ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #242 : หลวงนายศักดิ์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 413
      0
      17 เม.ย. 53

    นาคหลวงบุตรชายเสนาบดี ๒ ท่าน คือ หลวงศักดิ์นายเวร (นุช) บุตรชายเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) อัครเสนาบดี สุมหนายก (ที่จักรี) เป็นนาคตรี นายไชยขรรค์ หุ้มแพร (ช่วง) บุตรชาย เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เสนาบดีจตุสดมภ์ เป็นนาคจัตวา

    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) (เจ้าพระยาพระคลังว่าที่กลาโหม ในรัชกาลที่ ๓) บิดาของนายไชยขรรค์ (ช่วง) ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ (ร.๓) เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) (ร.๔) และเป็นสมเด็จเจ้าพระยา บรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ร.๕)

    ภาพนี้คงจะฉายในต้นรัชกาลที่ ๔ เมื่อเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ อายุคงจะระหว่าง ๖๒-๖๗ (ถึงแก่พิราลัยอายุ ๖๘) ท่านเกิดหลังพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ๑ ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ อายุได้ ๖๒ ปี

                ว่าถึง หลวงศักดิ์นายเวร (นุช) หรือที่เรียกกันทั่วๆไปว่า หลวงนายศักดิ์ก่อน

                บิดาของหลวงนายศักดิ์นี้ ผู้ติดตามอ่านเรื่อง ‘บุญบรรพ์’ และเวียงวังมาแต่ต้นๆ คงพอจะทราบกันว่า เป็นขุนนางสำคัญมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ จนถึงในรัชกาลที่ ๓

                ในรัชกาลที่ ๑ เป็นพระยาอนุชิตราชา (น้อย)

                ในรัชกาลที่ ๒ เป็น เจ้าพระยายมราช (น้อย) เสนาบดีจตุสดมภ์กรมเวียง (นครบาล) เมื่อปลายรัชกาล โปรดฯให้เป็น เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายก

                ในรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ได้เป็นแม่ทัพรับศึกพม่าทางปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ ต่อมา พ.ศ.๒๓๕๔ ได้เป็นแม่ทัพไประงับความไม่สงบในเขมร ท่านเป็นผู้มีความสามารถ เข้มแข็ง ในปลายรัชกาลที่ ๒ ขุนนางและพระราชวงศ์ จึงเกรงและเกรงใจท่านกันอยู่มาก

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ เชื่อกันว่า ผู้มี ‘เสียง’ สำคัญในการสนับสนุน คือ สองพี่น้อง เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) แต่ที่จริงแล้วผู้ที่มี ‘เสียงใหญ่’ สนับสนุนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มาแต่แรก น่าจะเป็นเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) มากกว่า

                ขณะกำลังเปลี่ยนรัชกาลนั้น อังกฤษส่ง เซอร์เฮนรี่ เบอร์นี่ ที่ไทยเรียกกันว่า กัปตัน หันตรี บารนี เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี

                เซอร์เฮนรี่เมื่อเข้ามาอยู่เมืองไทย ได้ไปเฝ้า และเยี่ยมคารวะเจ้านาย ขุนนาง สำคัญๆเวลานั้น ได้บันทึกถึงเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ซึ่งเซอร์เฮนรี่เรียกว่า ‘จักรี’ เอาไว้ว่า

                “เย็นวันนั้น ข้าพเจ้าก็เข้าไปเยี่ยมเจ้าพระยาจักรี ซึ่งโดยทั่วไปนับว่าเป็นเอกอัครมหาเสนาบดีของไทย เรานั่งคอยอยู่ที่ห้องติดกับห้องโถงใหญ่ที่รับแขกของจักรีอยู่เป็นเวลานาน จนเกินกว่าจะเรียกได้ว่าสุภาพ ในที่สุดก็มีคนมาพาไปข้างในอย่างมีพิธีรีตองมาก ตัวท่านเสนาบดีนั่งอยู่บนแท่นสูง มีคนล้อมรอบอยู่มากมายราวกับเป็นเจ้า ท่าทางท่านเป็นคนมีอายุราว ๖๐ ใบหน้าฉลาดและหลักแหลมมากกว่าพระคลัง (เจ้าพระยาพระคลัง - จุลลดาฯ)

                ท่านเคยทำการสู้รบกับเขมรมีชัยชนะอย่างงดงาม กล่าวกันว่าท่านเป็นคนที่มีปรีชาสามารถมาก และรู้ดีว่ากำลังทรัพย์สินของไทยมีเท่าไร และคนไทยมีความสนใจในเรื่องใดบ้าง ท่านมีเพื่อนที่มีอำนาจและมีอิทธิพลมากยิ่งกว่าเสนาบดีคนอื่นๆ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน (คือ ร.๓ - จุลลดาฯ) ขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ได้พระราชทานตำแหน่งสมเด็จให้แก่เจ้าพระยาจักรี (คือโปรดฯเพิ่มยศให้ขึ้นเสลี่ยงงากั้นกลดเข้ามาในพระบรมมหาราชวังทุกวัน ทั้งนี้โปรดฯเพิ่มยศดังนี้แก่เจ้าพระยามหาเสนา (สังข์ หรือบุญสังข์) เสนาบดีกลาโหม ซึ่งมีเรื่องวิวาทกันมากับเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) เมื่อปลายรับกาลที่ ๒  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ มีรับสั่งให้ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ชำระความ ยังมิทันเสร็จเรื่องก็พอดีสิ้นรัชกาล กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดฯให้เพิ่มยศทั้งสองคน มิได้ทรงชำระความต่อเป็นอันเลิกแล้วกันไป)”

                เซอร์เฮนรี่บันทึกถึงเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) อีกว่า

