ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #231 : หัวเมืองทางใต้ของแผ่นดินสยาม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 399
      0
      17 เม.ย. 53

       ทางใต้ของแผ่นดินสยามนั้น หัวเมืองซึ่งเจ้าเมือง หรือผู้ว่าราชการเมืองมีความเข้มแข็ง เป็นกำลังของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ไหนแต่ไรมาก็มีเมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช

                เมืองพัทลุง ว่าไปแล้ว

                ทีนี้ว่ากันถึงเมืองสงขลาในอดีต (เรียกว่า ‘เมือง’ เพราะคำว่า ‘จังหวัด’ เพิ่งเริ่มใช้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐) รวมทั้งพระยาสงขลา และเจ้าพระยาสงขลากันต่อไป

                เดิมทีสงขลา หรือ สิงขรา เป็นด่านปากน้ำเมืองพัทลุง ต่อมาเมื่อเป็นทำเลค้าขาย บริบูรณ์ ผู้คนมากขึ้นเป็นชุมชนหนาแน่น ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวประโกษฐ์ (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓) โปรดเกล้าฯให้พระยาราชบังสัน (ตะตาเชื้อสายสุลต่านสุลัยมาน) ออกไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง จึงได้โปรดฯให้ยกสงขลาขึ้นเป็นเมืองจัตวา ขึ้นต่อเมืองพัทลุง

    หอพระพุทธสิงหิงค์ (ซ้าย) และจวนเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓-๕ (ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖) การสร้างเป็นแบบไทย

                ต่อมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ขณะนั้น หลวงสุวรรณคีรี (บุญฮุย) เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลา หลวงสุวรรณคีรี (บุญฮุย) มีความดี จึงโปรดฯให้ยกเมืองสงขลาขึ้นเป็นเมืองตรี อยู่ในความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราชโปรดเกล้าฯ เลื่อนหลวงสุวรรณคีรี (บุญฮุย) ขึ้นเป็น พระยาพิไชยคิรีศรีสงคราม (บุญฮุย) ว่าราชการเมืองสงขลา เรียกกันโดยทั่วไปว่า พระยาสงขลา

                ต่อมาอีก ในรัชกาลที่ ๑ นั้นเอง สลัดแขกเข้าตีและยึดเมืองปัตตานี พระยาสงขลา (บุญฮุย) และเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ร่วมมือกันปราบปราม

                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงโปรดฯให้ยกเมืองสงขลามาขึ้นกับกรุงเทพฯโดยตรง แล้วโปรดเกล้าฯ เลื่อน พระยาสงขลา (บุญฮุย) ขึ้นเป็น เจ้าพระยาพิไชยคิรี (บุญฮุย) หรือเรียกกันทั่วไปว่า เจ้าพระยาสงขลา

                นับเป็นเจ้าพระยาสงขลา คนแรกของสกุล ณ สงขลา ต่อมามีผู้สืบสกุลได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ติดต่อกันอีก ๖ คน หลังจากเจ้าพระยาพิไชยคิรีถึงแก่อสัญกรรมแล้ว บางท่านเป็นพระยา บางท่านเป็นเจ้าพระยา (ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๕๕ - พ.ศ.๒๔๔๔) คือ

                พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง ณ สงขลา)

                พระยาวิเชียรคิรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา)

                เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (บุญสังข์ ณ สงขลา)

                เจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น ณ สงขลา)

                พระยาวิเชียรคิรี (ชุ่ม ณ สงขลา)

                พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา)

                สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เรื่องเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ผู้เป็นต้นสกุล ‘ณ นคร’ และเจ้าพระยานครศรีธรรมราช  (น้อย) ซึ่งนับถือกันว่าเป็นราชโอรสสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีผู้เขียนถึงกันหลายครั้งหลายสำนวน

                แต่ที่เขียนได้เรื่องราวละเอียดและอ่านสนุกนั้น น่าจะเป็นที่ ‘นัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยา’ เขียน ซึ่งได้นำลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมหลวงสิริ อิศรเสนา) ผู้บิดา

                เรื่องราวของเมืองนครศรีธรรมราช  เล่าพอเป็นสังเขป ก็มีอยู่ว่า

    พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา) เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ในตระกูล
    ณ สงขลา ท่านสุดท้าย บ้านนี้ถ่ายเมื่อ
    พ.ศ.๒๔๓๗ พระยาวิเชียรศิริ
    (ชม ณ สงขลา) ยังอยู่ ซึ่งคงจะอยู่
    กันต่อๆมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒-๓

