ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #219 : เฉกอะหมัด และสุลัยมาน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 468
      0
      16 เม.ย. 53

    -เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค กับ สุลัยมาน ต้นสกุลพระยาราชวังสัน อัยกา (คุณตา) แห่งสมเด็จพระศรีสุลาลัย ท่านใดเข้ามาเมืองไทยก่อนกัน และขุนนางสำคัญๆของสองตระกูลนี้มีใครบ้าง บอกแต่ชื่อก็ได้-

                เฉกอะหมัด เป็นชาวเปอร์เซียน มีผู้เขียนประวัติของท่านไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นชาวเมืองกุนี (ปัจจุบันคือเมืองคูมในอิหร่าน)

    สุต่านสุลัยมาน

                ส่วน สุลัยมาน ตามประวัติที่พวกสืบสายสกุลมาจากท่านร่วมกันสืบค้น ได้ความว่าท่านก็เป็นชาวเปอร์เซียนเช่นกัน แต่เป็นชาวเปอร์เซียนที่เข้าไปตั้งรกรากอยู่ในชวา จนถึงชั้นบิดาของสุลัยมาน (ซึ่งที่จริงเป็นผู้นำการอพยพ เวลานั้นสุลัยมานอายุเพียง ๑๐ ขวบเศษ)

                บิดาของสุลัยมานชื่อโมกอล ตั้งรกรากอยู่ที่เมืองสาเลห์ใกล้ๆกับกรุงยกยาการ์ต้า (ไทยเราเรียกเมืองยกยา) เมืองหลวงของชวา (อินโดนีเซีย)

                เฉกอะหมัด และ สุลัยมาน เป็นมุสลิม หรือมอสเล็ม ต่างนิกายกัน เฉกอะหมัดเป็นมุสลิมนิกายชิอะห์ (หรือเจ้าเซ็น) ส่วนสุลัยมานเป็นมุสลิมนิกายสุนนี (หรือสุหนี่)

                อพยพครอบครัวบริวารจากถิ่นพำนักเดิม เข้ามาเมืองไทย ในแผ่นดิน สมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งถึงแม้จะเสด็จขึ้นครองราชย์เพียง ๙ ปี (พ.ศ. ๒๑๓๖ - ๒๑๔๕) แต่เป็นสมัยที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข พระราชอาณาเขตแผ่กว้างไพศาลมาแต่เมื่อรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทิศรถทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สองครองราชย์ร่วมกันมากับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชถึง ๑๖ ปี เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจึงทรงพระปรีชาสามารถในทุกทาง ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ ทั่วพระราชอาณาเขต

                เฉกอะหมัดและน้องชายจึงพาผู้คนบริวารเข้ามาตั้งห้างค้าขายในกรุงศรีอยุธยา จนมีชื่อเสียงเป็นพ่อค้าใหญ่ฐานะเป็นเศรษฐีมั่นคง

                จะข้ามความวุ่นวายของเรื่องการแย่งชิงราชสมบัติกันเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จสวรรคต ซึ่งเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆเพียงปีกว่า

                ถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (อดีตพระพิมลธรรม ขึ้นครองแผ่นดิน ตั้งราชวงศ์ใหม่) ใน พ.ศ.๒๑๔๕ เฉกอะหมัดได้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังในเรื่องของกรมท่า (ต่างประเทศ + พาณิชย์) มีความดีความชอบ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดฯตั้งให้เป็น พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา

                เป็นการตั้งต้นรับราชการเป็นขุนนางของตระกูลเฉกอะหมัด สืบต่อกันมาอีกหลายชั่วคน

                คนสุดท้ายในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ที่ได้เป็นเจ้าพระยา คือ เจ้าพระยามหาเสนา) (เสน)

    สมเด็จเจ้าพระยา
    บรมมหาศรีสุริยวงศ์
    (ช่วง บุนนาค)

                ถึงแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องราวของขุนนางสำคัญเชื้อสายเฉกอะหมัด ซึ่งได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ‘บุนนาค’ เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วๆไปอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อบุตรชายของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) คือนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) ได้เกี่ยวดองเป็นสายสัมพันธ์ด้วยพระบรมราชจักรีวงศ์

                ในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯให้ นายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) เป็นเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) สมุหพระกลาโหม

                ในรัชกาลที่ ๔ บุตรชายของท่านได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยา ๒ ท่าน คือ

                สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) ผู้สำเร็จราชการทั่วทั้งพระราชอาณาจักร (สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่)

                และ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด) ผู้สำเร็จราชการในพระนคร (สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย)

                ในรัชกาลที่ ๕ ชั้นหลานเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) มีอำนาจยิ่งกว่าบิดาและอาในรัชกาลที่ ๔ คือ "สิทธิขาดราชการในกรุงนอกกรุงทั่วพระราชอาณาจักร สำเร็จสรรพอาญาสิทธิ์ ประหารชีวิตคนที่ถึงอุกฤษฐ์โทษมหันตโทษได้"

