ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #239 : นา และ ข้าว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 452
      0
      17 เม.ย. 53

    อาชีพสำคัญสินค้าออกสำคัญของเมืองไทยแต่ไหนแต่ไรมา คือข้าว คงทราบกันมาแต่ไหนแต่ไรอีกเหมือนกัน

                เด็กๆสมัยก่อนโน้นจึงพากันท่องขึ้นใจในห้องเรียน ขึ้นใจกันไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่า

                “เมืองไทยเรานี้ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”

                “ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ”

                “เมือไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน”

                ทั้งท่องทั้งรู้กันขึ้นใจว่าข้าวกับนาและชาวนานั้นสำคัญนักหนา

                ในสมัยโบราณจึงนับเอาการมีที่นาเป็นเครื่องกำหนดศักดิ์ของบุคคล ตั้งแต่เจ้านาย ขุนนาง พระสงฆ์ลงไปถึงราษฎรชาวบ้าน แม้แต่ทาส ลูกทาส ยาจกวณิพกก็มีศักดินา คือมีสิทธิ์มีที่นาได้คนละ ๕ ไร่ (ตามกฎหมาย “พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน” ซึ่งตราขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.๑๙๙๘)

                เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับ 'ศักดินา' เก็บไว้ก่อน ที่ตั้งใจจะเล่าครั้งนี้ คือเรื่องอันเกี่ยวกับนาและข้าว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

                เหตุด้วยบังเอิญอ่านพบคำว่า 'นารายคด' และ 'นารายคง' เข้า

                ประเภทของนานั้นที่รู้จัก และได้ยินกันบ่อยๆก็มักจะเป็นนาน้ำท่า หรือนาโคคู่ และนาฟางลอย นาน้ำท่าหรือนาโคคู่นั้นเป็นที่นาอาศัยทั้งน้ำฝนและน้ำท่าจึงบริบูรณ์ดี แต่นาฟางลอยคือเป็นนาที่ดอนน้ำขึ้นไปถึง ได้ข้าวไม่เท่ากับนาน้ำท่า

                สำหรับนารายคด และนายรายคง นั้น นารายคดคือนาของข้าราชการ นารายคงคือนาของราษฎรในสมัยก่อนรัชกาลที่ ๓ นารายคดไม่ต้องเสียอากรค่านา ส่วนนายรายคงของราษฎร ต้องเสียค่านา และบางเมืองยังต้องจัดซื้อข้าวให้แก่ราชการในราคาถูกอีกด้วย อีกทั้งการตวงข้าวจากราษฎร ก็เบียดบังเอาสัดใหญ่ ๓๐ ๓๕ ๔๐ ทะนาน แต่เมื่อส่งขึ้นฉางหลวงเอาสัดเล็กเพียง ๒๑ ทะนานตวง

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงรับพระราชภาระต่างพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระบรมชนกนาถอยู่เกือบตลอดรัชกาล คงจะทรงพระราชดำริว่าไม่เป็นธรรมแก่ราษฎร

                เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ในปีแรกนั้นเองก็ทรงออกกฎหมายค่านาใหม่ (พ.ศ.๒๓๖๗) ยกเลิกการบังคับซื้อข้าวจากราษฎรในราคาถูก และให้เก็บอากรค่านาจากทั้งนารายคดและนารายคง เท่าๆกัน โดยมีกำหนดไว้ว่าหากจ่ายเป็นข้าวให้เก็บในอัตราไร่ละ ๒ ถัง ถ้าจ่ายเป็นเงินเก็บไร่ละ ๑ สลึง ๑ เฟื้อง นอกจากนี้ได้ทรงกำหนดขนาดของถังสัดตวงข้าว และกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อีกหลายข้อ เป็นการป้องกันมิให้เจ้าพนักงานคดโกงราษฎรได้เช่นแต่ๆก่อนมา

