ เพราะปัจจุบัน ผู้ชายอายุมากๆนุ่งขาวห่มขาวถือศีลบ้าง ทำเป็นถือบ้างที่อาศัยอยู่ในวัดนั้น ดูเหมือนจะไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะวัดในปัจจุบันไม่เหมือนวัดในสมัยก่อนโน้น ยุคที่ปู่ย่าตายายยังเด็กอยู่

                เกือบจะตอบไปตามที่รู้ๆเห็นๆมาแต่เด็ก แล้วว่าตาเถรเป็นผู้ชายแก่นุ่งขาวห่มขาวถือศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือบางทีก็เหลือแค่ ศีล ๕ อาศัยกินนอนอยู่ในวัด

                แต่มาฉุกใจ เปิดดูพจนานุกรม ปรากฏว่าท่านว่าไว้เพียง ๒ คำ คือ

                เถร (อ่านว่า เถ-ระ) พระผู้ใหญ่

                เถน พระที่เป็นอลัชชี สึกออกมา

                จึงเลยนึกขึ้นมาได้ว่าเห็นคำว่า ‘เถน’  อยู่ในหนังสือเล่มหนึ่ง

                ต้องค้นดูเป็นการใหญ่ ปรากฎว่าอยู่ในหนังสือ ‘ที่ระลึกในการรับพระราชทานเพลิงศพ นางสาวพร้อม วัฒนศิริกุล พ.ศ.๒๕๐๙’

    ศาลาวัดริมน้ำนอนในวิหาร
    กลางวันนั่งพักตามศาลาวัดสมัย
    ก่อนเป็นที่พึ่งพาอาศัยของชาวบ้านทั่วไป
    โดยไม่เลือกชั้นและไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
    เพราะเจ้าอาวาสท่านไม่ยึดถือว่าเป็น
    วัดของท่าน แต่เป็นสถานที่ของ
    ชาวบ้านทั่วไป

                นามสกุล ‘วัฒนศิริกุล’ นี้ สืบสายลงมาจากพราหมณ์ศิริวัฒน์ พระมหาราชครูพิธีอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีสกุลแยกออกไปอีกหลายสกุล คือ สิงหเสนี บูรณศิริ จันทโรจวงศ์ ภูมิรัตน์

                เมื่อพม่าเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ผู้คนพลเมืองในกรุงแตกตื่นหนีกันอลหม่าน รวมทั้งบุตรชายหญิงข้าทาสบริวารของพระยาวิเศษสุนทร ผู้สืบสกุลลำดับที่ ๕ ของตระกูลนี้ ซึ่งพลัดกันกับพระยาวิเศษสุนทร เพราะพระยาวิเศษสุนทร มีราชการไปประจำหน้าที่ป้องกันพระนครอยู่

                เรื่องราวการหนีพม่าของบุตรหญิงพระยาวิเศษสุนทรนั้นมีความยืดยาว สรุปว่า ครั้นหนีพม่าลงมาอยู่กรุงธนบุรีแล้วได้พบกับบิดาและญาติพี่น้อง รวมกันได้เป็นครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง

                ต่อมาบุตรหญิง ชื่อ คุณพุ่ม จึงได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าคันธรส ทรงกรมเป็นกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ในรัชกาลที่ ๒

                ที่นี้ว่าถึงคำว่า ‘เถน’ คือในสมัยก่อนโน้นไม่ว่าโอรสเจ้านาย ขุนนาง ต้องเรียนหนังสือกับพระที่วัดกันทั้งนั้น ส่วนมากก็เป็นวัดใกล้ๆวัง ใกล้ๆบ้าน

                กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ท่านก็เรียนกับพระ ซึ่งต่อมา พ.ศ.๒๓๕๙ พระอาจารย์ของท่าน ได้เป็นถึงพระพุทธ โฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ

                แต่แล้ว พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) เกิดต้องอธิกรณ์ฐานเมถุนปาราชิก พร้อมกับพระสงฆ์อีก ๒ รูป

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดตั้งกรรมการชำระได้ความสมจริงตามคำฟ้อง จึงโปรดให้สึกลงพระราชอาญาจำขังไว้

                ฝ่ายกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ท่านก็เจ็บร้อนแทนอาจารย์ ทรงทอดบัตรสนเท่ห์ เป็นโคลงสี่สุภาพเรื่องนี้มีผู้เขียนผู้เล่ากันอยู่เสมอ จึงขอยกมาเพียงสองบทสุดท้าย ที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ กริ้วนักคือ

                “พิเรนทรแม่นอเวจี ไป่คลาศ

                อาจพลิกแผ่นดินได้ แม่นแม้นเมืองทมิฬ”

                หมายถึงการลงพระราชอาญาสึกพระครั้งนี้ เป็นการกระทำพิลึกอย่างไม่มีใครเขาทำ ซึ่งคงหนีนรกไม่พ้นทั้งอาจพลิกให้แผ่นดินหรือบ้านเมืองกลายเป็นเมืองยักษ์เมืองมารไป

                พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ นั้นกริ้วนักหนา หากผู้ใดแช่งด่าแผ่นดิน คงจะทรงพระราชดำริว่า กรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่งสถาปนาขึ้นได้เพียงแผ่นดินเดียว ถึงแผ่นดินของพระองค์เพิ่งจะสามสิบกว่าปี ยังไม่สู้มั่นคงนัก ทั้งเมื่อเพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็มีเรื่องราวอันอาจเป็นอันตรายต่อแผ่นดินหลายเรื่องหลายอย่าง จึงโปรดฯให้หาตัวผู้ทิ้งหนังสือ ต้องกันกับกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ท่านจึงถูกจับ โปรดฯให้ขังไว้ก่อน แต่ไปประชวรในที่ขังสิ้นพระชนม์ พระชันษาเพียง ๓๐

    ฟากธนบุรี โดยเฉพาะ
    ในคลองบางกอกน้อย ซึ่งเคยเป็น
    แม่น้ำเดิม มีวัดเก่า
    สมัยอยุธยามากมายในวิหาร
    มักมีผู้มาอาศัยนอน รวมทั้งเถร

                ฝ่ายพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) เมื่อต้องพระราชอาญาสึกออกมาแล้ว ผู้คนก็เรียกกันว่า ‘เถนพุด’ แต่จะนุ่งขาวห่มขาวหรือไม่ ไม่เห็นมีที่ใดกล่าวถึง เพียงแต่เล่ากันมาในตระกูลของเจ้าจอมมารดาพุ่มว่า ตั้งแต่นั้น พวกผู้หญิงมักอุทานเวลาตกใจ หรือเดินพลั้งพลาดซวดเซว่า ‘หกขะเมนเถนพุด’

                ในหนังสือเขียนว่า ‘เถน’

                ทีนี้ ‘เถร’ (อ่านว่า ‘เถน’ เหมือนกัน)

                ปรากฏในประเทศรัชกาลที่ ๔ ว่า ผู้ที่เป็น ‘เถร’ นั้นต้องบวช เช่นเดียวกับเณร

                ประกาศนั้นว่า “ประกาศเรื่องเถรจั่นแทงผู้มีชื่อแล้วหนีไป และห้ามบวชกุลบุตร อายุพ้น ๒๔ ถึง ๗๐ เป็นเถรเป็นเณร”

                อนุสนธิจากเรื่องเถรจั่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงได้โปรดฯให้ประกาศพระบรมราชโองการ ความตอนหนึ่งว่า

                “ทุกวันนี้ คนพาลอายุเกินอุปสมบท หลีกหลบเข้าบวชเป็นเถรเป็นเณร อาศัยวัดทำการทุจริตหยาบช้าต่างๆมีเป็นอันมาก

                (ดังนั้นหาก) กุลบุตรจะบวชเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุยังอยู่ในทารกภูมิไปจนถึงอายุได้ ๒๑ ปี (ซึ่ง) สมควรที่จะอุปสมบทพระภิกษุ (แต่) แม้นมีความขัดข้องด้วยเหตุอันใดอันหนึ่งมิได้อุปสมบท ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสามเณรไปอีก ๓ ปี จนถึงอายุ ๒๔ ปี ถ้าพ้นไปกว่านี้ให้สึกเสียเป็นคฤหัสจะได้รับราชการแผ่นดิน ห้ามอย่าให้บวชเป็นเถรเป็นเณรสืบไปอีกกว่านั้น

                อนึ่ง ถ้าภิกษุชราอายุถึง ๗๐ ปีแล้ว จะปฏิบัติในสมณธรรมมิได้ (ต้องการ) จะประจุออกบวชเป็นเถรเป็นเณร ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บวชมิได้ห้าม

                และ แม้นคฤหัสถ์ชรา อายุล่วงถึง ๗๐ ปี แล้ว จะหากินเลี้ยงชีวิตฆราวาสนั้นขัดสน หากบวชเป็นเถรเป็นเณร พอได้บิณฑบาตฉันเลี้ยงชีวิตโดยง่าย ก็จะได้หักบาญชีคฤหัสถ์

                ห้าม แต่อายุกว่า ๒๔ ขึ้นไปจนถึง ๗๐ ปี มิให้บวชเป็นเถรเป็นเณรในระหว่างนั้นเป็นอันขาดทีเดียว”

                ในประเทศยังทรงคาดโทษไว้อีกด้วยว่า

                “แม้นล่วงพระราชบัญญัติครั้งนี้ อุปัชฒาย์ อาจารย์ผู้บวชให้ก็จะมีโทษฝ่ายพุทธจักร ตัวกุลบุตรผู้บวชก็จะมีโทษทั้งฝ่ายพุทธจักร และพระราชอาณาจักรทั้ง ๒ ฝ่าย เป็นมหันตโทษ”

                สรุปแล้ว ก็คือ

                เถร (อ่านว่า เถ-ระ) คือพระผู้ใหญ่ ดังเช่นเรียกคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ว่า พระเถรานุเถระ

                เถร (อ่านว่า เถน) ผู้ชายอายุเกินกว่า ๗๐ บวชเป็นเถร อย่างเด็กบวชเป็นเณร นุ่มขาวห่มขาว ถือศีลกินนอนในวัด (คำนี้ไม่มีอธิบายในพจนานุกรม มีแต่ในประกาศพระบรมราชโองการ รัชกาลที่ ๔ ดังเล่ามาแล้ว)

                เถน พระที่เป็นอลัชชีสึกออกมา ซึ่งไม่ใช่เถร (อ่านว่า เถน) ที่นุ่งขาวห่มขาวอยู่วัด ดังในประกาศพระราชโองการ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×