                ในสมัยจลาจล เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ.๒๓๑๐ บรรดาหัวเมืองใหญ่ที่พม่ารุกรานไปไม่ถึง เจ้าเมืองต่างก็ตั้งตัวเป็นหัวหน้าก๊กต่างๆคล้ายเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายทางเมืองนครศรีธรรมราช ก่อนกรุงแตก โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีมาเป็น พระยาศรีธรรมาโศกราช เจ้าเมืองนครฯ และให้หลวงสิทธินายเวร (หนู) มาเป็นพระปลัดเมืองนครฯ ภายหลังพระยาศรีธรรมาโศกราช ถูกอุทธรณ์ ต้องถูกถอดออกจากตำแหน่ง ดังนั้น เวลาที่กรุงศรีอยุธยาแตก จึงหามีเจ้าเมืองไม่ หลวงนายสิทธิ (หนู) พระปลัดเมืองจึงตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองนครฯ

                ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกแล้วยกทัพมาปราบปรามก๊กต่างๆทางใต้เรียบร้อยแล้ว ทรงนำเจ้านครฯ ลงไปรับราชการ ณ กรุงธนบุรี

                เจ้านครฯรับราชการเข้มแข็ง ตามเสด็จฯ ไปรบทัพจับศึก มีความชอบ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เป็น พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) มีเกียรติยศเสมอเจ้าประเทศราช

                เมืองนครศรีธรรมราชเวลานั้น จึงมีจตุสดมภ์ มีสมุหนายกตำแหน่ง ‘จักรี’ ที่เป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาน้อยแก้วในรัชกาลที่ ๑ และเป็นขรัวตาของ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ (พระองค์เจ้าอภัยทัต) และกรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร)

                พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) มีธิดา ๓ ท่าน คือ คุณชุ่ม สมรสกับคุณพัฒน์ พระเจ้านครฯจึงตั้งบุตรเขยเป็นเจ้าอุปราช เรียกกันว่า อุปราชพัฒน์

                ส่วนคุณฉิมกับคุณปราง นั้น ถวายเป็นเจ้าจอมในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

                ต่อมา คุณชุ่ม ถึงแก่กรรม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงพระราชทาน เจ้าจอมปราง แก่ อุปราชพัฒน์ ซึ่งขณะนั้นเจ้าจอมปรางกำลังทรงครรภ์อ่อนๆอยู่

                อุปราชพัฒน์ จึงหาได้กล้าล่วงเกินคุณปรางไม่ เมื่อได้รับพระราชทานไปแล้ว ก็ตั้งใจเป็นนางเมือง คือเป็นศรีของเมืองทำนองนั้น

                จนกระทั่งประสูติโอรสเป็นชาย เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคต อายุได้ ๖ ขวบ

                เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯให้ลดเกียรติยศเจ้าประเทศราช เมืองนครฯ เป็นเพียงเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช และเมื่อเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (หนู) ถึงแก่อสัญกรรม ต่อมาโปรดฯให้บุตรชายที่เกิดแต่คุณปรางนครฯ ต่อไป

                เคยมีผู้ถามกันบ่อยๆว่า เจ้าพระยานครฯ (น้อย) นั้น ท่านไม่ทราบเลยหรือว่า ท่านเป็นราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากฯ

                หากพิจารณากันตามเหตุผลแล้ว ความเห็นของผู้เล่าคิดว่าท่านต้องทราบแน่ๆ เพราะ

                ประการหนึ่ง ชนนี คือ คุณปราง (หรือเจ้าจอมมารดาปราง) อย่างไรๆก็ต้องเล่าให้ฟัง

                ประการที่สอง หากชนนีไม่เล่า แต่ท่านจะไม่สงสัยบ้างหรือว่า เหตุใดคุณพ่อ (คือเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) จึงไม่อยู่กับคุณแม่ (คุณปราง) กลับยกย่องนับถือตั้งไว้ให้มีเกียรติยศสูง

                และอีกประการหนึ่ง เล่ากันว่า เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) เองก็ยกย่องตัวท่านยิ่งกว่าบุตรอื่นๆ

                เรื่องเหล่านี้ เชื่อมโยงไปถึงการที่เชื้อพระวงศ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถวายความจงรักภักดี ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตลอดมา ทั้งๆที่ ‘นัยว่า’ ทรงสั่งให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

                โดยเฉพาะเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ท่านนี้มีความเก่งกล้าสามารถ และเป็นกำลังสำคัญดูแลกำกับหัวเมืองขึ้นทางใต้ ต่างพระเนตรพระกรรณ จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ขณะกำลังจัดทัพจะยกไปตีเมืองไทรบุรีที่สลัดแขกยึดไว้

                ก่อนท่านถึงแก่อสัญกรรมนั้น พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ จดไว้ว่า เมื่อจะสิ้นใจท่านร้องว่า “ตะเถ” สามคำ ก็ขาดใจถึงแก่อสัญกรรม

                เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) มีบุตรชายและหลานชาย เป็นเจ้าพระยานครฯ สืบต่อมาอีก ๒ ท่าน คือ

                บุตรชาย ที่เกิดแต่ท่านผู้หญิง คนกลาง ชื่อ น้อยกลางและหลานชาย บุตรชายของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) ชื่อ หนูพร้อม ณ นคร

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×