    หุ่นจำลองหลักเสาหิน
    วัดระดับน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จ
    พระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชดำริ
    ขึ้นพระราชทานตั้งแสดงในงาน
    นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
    ๒๐๐ ปี พระบรมราชสมภพ
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า
    เจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

                เรื่องนี้มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยนั้นไม่ต้องรอให้ราษฎรร้องขอ แต่ทรงบำบัดทุกข์ บำรุงสุขและพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่ราษฎรเอง ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณนี้ สืบทอดลงมาให้ได้ประจักษ์กันทุกรัชกาล จนกระทั่งถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันทุกวันนี้ จะเห็นว่าทรงเป็นห่วงเกษตรกรมากมายเพียงใด

                “...แต่นี้สืบไปอย่าให้เรียกเอาข้าวจัดซื้อแก่ราษฎรผู้ทำนารายคดรายคงต่อไปเลย ให้เรียกแต่ค่านารายละ ๒ ถัง ทั้งนารายคดรายคงให้ทั่วเสมอกัน แต่พอได้เอาเม็ดข้าวมาจ่ายราชการสำหรับแผ่นดิน หัวเมืองซึ่งเรียกข้าวนั้น ให้เอาขนาด ถังหลวง ซึ่งตวงขึ้นฉาง ๒๑ ทะนานทองนั้น ตวงเอาข้าวค่านาของราษฎรไร่ละ ๒ ถัง อย่าให้เอาขนาดถึงแลสัดใหญ่เหลือเกินจากถัง ๒๑ ทะนานทอง ไปตวงเอาข้าวค่านาแก่ราษฎรเป็นอันขาดทีเดียว....ฯลฯ...ให้เรียกเอาแต่โดยสัจธรรมตามพระราชบัญญัติซึ่งโปรดเกล้าฯครั้งนี้ อย่าเบียดบังค่านาของหลวงแลทำคุมเหงเบียดเบียนฉ้อราษฎรให้ได้ความยากแค้นเดือดร้อนเป็นอันขาดทีเดียว  ถ้าผู้ใดไม่กระทำตามพระราชบัญญัติ มีผู้มาร้องฟ้อง ว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัตย์จะเอาตัวผู้ซึ่งผิด ลงพระราชอาญาอาณาจักรเป็นโทษโดยบทพระอัยการไม่ละเว้นเลย...”

                เรื่องข้าวๆยังมีเรื่องเล่าอีก

                ปีใดน้ำท่วมข้าวแพงทำให้ชาวนาได้ข้าวไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้งดเก็บอากรค่านา ดังเช่นเมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๓๗๔ น้ำท่วมมีจดหมายเหตุ จดไว้ว่า

                “เจ้าของนาทำนาโคคู่ (นาน้ำท่า) ได้ผลเม็ดข้าวไม่ทั่วพระพุทธเจ้าอยู่หัวหามีพระทัยปรารถนาอาลัยกับเงินค่านาไม่ทรงพระเมตตากับราษฎรมากกว่าเงินที่จะได้มาเป็นของหลวงพระราชหฤทัยเต็มไปด้วยพระมหากรุณาแก่ไพร่ฟ้าประชาชนจึงโปรดเกล้าฯว่าในปีเถาะนี้ให้เรียกเก็บเงินค่านาแก่ราษฎรที่ทำนาโคคู่ แต่ (เฉพาะ) ที่นา (ที่) ราษฎรลงมือเก็บเกี่ยวได้ผลเม็ดข้าวส่วนที่นาของราษฎรต้นข้าวแห้งเสียไป มิได้เก็บเกี่ยวผลเม็ดข้าวนั้น ให้ยกเงินค่านาพระราชทานแก่ราษฎรเจ้าของนาที่ต้นข้าวแห้งเสียไป มิได้ลงมือเกี่ยวข้าวในไร่กระทง โดยให้เจ้าของสาบานเฉพาะพระพักตร์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เจ้า ว่านากระทงนั้นมิได้ลงมือเก็บเกี่ยวผลเม็ดข้าว สาบานตัวได้แล้วก็ให้ข้าหลวงกำนันมีบัญชีจำนวนไว้ ห้ามอย่าให้เรียกเอาเงินค่านากับเจ้าเขาของนาที่ไม่ได้ผลเม็ดข้าวนั้นเลย...”