                ทีนี้เรื่องของสุลัยมาน

                บิดาของสุลัยมาน คือ ดะโต๊ะ โมกอล นั้น ว่าเป็นเจ้าเมืองเมืองสาเลห์ การที่อพยพลูกเมียบริวารออกจากเมืองสาเลห์ ได้ความว่า หนีภัยจากพวกฝรั่ง ซึ่งกำลังล่าเมืองขึ้นอพยพลงเรือสำเภาหลายลำ มาขึ้นบกที่สทิงพระ (เมืองสตรึงเพรียะ) เมืองสงขลา (สิงขรา) โดยเหตุที่แต่งกายโพกผ้า ผู้คนขณะนั้นจึงตกใจเข้าใจว่าเป็นพวกโจรสลัด แล้วเลยเข้าใจผิดกันต่อๆมา แม้ในหมู่ผู้สืบสายสกุลสุลัยมานแท้ๆ ก็ยังเคยมีผู้ถามว่าบรรพบุรุษเป็นโจรสลัดใช่ไหม

                ทีนี้เมื่อขึ้นมาพำนักอยู่ระยะหนึ่ง ชาวเมืองเห็นว่าพวกที่ลงเรือมานี้ แม้มีจำนวนมากก็อยู่กันอย่างสงบเหมือนชาวบ้านทั่วไป จึงเข้ามาคบหาสมาคมกลายเป็นมิตรกันไปในที่สุด

                ต่อมา ดะโต๊ะโมกอล จึงย้ายไปตั้งชุมชนขึ้นใหม่ที่บริเวณหัวเขาแดง ริมทะเลปากอ่าวสงขลา จัดตั้งป้อมปราการมั่นคง เพราะแถบนั้นเคยมีโจรสลัด (จริงๆ) เข้าปล้น ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถเกิดโจรสลัดเข้าปล้นเมืองพัทลุงถึง ๒ ครั้งแล้ว

                เมืองพัทลุงนั้นเป็นหัวเมืองชั้นตรี ซึ่งอยู่ในความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราชอันเป็นหัวเมืองชั้นเอก เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเห็นว่า ดะโต๊ะ โมกอล ปกครองชุมชนที่อพยพมาดี ทั้งยังปรองดองกับชาวบ้าน แม้จะต่างชาติ ศาสนา ทางการค้าเล่า หัวเขาแดงก็กลายเป็นเมืองท่า สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ดะโต๊ะ โมกอล เป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง รวมไปถึงสิงขรา (สงขลา) เป็นการเข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามของต้นตระกูลนี้ ซึ่งเริ่มจากหัวหน้าเหมือนๆกัน

                ตำบล ‘หัวเขาแดง’ นั้น อยู่ระหว่างนครสิงขรา (สงขลา) กับเมืองพัทลุง เมื่อโปรดฯให้ ดะโต๊ะ โมกอล เป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง ดะโต๊ะ โมกอล ก็ยังอยู่ในป้อมหัวเขาแดง เอกสารบางฉบับจึงเรียกว่า เจ้าเมืองเมืองพัทลุง บ้าง เจ้าเมืองนครสงขลาบ้าง ทว่ารวมความแล้ว ก็ปกครองทั้งหมด และเป็นที่นิยมชมชื่นของชาวบ้านทั้งพัทลุง สงขลา และสทิงพระ

                เมื่อ ดะโต๊ะ โมกอล ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ‘สุลัยมาน’ บุตรชายใหญ่ ก็ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสืบแทนบิดา

                ตอนนี้แหละมีเหตุ ๒ ประการ ที่ทำให้สุลัยมานแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยา

                ประการแรก จงรักภักดีใน สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงไม่พอใจที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (เจ้าพระยากลาโหมศรีสุริยวงศ์) ประหารพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และขึ้นครองราชย์เอง

                ประการที่ ๒ ไม่พอใจจะอยู่ในบังคับบัญชาของนครศรีธรรมราช อันเป็นหัวเมืองเอก ดูแลหัวเมืองและประเทศราชทั้งปวงทางใต้ ซึ่งเวลานั้นออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา) เจ้าเมืองถึงแก่อสัญกรรม และบุตรชายของยามาดาเข้ายึดอำนาจเป็นเจ้าเมือง

                สุลัยมานจึงประกาศแข็งเมือง ตั้งตัวเป็นสุลต่าน

                และเป็นสุลต่านเรื่อยมาตลอดแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สุลต่านสุลัยมาน มีอำนาจปกครองกว้างขวางตลอด จดชายแดนปัตตานี ไทรบุรี นครศรีธรรมราช

                เรื่องนี้อีกยาวขออนุญาตยกไปเล่าต่อกันตอนหน้า

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×