                “แต่พวกกรมหมื่นสุรินทร์ กรมหมื่นรักษ์ พระคลัง และพระยาศรีพิพัฒน์ผู้น้องชาย ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่มีความสามารถ และอิทธิพลมากเท่ากับเจ้าพระยาจักรีเพียงคนเดียว”

                กรมหมื่นสุรินทร์ กรมหมื่นรักษ์ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสุรินทรักษ์ (พระองค์เจ้าชาย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสุรินทรักษ์ (พระองค์เจ้าชายฉัตร) และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าชายไกรสร) ที่จริงทั้งสองพระองค์ทรงเป็น ‘อา’ ชั้นพระปิตุลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เพราะเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ แต่ทรงมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงสนิทสนมกลมเกลียวกันมา แต่ในรัชกาลที่ ๒ ดุจพระสหาย

                ที่จดหมายเหตุเรียกว่า ‘พระเจ้าน้องยาเธอ’ เพราะตามโบราณราชประเพณี จะเรียกเป็นพระญาติสูงศักดิ์กว่าพระเจ้าแผ่นดินหาได้ไม่ พระเจ้าบรมวงศ์ชั้นอาที่มีพระชันษาคราวเดียวกันกับพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อเรียกเป็นทางราชการจึงเรียกเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ

                พระคลัง และพระยาศรีพิพัฒน์ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด) สองพี่น้อง บุตรชายเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) และเจ้าคุณพระสัมพันธวงศ์นวล น้องนางเธอในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ เรื่องของสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสององค์มีผู้เรียบเรียงเอาไว้มากแล้วรวมทั้งบทความ ‘เวียงวัง’ นี้ด้วย จึงจะเล่าพอเป็นสังเขป แต่เฉพาะสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ท่านบิดาของ นายไชยขรรค์ หุ้มแพร (ช่วง)

                และตัว นายไชยขรรค์ หุ้มแพร (ช่วง) ผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บวชเป็นนาคหลวงจัตวา

                สำหรับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ท่านอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ๑ ปี (พระบรมราชสมภพ พ.ศ.๒๓๓๐ สมเด็จเจ้าพระยาฯ สมภพ พ.ศ.๒๓๓๑) คงจะสนิทสนมกันมาแต่ยังทรงพระเยาว์และเยาว์วัย ด้วยเป็นพระญาติกัน ทว่าความสนิทสนมกลมเกลียวกันจริงๆ เห็นจะเมื่อทรงผนวช และบวช จำพรรษาอยู่วัดเดียวกัน คือ วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม)

                เมื่อทรงลาผนวช และลาบวช ออกมาแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ แต่งงาน และมีบุตรชายก่อน คือ คุณชายช่วง (เกิด พ.ศ.๒๓๕๑)

                ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงลาผนวชแล้วถึง ๓ ปี จึงทรงมีหม่อมห้ามท่านแรก ได้พระราชโอรสพระองค์แรก ประสูติ พ.ศ.๒๓๕๔

                เล่ากันมาว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระเมตตาเอ็นดูโปรดปรานคุณชายช่วงมาก ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัย จะให้เป็นพระสหายกับพระราชโอรส พระองค์เจ้ากระวีวงศ์ (พระยศเมื่อประสูติเป็นหม่อมเจ้า) สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงพาไปเฝ้าที่วังท่าพระเสมอ

                แต่พระองค์เจ้ากระวีวงศ์ พระชันษาสั้นพระชนม์ไม่ถึง ๑๐ ชันษา ก็สิ้นพระชนม์ (พ.ศ.๒๓๖๓) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพระอาลัยยิ่งนัก เมื่อเหลือแต่คุณชายช่วง จึงทรงพระกรุณาโปรดปรานเสมือนเป็นพระราชบุตรบุญธรรม

                ต่อมา เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คุณชายช่วงเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กใกล้ชิด จนตลอดรัชกาล จำเริญในตำแหน่งหน้าที่มหาดเล็กเรื่อยมา ก็ยิ่งโปรดปราน ด้วยคุณชายช่วงนั้น ฉลาดปราดเปรื่อง และมีหัวทันสมัยสำหรับยุคนั้น ชอบเรียนวิชาการอย่างฝรั่ง เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แม้จะไม่โปรด ‘พวกฝรั่ง’ แต่ก็โปรดที่จะให้เรียนรู้วิชาการของฝรั่งที่ไม่โปรด ‘คบ’ พวกฝรั่ง ก็เพราะทรงเกรงความเอาเปรียบที่มาในแบบมิตร ทรงเกรงว่าอาจเป็นศัตรู แอบแฝงมาในรูปมิตร มิได้เป็นศัตรูสู้กันซึ่งๆหน้าอย่างแบบโบราณเช่นพม่า ญวน ฯลฯ พระองค์ท่านจึงไม่ทรงหวงห้ามการคบฝรั่งของบรรดาพระราชวงศ์และขุนนาง มิหนำซ้ำดูจะทรงสนับสนุนเงียบๆเสียซ้ำไป

                อันพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ต่อ ‘คุณชายช่วง’ นั้น มีมากมายนัก ‘คุณชายช่วง’ เองก็ถวายความจงรักภักดีอย่างลึกซึ้งเช่นกัน ว่ากันว่าท่านยึดพระบรมราชโองการตรัสสั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเฉพาะท่านว่า “การต่อไปภายหน้าเห็นแต่เอ็งที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป”

                ท่านจึงได้ตั้งหน้ารับราชการเป็น ‘อธิบดีผู้ใหญ่’ ช่วยราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ต่อมา รักษาแผ่นดินไว้ตามกระแสพระราชดำรัสตรัสสั่งในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×