                ในจดหมายเหตุตอนนี้จะเห็นได้ว่า คนสมันก่อนท่านชื่อในคำสาบานเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการคดโกง ซึ่งสมัยกระโน้นจะฉ้อจะโกง หรือจะเบียดบังผลประโยชน์บ้านเมืองราษฎร มักกระทำกันอย่างซื่อๆ พระเจ้าแผ่นดินท่านทรงจับได้ไล่ทัน และมักทรงลงพระราชอาญา หรือป้องปรามเสียได้ ไม่เหมือนในสมัยปัจจุบันซึ่งการฉ้อโกงผลประโยชน์บ้านเมืองและเบียดบังราษฎรนั้นซับซ้อนยากแก่การเอาผิดกันอย่างตรงไปตรงมา

                เมื่อปีมะโรง เดือน ๑๐ พ.ศ.๒๓๗๕ เนื่องมาจากน้ำท่วมเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๔ ข้าวจึงแพงมากอยู่ประมาณ ๕ วัน ในระหว่างที่ข้าวเก่าหมด ราคาถึงถังละ ๖ สลึง ๗ สลึง จากธรรมดาเวลาปกติถังละเพียงไม่เกิน ๒ สลึง ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ จดไว้ (ค่อนข้างจะชอบกลๆ) ว่า

                “ในเดือน ๑๐ ปีมะโรงนั้น ข้าวแพงราคาเกวียนละ ๑ ชั่ง ข้าวสารถังละ ๖ สลึง ๗ สลึง เพราะข้าวเก่าหมด แต่แพงมากอยู่ประมาณ ๕ วัน พอได้ข้าวใหม่ก็ถูกลงเร็วนัก เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ข้าวกำลังแพงอยู่นั่น โปรดฯให้จ่ายข้างฉางหลวงออกมาขายให้ราษฎรที่ยากจน ถังละ ๑  สลึง กรมหลวงรักษรณเรศ เป็นแม่กองขายข้าวให้ ถูกนินทามาก”

                โดยเหตุที่เรื่องน้ำมากน้ำน้อยน้ำท่วม มีผลได้ผลเสียต่อการทำนา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ จึงโปรดฯให้ตั้งเสาหินวัดระดับน้ำสูงสุดของแต่ละปี ทั้งนี้คงสิ้นเนื่องมาจากการที่พระองค์ทรงชำนาญการพาณิชย์ จึงทรงเป็นนักเศรษฐกิจด้วยในตัว การวัดระดับน้ำก็เพื่อจะได้ทรงทราบระดับน้ำสูงสุดของแต่ละปี เพื่อสามารถพยากรณ์การทำนาได้

                เสาหินวัดระดับนี้โปรดฯให้ตั้งขึ้นที่กรุงเก่า คืออยุธยา ซึ่งเป็นบริเวณทุ่งราบภาคกลาง มีการทำนามากที่สุดในประเทศ

                การวัดระดับน้ำสูงสุด จึงเริ่มมีสถิติตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๗๔ เป็นต้นมา ทำให้เตรียมรับสถานการณ์เศรษฐกิจล่วงหน้า เพราะฤดูเก็บเกี่ยวจะทำเมื่อน้ำลดประมาณเดือนธันวาคม - มกราคม

                ทั้งนี้เก็บความมาจากหนังสือมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ ซึ่งสมาคมสถาปนิกแห่งประเทศไทยเรียบเรียงและเทิดพระเกียรติว่า สมควรจะยกย่องพระองค์ท่านว่า เป็นบิดาผู้ให้กำเนิดสถิติอุทกวิทยาแก่ประเทศไทย” ซึ่งเป็นมรดกล้ำค่า สำหรับประเทศที่ “ในนามีข้าว”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×